สำรวจเรื่องติดลบในกระเป๋าเงินของคนปัตตานี

สำรวจเรื่องติดลบในกระเป๋าเงินของคนปัตตานี

ปาตานีฟอรั่ม ชวนสำรวจด้านลบเกี่ยวกับวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายและรายได้ของผู้คนในจังหวัดปัตตานี รายที่ได้รับทุกวันนี้ของคนปัตตานีเพียงพอกับรายที่ต้องจ่ายหรือไม่ ? แล้วสวัสดิการที่มีอยู่ เพียงพอหรือเปล่า ? โดยการสำรวจครั้งนี้ ได้อธิบายทั้งส่วนของรายได้-รายจ่าย พร้อมภาวะติดลบทางการเงินของแต่ละช่วงวัย พัฒนาการค่าแรงขั้นต่ำ และความต้องการสวัสดิการในการลดภาระค่าใช้จ่ายของคนในพื้นที่ รวมถึงข้อสรุปจากงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้

รายได้-รายจ่าย 

เมื่อนำจำนวนเงินที่จำเป็นต้องจ่ายในแต่ละวันของช่วงวัย พบว่าภาพรวมทางการเงินยังคง ‘ติดลบ’ เมื่อคำนวณจากรายรับพื้นฐานประเภทสวัสดิการจากรัฐ เช่น นักศึกษาที่ได้รับเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 2400บาท/เดือน จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง พบว่าค่าใช้จ่ายมักเกี่ยวกับ อาหาร ค่าหอพัก ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต รวมถึงภาษีสังคม ประเภทเงินสาขา เงินคณะ เป็นต้น พบว่าจำนวนเงิน 2400 บาทจากการกู้ กยศ. ในแต่ละเดือนนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากจำนวนรายจ่ายเมื่อนำมารวมกัน มีจำนวนมากกว่าถึงห้าพันกว่าบาท  ซึ่งอาจเป็นภาระของผู้ปกครองหรือมีการหารรายได้เสริมของนักศึกษา

ขณะที่ผู้สูงอายุ หากคำนวณจากจำนวนเงินสนับสนุนที่ได้รับในแต่ละเดือนโดยคิดจากจำนวนที่สูงที่สุดคือ 1000บาท พบว่าผู้สูงอายุในเขตอำเภอเมือง ยังคงมีค่ายใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ทั้งผู้สูงอายุที่ยังคงต้องทำงาน หรือการใช้เวลาสำหรับเยี่ยมญาติ

ในส่วนของวัยทำงานนั้นรายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินเดือน โดยต่างจังหวัดเริ่มที่ 15000บาท เป็นจำนวนเงินเดือนที่ได้รับ จะพบว่าคนวัยทำงานที่อยู่ในระยะสร้างตัว จะติดลบด้วยภาระหนี้ประมาณ 7,500บาทต่อเดือน อาจมีสวัสดิการ อย่างหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม ในการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายส่วนของสุขภาพ

ขณะที่คนทำงานภาคใช้แรงงานซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่308บาทต่อวัน เป็นจำนวนค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำที่สุดในประเทศไทย หากคำนวณเป็นรายได้โดย 1 เดือน จะอยู่ที่ประมาณ 7,084บาทต่อเดือน เมื่อหักจากรายจ่ายพื้นฐานระดับครัวเรือน ยังพบว่ามีภาวะติดลบทางการเงินอยู่ที่ 716 บาทต่อเดือน ยังไม่นับรวมถึงภาระหนี้สินหรืออื่นๆ

เมื่อพิจารณาถึงภาพรวมข้างต้นแล้ว พบว่าสภาพการเงินของคนในพื้นที่นั้นติดลบ ขณะเดียวกัน สภาวะทางเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยส่งเสริมรายได้แก่ผู้คนในพื้นที่ ยังคงเป็นสิ่งที่แยกขาดไปจากเหตุความรุนแรงที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไปได้

จากงานศึกษาของ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, เชาวเลิศ ล้อมลิ้ม และสวัสดิ์ ไหลภาภรณ์ ในหัวข้อ เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในท่ามกลาง 8 ปีของความรุนแรง โดยสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เอง ได้แสดงให้เห็นว่าร้อยละส่วนใหญ่ ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเชื่อว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจในพื้นที่

สถานการณ์ค่าใช้จ่ายของคนปัตตานี

ในส่วนของภาระค่าใช้จ่าย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากปี 2559 เกี่ยวกับประเภทค่าใช้จ่ายโดยคิดเป็น1 ครัวเรือน/เดือน พบว่าส่วนใหญ่คนปัตตานีใช้จ่ายด้านบริโภคมากที่สุด 6,925 บาท/เดือน ด้านการสื่อสารและคมนาคม 4,288 บาท/เดือน ที่อยู่อาศัย 3,131บาท/เดือน ค่าภาษี ของขวัญ เงินบริจาค และสลากกินแบ่ง 1,759 บาท/เดือน เครื่องนุ่งห่มและอื่นๆ 1,092 บาท และค่ารักษาพยาบาล 767 บาท/เดือน

เมื่อรวมกันแล้วจะมีจำนวนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนจำนวนทั้งสิ้น17,962บาท ขณะที่รายได้โดยเฉลี่ยของประชากรในจังหวัดปัตตานี อยู่ที่ 15,000 – 21,500 บาท/เดือน ขณะที่จำนวนหนี้ต่อครัวเรือนจากสถิติเมื่อ 2558พบว่า จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีหนี้ต่อครัวเรือนมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ที่ 141,540 บาท/ครัวเรือน (นราธิวาส 40,566 บาท/ครัวเรือน, ยะลา 22,272 บาท) โดยภาพรวมแล้ว ครัวเรือนปัตตานี มีสภาวะติดลบทางการเงินถึง 12 เท่า

พัฒนาการค่าแรงขั้นต่ำ:รายรับของคนแรงงานปัตตานี

เกี่ยวกับจำนวนรายรับ เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดปัตตานี ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่ปี2545เป็นต้นมา พบว่าค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดปัตตานีมีช่วงการปรับขึ้นถึง 3ครั้ง ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แม้ในระหว่างปี 2547 – 2548 จะเป็นช่วงที่มีสถานการณ์ความรุนแรง ภายหลังรัฐประหารโด คปค. เมื่อเข้าสูรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 1 ครั้ง โดยมีจำนวนการปรับขึ้นที่ยังปกติ (อยู่ที่ 3-5 บาท) ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) จนกระทั่งในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช มีอัตราการปรับขึ้นอยู่ที่ 7 บาท จนกระทั่งสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 2 ครั้ง ครั้งแรกเพิ่มจากเดิม 4 บาท ครั้งที่สอง 11บาท เป็นครั้งแรกที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราสูง จนกระทั่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการปรับขึ้นสองครั้ง โดยพรรคเพื่อไทยขณะนั้นมีนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยครั้งแรกปรับสูงจากเดิมในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ถึง 67 บาท และครั้งที่สองอีก 63 บาท เป็นครั้งแรกที่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ สูงจากเดิมถึง 6 เท่าในแต่ละครั้งที่มีการเพิ่มจำนวนค่าแรงขั้นต่ำ จนกระทั่งมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 บาท 

สำรวจสวัสดิการ ความต้องการที่มากกว่าการเยียวยา

Patani Forum ได้ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลถึงสวัสดิการและรายจ่ายของคนในปัตตานี จากแบบสอบถามพบว่าประชนส่วนใหญ่เคยได้รับสวัสดิการด้านหลักประกันสุขภาพ 30 บาท รักษาทุกโรค ในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 53.6 เปอร์เซ็นต์ นอกเหนือจากนั้น เป็นสวัสดิการหลักประกันสุขภาพ เบี้ยเลียงผู้สูงอายุรายเดือน และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา 16.7 % มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งเข้าใจว่าไม่เคยได้รับสวัสดิการใด ๆ จากรัฐบาล13.1 % และมีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 8.3 % และเรียนฟรี 15 ปี 8.3 %

ขณะเดียวกัน สวัสดิการที่คนปัตตานีอยากให้รัฐส่งเสริมเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ได้แก่ หลักประกันด้านสุขภาพ 41 % สนับสนุนด้านการศึกษา32 %ส่งเสริมการมีงานทำ 14 % เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า, เพิ่มเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ และพัฒนาสาธารณูปโภค 3 %

เมื่อพิจารณาจากสวัสดิการที่คนปัตตานีต้องการ ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมโยงกับเรื่องราวชีวิตผู้คนที่ต้องการความมั่นคง แม้คำว่าความมั่นคงจะเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงกันมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ของความไม่สงบ ก็ไม่สามารถเป็นที่รับรองได้ว่าการรักษาความสงบ ณ ปัจจุบัน คือการรักษาความมั่นคงที่ครอบคลุม เนื่องด้วยความมั่นคงเป็นเรื่องที่กว้างขวางพอควร แม้กระทั่งความมั่นคงทางการเงิน นั่นคือความมั่นคงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในพื้นที่กำลังประสบปัญหา ‘ติดลบ’ อย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนี่คงเป็นปัญหาความมั่นคงอย่างหนึ่งที่ต้องติดตามและขยายผลต่อไป