มากเท่าไหร่คือ hate speech ในความขัดแย้งที่ชายแดนใต้
บทความชิ้นนี้ชวนผู้อ่านมามองปรากฏการณ์ของ hate speech ท่ามกลางความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ และตั้งคำถามว่าเราสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร
hate speech เป็นคำหนึ่งในปัจจุบันที่คนไทยใช้ทับศัพท์กันเป็นปกติ โดยทั่วไป hate speech หมายถึงคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง อาจารย์พิรงรอง รามสูตรบัญญัติคำว่า hate speech เป็นคำใหม่โดยใช้คำว่า “ประทุษวาจา” แต่ไม่ว่าเราจะใช้คำใดในภาษาไทย คำว่า hate speech ก็คงให้ความหมายโดยทั่วไปว่าเป็นคำพูดและแสดงออกที่สร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะหรืออัตลักษณ์ไม่เหมือนกับเรา
ด้วยเหตุดังนั้น คำว่า hate speech จึงน่าจะเป็นคำที่สร้างความสับสนมากที่สุดคำหนึ่งและทำให้คนในสังคมเข้าใจไม่เหมือนกันว่าจริง ๆ แล้ว hate speech นั้นหมายรวมไปถึง คำหยาบ การ bully การล้อเลียน การด่าทอด้วยหรือไม่ และที่สำคัญมันต่างจาก free speech หรือไม่และอย่างไร หลายปีมานี้มีนักวิจัยและหน่วยงานจำนวนมากออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก หากใครยังสับสนเกี่ยวกับความหมายของ hate speech ผมขอแนะนำให้ดูคลิปสั้น ๆ ต่อไปนี้เป็นจุดเริ่มต้นครับ “Hate Speech เบื้องต้นสำหรับคนไทย (ฉบับเต็ม)” “การแบ่งแยกระหว่าง hate speech กับ free speech” และ “ประทุษวาจา”
ในปี 2021 ปาตานีฟอรั่มลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และตัวแทนภาครัฐเพื่อหาคำตอบว่าเราจะเข้าใจการทำงานของ hate speech ได้อย่างไร ในประเด็นเรื่องความหมายของ hate speech เราพบว่าผู้คนในสังคมมีความเข้าใจที่แตกต่างกันใน 2 ความหมาย ความหมายแรก hate speech หมายถึง คำพูดและการแสดงออกที่ตีตราและผลิตซ้ำอคติของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการด้อยค่าและแพร่มลทินให้กับสมาชิกของกลุ่มนั้น ๆ เช่นกัน เช่น พวกเปรตห่มขาว พวกล้มเจ้า พวกหนักแผ่นดิน ควายแดง สลิ่ม คนมลายูแบ่งแยกดินแดน คนมลายูเป็นโจรใต้ คนมลายูชอบใช้ความรุนแรง คนมลายูเป็นแนวร่วมโจรใต้ คนไทยขี้เกียจ เกย์วิปรติ และแขกขี้โกง เป็นต้น ในกรณีที่กลุ่มคนมลายูตกเป็นเป้าหมาย คำพูดลักษณะดังกล่าวไม่เพียงเหมารวมว่าคนมลายูเป็นกลุ่มคนที่นิยมความรุนแรงแล้วเท่านั้นแต่ยังกักขังภาพของกลุ่มคนมลายูให้สนิทแนบชิดกับคำขยายที่มีความหมายในแง่ลบ ผู้ให้ข้อมูลหลายคนมองว่าคำพูดใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ผู้รับสารรู้สึกเสียใจ ถูกทำร้ายทางจิตใจ หรือรู้สึกแย่เกี่ยวกับตัวเองสามารถเป็น hate speech ได้ทั้งนั้น ทางทีมวิจัยของปาตานีฟอรั่มได้นิยามความหมายของ hate speech แบบแรกนี้ว่าเป็น loose definition เนื่องจากเป็น hate speech ในความหมายกว้างและไม่ได้เรียกร้องให้ผู้รับสารลงมือทำร้ายกลุ่มเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี มีผู้ให้สัมภาษณ์หลายคนไม่เห็นด้วยว่า hate speech อาจเป็นคำพูดใดก็ได้ที่ทำให้ผู้รับสารเสียใจ โดยเฉพาะการพูดถึงลักษณะเฉพาะของคน ๆ นั้น ผู้ให้สัมภาษณ์กลุ่มที่สองชี้ให้เห็นว่า hate speech ต้องนำไปสู่อันตรายบางประการในทางกายภาพ ด้วยเหตุดังนั้น ในความหมายที่สอง hate speech หมายถึงคำพูดหรือการแสดงออกที่นำอันตรายมาสู่กลุ่มเป้าหมาย เช่น การล่าแม่มด การปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน คำพูดที่ผลักไสคน ๆ หนึ่งออกจากกลุ่ม หรือคำพูดที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย เช่น พวกโจรใต้สมควรตาย ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป จัดการพวกโจรใต้ให้สิ้นซาก พวกหนักแผ่นดินไม่ควรอยู่ในประเทศไทย ออกไป!พวกหนักแผ่นดิน เป็นต้น การแสดงออกในลักษณะนี้นอกจากจะลดทอนความเป็นคนของกลุ่มเป้าหมายแล้วยังให้ความชอบธรรมที่จะทำอันตรายต่อพวกเขาอีกด้วย สำหรับ hate speech ในความหมายที่สองนี้ ทีมวิจัยของปาตานีฟอรั่มได้นิยามว่าเป็น demanding definition เนื่องจาก hate speech มีลักษณะการเรียกร้องให้ผู้รับสารกระทำอันตรายบางอย่างในทางกายภาพต่อกลุ่มเป้าหมาย
ในบทความนี้ ผมขอนำเสนอตัวอย่างของ hate speech ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2021 - 31 ธ.ค. 2021 หรือช่วงเวลา 3 เดือนสุดท้ายของปี 2021 เพื่อให้เราช่วยกันคิดต่อว่าจะทำงานเพื่อลดความรุนแรงในสังคมได้อย่างไร จากการติดตามการปรากฏ hate speech ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนมลายูมุสลิมในโลกออนไลน์ผ่านทาง zanroo พบว่ามีจำนวน hate speech ทั้งหมด 7,028 ข้อความ แยกเป็นโพสต์จำนวน 399 ข้อความ และคอมเม็นต์จำนวน 6,629 ข้อความ ข้อมูลชุดแรกนี้ชี้ให้เห็นว่าข้อความ hate speech ในโลกออนไลน์มักปรากฏในรูปแบบคอมเม็นต์มากกว่าการโพสต์ อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบระหว่างโพสต์กับคอมเม็นต์ไม่ควรทำให้เราคิดแบบแยกส่วน เช่น เข้าใจว่าคอมเม็นต์กับโพสต์ไม่มีความสัมพันธ์กัน เพราะคอมเม็นต์ที่เป็น hate speech จำนวนมากเกิดจากโพสต์จำนวนที่น้อยกว่า นอกจากสิ่งที่ได้เล่าไปแล้ว ผมอยากจะชวนผู้อ่านดูกราฟด้านล่างและคิดต่อว่าข้อความจำนวน 7,028 รายการในช่วงเวลา 3 เดือนสุดท้ายของปี 2021 บนเส้นกราฟทำให้เราเห็นอะไรเพิ่มเติมบ้าง
นอกจากข้อความ hate speech ในภาพรวมแล้ว เรายังพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มออนไลน์อีกด้วย หากถามว่าแพลตฟอร์มใดน่าจะปรากฏ hate speech มากที่สุด คำตอบที่พอจะเดาได้ก็น่าจะเป็น Facebook แต่ข้อมูลที่ปรากฏไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผลจากการค้นหาชี้ให้เห็นว่า Youtube คือแพลตฟอร์มที่มี hate speech ปรากฏมากที่สุด รองลงมาคือ Facebook และ Twitter กล่าวคือ 56% คือจำนวน hate speech บน Youtube ในขณะที่ 40% อยู่บน Facebook และ มีเพียง 3.6% เท่านั้นปรากฏอยู่บน Twitter คำถามที่สำคัญคือข้อมูลชุดนี้กำลังบอกอะไรเรา ผมคิดว่ามันกำลังบอกว่าแพลตฟอร์มใดคือพื้นที่ปลอดภัยและแพลตฟอร์มใดเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย ฉะนั้น ในแง่ของการผลักดันในเชิงนโยบาย Youtube กับ Facebook จำเป็นต้องทำงานหนักกว่าที่เป็นอยู่เพื่อลดหรือควบคุมจำนวน hate speech ในแพลตฟอร์มของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
หมายเหตุ: ขอขอบคุณโครงการ Together และ Love Frankie สำหรับการสนับสนุนการทำงานเพื่อติดตาม hate speech ในปี 2021