สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์: แนวโน้มของ Hate speech กับการระบาดของข่าวปลอม
สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์: แนวโน้มของ Hate speech กับการระบาดของข่าวปลอม
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) เป็นศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้สังกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมถือเป็นส่วนงานที่มีบทบาทในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในสังคมในประเด็นต่างๆ โดยปาตานีฟอรั่ม ได้มีโอกาสพูดคุยกับ สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ถึงแนวโน้มการเกิด Hate speech ผ่านสถานการณ์การระบาดของข่าวปลอมในสังคมไทยในปัจจุบัน
Hate Speech กับข่าวปลอม
ทุกข้อมูลมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ Hate speech ได้ ซึ่งสำหรับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Aniti-Fake News Center) ก็มีการตรวจพบ Hate speech ในข่าวปลอมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน สันติภาพยังมองว่า Hate speech ไม่ใช่สิ่งที่วางอยู่บนพื้นฐานว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ แต่มันเกี่ยวข้องกับบริบทหรือมุมมองที่มาอธิบายสิ่งนั้นๆ มากกว่าว่าเป็นถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังได้หรือไม่
“Hate speech มันไม่สามารถแยกเป็นข้อเท็จจริง (fact) ได้ในบางเรื่อง ตัวอย่างเช่น “โต๋บริหารงานไม่ได้เรื่องเลย” สมมตินะเป็นแบบนี้ละกันถ้าถามว่าเป็น Hate speech ไหม มันก็เป็นอยู่แล้ว แต่มันก็กึ่งเป็นสิ่งที่เป็นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งอันนี้มันไม่ใช่ข้อเท็จจริง”
สันติภาพยังกล่าวต่อ ว่าในฐานะเราเป็นศูนย์ต้านข่าวปลอม เราที่มีหน้าที่ในการเป็นตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact checker) เราก็จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าอันไหนเป็น Hate speech หรือไม่ มันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกข้อมูล และตนคิดว่ายิ่งมีแนวโน้มที่เป็นข่าวปลอม อย่างเช่นการลดทอนความน่าเชื่อถือ มันสามารถเป็น Hate speech ได้หมดเลย
บทบาทของศูนต่อต้านข่าวปลอมในสถานการณ์ข้อมูลที่เป็นออนไลน์
สำหรับศูนย์ต้านข่าวปลอม มาตรการสำคัญในการรับมือกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ คือการเผยแพร่ข่าวจริง ด้วยกับการชี้แจงผ่านการอ้างอิงด้วยกับงานศึกษา งานวิจัย หรือข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นอาทิ
“หน้าที่ของเราคือเอาข้อเท็จจริง เอา Data ส่วนที่เขาไม่เข้าใจมาแสดงให้เขาเห็น เอามาวางไว้ให้ บอกทุกคนว่าที่คุณเห็นข่าวนี้มานะ มันเป็นข่าวปลอมนะ มันเป็นข่าวบิดเบือนนะ แล้วคุณก็สามารถอ่านข้อเท็จจริง เหตุผล จากผลวิจัยหรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อให้เข้าใจข่าวนั้นได้ เหมือนกับเราช่วยให้ข้อมูลกับเขา ให้เขามีการตัดสินใจที่ดีขึ้น”
สันติภาพยังกล่าวต่อ ว่าโลกออนไลน์ถือเป็นพื้นที่ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายข่าวปลอมอย่างมาก เนื่องด้วยสังคมออนไลน์เป็นสังคมเปิดกว้างการเข้าถึงระหว่างกันและการส่งต่อข้อมูลต่างๆ การแพร่ขจายขาวปลอมจึงเกิดขึ้นได้ง่าย
การเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมคือทางออก
ในแง่ของการจัดการข้อมุลข่าวสารโดยรัฐ ยกตัวอย่างเช่นในแง่เทคนิกทางกฏหมาย สันติภาพมองว่า การมีกฏหมายเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลต่างๆ ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องข้อมูลจากการถูกนำไปใช้งานต่อในทางที่ผิดกฏหมาย ซึ่งในประเทศอื่นก็มีการบังคับใช้กฏหมายในการปกป้องข้อมูลต่างๆ เช่นกัน
นอกเหนือจากมิติของกฏหมายที่รัฐให้ความสำคัญแล้ว ในส่วนของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับข่าวปลอมผ่านเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com ตลอดจนการกระจายข่าวผ่านแพลทฟอร์มต่างๆ ทั้ง Twitter Facebook และ กลุ่ม Line ทั้งยังทำงานร่วมกับสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม ทั้ง ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ โดยสำนักข่าวไทย อสมท. และ COFACT
สันติภาพได้กล่าวทิ้งท้าย ว่าสำหรับภารกิจของศูนย์ต้านข่าวปลอมเอง สิ่งที่คิดว่าจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างกันได้ สำคัญคือการกระจายข้อมูลแก่ผู้ผู้คนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน
“ที่ศูนย์เราทำได้คือให้ข้อเท็จจริง (Fact) ให้ข้อมูล (Information) แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน พอเท่าเทียมกัน ก็จะไม่ขัดแย้งกัน”