เทวฤทธิ์ มณีฉาย : Hate speech ในความขัดแย้งทางการเมืองกับการหาทางออกด้วยประชาธิปไตย

พื้นที่ทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความแตกต่างทางอุดมการณ์ ย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงไปจากการแสดงอารมณ์ความรู้สึกระหว่างกัน ด้วยกับวิธีการตอบโต้กันที่หลากหลาย การเกิดขึ้นของโลกอินเทอร์เน็ตได้ทลายขีดจำกัดการมีส่วนร่วมทั้งในฐานะการเลือกข้างและการโจมตีขั้วตรงข้ามให้เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย ถ้อยคำความเกลียดชังหรือ Hate speech ก็มักกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของการสื่อสารในความขัดแย้งระหว่างกัน กระนั้น Hate speech ในพื้นที่ทางการเมือง อันที่จริงแล้วมันจำกัดตัวตนอยู่แค่มุมเดียวหรือไม่ ปาตานีฟอรั่ม คุยกับ เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับกระแสประชาธิปไตยในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ถึงประเด็นดังกล่าว
 

Hate speech ในพื้นที่ทางการเมือง
 

การนิยาม Hate speech หรือถ้อยคำความเกลียดชังมักหมายถึงคำที่เกิดจากอคติและนำไปสู่การแบ่งแยกกีดกันทางสังคม กระนั้นในพื้นที่ทางการเมืองที่มีการประชันกันระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ด้อยอำนาจ สำหรับ เทวฤทธิ์ มณีฉาย มองอีกสถานะหนึ่งของเฮทสปีชในบริบททางการเมืองว่า “เป็นรูระบายความไม่พอใจ” ที่ประชาชนมีต่อรัฐได้ และหากมีการไปกดรูระบายเหล่านั้น อาจยิ่งนำไปสู่การแสดงออกอย่างอื่นที่มากกว่าคำพูดหรือการพิมพ์โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ 

เทวฤทธิ์ยังกล่าวต่อ ว่าหากมองในแง่มุมการสื่อสารถึงการแสดงออกผ่านเฮทสปีชนี้เอง ถือเป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกที่คิดอย่างตรงไปตรงมา จะด้วยการเกลียดกับสิ่งที่เกิดขึ้น กับข่าวที่เกิดขึ้น กับบุคคลในข่าว หรือกับความเห็นของบุคคลในข่าวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งในพื้นที่ทางการเมือง

“เราเห็นเยอะมากนะครับที่เป็นเรื่องของความขัดแย้ง มันเป็นเรื่องความขัดแย้งอยู่แล้วเพราะว่ามันมีความเห็นเรื่องผลประโยชน์ แล้วก็ทัศนคติ อุดมการณ์ที่มันหลากหลายอยู่แล้วนะครับ ขั้วตรงข้ามกันมันต้องขัดแย้งกันอยู่แล้ว ผมยังคิดว่าตราบเท่าที่มันยังไม่มีการเอาเป็นล่าแม่มดกันเนี่ย เอาไปนำไปสู่การระดมคนเพื่อไปกระทำความรุนแรงต่อต่อบุคคลกลุ่มบุคคลนั้นๆเนี่ย ผมยังคิดว่าการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในทางเกลียดชังเหล่านั้น ยังสามารถที่จะเป็นพื้นที่ที่ยังยอมรับการมีอยู่ได้ อย่างน้อยถ้าพูดในเชิงการบริหารจัดการความไม่พอใจก็เป็นรูระบายความไม่พอใจ การเอาไปกดรูระบายเหล่านั้น อาจจะยิ่งนำไปสู่การแสดงออกอย่างอื่นที่ไม่ใช่การแสดงออกเชิงคำพูดหรือการพิมพ์โพสต์”

ออนไลน์เปลี่ยนสนามความขัดแย้งของผู้คนอย่างไร ?
 

ท่ามกลางสถานการณ์ความต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่ได้ขยับความขัดแย้งไปสู่พื้นที่ออนไลน์ สำหรับเทวฤทธิ์แล้วนั้น พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่แต่ละฝ่ายไม่สามารถใช้ความรุนแรงทางกายภาพระหว่างกันได้ แต่ละคนจึงสามารถที่จะด่าหรือโจมตีกันอย่างไรก็ได้ เกี่ยวกับสถานการณ์บนออนไลน์เทวฤทธิ์มองบัญชีผู้ใช้ที่มีการตอบโต้กันเป็นสองลักษณะ ลักษณะแรกคือการโต้ตอบข้ามพื้นที่โดยผู้ใช้งานที่เปิดเผยตัวตน กับลักษณะที่สองคือบัญชีผู้ใช้ที่ไม่ระบุตัวตน (Annonymous) ซึ่งกลุ่มหลังมักมีการแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา และเป็นไปได้ว่าในกลุ่มนี้มีการรับงานมาเพื่อปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) 

 


 

ด้วยสภาพ ณ ปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเชื่อมต่อผู้คนเข้าหากัน แม้ในมุมของการสร้างความเกลียดชังผ่านถ้อยคำจะมีการระบาดบนออนไลน์จนอาจเป็นที่กังวล กระนั้น เทวฤทธิ์กลับมองเห็นอีกด้านหนึ่ง ในฐานะที่โลกอินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่ไร้พรมแดน ว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้คนมีความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้นผ่านการมีสำนึกในความเป็นสมาชิกในชุมชนขนาดใหญ่ด้วยกัน มีการนับรวมผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิก มีอำนาจมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกับเรา จึงสามารถเราเอาความหลากหลายของผู้คนต่างๆ เข้ามาอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งสำนึกเช่นนี้เองจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการที่สังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย
 

ความหลากหลายในสังคมประชาธิปไตยต้องไม่เป็นแค่เครื่องมือ
 

เทวฤทธิ์ กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่จะช่วยทำให้สามารถนับรวมความหลากหลายเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเป็นพลเมืองของสังคมมีด้วยกันก็คือระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยที่ฟังเสียงถือเอามติเสียงส่วนใหญ่ แต่ว่าต้องเคารพเสียงส่วนน้อยด้วย ความหลากหลายมันก็จะมีความหลากหลายในมิติคนส่วนน้อย มันต้องเคารพ อะไรที่เสียงส่วนใหญ่จะไปละเมิดสิทธิ์เสียงส่วนน้อย ก็ต้องพิจารณาหรือว่าต้องมีมาตรการที่จะคอยปกป้องคุ้มครอง จะโดยกฎหมายจะโดยอะไรก็ตามก็ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมนิติรัฐ”

เทวฤทธิ์ยังกล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย นอกเหนือจากการนับผู้คนต่างๆ ที่หลากหลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนร่วมกันแล้ว ยังรวมไปถึงการนับรวมกลุ่มความหลายเข้ามาโดยไม่ใช่เป็นแค่เครื่องประดับหรือรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ต้องให้กลุ่มคนหลากหลายเหล่านั้นเป็นพลเมือง เป็นสมาชิก เป็นกลุ่มคนที่เป็นเพื่อนของเรา เป็นคนที่เป็นสมาชิกในสังคมเกียวกับเรา จึงจะช่วยลดทอนอคติที่จะนำไปสู่ความเกลียดชังรูปแบบต่างๆ ทั้งในแง่ของสัญลักษณ์และถ้อยคำ