เปิดคลังเอกสาร VOC ที่กรุงเฮก: หลักฐานใหม่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ปาตานี
ทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ ได้จัดการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “เปิดคลังเอกสาร VOC ที่กรุงเฮก:หลักฐานใหม่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ปาตานี” นำเสวนาโดย ดร. ปิยดา ชลวร นักวิจัยจาก Center for Southeast Asian Studies, มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
โดยในประเด็นดังกล่าวนี้ทางกองบรรณาธิการปาตานี ฟอรั่ม เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจในประเด็นของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างปาตานีและฮอลันดา จึงขอนำมาเสนอ ณ ที่นี้
VOC หรือบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (ภาษาอังกฤษ The Dutch East India Company ภาษาดัตช์ Vereenigde Oost-Indische Compagnie, VOC, "United East India Company") ก่อตั้งขึ้นในปี 1602 ด้วยเหตุผลจากความไม่พอใจในการผูกขาดสินค้าชนิดเครื่องเทศ ซึ่งถือเป็นความต้องการระดับต้นๆ ของชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย โดย VOC เกิดจากลงทุนร่วมกันของพ่อค้าและธนาคารของดัตช์
การเสวนาในครั้งนี้ เริ่มต้นจากการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์พบว่าในปี 1602 ได้มีนายพล Jacob Van Neck ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวฮอลันดาของบริษัท Zeeland Company เดินทางเพื่อซื้อสินค้าจากจีนที่มาเก๊า แต่เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำการค้าได้ จึงได้เดินทางมายังปาตานีเพราะรู้มาว่าที่ปาตานีมีสินค้าจีนจำนวนมากที่สามารถหาซื้อได้
เหตุการณ์สำคัญในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 คือเหตุการณ์โจมตีเรือ Santa Catharina ของโปรตุเกส ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างฮอลันดา ยะโฮร์ และปาตานี เหตุการณ์ในครั้งนั้นเริ่มต้นเมื่อ Heemskerck ได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่ปาตานีได้พบกับรายาบงสู น้องของสุลต่านยะโฮร์ ซึ่งเดินทางมาในปาตานีในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นอาณาจักรยะโฮร์มีความไม่พอใจต่อโปรตุเกส ซึ่งได้ยึดมะละกามาก่อนหน้านั้น การพบกันของทั้งสองในครั้งนั้น นำไปสู่ความร่วมมือในการโจมตีโปรตุเกส โดยในการโจมตีโปรตุเกสครั้งนี้ได้รับการช่วยเหลือในส่วนของข้อมูลจากกลุ่มขุนนางในปาตานี และไม่ได้มีการคัดค้านจากรายาฮีเยา ผู้ปกครองปาตานี เพื่อทำการโจมตีโปรตุเกส
ต่อมา ดร.ปิยดาได้กล่าวถึงในเรื่องของสินค้าที่ชาวฮอลันดาที่นำมาค้าขายในปาตานี หนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมจากชาวพื้นเมืองคือ รูปภาพ มีลักษณะเป็นภาพพิมพ์ที่วาดลงบนไม้และทองแดง จากการปรากฏในรายการสินค้าของปี 1602 มีภาพเหล่านี้อยู่ประมาณ 5-6 พันชิ้น ที่นำมาขายในปาตานี
ความรู้สึกของชาวดัตช์ต่อผู้คนในปาตานี จากบันทึกของ Van Neck ได้ระบุถึงความประทับใจต่อชาวปาตานีว่า เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์ รวมไปถึงการค้าขายที่ปาตานีในส่วนของพริกไทยว่า ถึงแม้คุณภาพจะไม่ดี แต่ราคาก็ถูกกว่าที่อื่นๆ บ้านเมืองได้มีการอธิบายอย่างละเอียดเช่น สภาพบ้านเมืองก็มีการนำเสนอถึงความหลากหลายในส่วนของผู้คนที่อาศัยอยู่ในปาตานีว่า มีทั้งคนมลายู ลูกครึ่งไทย ลูกครึ่งจีน ศาสนาก็มีความหลากหลายเช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม และความเชื่อพื้นเมือง
นอกจากนั้น Van Neck ได้บันทึกเกี่ยวกับรายาฮีเยาว่าเป็นกษัตริย์ที่เก็บเนื้อเก็บตัวอยู่เพียงแต่ในวัง ซึ่งเต็มไปด้วยข้าราชบริพารที่เป็นผู้หญิงเยอะมาก และ Van Neck ได้บันทึกเหตุการณ์ที่ได้เข้าเฝ้ารายาฮีเยาซึ่งครั้งนั้นถือเป็นการเข้าเฝ้าเพื่อเป็นการทูลลา รายาฮีเยามอบกริชให้และได้พูดคุยกับ Van Neck ไว้ว่า หากไปแล้วช่วยทิ้งคนที่ดีไว้ และหากว่าออกทะเลไปแล้วเจอเรือจากปาตานีแล้วให้ช่วยเหลือด้วย
แต่ชาวดัตช์อาศัยอยู่ในปาตานีเป็นระยะเวลาที่ไม่นาน อันเนื่องมาจากการค้าในปาตานีไม่สามารถที่จะสร้างผลกำไรให้แก่ดัตช์และบริษัท VOC ได้และหลังจากนั้นเมื่อดัตช์สามารถไปยึดเกาะฟอร์โมซา(เกาะไต้หวัน) ได้ จึงทำให้ปาตานีนั้นสูญเสียความสำคัญไป และในที่สุดก็ต้องปิดสถานีของดัตช์ในปี 1620
ข้อมูลในเอกสารของ VOC ที่กล่าวถึงภูมิภาคเอเชียโดยรวม ซึ่งจะมีการรวบรวมไว้ในกล่อง กล่องนั้นหากมีการมาจัดเรียงกันแล้วมีความยาวถึง 2 กิโลเมตร โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประเทศอินเดีย แต่ในส่วนของปาตานีแล้วมีค่อนข้างน้อย มีทั้งหมด 11 กล่อง ซึ่งจะเขียนในภาษาดัตช์ แต่มีบางเอกสารที่บันทึกเป็นภาษาจีนและอารบิก (ซึ่งเป็นภาษามลายูยาวี)
ในเอกสารของดัตช์ที่เกี่ยวกับปาตานี เราจะได้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างสยามกับปาตานี รวมไปถึงอัตลักษณ์ของชาวปาตานีในเชิงการเมือง เอกสารของดัตช์ทำให้ได้เห็นถึงอีกมุมหนึ่งของปาตานี ซึ่งจะเห็นปาตานีในส่วนหนึ่งของบริบทโลกมลายู เพราะว่าในช่วงเวลาดังกล่าวปาตานีนั้นไม่สามารถที่จะอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว จะเห็นได้ว่ามีการติดต่อกับยะโฮร์ บอร์เนียว เกาะชวา มาโดยตลอดผ่านพ่อค้าหลายๆ ชาติ เอกสารของดัตช์โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีเรื่องราวของรายละเอียดของการค้าขาย แต่ยังคงปรากฏเรื่องราวของประวัติศาสตร์และเรื่องราวเกี่ยวกับรายาผู้ปกครองปาตานีค่อนข้างน้อย
นอกเหนือจากนั้นอาจารย์ครองชัย หัตถา ได้นำเสนอเพิ่มเติมในเรื่องของหลักฐานท้องถิ่นเช่น เครื่องถ้วยฮอลแลนด์ ซึ่งมีเยอะมากในบ้านของผู้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีปืนที่ระลึกที่ตอกเครื่องหมายของ VOC มีความยาวประมาณ 1 เมตร นอกจากนั้นยังคงมีสถานที่เรียกกันว่า กาแล บือลันดา ซึ่งเป็นคลองขุดเพื่อถ่ายสินค้าที่เทียบท่าในอ่าวปัตตานี
การเสวนาในครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีการรับรู้ อย่างไรก็ตามหากท่านใดสนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ www.4shared.com/office/GNz_1GHD/_online.html
หมายเหตุ: เอกสารเผยแพร่และรูปภาพบางส่วนนำมาจากเฟซบุคของ อาจารย์ Chokchai Wongtanee