นบีไม่กินหมาก

 

         

          ผมมีโอกาสชมพิธีกรรมในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพิธีที่จัดให้กับวิญญาณบรรพบุรุษที่ครอบครัวผู้จัดเชื่อว่ามาหลอกหลอนม้าที่พวกเขาเลี้ยงไว้เพราะความที่พวกเขาไม่ได้จัดพิธีให้กับวิญญาณเหล่านี้นานเกินไป อย่างไรก็ดี นอกจากวิญญาณบรรพบุรุษ ในพิธียังมีการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นควบคู่ไปด้วย ได้แก่ เจ้าเมืองรามัน (โต๊ะนิ) ผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน (โต๊ะกือเม็ง) ครูกริช (โต๊ะปานังสาระ) ครูศิลปะ (โต๊ะกือดางี) และนบีมูฮัมหมัด โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ละองค์ต่างได้รับเครื่องบวงสรวงชนิดเดียวกัน ประกอบด้วยข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวขาว ขนมพื้นบ้าน หมากพลู น้ำ กล้วย ข้าวตอก และไก่ย่าง ยกเว้นนบีมูฮัมหมัดซึ่งไม่ได้รับการถวายสำรับหมากพลูหากแต่เป็นดอกไม้แทน ผู้ประกอบพิธีให้เหตุผลเป็นภาษามลายูถิ่นว่าเป็นเพราะ “นบีต๊ะมาแกปีแน” หรือ “นบีไม่กินหมาก” เพราะความที่ท่านเป็นชาวอาหรับ ส่วนดอกไม้เป็นสิ่งที่ชาวอาหรับนิยมใช้ในการประกอบพิธีกรรม จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้    

 

            พิธีกรรมดังกล่าวมีความสำคัญเพราะชี้ให้เห็นความพยายามของชาวมลายูมุสลิมในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยที่จะสืบทอดพิธีกรรมความเชื่อท้องถิ่นท่ามกลางกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลามหรืออีกนัยหนึ่งคือกระแสการตีความศาสนาอิสลามที่ทวีความเข้มงวดขึ้นในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็เพราะว่าศาสนาอิสลามกำหนดให้มุสลิมนับถืออัลเลาะห์เพียงพระองค์เดียวและไม่อนุญาตให้ศาสนิกเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใดอีกไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า เทพ ภูติผี หรือวิญญาณบรรพบุรุษ การจัดพิธีบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษข้างต้นจึงผิดหลักการของศาสนาอิสลามและฉะนั้นจึงไม่สามารถปฏิบัติได้หากตีความอย่างเคร่งครัด ทว่าด้วยความที่ความเชื่อเรื่องผีและสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในคาบสมุทรมลายูมาก่อนการเข้ามาของศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลามตามลำดับ และสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ศาสนาอิสลามสามารถแทนที่ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธและลงหลักปักฐานในคาบสมุทรมลายูได้ก็เพราะอาศัยการประสานเข้ากับประเพณีและพิธีกรรมความเชื่อท้องถิ่นแทนที่จะขจัดทิ้งอย่างถอนรากถอนโคน ฉะนั้น แม้กระแสการตีความศาสนาอิสลามที่เข้มงวดในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาจะห้ามการประกอบประเพณีและพิธีกรรมความเชื่อท้องถิ่นในส่วนที่เห็นว่าขัดกับหลักศาสนาอิสลาม ทว่าชาวมลายูมุสลิมโดยทั่วไปต่างพยายามสืบทอดพิธีกรรมความเชื่อในส่วนที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญไว้โดยอาศัยกลวิธีต่างๆ การบวงสรวงนบีมูฮัมหมัดควบคู่ไปกับการบวงสรวงดวงวิญญาณอื่นๆ ข้างต้นนับเป็นกลวิธีสืบทอดพิธีกรรมความเชื่อท้องถิ่นกลวิธีหนึ่งด้วยการทำให้พิธีกรรมความเชื่อเหล่านี้อยู่ภายใต้การกำกับของศาสนาอิสลาม และเมื่อเห็นว่านบีมูฮัมหมัดไม่รับประทานหมากเพราะความที่ท่านเป็นชาวอาหรับ ผู้ประกอบพิธีก็แก้ปัญหาด้วยการใช้ดอกไม้แทน     

 

             ทั้งนี้ การปรับตัวและการต่อรองของชาวมลายูต่อกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลามข้างต้นท้าทายความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ “มลายูมุสลิม” ในเขตชายแดนภาคใต้ประเทศไทยโดยทั่วไปอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรก ชาวมลายูหรือ “ความเป็นมลายู” มักถูกเชื่อมโยงให้เป็นเนื้อเดียวกับศาสนาอิสลาม เช่น ชาวมลายูมุสลิมในชายแดนใต้ใช้คำว่า “มาโซ๊กนายู” ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า “เข้ามลายู” ในการหมายถึงการรับหรือการเข้าศาสนาอิสลาม แทนที่จะใช้คำว่า “มาโซ๊กอิสลาม” หรือ “เข้าอิสลาม” อย่างตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับพิธีขลิบที่พวกเขานิยมใช้คำว่า “มาโซ๊กยาวี” ซึ่งแปลว่าการเข้าภาษามลายูที่เขียนด้วยอักษรอาหรับ มากกว่าจะใช้คำว่าสุนัตซึ่งเป็นภาษากลาง ซึ่งการใช้คำว่ามลายูแทนคำว่าอิสลามดังกล่าวนี้ส่งผลให้นักวิชาการจำนวนมากสรุปว่าความเป็นมลายูกับศาสนาอิสลามประสานเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแนบแน่นจนแยกจากกันไม่ออก ทว่าความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างพิธีกรรมความเชื่อท้องถิ่นกับกระแสการฟื้นฟูอิสลามข้างต้นชี้ให้เห็นว่ามลายูกับมุสลิมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเนื้อเดียวกันเสมอไปและมีหลายกรณีที่ขัดแย้งกัน สำคัญแต่เพียงว่าทั้งสองส่วนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเข้าหากันมากกว่าที่จะปะทะกันจนถึงขั้นแตกหัก โดยนอกจากกรณีพิธีกรรมข้างต้นแล้ว ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่ตีความศาสนาอิสลามเคร่งครัดหรือ “คณะใหม่” กับกลุ่มที่ยึดถือศาสนาอิสลามตามประเพณีหรือ “คณะเก่า” ที่เคยเกิดขึ้นในบางพื้นที่ของชายภาคแดนใต้ได้ลดความรุนแรงลงไปมากแล้วเพราะความที่ทั้งสองฝ่ายต่างปรับตัวเข้าหากันแทนที่จะไม่ฟังเหตุผลของกันและกันอย่างในช่วงแรกๆ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึง “ความเป็นมลายู” ที่มีฐานะเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ก่อตัวขึ้นภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองจำเพาะ (โดยเฉพาะในกรณีประเทศมาเลเซียซึ่งส่งผลต่อสำนึกและปฏิบัติการเกี่ยวกับ “ความเป็นมลายู” ของผู้คนในชายแดนใต้ของไทยอย่างสำคัญ) มากกว่าจะเป็นคุณลักษณะตามธรรมชาติที่ติดตัวชาวมลายูมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งส่งผลให้การตอกตรึง “ความเป็นมลายู” เข้ากับศาสนาอิสลามเป็นสิ่งที่ถอยห่างจากเงื่อนไขและความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

 

            ประการที่สอง การที่ศาสนาอิสลามมีแนวโน้มที่จะผสมผสานหรือปรับตัวเข้ากับประเพณีและพิธีกรรมความเชื่อท้องถิ่นมากกว่าจะขจัดทิ้งอย่างถอนรากถอนโคน ชี้ให้เห็นว่าในทางปฏิบัติศาสนาอิสลามมีนัยกว้างขวางและสลับซับซ้อนกว่าสิ่งที่บันทึกไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานและประมวลคำสอนและจริยวัตรของศาสดา โดยขณะที่ขบวนการฟื้นฟูศาสนาอิสลามในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น “คณะใหม่” หรือ “เยมะอ๊ะห์ ตาบลิ๊ก” (หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ดาวะห์”) รวมถึงผู้นำศาสนาและครูสอนศาสนาส่วนใหญ่ ตีความและปฏิบัติตามคำสอนในคัมภีร์ค่อนข้างจะเคร่งครัด ชาวมุสลิมโดยทั่วไปในเขตชายแดนภาคใต้ตีความและปรับใช้คำสอนในศาสนาอิสลามในลักษณะที่ค่อนข้างยืดหยุ่นเพื่อให้สอดรับกับเงื่อนไขและความจำเป็นในชีวิตประจำวันของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการคุมกำเนิด การละเล่น กิจกรรมบันเทิง การประกอบอาชีพปริ่มกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการเสี่ยงโชคและการพนัน นอกจากนี้ แม้แต่ในมุสลิมกลุ่มที่เน้นการปฏิบัติตามคัมภีร์อย่างเคร่งครัดก็ตีความสิ่งที่จารึกในคัมภีร์ไม่เหมือนกันในหลายกรณี เพราะเหตุนี้ การตีความและการปรับใช้ศาสนาอิสลามที่แตกต่างหลากหลายภายใต้เงื่อนไขจำเพาะจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของศาสนาอิสลามในชีวิตประจำวันของมุสลิมมากกว่าสิ่งที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์ ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย หากแต่หมายรวมถึงพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมท้องถิ่นยังมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนค่อนข้างมาก  

 

          อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมลายูกับศาสนาอิสลามที่ซับซ้อนและเลื่อนไหลดังกล่าวไม่สู้ได้รับความสนใจจากสังคมไทยในวงกว้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทิศทางการกล่าวถึงและการนำเสนอเรื่องราวในเขตชายแดนภาคใต้ของสื่อมวลชนและวงวิชาการในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นหลัก หากแต่ยังเสนอภาพชีวิตและสังคมชาวมลายูมุสลิมในลักษณะที่ห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงค่อนข้างมาก หากไม่เป็นวิถีชีวิตหรือศิลปะและประเพณีมลายูชวนฝัน ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ถูกนำเสนอในโครงของผู้เคร่งครัดในศาสนาอิสลามจนยากจะเข้าใจหรือดูน่าสะพรึงกลัว ซึ่งภาพทั้งสองต่างมีลักษณะสุดขั้วที่ไม่เอื้อต่อการทำความเข้าใจความสลับซับซ้อนของปัญหาในพื้นที่ซึ่งมีการปรับตัวและต่อรองในชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ

 

(ตืพิมพ์ในคอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน  พฤษภาคม 2554)