“ช้าง” ในความเป็นสุรินทร์ และ มลายูปาตานี”
ย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ยังเป็นเด็กชั้นประถม ผมจำได้ว่าแถวบ้าน ที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ในช่วงปิดเทอมหรือวันหยุดยาวจะมีคณะโชว์ช้างจากภาคอีสานมาแสดงที่หมู่บ้านอยู่บ่อยครั้ง ก่อนวันแสดงจะมาถึง จะมีรถกระบะติดป้ายประกาศทำด้วยไม้อัดเก่าๆ มีเสียงโฆษกประกาศเชิญชวนคนในหมู่บ้านโดยเฉพาะเด็กๆอย่างผมให้ไปดูโชว์การแสดงช้าง ที่กำลังจะมาแสดงในอีก 2-3 วันข้างหน้า นั่นเป็นความทรงจำที่ดูเหมือนจะเก่าที่สุดของผมสำหรับเจ้าตัวจมูกยาว ที่เรียกว่า ช้าง
เมื่อวันแสดงมาถึง ช้างประมาณ 4-5เชือก ก็ได้เดินทางมาถึงโรงเรียนประถมประจำหมู่บ้าน ก่อนทำการแสดงควาญช้างได้นำช้างทั้งหมดไปพักผ่อนเล่นน้ำที่ลำธารใหญ่ท้ายหมู่บ้าน พวกเราเด็ก ๆก็จะกรูตามกันไปดู สำหรับพวกเราในตอนนั้นการได้ดูช้างว่ายน้ำ อาบน้ำ กินอาหารบริเวณลำธารอย่างใกล้ชิด เป็นความรู้สึกที่ตื่นเต้นมากทีเดียวและการได้ดูควาญจูงช้าง นั่งบนคอช้าง สำหรับผมแล้วมันดูสง่าและอยากเอาอย่างบ้าง เมื่อใกล้ถึงเวลาแสดงในช่วงเย็น ช้างทุกเชือกได้มาถึงลานแสดงบริเวณสนามหญ้าของโรงเรียน ลานแสดงถูกล้อมรอบด้วยรั้วสังกะสีมีคนยืนขายตั๋วอยู่ตรงประตูทางเข้า มองไปรอบๆเห็นช้างยืนเกาะกลุ่มกัน มีอุปกรณ์วางไว้สำหรับให้ช้างได้ใช้ประกอบการแสดงโชว์ เช่น จักรยาน ลูกบอลขนาดยักษ์ แป้นห่วงบาสเกตบอล และมีผู้เฒ่าแก่ๆ 2-3 คน ในชุดผ้าโสร่งโจงกระเบนเปลือยท่อนบนพร้อมกับสิ่งของที่กองไว้พะรุงพะรังข้างๆตัว เมื่อได้เวลาทำการแสดงเหล่าผู้เฒ่าและผู้ช่วยจะนำสิ่งของที่เตรียมไว้มากองไว้ตรงกลางลานแล้วเรียกช้างทุกเชือกมายืนล้อมรอบ จากนั้นจึงเริ่มการประกอบพิธีกรรม สำหรับเด็กอย่างผมแล้วพิธีกรรมนั้นดูแปลกตามาก ผู้ช่วยจะนำถาดมาวางไว้ในถาดมีขวดน้ำ กล้วย ธูปและอื่นๆซึ่งผมจำได้ไม่หมด แต่สิ่งหนึ่งที่จำได้ดีคือ มีกองเชือกเส้นใหญ่ม้วนกองไว้ตรงหน้าช้าง ความสูงของกองเชือกประมาณเอวผู้ใหญ่ และสิ่งนี้เองที่เป็นภาพจำของผมเกี่ยวกับวิถีการเลี้ยงช้างของชาวอิสานในเวลาถัดมา
ในประเทศไทยเมื่อเรามองไปยังภาคอีสานเราจะพบกลุ่มจังหวัดอีสานใต้อันได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ทีมีพรมแดนใกล้ชิดกับประเทศกัมพูชาหรือเขมร ชนส่วนใหญ่ในพื้นที่แถบนี้คือ คนขะแมร์สูง (ขะแมร์สะเร็น/ขะแมร์สุรินทร์) จากการเรียกโดยชาว ขะแมร์ต่ำ ที่เป็นชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน สาเหตุที่มีการเรียกขะแมร์สูง ขะแมร์ต่ำก็เพราะว่า ตรงเส้นแบ่งเขตชายแดน ไทย-กัมพูชา จะมีแนวเทือกเขาพนมดงแร็ก ( พนมดงรัก ) อันเป็นพรมแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่าง 2 ประเทศนี้ไว้ ดินแดนที่อยู่ในฝั่งประเทศไทยจะอยู่สูงกว่าดินแดนที่อยู่ในประเทศกัมพูชาอย่างเห็นได้ชัด จนมีคำกล่าวจากชาวขะแมร์ต่ำว่า ชาวขะแมร์สูงที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินสูง (ภูมิประเทศตามธรรมชาติที่สูงกว่า) กินอยู่กันอย่างไรบนแผ่นดินแห่งนั้น นอกจากกลุ่มชาติพันธ์(ขะแมร์)แล้ว ก็ยังกลุ่มคนชาติพันธ์ลาว (พูดภาษาลาว ) คนจีน คนไทย และยังมีอีกกลุ่มชาติพันธ์หนึ่งที่มี อัตลักษณ์ภาษาและวิถีการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ นั่นก็คือ ชาติพันธ์กูยหรือส่วย โดยที่ชาวส่วยนั้นจะเรียกตัวเองว่า กูย,โกย หรือส่วย แปลว่า "คน" ใช้ภาษา "กูย" เป็นเอกลักษณ์ในการสื่อสาร (อันที่จริงชาวกูยเองจะไม่นิยมให้เรียกแทนพวกเขาว่า “ส่วย”) ชาวกูยนับถือศาสนาพุทธผสมและเชื่อเรืองภูตผีปีศาจ ชาวกูยเป็น 1 ในชาติพันธ์ในอุษาอาคเนย์ที่มีความสามารถในการเลี้ยงช้าง จับช้างป่ามาฝึกหัดและมีวิถีชีวิตที่มีความผูกพันกับช้างมากที่สุดชาติพันธ์หนึ่ง จากภาพในอดีตที่ผมยังเป็นเด็กมีโอกาสได้ชมการแสดงโชว์ช้างจากคณะโชว์ช้างจากภาคอีสานมาจนถึงวันนี้ วันที่ผมเริ่มมีความสนใจและค้นคว้าหาความรู้เรื่องวิถีการเลี้ยงช้าง ในพื้นที่ต่างๆ
ท้าวความไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วผมมีโอกาสร่วมเป็นหนึ่งในทีมจัดงาน งานวัฒนธรรมมลายูครบรอบ100 ปี ตำบลขุนละหาร อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งจัดโดยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหารภายใต้การนำของ คุณรัศมินทร์ นิติธรรม เจ้าของพิพิธภัณฑ์ร่วมกับชาวบ้านในตำบลละหาร ในงานครั้งนี้มีคอนเซปต์ของงานคือ จำลองขบวนการเสด็จของเจ้าเมืองใน 7 หัวเมืองมลายู เสด็จโดยการนั่งช้างทั้งหมด 8 เชือกด้วยกัน ซึ่งหน้าที่ในการจัดหาช้าง ดูแลช้าง ควาญช้าง หมอช้าง สิ่งของอุปกรณ์ทั้งหมดในพิธีการนี้เป็นหน้าที่ของผมทั้งหมด ก่อนหน้าที่จะจัดงานนี้ผมมีโอกาสได้ไปรู้จักกับครอบครัวเจ้าของช้างครอบครัวหนึ่ง ใกล้ๆบ้าน ผมจึงมีความสนิทคุ้นเคยกับพวกเค้าอยู่บ้าง จากการที่ได้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้เองทำให้ผมเริ่มรับรู้เรื่องราวอะไรใหม่ๆ ของวิถีการช้างเลี้ยงช้างแบบชาวมลายู ในพื้นที่ปาตานีหรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเรื่องราววิถีของการเลี้ยงช้างมาแต่ครั้งโบราณหลายร้อยปีมาแล้วที่ปรากฎอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์
ขบวนแห่ช้างในงานวัฒนธรรมมลายูครบรอบ 100 ปี ตำบลขุนละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส l ภาพโดย มาฮามะยากี แวซู
วิถีของช้างในพื้นที่ปาตานีจะถูกแบ่งเป็น3ช่วงเวลาใหญ่ๆคือ ช่วงที่หนึ่ง ในยุคแรกเริ่มต้นของรัฐปาตานี ช้างมีไว้สำหรับเป็นพาหานะในการเดินทางของสุลต่าน เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองใช้ในการทำศึกสงครามหรือใช้สำหรับการบุกเบิกสร้างเมืองตั้งเมืองแห่งใหม่ ตลอดจนมาถึงในช่วง 7 หัวเมืองมลายู ภายใต้การปกครองของรัฐไทย ช้างก็ยังมีความสำคัญต่อบรรดาเจ้าเมืองทั้ง 7 หัวเมืองอยู่เช่นเดิม ช่วงที่สอง คือยุคสมัยที่มีความเจริญ เริ่มมีการค้าขายติดต่อเข้ามาในพื้นที่ ในช่วงนี้ช้างจะถูกใช้งานเป็นพาหานะในการขนส่งสิ่งของหรือสินค้า เช่น ขนส่งแผ่นยางพาราจากบริเวณพื้นที่ห่างไกลในเทือกเขามาสู่บริเวณเมืองชุมชน ขนส่งข้าวเปลือกจากแหล่งที่ราบไปยังร้านค้าชุมชน สถานีรถไฟ ท่าเรือตามแม่น้ำสายใหญ่ๆที่ใช้เป็นเส้นทางขนส่งคมนาคมหลักในอดีต เช่น แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี หรือกระทั่งขนส่งสินค้าจากปาตานีไปยังรัฐเคดาห์ รัฐกลันตัน รัฐเปรัก เป็นต้น และช่วงที่สาม ก็คือ ช่วงเวลาร่วมสมัยในปัจจุบันนี้ ช้างในช่วงเวลานี้จะถูกนำมาใช้งานเป็นเครื่องจักรกลหนัก จากการที่เริ่มมีการเปิดสัมปทานป่าไม้เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ช้างบ้านที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่หรือช้างที่ถูกซื้อมาจากภาคอื่นๆนั้น ต่างถูกนำมาเป็นช้างใช้งานชักลากไม้ซุงเกือบทั้งหมด ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีการยกเลิกสัมปทานไม้ในป่าอนุรักษ์ไปแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีการชักลากไม้ประเภทอื่นๆอีก เช่น ไม้ยางพารา ไม้ทุเรียนบ้าน ไม้สะตอ เป็นต้น นอกจากงานชักลากไม้เหล่านี้แล้ว ช้างเลี้ยงในปาตานียังมีงามเสริม อยู่บ้าง เช่น รับจ้างเดินขบวนแห่ในงานพิธีการ รับจ้างเป็นช้างนำเที่ยวในปางช้างบริเวณจังหวัดภาคใต้ตอนบน
หลักฐานที่เห็นได้ชัดว่าในพื้นที่ปาตานีมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับช้างก็คือ ชื่อบ้านนามเมือง เราจะพบว่า ชื่อหมู่บ้านหลายสิบหมู่บ้านจะมีคำว่า ฆาเยาะห์ Gajah ( ช้าง ) อยู่ด้วย เช่น บ้านคลองช้าง บ้าน กาเยาะมาตี บ้านบาลา หรือแม้กระทั่งชื่อ เมืองเก่าของหัวเมืองสายบุรี ที่มีชื่อว่า เนเกอรี ซา Negeri Sa ซึ่งคำว่า ซา ในที่นี้หมายถึงหอกยาวที่มีไว้สำหรับควบคุมช้าง
นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งได้เล่าว่า ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา หัวเมืองสายบุรี เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ทั้งด้านธรรมชาติ ทรัพยากร ด้านเศรษฐกิจ(ด้วยที่ตั้งติดทะเล ) เมื่อมีขบวนช้างนับร้อยเชือกมายังบริเวณริมน้ำอันเป็นจุดพักหรือปลายทางของขบวนช้าง ควาญช้างจะนำช้างมาผูกไว้ตามริมน้ำ และจะปักหอกไว้ใกล้ๆกับช้าง นับร้อยๆ หอก จากตรงนี้เมืองแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า เมืองแห่งหอกหรือเมืองแห่งปฏัก นั่นเอง
จากการที่ผมได้สัมผัสพูดคุยกับควาญช้าง ครอบครัวเจ้าของช้างใกล้ๆบ้านที่ อ. แว้ง จ นราธิวาส ทำให้ทราบว่า ชาวมลายูมีคติความเชื่อเกี่ยวกับช้างว่า ช้างเป็นสัตว์ชั้นสูงที่ควาญผู้เลี้ยงดูต้องให้ความเคารพ มีตำนานเล่าต่อๆกันมาว่า ช้างนั้นในความจริงแล้วเป็นมนุษย์แต่ถูกสาปแช่งจนกลายร่างเป็นช้าง หรือตำนานช้างโต๊ะนิ แห่งเมืองรามัน 1 หัวเมืองสำคัญในอดีตที่มีอาณาเขตพื้นที่ที่มีป่าดงดิบสมบูรณ์กว้างใหญ่ไพศาล มีช้างป่าอาศัยอยู่มากมายควาญช้างเล่ากันว่า ช้างโต๊ะนิเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งหลายในปาตานี หากปรากฏกายให้เห็นจะเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่โตกว่าช้างทั่วไปกล่าวคือ มีขนาดความสูงเทียมยอดมะพร้าว มีงาที่ใหญ่ยาวเท่าต้นกล้วย มีขนาดของฝ่าเท้าเท่ากับถาดใส่สำรับกับข้าว แต่ถ้าหากมาในร่างอื่นโต๊ะนิจะเป็นสิ่งเร้นลับที่คอยปกป้องรักษา ช้างป่าและช้างเลี้ยงอยู่ทุกตัวไม่ห่างกาย โต๊ะนิเป็นคำเรียกแทนชื่อเจ้าเมืองรามันท่านหนึ่งที่ว่ากันว่าหายสาปสูญตัวไปในป่าลึก จนไม่พบร่างอีกเลยหลังจากนั้น
ในวิถีการเลี้ยงช้างของชาวมลายูปาตานียังพบสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ "โต๊ะกูแช" คำว่ากูแช มาจากคำว่า กุญชร ที่แปลว่า ช้าง โต๊ะกูแชเป็นคำเรียก "หมอช้างเพศหญิง" หากเป็นเพศชายมักจะเรียกว่า บอมอฆาเยาะห์ ( หมอช้าง ) เป็นที่ปรากฏกันว่า ช้างจะมีความเกรงกลัวและเคารพ โต๊ะกูแช เพศหญิงมากกว่าหมอช้างเพศชาย
มีตำนานจากคำบอกเล่าของควาญช้างท่านหนึ่งที่สืบเชื้อสายจากผู้เลี้ยงช้างของเจ้าเมืองมลายูแต่ครั้งโบราณว่า ในสมัยหนึ่งของรัฐปาตานีมีมเหสีของสุลต่านท่านหนึ่งได้ให้กำเนิดบุตรสาว แต่เป็นโชคร้ายของทารกน้อยที่เกิดมามีโรคผิวหนังตกสะเก็ดเต็มทั้งตัว เป็นเหตุให้สุลต่านมีความอับอายไม่อยากเลี้ยงดูอีกต่อไปจึงมีคำสั่งให้ทหารนำทารกไปฆ่าทิ้งเสียโดยการสั่งให้ช้างหลวงเหยียบร่างของทารกน้อยให้ตาย แต่เมื่อทหารนำร่างของทารกไปให้ช้างหลวงเหยียบ ช้างกลับไม่ยอมเหยียบแม้จะควาญจะออกคำสั่งต่อกี่ครั้งก็ตาม จนสุดท้ายช้างได้ใช้งวงอุ้มร่างของทารกแล้วใช้น้ำในปากมาพ่นและเลียร่างกายของธิดา และในที่สุดแผลสะเก็ดผิวหนังบนร่างของทารกได้หายไปจนหมดสิ้นเหมือนเช่นเด็กทารกปกติทั่วๆไป และเมื่อถึงวัยสาวบุตรีของสุลต่านท่านนี้เองที่ได้ชื่อว่า เป็นโต๊ะกูแช คนแรกในรัฐปาตานีแห่งนี้
โต๊ะกูแช นั้นเป็นหมอที่มีลักษณะการถ่ายทอดวิชาคล้ายๆกับโต๊ะบีแดหรือหมอตำแย คือ เป็นหมอที่ไม่ได้ต้องเรียนหรือศึกษาจากที่ไหนเพียงแต่ต้องเกิดในตระกูลนี้เท่านั้น เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมวิชาของโต๊ะกูแชจะตกมาถึงผู้สืบทอดเอง โต๊ะกูแชมีความสามารถในการประกอบพิธีที่เกี่ยวกับช้าง เช่นพิธีทำขวัญก่อนและหลังเดินขบวนแห่ช้าง สามารถกำราบช้างตกมันหรือช้างดุโดยใช้วิธีการขอพรที่เต็มไปด้วยบทขอพรหลากหลายภาษาและใช้วิธีทำน้ำมันที่นำไปทาบนหัวของช้าง รวมถึงสามารถอ่านนิสัยใจคอดูลักษณะของช้างได้ว่า ช้างที่ดีควรมีคุณลักษณะอย่างไร ช้างดุมีนิสัยหรือลักษณะภายนอกเป็นอย่างไร
จากความทรงจำในอดีตเกี่ยวกับคนเลี้ยงช้างจากภาคอีสานในวัยเด็ก จนเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปลงพื้นที่ จังหวัดสุรินทร์ร่วมกับคณะของ ปาตานี ฟอรั่ม และเรื่องวิถีการเลี้ยงช้างของชาวกูยก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมได้ไปเก็บข้อมูล ความจริงก่อนหน้านี้ผมเองมีโอกาสได้พบและพุดคุยเรื่องช้างของชาวกูยที่สุรินทร์ กับรุ่นพี่ที่เป็น บก. นิตยสาร สุรินทร์สโมสร ซึ่งมีความรู้ด้านนี้เป็นอย่างดีเยี่ยม ภาพของกลุ่มคนเลี้ยงช้างชาวกูยที่เคยเห็นเคยชมจึงกลับมาแจ่มชัดอีกครั้งเมื่อได้เดินทางมาที่นี่ ที่ หมู่บ้านช้าง บ้าน ตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ และเป็นเรื่องที่โชคดีมากในวันที่เราไปเยือนหมู่บ้านช้างแห่งนี้ ตรงกับวันจัดงาน บวชนาคแห่ช้าง ซึ่งเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่มากของจังหวัดสุรินทร์ มีนาคเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากกว่า 50 คน และมีช้างพระเอกของงานมาร่วมขบวนแห่เป็นจำนวน ร้อยกว่าเชือก
ขบวนบวชนาคช้าง 100 กว่าเชือก ณ บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก l ภาพโดย Abdulloh Mad-dam
ความเป็นมาในการเลี้ยงช้างในวิถีของชาวกูยนั้นมีมานานหลายร้อยปี นับแต่โบราณกาลย้อนไปถึงสมัยอาณาจักรขอม ชาวกูยเป็นกลุ่มชนที่มีความสามารถสูงมากในการจับช้างป่ามาฝึกหัดเป็นช้างบ้าน ในอดีตชาวกูยจะเข้าไปจับช้างป่าในดินแดนฝั่งประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน ในสมัยที่ยังไม่มีการแบ่งเขตรัฐชาติ การไปจับช้างป่าของชาวกูยจึงทำได้อย่างเสรี จนกระทั่งเมือปี พ.ศ.2500 มีการปิดชายแดนไทย- กัมพูชาอย่างถาวร ทำให้การเข้าไปจับช้างป่าของชาวกูยในป่าที่ราบของประเทศกัมพูชาถูกสั่งห้ามไปอย่างเด็ดขาด
หากวิถีการเลี้ยงช้างของชาวมลายูปาตานีมีโต๊ะกูแชที่เป็นดั่งหมอที่ควาญช้างให้เคารพนับถือ วิถีการเลี้ยงช้างของชาวกูยก็ย่อมมีหมอช้างเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าหมอช้างของชาวกูยดูจะมีความสามารถอำนาจในการจัดการกับช้างมากกว่า หมอช้างในสังคมชาวกูยคือผู้ที่เคยเข้าไปจับช้างป่าในอดีต มีความสามารถในการดูลักษณะช้าง ตามรอยช้างป่า สามารถใช้ชีวิตในป่าได้อย่างดีเยี่ยมมีเวทมนตร์คาถา อำนาจเร้นลับเหนือธรรมชาติ ในการจับช้าง ฝึกหัดช้าง ปราบช้างอย่างครบถ้วนอย่างยากที่ชนกลุ่มอื่นยากจะเทียบเคียงได้
หมอช้างในสังคมชาวกูยในอดีตจะมีอยู่หลายระดับชั้นขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ในการจับช้าง ฝึกหัดช้าง ทุกวันนี้แม้การจับช้างป่าจะหมดสิ้นไปแล้ว แต่หมอช้างก็ยังคงมีความสำคัญในหมู่ชาวกูยผู้เลี้ยงช้างอยู่มากเช่นเดิม สิ่งที่ความสำคัญมากสำหรับหมอช้างชาวกูยที่มีมาตั้งแต่อดีตสมัยที่ยังมีการจับช้างป่าจนถึงปัจจุบันก็คือ ปะกำ คำว่าปะกำ เป็นคำที่ใช้เรียกเชือกหรือบ่วงบาศสำหรับคล้องช้าง โดยต้องเป็นเชือกที่ได้ประกอบพิธี “ประจุปะกำ “ คือการอัญเชิญพระครูปะกำ ปวงเทพเทวา และผีบรรพบุรุษอันเป็นที่เคารพนับถือเข้าสถิตในเชือกแล้วเท่านั้น ปะกำเป็นเชือกขาดใหญ่ที่ถูกทำมาจากหนังควายม้วนกันเป็นเชือกเส้นขนาดใหญ่มีความแข็งแรงทนทานในการผูกล่ามจับช้างได้เป็นอย่างดี ทุกๆบ้านของชาวกูยจะนับถือ ผีปะกำและจะมีโรงปะกำ ไว้เป็นที่เคารพบูชาของครอบครัวผู้เลี้ยงช้าง
หมอช้างชาวกูยทำพิธีหน้าศาลปะกำ ที่ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตุม จ.สุรินทร์ l ภาพ travel.mthai
ชาวกูยที่มีความสามารถในการจับช้าง เลี้ยงดูช้าง จะเรียกว่า กูยอาเจียง คำว่า อาเจียงหมายถึงช้าง กูยอาเจียง จึงมีความหมายที่รวมกันว่า ชาวกูยที่ดำรงชีวิตอยู่กับการเลี้ยงช้าง ฝึกช้าง จับช้าง ในสังคมชาวกูยทุกวันนี้จะถือว่าช้างเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งที่มีสายใยความผูกพันกับคนในครอบครัวจนแทบแยกจากกันไม่ขาด ชาวกูยอาเจียงส่วนใหญ่เกิดมาในครอบครัวที่มีช้างและจะเติบโตไปพร้อมกับช้าง จนเมื่อถึงวัยอันเหมาะสมก็จะได้รับตำแหน่งเป็นควาญหรือผู้ดูแลช้างจาก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย แทน
โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า ชาวกูยอาเจียงและช้างนั้นมีความผูกพันแน่นแฟ้นกันมาก ช้างดูเหมือนจะไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ใช้งาน แต่เป็นมากกว่านั้นเป็นเหมือนเลือดเนื้อเชิ้อไขของพวกเขาจริงๆ หรือเปรียบแสมือนว่า ชาวกูยอาเจียงเกิดมาเพื่อเป็นเพื่อนผู้ดูแลช้าง ดังภาพที่ได้เห็น เด็กเล็กๆ หัดจูงช้าง ขี่คอช้าง จนถึงคนวัยหนุ่มที่เอาเวลาทั้งวันคอยดูแลช้างคู่ใจของตนเอง หรือภาพของ พ่อเฒ่า แม่ฒ่าชาวกูย ที่นั่งเฝ้าช้างไม่ห่างกายในแต่ละวัน มีคำพูดหนึ่งของนายสัตวแพทย์ผู้ดูแลช้างที่สถาบันคชบาลแห่งชาติที่ลำปาง ได้พูดถึงชาวกูยกับช้างว่า “ ผมไปเจอควาญช้างชาวสุรินทร์(ชาวกูย)ที่ต่างประเทศ ผมถามเขาว่าถ้ามีเงินจะเอาไปทำอะไร เกือบทุกคนบอกว่าจะเอาไปซื้อช้าง นั้นคือช้างอยู่ในใจของชาวกูย แต่ถ้าเป็นควาญช้างจากภาคอื่นๆ เขาจะบอกว่าเอาเงินไปซื้อรถปิกอัพ ไม่มีใครอยากได้ช้างเป็นของตนเอง ได้แต่เลี้ยงช้าง แต่ไม่มีความรักช้างในสายเลือดเหมือนควาญช้างชาวกูย ควาญช้างชาวกูยความฝันคือ อยากมีช้างเป็นของตัวเอง มีความรักช้างอยู่ในสายเลือด เวลาผมนั่งมองตาควาญช้างชาวกูย สายตาเขาบ่งบอกถึงความรักและความผูกพันที่มีต่อช้าง “
ปัจจุบันและอนาคตของช้างสุรินทร์ ( กูย ) กับช้างของชนชาวมลายูปาตานี ดูเหมือนจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากทีเดียว ช้างในวิถีมลายูปาตานีถึงแม้จะมีอดีตเรื่องที่น่าสนใจมากเพียงใด แต่ทุกวันนี้จำนวนของช้างบ้านช้างเลี้ยงที่มีจำนวนไม่เกิน 60 เชือก ( ในพื้นที่สามจังหวัด) ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดมาให้การสนับสนุนในวิถีอันดีงามที่เคยมีมา กลับกันกับช้างสุรินทร์ของชาวกูย เพียงแค่หมู่บ้านเดียว มีจำนวนช้างเลี้ยงมากถึง 250 เชือก มีการสนับสนุน จากองค์กรท้องถิ่นในการดูแลช้าง มีการบันทึก องค์ความรู้ วิถีของชาวกูยที่มีต่อช้างมาแต่ครั้งอดีตให้ชนชาวกูยรุ่นในปัจจุบันได้เรียนรู้และภูมิใจกับชาติพันธ์ของตนเองในเรื่องนี้อย่างไม่มีวันสูญหายอย่างง่ายๆ ดังรอยเท้าของช้างพลายที่ย่ำไปบนทางชัน ภายใต้แสงสุดท้ายของวันจะลาลับหายไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบภาพแรกโดย Manas Mankhakhet