ปัญหาเด็กในมิติคนทำงาน…ปัญหา “ขอบ”สนามความขัดแย้งปาตานี

 

สถานการณ์ปัญหาเรื่องเด็ก-เยาวชน ในสนามความขัดแย้งปาตานี/ชายแดนใต้ โดยเฉพาะสถานการณ์ “เหยื่อเด็ก” ซึ่งถูกพูดถึงมากขึ้นในห้วง 4-5 เดือนมานี้ นับจากปลายปี 59 เป็นต้นมา จากเหตุการณ์กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกราดยิงชาวบ้าน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนมาถึงล่าสุดก็เกิดเหตุกราดยิงรถรับส่งนักเรียนจนเป็นเหตุให้เด็กในรถบาดเจ็บและเสียชีวิตในเขต อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา  แต่หากจะให้พูดกันจริงๆแล้ว เรื่อง “เหยื่อเด็ก” จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่นั้น มีหลายเหตุการณ์ นับจากไฟใต้ปะทุตั้งแต่ ปี 47 เป็นต้นมา จนเป็นประเด็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนกำลังหาทางจัดการ แก้ไข ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม และชุมชน

อย่างไรก็ตามการจัดการปัญหาและหาทางออกเรื่องเด็ก-เยาวชนนั้นยังมีอีกหลายมิติที่ไม่ถูกพูดถึง ซึ่งดูเหมือนว่าคนทำงานด้านเด็ก-เยาวชน ก็มองเห็นอยู่ และยังคงขะมักเขม้นทำงานคลี่คลายปัญหาแม้นจะไม่ค่อยเป็นที่สนใจจากสาธารณะมากนักก็ตาม ดังนั้นเพื่อให้เห็นมิติปัญหาและงานด้านเด็กที่หลากหลายจึงน่าสนใจที่จะลองมาฟังเสียงของพวกเขาเหล่านี้ พวกเขาในฐานะคนทำงานกับเด็กหลายมิติ หลายแนว จะมองโจทย์ที่ชวนถาม ปัญหางานด้านเด็กในพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ความขัดแย้งเป็นอย่างไร

เปิดพื้นที่เพื่อศักยภาพเด็ก ก้าวผ่านความหวาดระแวง

สำหรับ อานัส พงค์ประเสริฐ คนทำงานเปิดพื้นที่สำหรับเด็ก-เยาวชนในชื่อกลุ่ม Saiburi looker  มองว่า พื้นที่ปัจจุบันตอนนี้คงเป็นเรื่องของปัญหายาเสพติดและก็ปัญหาของความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัด เหตุการณ์ความไม่สงบได้สร้างข้อจำกัดให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่ในการที่ใช้ชีวิตนอกเหนือจากความปลอดภัยของเด็ก ๆ ทำให้ตัวเด็กเองขาดพื้นที่ที่จะแสดงออกและการพัฒนาตัวเอง ปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาด้วยพื้นที่ที่ตกอยู่ในเหตุการณ์ความไม่สงบข้อจำกัดของเด็ก ๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้น

“พื้นที่สายบุรีเองมีเด็กคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าพ่อกับแม่เขาจะห้ามไม่ให้ออกไปเล่นไกล ๆ มีการสร้างขอบเขตให้ลูกหลานมากขึ้นเพราะกลัวอันตราย พอเราได้คุยกับเด็กหลาย ๆ คนในพื้นที่ก็รับรู้ได้ถึงความกังวลของผู้ปกครอง ได้เห็นมุมมองและสิ่งที่เขาสะท้อนออกมาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และการแสดงออกอีกหลาย  ๆอย่าง เช่น การเล่นกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนตัวเองเด็กบางกลุ่มจะเล่นเฉพาะในพื้นที่ ที่ตัวเองรู้สึกปลอดภัย คนจีนก็จะเล่นในบริเวณศาลเจ้าหรือในเขตบ้านของตัวเอง ส่วนเด็กมุสลิมก็ยังคงเล่นที่ไหนก็ได้ที่ตัวเองอยากจะเล่น นี้คือผลพวงจากเหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลให้คนในชุมชนเกิดความไม่ไว้ใจกันของคนระดับผู้ใหญ่ที่ส่งผลต่อเด็กๆ”

อานัสเสนอว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดเลยนะเมื่อเด็กมันถูกจำกัดสิทธิแล้ว เรามองว่าการพยายามเปิดพื้นที่ให้เด็ก  ๆได้แสดงออก ให้เขาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำที่เขาสนใจและมีความสามารถ อีกส่วนหนึ่งตัวเด็กเองก็ต้องมีความเตรียมพร้อมและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ตามวัยของพวกเขาเอง

“กิจกรรมเหล่านี้อาจจะช่วยให้พวกเขาได้ปรับตัวกับพื้นที่กับสถานการณ์และเหตุการณ์ที่มันมีอยู่ ที่จริง มันมีมิติของปัญหาอยู่ ปัญหาเองก็มีหลายระดับที่ส่งผลต่อความคิดของเด็ก เด็กเองบางครั้งถูกจำกัดความคิดโดยผู้ใหญ่ โดยกระแสสังคม คือเด็กไม่มีทิศไม่มีทางด้วยวัฒนธรรมที่นี้ที่มองว่าเด็กก็คือเด็กยังไม่สามารถทำอะไรได้ ความเป็นจริงเด็กบางกลุ่มมีความสามารถ สิ่งนี้เรียกว่าการละเมิดสิทธิของเด็กโดยที่ไม่รู้ตัวจากผู้ปกครอง และสิ่งเหล่านี้คงเป็นอีก 1 กระบวนการที่สำคัญที่จะทำให้เด็กในพื้นที่บ้านเรามีพื้นที่เพื่อแสดงออกถึงความถนัดความสามารถและเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาเองได้รู้สึกว่ามีตัวตนมีค่าแม้พื้นที่นี้จะมีความรุนแรงก็ตาม”

ระหว่างทางของเวลา เร่งพัฒนาเด็กปรับตัวในบริบทความขัดแย้ง

เช่นเดียวกับ อัยยุบ เจ๊ะนะ คนทำงานเกี่ยวกับเด็กกำพร้าและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์จากมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษย์ชนและการพัฒนา เห็นคล้ายกันว่า ปัญหาหลัก ๆ เลยนะสำหรับเด็กในพื้นที่คงเป็นเรื่องของการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

“เด็กส่วนใหญ่ในพื้นที่จะขาดโอกาสโดยปริยายจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในบ้านของเขา และการมองในเรื่องของสันติภาพของเด็กเราก็มองว่าเด็กจะต้องได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันเพื่อที่จะให้เด็ก ๆ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาบ้านเมืองของตัวเองต่อไปในอนาคตและเป็นการหนุนเสริมในส่วนของกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนในอนาคตด้วย”

ถ้าเรามองในเรื่องของกระบวนการสันติภาพกับเด็กแล้ว อัยยุบ ให้สัมภาษณ์ว่า จะต้องมองกันในระยะยาว ไม่สามารถมองใน 1 ปี 2 ปีได้

“ตอนนี้เด็กอยู่ในช่วงอายุ 6 ขวบ 7 ขวบ อีก 10 ปีข้างหน้าพวกเขาก็จะ 17 18 19 ปี ถ้า ณ ตอนนี้เราสามรถให้พวกเขาได้เรียนรู้เข้าใจถึงสภาพปัญหาความเป็นจริงของพื้นที่แล้วและในเรื่องของการมีส่วนร่วมผลักดันกระบวนการสันติภาพยังไง เช่น การให้ความรู้ การหนุนเสริมทักษะต่าง ๆ ว่าเขาควรจะมีการปรับตัวและอยู่ยังไงกับสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งซึ่งประเด็นแรกคงเป็นเรื่องของการปรับทัศนะคติของเด็ก ๆ เองซึ่งเด็กบางกลุ่มอาจจะมีผลกระทบ เช่น พ่อแม่ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์เด็ก ๆ เหล่านี้ก็จะมีความกลัว ความกังวล บางคนอาจจะมีโรคซึมเศร้าไปเลย ฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะเยียวยาฟื้นฟูพวกเขาในแนวทางสันติวิถีแนวทางที่ถูกต้อง ผมถือว่ามันคือเรื่องที่น่าทำมากที่สุดและคงช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ได้ด้วยเช่นกัน”

มองต่าง เด็กมีโอกาสมาก แต่ขาดศักยภาพในการใช้

ต่างจาก วรรณกนก โตะอีแตดาโอะ หัวหน้าสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กลุ่มลูกเหรียงซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมากกว่า 10 ปี ที่มองเห็นว่าในสถานการณ์ความไม่สงบแม้นจะมีคนบอกว่าเด็ก ๆ ที่นี้ขาดโอกาส แต่จริง ๆ มีโอกาสมาก

“เด็กในพื้นที่มีโอกาสมาก อาจจะมากกว่าเด็กในภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศไทยเสียอีก เพราะเรามีโอกาสออกมาส่งเสียงของตัวเองเพียงแต่เรายังไม่มีใครที่เข้าไปปลุกศักยภาพของพวกเขาให้เขามีความกล้าที่จะออกมาใช้พลังใช้เสียงของตัวเองในการช่วยในส่วนของการให้ความสนับสนุนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด”

“และนี่คือกระบวนการสันติภาพ  กระบวนการสันติภาพมันเป็นคำใหญ่มากบางที่เด็กเล็ก ๆ เขาไม่รู้ว่าจะมีส่วนร่วมส่วนช่วยได้อย่างไรเพราะถูกมองเป็นเรื่องของตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ โดยที่จริงกระบวนการทั้งหมดมันต้องมาจากคนทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นตัวเล็กตัวใหญ่มันต้องช่วยกัน และคนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ก็เป็นเด็กเยาวชนเองนี่เองเราต้องปลุกศักยภาพของเด็ก ๆ ออกมาเพื่อให้เขามีความกล้าหาญในการออกมามีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลง

“โอกาสมีให้เด็ก ๆ ในพื้นที่เสมอ พลังเฉย ๆ น่ากลัว เราจะทำอย่างไรให้พลังเฉย ๆ เหล่านี้ออกมาส่งเสียง ถ้าพลังตรงนี้ออกมาส่งเสียงได้ มันคงเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ มันต้องมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้แน่นอนซึ่งในส่วนนี้เป็นเรื่องที่เด็ก ๆ บ้านเรายังขาดและผู้ใหญ่อย่างเรา ๆที่ต้องเป็นตัวกระตุ้นความกล้าหาญของเด็ก ๆ เหล่านี้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต่อไป”

ฤาความสัมพันธ์เด็กพุทธ-มุสลิม คือปัญหาใหญ่ระยะยาว

ขณะที่ นวพล ลีนิน นักกิจกรรมที่ทำงานด้านเด็กทุกกลุ่มศาสนามาอย่างยาวนานจากกลุ่มป่านวงเดือน มองต่างมุมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของสถานการณ์เท่าที่พบมา คือเรื่องความสัมพันธ์ของเด็กในพื้นที่เห็นได้ชัดเจน คือ เด็กพุทธ – มุสลิม

“ความสัมพันธ์ในบางพื้นที่ คือ เด็กขาดความเข้าใจในเรื่องของวัฒนธรรมของอีกฝ่ายด้วยความห่วงใยของผู้ปกครองที่ไม่ค่อยจะสนับสนุนให้เด็ก ๆ เป็นเพื่อนกัน ยกตัวอย่างผมจัดกิจกรรมเด็กจากสุไหง-ปาดี ต้องไปเรียนรู้ที่บ้านผมซึ่งอยู่ในอำเภอเดียวกัน ผู้ปกครองเด็กก็จะกังวล จะไม่ให้เด็กไปร่วมทำกิจกรรมกลัวเกิดอันตราย”

ขณะเดียวกันจากประสบการณ์ของนวพลแล้ว ก็พยายามใช้กระบวนการต่างๆในการแก้ปัญหาตรงนี้ โดยเฉพาะที่ใช้แล้วก็เห็นผลได้ชัดเจนก็คือค่ายเด็กโดยการให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการ

“เด็กๆ เขารู้สึกสบายใจ รู้สึกดี ในค่ายก็จะมีทุกเพศ ทุกศาสนาอยู่ด้วยกัน อย่างที่ทำมาเราเองก็มีวิทยากรที่เข้าใจเรื่องจิตวิทยาเด็กเลยสร้างความสัมพันธ์ให้แก่เด็ก ๆ ได้เร็วและออกมาดีมาก ยกตัวอย่างนะครับ เช่นเด็กมโนราห์นะครับ ตอนเข้าค่ายแรก ๆ เห็นกลุ่มเด็กซีละก็ไม่กล้าเข้าใกล้เพราะกลัว แต่พอได้ผ่านกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ในกิจกรรมก็ทำให้พวกสามารถมาถ่ายรูปด้วยกันพูดคุยเป็นเพื่อนกันได้ในเวลาสั้น ๆ ผมเลยรู้สึกว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถลดความรู้สึกกังวลของเด็กลงไปได้เยอะครับ”

ทั้งหมดนี้คือเรื่องพื้นฐานที่เป็นปัญหาเชื่อมโยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญมากนัก อาจเป็นเพราะสนามความขัดแย้งมักจะชี้ชวนให้คนสนใจแต่เรื่องของผู้ใหญ่ เรื่องผู้ใหญ่ที่เด็กๆเยาวชนมักจะบ่นๆเสมอว่ามีแต่เรื่องการเมืองและผลประโยชน์ในความขัดแย้ง

ขณะที่เด็กๆและเยาวชน คือ กำลังสำคัญแห่งอนาคตสันติภาพปาตานี…