ปลุกระดมสังคมการอ่าน ในแบบฉบับ “Book Club”(Patani)

“อ่าน” ใช่แล้ว คำที่เปิดเรื่องไปนั้นกำลังพูดถึงการอ่านหนังสือ ไม่ใช่การอ่านความคิด อ่านภาพยนตร์ ละคร อ่านปรากฎการณ์ แต่เป็นการอ่านตัวอักษรที่ร้อยเรียงเป็นภาษาอย่างมีความหมาย เป็นเรื่องราว ความรู้ ความคิด ให้คนอ่านได้ทำความเข้าใจ เปิดมุมมอง จินตนาการ หรือแม้กระทั่ง ได้ถกเถียง

การอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่คนในสังคมไทยก็มักถูกพูดถึงเป็นนัยว่ายังมีการอ่านหนังสือกันน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในระดับดีกรีเดียวกัน หลายคนอาจจะรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องยาก และสำหรับหลายคนก็อาจคิดว่าคงไม่ยากมากมายที่คนเราจะกระตุ้นตัวเองให้มีนิสัยนิยมการอ่าน แต่บางทีสภาพแวดล้อมรอบตัวก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการอ่าน ทำให้เรามักจะมีข้ออ้างเสมอ ที่จะไม่อ่านหนังสือ ทั้งๆที่หนังสือคือเครื่องมือสำคัญของความรู้ มุมมอง โลกทัศน์และจินตนาการใหม่ๆที่กว้างไกล อีกทั้งในภาพมุมกว้าง การอ่านถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับปัญญาของคนอันจะส่งผลถึงการพัฒนาหรือแม้นกระทั่งคลี่คลายปัญหาต่างๆที่ดำเนินอยู่บนโลกใบนี้

บทพรรณนาข้างต้นอาจจะชี้ให้เห็นแนวคิดของนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งไม่นานมานี้ (5 มี.ค.60) ได้จัดงานหนึ่งซึ่งเกิดจาก นักกิจกรรม นักวิชาการ คนทำงานสื่อสาร ในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้รวมหัว ร่วมมือกันภายใต้ชื่อ Book Club” จัดกิจกรรมสนทนาจิบกาแฟกับสโลแกนที่ว่า “อ่านเพื่อเปลี่ยนแปลง” (Read for change) หรืออีกนัยหนึ่งBook Club” เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นสังคมปาตานี/ชายแดนใต้ “เปลี่ยน” มามีค่านิยมการ “อ่าน” แพร่หลายไปทั่วถึงผู้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย

 Book Club” เปิดตัวครั้งแรกด้วยการจัดกิจกรรมสนทนาในบรรยากาศสบายๆ ณ ร้านกาแฟ อะนาโตมี่ ใต้ตึกพรีคลินิก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้การสมทบทุนช่วยเหลือจากกองทุนส่งเสริมสันติภาพหรือ PPF ภายใต้โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ (ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและ World Bank ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการอ่านและเชิญชวนให้คนอยากอ่านมากยิ่งขึ้น ด้วยหวังว่าการอ่านจะนำไปสู่การเปิดมุมมองใหม่ๆในการแก้ไขและเข้าใจปัญหาในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ได้

อย่างไรก็ตามก่อนจะไปสู่เรื่องของการอ่านหนังสือนั้น Book Club” ได้เริ่มด้วยการคุยถึง “คน” ที่อ่านหนังสือ คนที่มาฟัง แลกเปลี่ยน และแบ่งปันประสบการณ์การอ่านที่ดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยความหลัง ความทรงจำ ผสมปนเปกับการบอกเล่าถึงรสนิยม ความชอบ ความรักในการอ่านของตัวเอง เพื่อจะเป็นแนวทางให้กับผู้ฟัง ได้เริ่มสนใจ เริ่มอยากที่จะอ่าน หรือมีมุมมองใหม่ๆในการอ่านมากยิ่งขึ้น

การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีผู้สนใจเกินกว่าความคาดหวังที่Book Club” วางไว้ ขณะที่ผู้นำการสนทนาก็เป็นนักอ่านหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมที่โดดเด่นในพื้นที่อย่าง ตูแวดานียา ตูแวแมแง ศิลปินกวีระดับประเทศอย่าง
ซะการีย์ยา อมตยา หรือนักวิชาการจากรั้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ผู้มีประสบการณ์การอ่านโชกโชนอย่าง ดร.อันธิฌา แสงชัย และผู้นำการคุยคนอื่นๆ คือ Hadee  wijaya หนุ่มมลายูที่เดินทางท่องโลกด้วยหนังสือและชีวิตจริง ณายิบ อาแวบือซา นักวิจัยท้องถิ่นที่มักจะย้ำเสมอว่าตัวเองไม่ใช่นักวิชาการแต่เป็นเพียงแค่ผู้สนใจศึกษา ปรัชญเกียรติ  ว่าโร๊ะ ที่ต้องยกให้เป็นนักอ่าน นักค้นหาจากความเป็นไปของตัวเองจนไปถึงเรื่องของสังคม การเมือง หรือ อัสนี ดอเลาะแล นักศึกษาศาสนาต่างประเทศที่หันมาเป็นนักกิจกรรมภายใต้กลุ่ม Bukis และ ซาฮารี เจ๊ะหลง นักจัดรายการวิทยุรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน และคนอื่นๆที่มาในฐานะผู้ร่วมฟัง ร่วมแลกเปลี่ยน

 

 

กิจกรรมสนทนา Book Club” เป็นการเปิดตัวครั้งแรกเนื้อหาการสนทนาจึงค่อนข้างจะเน้นไปในประเด็นรสนิยม ความชอบ ความสนใจในการอ่านของแต่ละคน ทำให้เห็นที่มาที่ไปและเหตุผลของการอ่านหนังสือแต่ละแนวของวิทยากรและผู้เข้าร่วม

“ก่อนหน้านี้อ่านหนังสือยังไม่ได้ เหมือนเด็กสามจังหวัดทั่วไป จำความได้ว่า เมื่ออ่านหนังสือออก เริ่มเข้าห้องสมุด สิ่งที่ทำคือ เข้าห้องสมุด ชอบอ่านหนังสือพวกสารานุกรม หนังสือที่รวบรวมความรู้ต่างๆ เคย ได้เห็นการขึ้นไปบนดวงจันทร์เป็นภาพตอนเด็กๆ มีทั้งดนตรี อวกาศ ที่อ่านหนังสือเพื่ออยากรู้”

เป็นการบอกเล่าจุดเริ่มต้นการอ่านของ ซะการีย์ยา กวีซีไรส์ ปี 53 ก่อนบอกเหตุผลของการเริ่มอ่านหนังสือจริงๆนั้นเป็นเพราะความอยากรู้

“ผมอ่านหนังสือที่มีอยู่เล่มหนึ่งที่บ้าน คือ แผ่นดินนี้เราจอง (Pioneer, Go home!) ผู้เขียน Richard Powell ผู้แปล เทศภักดิ์ นิยมเหตุ ประทับใจตรงที่ว่า มันสอนเรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นเรื่องที่ผมอยากรู้ การอ่านของผมคือ อ่านแบบอยากรู้ รสนิยมในการอ่านจะชอบมากที่สุด ชอบในบทกวี ชอบอ่านกวีเยอะๆ เพราะรู้สึกมันมีอยู่ในตัว อ่านนวนิยาย แปดเดือนที่ผ่านมา สนใจประวัติศาสตร์ สะสมประวัติศาสตร์ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ”

กระนั้นก็ตามการแลกเปลี่ยนจากวงสนทนา Book Club” ภาพรวมแล้วเรื่องประสบการณ์การอ่านนั้นอาจจะไม่ใช่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งเสมอไปดั่งที่ Hadi wijaya บอกว่า ตัวเองอ่านอะไรก็ได้ให้ตัวเองสบายใจ อ่านเพื่อให้ตัวเองดีขึ้น อ่านเพื่อรู้จักอะไรบางอย่าง และอ่านเพื่อทำความเข้าใจอะไร ซึ่งไม่สามารถตอบได้ว่ามีรสนิยมการอ่านแบบเป็นไหน

อ่านเพื่อทำงาน แน่นอนทุกคนต้องอ่านเพื่อเป็นภารกิจของชีวิตแล้วในโลกการทำงานบางทีเราไปโดยตาบอดไม่ได้ บางทีไม่ต้องสว่างมากก็ได้ แต่มีมีอะไรสำคัญอยู่บ้าง ซึ่งเราเกิดในยุคที่รวบรวมงานเขียนเป็นหนังสือแล้ว มันไม่ต้องไปเขียนพิมพ์ข้อมูลที่ยังไม่ได้รวบรวม อันนี้มันเป็นสาเหตุที่ต้องอ่าน ซึ่งเราอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ที่มีความซับซ้อนอยู่มาก การอ่านทำให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น แม้เราจะอยู่ในบ้านตัวเองก็ตาม”

อ่านเพื่อเอาใจ บางทีมันก็มีบางโมเมนต์ที่อ่านเอาใจเพื่อน อยากจะเข้ากลุ่มกับเพื่อน บางทีเพื่อนแนะนำให้อ่านหนังสือนี้ มันมีความรู้สึกว่า "เฮ้อต้องอ่าน" เพื่อจะได้เข้าใจและจะได้ทันเพื่อน ซึ่งบางทีก็มีโมเมนต์ที่เพื่อนพูดคุยแล้วเราไม่รู้เรื่อง เราก็จะรู้สึกว่าตัวเองโง่ จึงทำให้เราต้องอ่านให้ทันสักหน่อย”

เนื้อหาส่วนใหญ่แล้วBook Club” สนทนากันถึงเรื่องความหลัง ความทรงจำในเส้นทางการอ่านหนังสือที่เริ่มจากความอยากเรียนรู้ ก่อนจะบอกเล่าถึงหนังสือเล่มแรกของแต่ละคน หลายคนบอกว่าคงจะเป็นหนังสืออัล-กรุอานเป็นหนังสือเล่มแรกของตัวเองที่อ่าน หรือบางคนก็จะเริ่มอ่านจากหนังสือเรียนที่มีตัวละดรดำเนินเรื่องอย่างเช่น มานี มานะ บางคนด้วยความที่อยากเรียนรู้อยากทำความรู้จักประเทศต่างๆ จึงขออนุเคราะห์หนังสือจากสถานทูตต่างๆ เพื่อที่จะได้เรียนรู้และรู้จักกับประเทศต่างๆเหล่านั้น บ้างก็เกิดจากความฝังใจเกี่ยวกับประสบการณ์การอ่านจดหมายรักสมัยวัยรุ่นที่เขียนไม่เก่ง เลยต้องเริ่มด้วยการอ่าน บางคนก็จะบอกว่าเริ่มอ่านแบบจริงๆ จังๆ คือหนังสือแนวปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมจนไปถึงหนังสือการ์ตูนและแม้แต่เพียงหนังสือพิมพ์ที่ใช้ห่ออาหารก็ตาม เหล่านี้คือเส้นทางการอ่านที่ได้มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันในกลาบรรยากางานสนทนา Book Club” (read for change)

ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการอ่านของผู้อ่านเอง อาทิ หนังสือที่เปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกในมุมมองของ ดร.อันธิฌา ที่ชื่นชอบอ่านหนังสือที่ปลอบประโลมจิตใจ บทกวี นิยายโดยช่วงหลังๆ การอ่านหนังสือไม่ได้ตอบสนองในเรื่องทีอยากรู้แต่จะเป็นหนังสือที่ให้อารมณ์สุนทรียภาพ เพราะเธอบอกว่าทำให้เห็นปัญหา แง่มุมทางสุนทรียภาพของชีวิต ก่อนจะแนะนำหนังสือ “ทวีปที่สาบสูญ” ให้กับคนในวงสนทนา

“หนังสือ ทวีปที่สาบสูญ เป็นเรื่องที่นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ นำมาลงในคอลัมน์ทุกสัปดาห์ เหมือนเราดูหนังดีๆ เป็นนิยายเรื่องสั้น จะลงเป็นตอนๆ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเจ็บปวดเราจะได้รับการเยียวยาบางอย่าง เห็นถึงความทุกข์ยากบางอย่าง มันเป็นเรื่องเลวร้าย ในที่สุดเราเรียนรู้อะไรจากมันได้ เป็นงานน้อยชิ้นที่ขยี้เราและโอบกอดของเราไว้ด้วย”

ขณะที่บางมุมของวงสนทนาก็มองว่าไม่ใช่แค่อ่านหนังสือที่ทำให้เราเปลี่ยนแต่การเขียนหนังสือก็เปลี่ยนเราเช่นกันอย่าง มูบารัด สาและ ผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ “ฉันมองดวงจันทร์ขึ้นในยามเช้า”

ตัวเองเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือแต่การเขียนมันเปลี่ยนความคิดเรา มันทำให้เราต้องอ่านหนังสือ  อยากที่จะอ่านสุนทรียภาพ อ่านแล้วทำให้เริ่มเข้ามาหลงรักในการอ่านมากยิ่งขึ้น อ่านแล้วไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลง อ่านแล้วมันได้ความรู้อะไรบางอย่าง”มูบารัดร่วมแลกเปลี่ยน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องยอมรับว่าBook Club” ดำเนินการสนทนาแลกเปลี่ยนกันไปในบรรยากาศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความบันเทิงทางปัญญาจริงๆ บางทีก็มีการกระเซ้าเย้าแหย่อย่างเป็นกันเองบ้างเป็นระยะๆระหว่างแลกเปลี่ยนเนื้อหา ขณะที่อีกซอกมุมของงานก็จะเห็นโต๊ะวางขายหนังสือต่าง ๆ ซึ่งBook Club”คิดไว้ว่าต่อไปจะมีหนังสือแนะนำและหนังสือมือสองที่ผู้เข้าร่วมจะนำมาวางโชว์ วางขาย นอกจากนี้ก็จะมีหนังสือจากกลุ่มองค์กรต่างๆที่ผลิตเพื่อเผยแพร่แจกฟรีดั่งเช่น จดหมายข่าวของปาตานีฟอรั่ม ซึ่งได้นำมาวางขายและแจกฟรีในงานครั้งนี้ บางส่วนที่กล่าวถึงนับเป็นไอเดียแปลกใหม่ชวนให้ผู้ร่วมงานอยากมีส่วนร่วม

รูปแบบการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจอีกประการคงเป็นช่วงท้ายของงานเมื่อทีมBook Club” ประกาศชัดเจนว่า Book Club” สร้างพื้นที่แบบกลุ่มขึ้นมานอกจากจะเป็นการรณรงค์และกระตุ้นการอ่านแล้ว ยังมีไว้เพื่อให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ทุกคนสามารถเข้ามามีบทบาทในการร่วมคิด ร่วมจัด ร่วมปฏิบัติการ โดยจะมีการรับฟังข้อเสนอ ไอเดียในการจัดรูปแบบกิจกรรม บางคนอาจจะเสนอตนเองเพื่อจะมาเล่าถึงหนังสือที่อ่าน หรือ ร่วมวางแผนในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป

กิจกรรมครั้งนี้ มีข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมหลากหลาย เช่น อยากเห็นเนื้อหาประเด็นที่แหลมคม แปลกใหม่ ชัดเจน โดยมีความเชื่อมโยงกับหนังสือ บางคนเสนออยากให้มีพื้นที่กับคนรุ่นใหม่และผู้หญิงได้มีบทบาทโดยอาจจะชวนให้เป็นวิทยากร เป็นต้น หรือแม้นกระทั่งการเสนอให้มีการเปิด Page face book เพื่อติดตามผลงาน หรือ ทำเสื้อที่มีโลโก้ Book Club” ซึ่งต่างๆนาๆ เหล่านี้ ทำให้ดูเหมือนว่าพื้นที่ Book Club” ได้กลายเป็นพื้นที่ปลุกเร้าการอ่านในปาตานีให้เต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้น และอภิรมย์จิตใจ จนหลายๆคนติดใจ อย่ากให้มีอย่างต่อเนื่องและเร็วขึ้น

อนึ่ง กลุ่ม Book Club” เป็นการรวมตัวของคนที่มีความแตกต่างหลากหลายในกลุ่มนักกิจกรรม นักวิชาการ นักสื่อสาร และศิลปิน โดยการรวมกันของทุกคนเป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆที่ตั้งอยู่บนฐานความสนใจร่วม คือ อยากเห็นปาตานี/ชายแดนใต้มีวัฒนธรรมสังคมแห่งการอ่าน อย่างไรก็ตาม Book Club” ก็ไม่ได้มีโครงสร้างและรูปแบบองค์กรดั่งเช่น NGOs หรือ CSOs แต่อาจจะเรียกว่าเป็นกลุ่มกิจกรรมทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่มุ่งรณรงค์เรื่องส่งเสริมการอ่านมากกว่า

ดังนั้นกิจกรรมค่อนข้างจะเป็นกิจกรรมในเชิงจิตอาสา และทำกิจกรรมกันบนต้นทุนและความร่วมมือเท่าที่มีอยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้น หากผู้ใดสนใจอยากเข้ามามีส่วนร่วม ติดตาม หรือให้การสนับสนุน เบื้องต้นสามารถติดต่อไปที่ (Page face book) Book Club read for change