ทำไมต้องมีสื่อภาคพลเมือง: บันทึกจากอิสาน
ทวีศักดิ์ ปิ
ผมได้รับการประสานงานจาก ปาตานีฟอรั่ม ว่ามีองค์กรเครือข่ายทางภาคอีสาน ติดต่อมาเพื่อให้ไปร่วมพูดคุยเรื่อง ความสำคัญของสื่อภาคพลเมือง โดยเดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นองค์กรสื่อภาคพลเมืองในภาคอิสาน มีเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาข่าวสารได้อย่างน่าสนใจ จึงตัดสินใจเตรียมประเด็นเรื่องสื่อทางเลือกในพื้นที่ ในประเด็นข้อค้นพบและสิ่งท้าท้ายในการทำสื่อในพื้นที่ความขัดแย้ง เซสชั่น เดียวที่ได้ร่วมนำเสนอกับผมนั้นเป็นนักข่าว จาก benarnews ซึ่งเป็นเว็บข่าวทางเลือกที่ผมสนใจอยู่พอดี
ปรากฏการณ์และสถานการณ์สื่อทางเลือกในพื้นที่ ประสบการณ์ที่ได้ทำมาในอดีต
ปัจจุบันสังคมกำลังถูกคุกคามจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และได้เกิดขึ้นทุกวัน ผู้ทำงานด้านการสื่อสารต้องเผชิญกับความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่าเดิม ดั่งอุปมา อยู่กลางเขาควายที่มีความแหลมคมทั้งสองด้าน เราเป็นสื่อจะต้องอยู่ตรงกลาง เราจะอยู่ตรงกลางความแหลมคม นั้นอย่างไร เนื่องจากฝ่ายที่ขัดแย้งต่างก็พยายามเข้ามาเกี่ยวข้องกับสื่อในทุกมิติ และสิ่งสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ในมิติของกระบวนการสันติภาพ สื่อมีส่วนที่จะหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ และสื่อภาคพลเมืองเป็นตัวสำคัญอย่างยิ่งในบริบทของการรายงานข่าวท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งจะต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ยิน ให้ได้รับรู้ข้อเท็จจริง
ดร.Jacke Lynch นักวิชาการจากออสเตรเลีย เคยพูดว่า แม้นักข่าวมีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันมากกว่าสิ่งที่เรารายงานออกไป ฉะนั้นนักข่าวคือ ผู้ที่กำหนดว่าจะสื่อสารหรือจะนำเสนออะไรบ้าง และจะทำอย่างไรที่จะให้การนำเสนอข่าวเป็นตัวเอื้ออำนวยไม่ให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น
กรณีพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นความขัดแย้งหลักที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ โดยใช้อาวุธจริง ตายจริง บาดเจ็บจริง แต่ในพื้นที่อื่น โชคดีไม่มีความขัดแย้งเหมือนชายแดนใต้ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งอย่างอื่นนั้นด้ยังเกิดขึ้นและมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางทรัพยากร ถิ่นที่อยู่อาศัยหรือ การเมือง ฉะนั้นแล้ว บทบาทของสื่อทางเลือกอย่างเราเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมากที่จะต้องเป็นสื่อที่ สามารถนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงและสื่อสารข้อมูลให้คนเข้าใจง่าย รวมทั้งสามารถสะท้อนบริบทความเป็นจริงของเหตุการณ์ให้กับผู้คนเข้าใจในสิ่งที่เรานำเสนอออกมา
ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้โดยส่วนใหญ่ยังนิยมบริโภคหรือรับข่าวสารจากสื่อวิทยุ นอกจากนั้นก็จะบริโภคข่าวสารจากสื่อทางเลือกออนไลน์ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิมมาก หลายคนใช้ smartphone ได้ เราสื่อสารด้วยระบบออนไลน์ ไม่ใช่อุปสรรค์ที่คนทั่วไปจะรับข่าวสารจากเรา
ย่างก้าวมาทำหน้าที่สื่อ
ปี2547 ในพื้นที่ชายแดนใต้ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้ การรายการข่าวในช่วงแรกๆของเหตุการณ์ส่วนใหญ่สื่อกระแสหลักเป็นผู้รายงานสักส่วนใหญ่ วาทกรรมที่เห็น ณ เวลานั้นคือ คำว่าโจรใต้ ได้ถูกนำมาสื่อสารอย่างแพร่หลายในโลกแห่งการสื่อสาร ส่งผลเสียต่อพื้นที่อย่างมาก เพราะได้สร้างให้เกิดการเกลียดชัง ซึ่งไม่ก่อให้เกิดเป็นผลดีต่อพื้นที่
ต่อมา นักกิจกรรมบางส่วนได้ผันตัวเองเข้าไปทำงานสื่อ เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ด้วยการรวมตัวเป็นเครือข่ายสื่อคนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ เป็นสื่อภาคพลเมืองในพื้นที่ ผมริเริ่มทำงานสื่อสารในพื้นที่ชายแดนใต้ ตั้งแต่ ปี 54 เริ่มจากศูนย์ เริ่มด้วยการเข้าอบรมข่าวจากอินเตอร์นิวส์ จากนั้นก็พัฒนาตัวเอง เรื่อยๆ ทำงานข่าวส่งไปสำนักต่างๆและทำงานกับสำนักข่าวในทางเลือกในพื้นที่ ซึ่งจะบอกว่า การก้าวตัวเองมาเป็นสื่อทุกคนสามารถทำได้ ขอให้ฝึกฝน
ความเป็นคนในพื้นที่สามารถสื่อสารที่เข้าใจง่าย และเข้าถึง (ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาที่คนส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นในการสื่อสาร)
อีกอย่างด้วยความที่เราเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ ทำให้เรารู้จักพื้นที่ การเข้าถึงแหล่งข่าวได้ง่าย และที่สำคัญได้รับความไว้วางใจจากแหล่งข่าว เป็นกำไรหลักด้วย สื่อทางเลือกอีกประเภทหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่และได้รับความนิยมก็คือ สื่อวิทยุชุมชน ฉะนั้นแล้ว สื่อภาคพลเมืองหรือสื่อทางเลือกที่เราทำนั้น ได้รับประโยชน์หรือตอบโจทย์คนในสังคม อย่างไรนั้น สิ่งแรก มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ในระดับท้องที่ สื่อสามารถที่จะช่วยสังคมได้ ด้วยการสื่อสารความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สื่อสารเรื่องราวของพื้นที่ชายแดนใต้ ให้คนทั่วไป ได้รับรู้
ข้อคำถามจากสื่ออิสานถึงสื่อปาตานี
อุปสรรค์ในการทำข่าวในพื้นที่ชายแดนใต้คืออะไร
ในพื้นที่ชายแดนใต้ ความขัดแย้งที่นำไปสู่การก่อเหตุรุนแรง คือสิ่งท้าท้าย คือเราอยู่ท่ามกลางกฎหมายสองฉบับ ฉบับแรกเป็นกฎหมายของรัฐไทย และฉบับที่สองเป็นของขบวนการซึ่ง เราในฐานะนักข่าวก็ ต้องอยู่ตรงกลางทำข่าวภายใต้ข้อเท็จจริง
อย่างที่บอกเราเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่ การได้ข้อมูลจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ หรือจะเป็นข่าวที่เครือข่ายรายงานเข้ามาแล้ว คนทำข่าวจะมีกองบรรณาธิการในการตรวจทานการแยกแยะ อีกทั้งจากโซเชี่ยลมีเดียเราก็มีกระบวนการแยกแยะว่าอันไหนเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีข่าวเยอะมาก แต่เราจะแยกแยะดโดยหาข้อมูลว่าข่าวนั้น ๆมีที่มาที่ไปอย่างไร ใครเป็นผู้โพสต์และสามารถตามต่อข้อมูลนั้นอย่างไรมาประมวลตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
ข้อทิ้งท้าย
ความขัดแย้งคือความโกรธแค้น การรายงานข่าวคือการสร้างมิตร มิใช่การสร้างให้ทั้งสองฝ่ายมีความเกลียดชังเพิ่มขึ้น ฉะนั้นการสร้างวาทกรรมในการรายงานข่าวนั้น ไม่ว่าจะเป็น โจรใต้ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันคือการตราหน้าแก่คนในสังคมนั้น เราจำเป็นต้องสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม มนุษย์จึงจะได้เห็นถึงคุณค่าของทุกคนในสังคมผ่านการรายงานข่าวของเรา ฉะนั้นสื่อภาคพลเมืองคือผู้จุดประกายเรื่องราวให้สังคมได้นำไปขยายโดยหวังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมให้สังคมต่อไป