(ขออภัยในความไม่สงบ) มาปลุกเสน่ห์ปาตานีให้น่าอยู่ กับ “มลายูฮิปสเตอร์”
มนต์เสน่ห์ยามพลบค่ำย่านชุมชนเก่าแก่แถบเมืองริมแม่น้ำปัตตานี เพียงห้วงยามประมาณสองทุ่ม ผู้คนก็เริ่มเก็บตัวอยู่กับครอบครัว เผยแต่บ้านเรือนที่ยังแลเห็นแสงไฟและท้องถนนทอดยาวซอกแซกจากซอยหนึ่งไปโผล่อีกซอยหนึ่งชวนเวียนหัว หากจะมีเสียงรบกวนบ้างก็จะเป็นเสียงจากรถและเรือที่เชื่อมโยงสัมพันธ์เรื่องราวผู้คนแถบนี้ เล็ดรอดออกมา นานๆที บรรยากาศเช่นนี้เป็นวิถีดำเนินเรื่อยมา ถึงแม้นสถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้จะมี เสียงระเบิด ควันปืน ดังมาไกลๆ แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่โอบล้อมอยู่รอบนอก ที่ไม่สามารถทำลายเสน่ห์ความเป็นย่านชุมชนเก่าแก่แถบนี้จางหายไปได้
ไม่เพียงเท่านี้เสน่ห์ย่านชุมชนเมืองเก่าแก่แห่งนี้ ยังมีร้านชาเล็กๆแลเห็นอยู่ริมทางถนนสายหลักตั้งชื่อเท่ห์ๆ ว่า IN-TO-AF เป็นชื่อเล่นพยางค์มาจากคำว่า FA-TO-NI ที่บรรยากาศถูกตกแต่งด้วยความรู้สึกอบอุ่น สร้างความเป็นกันเองของผู้คนทั่วไปที่มาชื่นชมดื่มด่ำกับการให้บริการ โดยเฉพาะลูกค้าขาประจำอย่าง นักกิจกรรมสไตล์เด็กแนว ฮิปสเตอร์ ที่รู้จักกันในกลุ่ม "Saiburi Looker" นักเฝ้ามองสายบุรี กลุ่มคนรุ่นใหม่จากพื้นที่ที่อาสาเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่ถักทอความสัมพันธ์ของผู้คนภายในและภายนอกปาตานี ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ซ่อนความติสต์อย่างคืนความสุขสายบุรี และเดอะเครา-ไนท์ หรือปฏิบัติการแบบแนวๆ ห่ามๆ เช่น กิจกรรม Saiburi Street X ’hibit ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันแสดงออก มีทั้งการวาดภาพ พ่นสี และสเก็ตบอร์ด
แล้วค่ำคืนนี้ ค่ำคืนที่หยั่งด้วยเสน่ห์ของความเป็นชุมชนเมืองเก่าแก่และร้านชาบรรยากาศแสนอบอุ่นแห่งนี้ก็มีเรื่องราวของพวกเขาและผองเพื่อนที่อยากจะมาเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องราวที่รวบยอดมาจาก จินตนาการ ความคิด ความฝัน ของพวกเขา ซึ่งกำลังจะถูกกลั่นออกมาเป็นปฏิบัติการสร้างสรรค์ ปลุกหัวใจสาธารณชนในพื้นที่ชายแดนใต้ให้ตื่นเต้นอีกครั้งหลังจากเคยปฏิบัติการสร้างสีสันในพื้นที่หลายครั้งหลายคราด้วยกัน พวกเขาเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า “สร้างเมืองให้น่าอยู่” หรือ ชื่อที่ชวนตื่นเต้น คือ “[Urban] Street X ’hibit”
ชาถูกรินใส่แก้ว อาหารถูกเสิร์ฟเป็นวงล้อม เสียงแลกเปลี่ยน ถกเถียง เริ่มต้นด้วยความคิดกิจกรรม [Urban] Street X ’hibit ที่พอจะเล่าใจความได้ว่า เป็นปฏิบัติการต่อยอดจากกิจกรรมเดิมที่เคยสร้างชื่อมาแล้วแถบอำเภอสายบุรี คือ Saiburi Street X ’hibit แต่ครั้งนี้จะมีอะไรๆ แปลกใหม่ออกไปให้เห็นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ บรรยากาศ กิจกรรมที่มีการปรับใหม่เพิ่มเติม และขยายความสนใจไปยังคนหลากหลายยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมอยู่บนพื้นที่ที่มีความหลากหลายและสามารถรวมการใช้กีฬา ศิลปะ และวัฒนธรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเกิดพื้นที่แปลกใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันสรรค์สร้างอย่างสร้างสรรค์
อานัส พงค์ประเสริฐ หรือ “อานัส” หนึ่งในแก๊ง Saiburi Looker ออกมาเล่าให้ฟังนอกวงว่า ความคิดของพวกเราเห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ บรรยากาศทางการเมืองทั้งในระดับประเทศจนมาถึงระดับท้องถิ่น ที่ยังไม่รู้จะมีทิศทางเป็นไปอย่างไร ทำให้คนท้องถิ่น คนเมืองเลยรู้สึกเบื่อ เซ็ง กับชีวิต ไม่รู้จะทำอย่างไร ขณะที่แนวความคิดการจัดการเมืองของคนข้างใน นับเป็นกระแสการตื่นตัว ที่มาแรงมาก โดยเฉพาะการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น เด็กแนว ที่ต้องการทำอะไรที่สร้างสรรค์ต่อสังคมเริ่มเป็นกระแสนิยมมากขึ้น ซึ่งในจังหวัดชายแดนใต้ก็มีกระแสการตื่นตัวแบบนี้เหมือนกัน เราเลยคิดว่า เราน่าจะเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้มาสร้างสรรค์เมือง สร้างสรรค์บรรยากาศในพื้นที่ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
“กิจกรรมในลักษณะที่เราคิดกันนั้น เป็นกิจกรรมที่ไม่ค่อยมีในพื้นที่ อาจเป็นเพราะ คน 3 จังหวัด ไม่ชอบออกนอกพื้นที่ส่วนตัว พยายามรักษาพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนพุทธ หรือมุสลิมก็ตาม ทั้งๆที่ความคิดและกลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่จริงในพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่นี้ คือการเปิดพื้นที่ เป็นพื้นที่รวมของคนเหล่านี้”
“คนเหล่านี้เมื่อคุยกันลึกๆ จริงๆแล้ว เขาคือคนถูกกดทับจากเสียงในพื้นที่ เพราะกลัวจะถูกมองว่าเอากิจกรรมแบบตะวันตก แบบข้างนอกมาในพื้นที่ ซึ่งกิจกรรมที่เราทำไม่ได้ขัดต่อหลักการศาสนา แต่เป็นเพราะความไม่คุ้นเคยเท่านั้น ซึ่งพวกเราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราต้องก้าวข้ามและใช้การอธิบายทำความเข้าใจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในกิจกรรมว่าก่อเกิดประโยชน์อย่างไรต่อพื้นที่ผลที่ตามมาเราเชื่อว่า ด้วยกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพียงไม่กี่กิจกรรม ก็ส่งผลทำให้กลุ่มวัยรุ่น เด็กแนว ฮิปส์เตอร์ ใน 3 จังหวัด คิดอยากจะทำด้วย นับเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ”
อาหาร เครื่องดื่มถูกเสิร์ฟ มาเป็นระยะๆ สมาชิกกลุ่มมาสมทบเรื่อยๆ การคุยยังคงดำเนินต่อไปอย่างสนุกมาถึงเรื่องกิจกรรมในการปฏิบัติการซึ่งวงล้อมชาของพวกเขามีข้อสรุปตรงกันคือ...
“SKATE + X’TREME” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นเครื่องมือคัดเลือกผู้เข้าร่วมแข่งขัน สเก็ตบอร์ด มีการแสดงจักรยาน BMX และประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่จะจัดขึ้นในภายหลังจากนี้
“Vintage” เป็นกิจกกรมเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กัน ระหว่างคนรุ่นเก่าที่มีไฟกับคนรุ่นใหม่ โดยผ่านเรื่องราว Vintage เช่นเครื่องแต่งกาย มอเตอร์ไซด์ รถยนต์ เป็นต้น ได้มีโอกาสมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านเรื่องเล่าในความทรงจำ
“STREET EXIBIT” กิจกรรมว่าด้วยศิลปะและการแสดง โดยใช้ศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ นำเสนอในรูปแบบร่วมสมัยผ่านการแสดงของคนรุ่นใหม่ ที่มีการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยเช่น การร้อง Sajok โดยการนำเนื้อหาสังคมที่เป็นกระแสความสนใจของคนในพื้นที่ และกระแสหลัก
“SKATE & CAMP” กิจกรรมการแข่งขันกีฬา การแสดงผ่านงานศิลปะสมัยใหม่ และจัดแสดงงานงานศิลปะที่สะท้อนเรื่องราววัฒนธรรมในพื้นที่ ,กิจกรรมแค้มป์ รอบกองไฟ บรรเลงดนตรี ที่รวบรวมคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เป็นการสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และกิจกรรมสร้างความเข้าใจ
อย่างไรก็ดี อานัสเปรยว่า ภายใต้ปฏิบัติการครั้งนี้พวกเราคาดหวังถึงการเป็นสารตั้งต้น ชวนกลุ่มคนนอกเหนือจากเรา นอกเหนือจากเด็กแนว หรือคนที่มีรสนิยมแตกต่างจากเรา จะนำสารจากเราไปสื่อ ขยายความกันต่อในรูปแบบต่างๆที่มีความรู้ มีความเป็นวิชาการ เราอยากมีภาคีทำงานร่วมที่แตกต่างจากเรามารับรู้ทำความเข้าใจ และสื่อสารออกไปในภาษา หรือรูปวิธีของภาคีเอง และสำหรับหน่วยงานภาครัฐแล้ว เราก็คาดหวังว่าหน่วยงานระดับท้องถิ่นจะเป็นตัวกลางในการสนับสนุน กิจกรรมแนวๆ สร้างสรรค์ สอดแทรกเนื้อหาทางสังคม ที่เราทำกันอยู่ต่อเด็กๆ เยาวชน ซึ่งเป็นการขยายต่อยอดบรรยากาศน่าอยู่และมีความเข้าใจต่อสังคมมากยิ่งขึ้น
ค่ำคืนของระดมจินตนาการ ความคิด ยังคงดำเนินต่อไปในวงชาเล็กๆตรงนี้อย่างครึกครื้น พวกเขาพูดคุยถึงความกังวลว่า สังคมบ้านเรามีความละเอียดอ่อน เรื่องวัฒนธรรม ศาสนา และความแปลกใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่ อาจมีผลต่อการทำความเข้าใจรูปแบบกิจกรรมร่วมสมัย แต่พวกเขาก็เชื่อว่าหากมีการชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบกิจกรรม ความสำคัญ และผลดีต่อพื้นที่แล้ว สังคมก็จะเข้าใจ
การระดมจินตนาการ ความคิด ของเหล่าฮิปส์เตอร์มลายูในวงน้ำชาใจกลางชุมชนเมืองเก่าแก่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนเริ่มทยอยออกจากร้าน ที่ละโต๊ะ สองโต๊ะ ความเงียบสงัดเริ่มย่างกรายเข้ามา แต่ความคิดส่งท้ายของค่ำคืนนี้กลับได้ปลุกเร้าพวกเขาส่งถึงกันและกัน ภายใต้ความมุ่งมันของความเป็นกลุ่มก้อนที่จะทำฝันและจินตนาการให้เป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจริง โดยถึงที่สุดแล้ว พวกเขาก็เชื่อว่า สามัญชนคนกระจอกเล็กๆ กลุ่มหนึ่งจะสามารถสลายมายาคติก้อนใหญ่ มายาคติความเป็นปีศาจร้ายในแผ่นดินป่าเถื่อน ออกจากความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมไทยได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
นี่คือเรื่องราวสั้นๆไม่กี่หน้ากระดาษ ที่ต้องใช้ใจฟังจากพลบคล่ำลากยาวเกือบจะเที่ยงคืน เป็นเรื่องราวที่ชวนให้นึกถึงประโยคกลางเล่มของหนังสือ “ปั้นน้ำเป็นตัว” ของ วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 40 และ 42 ที่บอกว่า “มีคำกล่าวคลาสสิคว่า A picture speaks louder than words หมายถึง ภาพหนึ่งสามารถสื่อสารยิ่งกว่าคำพูดพันคำ นิตยสารภาพอย่าง LIFE ยืนยงยาวนานหลายสิบปีโดยแทบไม่ต้องมีคำพูด แต่ทุกภาพในนั้น ‘สื่อ’ ถึงผู้อ่านอย่างแรง”
เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อมองมายังสิ่งที่หนุ่มสาวมลายูคนรุ่นใหม่เหล่านี้กำลังจะทำ มันคือการแสดงออกด้วยปฏิบัติการงานสร้างสรรค์ ที่หวังว่าจะทรงพลังกว่าการสื่อสารด้วยคำพูดเป็นพันคำ