จากเหยื่อเด็กหน้าโรงเรียนตากใบ ถึงบทบาทคนทำงานกับเด็ก

 Photo credit by كن انسان

สถานการณ์ความขัดแย้งในปาตานี/ชายแดนใต้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 นับจากปี 47 เป็นต้นมา ขณะที่คำว่าสันติภาพก็ยังเป็นวาทกรรมที่ถูกยกมาใช้ขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในหลากประเด็น หลายมิติ มากมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นผู้หญิง การพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสิทธิและสันติวิธีรวมไปถึงการทวงถามความยุติธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายและการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่ม BRN ซึ่งเป็นกลุ่มขบวนการติดอาวุธที่สังคมไทยเริ่มรู้จักเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนเรียกร้องให้สังคมตระหนักในประเด็นปลีกย่อยภายใต้คำใหญ่อย่างสันติภาพนั้น ประเด็น "เด็กและเยาวชน" นับเป็นประเด็นที่กระตุ้นต่อมความรู้สึกนึกคิดของสาธารณะชนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ในพื้นที่ที่ผ่านมา ได้ฝังสะเทือนในใจของคนในสังคมไทย ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เห็นเด่นชัด โดยจะขออ้างถึงสกุ๊ปข่าวจาก โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เรื่อง เปิดรายงานสถานการณ์เด็กชายแดนใต้ กับ 8 ข้อเสนอป้องกันตกเป็นเหยื่อรุนแรง" ในส่วนที่ระบุถึงเหตุการณ์ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 57 กรณีเกิดเหตุคนร้ายบุกยิงยกครัว "ครอบครัวมะมัน" ที่บ้านปะลุกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ทำให้เด็กชาย 3 พี่น้องเสียชีวิตทั้งหมด โดยเด็กที่เสียชีวิตอายุเพียง 11 ปี 9 ปี และ 6 ปี หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน เกิดเหตุคนร้ายกราดยิงชาวบ้านขณะกำลังใส่บาตรที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ทำให้เด็กชายวัย 9 ขวบเสียชีวิตอีก 1 คน และเด็กหญิงอายุ 11 ขวบได้รับบาดเจ็บ โดยทั้งคู่เป็นพี่น้องกัน

ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าว ล่าสุดจึงมีความพยายามขององค์กรภาคประชาสังคม นำโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) และกลุ่มด้วยใจ ได้จัดทำรายงานชื่อ "สถานการณ์เด็กและผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2556" เพื่อศึกษาสถานการณ์ของเด็กและผู้หญิงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา รายงานฉบับดังกล่าวอ้างสถิติตัวเลขว่า ตั้งแต่ปี 47–ปี 56 มีเด็กเสียชีวิตจากความรุนแรงทางอาวุธจำนวน 62 คน บาดเจ็บ 374 คน ทั้งยังพบว่าเด็กจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเป้าหมายของการก่อความรุนแรงด้วยอาวุธไปโดยปริยาย เนื่องจากเด็กเหล่านั้นใช้ชีวิตประจำวันใกล้บริเวณที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการก่อเหตุรุนแรง

กระทั่งล่าสุดเหตุการณ์ตอนเช้าของวันที่ 6 ก.ย. 59 ที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกสะเทือนใจต่อสังคมยิ่งขึ้น เมื่อเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดจักรยานยนต์บอมบริเวณโรงเรียนบ้านตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยหนึ่งในนั้นเป็น เด็กหญิงนักเรียนอนุบาลพร้อมบิดา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกนับสิบราย ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 2 คนซึ่งเป็นพ่อลูกกัน คือ นายมะเย็ง  เว๊าะบ๊ะ อายุ 36 ปี กับเด็กหญิงมิตรา เว๊าะบ๊ะ อายุเพียง 4 ขวบ ซึ่งโดนสะเก็ดระเบิดขณะกำลังเดินเข้าโรงเรียน ก่อนจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ คือ นายตัลมีซี มะดาโอ๊ะ หลังมีอาการสาหัส เสียเลือดมากจนทนพิษบาดแผลไม่ไหวส่งผลให้ครอบครัวตัลมีซีอยู่ในสถานการณ์ลำบาก และเด็กน้อย วิลดาน มะดาโอ๊ะ ลูกชายวัย 8 เดือนต้องกลายเป็นกำพร้าในที่สุด

ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวข่าวสำนักต่างๆทั้งในและต่างประเทศนำเสนอภาพเหตุการณ์หลากหลายแง่มุม  ขณะที่ในโลกออนไลน์ มีการพูดถึง ภาพของเหยื่อผู้ได้รับกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ ต่างก็แสดงความเสียใจ เห็นอกเห็นใจ และหาช่องทางที่จะช่วยเหลือ ตามด้วยการประณามผู้ก่อเหตุโดยองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 10 องค์กร ทั้งนี้เนื้อหากล่าวถึงการแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ ก่อนจะโหนกระแสเรียกร้อง “พื้นที่ปลอดภัย” และเรียกร้องความรับผิดชอบจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายไม่ว่ากองกำลังจากภาครัฐและกลุ่มขบวนการ BRN ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ อย่างมากในโลกออนไลน์และสังคมไทย

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้ หลายๆครั้ง มักจะมีการออกมาเรียกร้องให้กองกำลังของคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย มีความระมัดระวังและตระหนักในการปฎิบัตการที่กระทบต่อเด็ก  ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวเสมือนจะระเหยไปในอากาศทุกคราไป ขณะที่กระแสการเรียกร้องให้เกิดการตระหนักเรื่องเด็กต่อกลไกภาครัฐ ภาคประชาสังคม หรือแม้นกระทั่งภาคธุรกิจ ยังคงมีน้อยเหลือเกิน โดยเฉพาะการตระหนักในเรื่องการทำกิจกรรม โครงการที่ทำให้เด็กกลายเป็นเครื่องมือ หรือ ผลประโยชน์ทางการเมือง หรือภาพลักษณ์และผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์สูงสุดของเด็ก อย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทั้งๆการเรียกร้องจากกลุ่มองค์กร หน่วยงาน เหล่านี้มีโอกาสที่จะนำไปสู่การเกิดความตระหนักเรื่องเด็กได้จริง หรืออาจจะขยายไปสู่การปฎิบัต จนกลายเป็นวัฒนธรรมและนโยบายขององค์กร

ดังนั้นเพื่อการเรียกร้องที่เอาจริงเอาจัง เกี่ยวกับเรื่องเด็กและเยาวชน  ปาตานี ฟอรั่ม ซึ่งเป็นองค์กรทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นหมายรวมไปถึงเด็กและเยาวชนด้วย จึงมุ่งมั่นที่จะจัดทำนโยบายคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน นำมาใช้ในองค์กร ด้วยความช่วยเหลือจากโครงการ Local Engagement to Advocate for Peace (LEAP)  ไม่หวังมัวรอเรียกร้องเพียงแต่ผู้อื่นเพียงอย่างเดียว 

ทั้งนี้ในเนื้อหาสำคัญๆนั้น ภายใต้นโยบายคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ปาตานี ฟอรั่ม เชื่อว่า เด็ก ได้แก่บุคคลใดก็ตามที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วน เยาวชนได้แก่บุคคลใดก็ตามที่มีระหว่าง18 -  25 ปี  ซึ่งเด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มบุคลากรทางสังคมที่สำคัญ ที่จะมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมให้เป็นไปในแนวทางที่ดีในอนาคต  ฉะนั้น เด็กและเยาวชน จึงมีสิทธิความเท่าเทียมทุกประการในการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมแสดงเจตนารมณ์ของตน การแสดงความคิดเห็น และการลงมือปฏิบัติ ในกิจกรรมที่สร้างสรรค์ อันส่งผลดีทั้งต่อตัวเด็กและเยาวชนเอง และบุคคลอื่นๆ

เด็กและเยาวชน ที่ต้องมีการปฏิบัติกิจกรรม / ปฏิสัมพันธ์ กับปาตานี ฟอรั่ม จักต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง  ให้อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยและปราศจากการละเมิดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยเจตนา หรือไม่ตั้งใจ ที่จะส่งผลให้เด็กและเยาวชน จักต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกละเมิด การแสวงหาผลประโยชน์ การบาดเจ็บและเป็นอันตรายอื่นๆ

ปาตานี ฟอรั่ม ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญต่อนโยบายปกป้องคุ้มครองเด็กซึ่งเจ้าหน้าที่ บุคลากร และอาสาสมัครจะต้องปฏิบัติ และถือเป็นกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบทางลบ หรือเกิดให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ในเบื้องต้นจึงมีข้อปฎิบัติภายในขององค์กรและบุคคลที่ร่วมทำงานกับปาตานี ฟอรั่ม ดังนี้

ข้อปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และองค์กร

เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหรือกิจกรรมต่างๆของปาตานี ฟอรั่ม จะต้องมีข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้

- เจ้าหน้าที่ บุคลากรอาสาสมัครและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรทุกคนจะต้องเคารพสิทธิ ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม และความหลากหลาย ตามระบอบประชาธิปไตย

- เจ้าหน้าที่ บุคลากรอาสาสมัครและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรทุกคน จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ประจำตำแหน่งและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ และจะต้องตระหนัก /ระมัดระวังอยู่เสมอ ในการปฏิบัติหน้าที่ทุกขั้นตอน เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิและการทารุณกรรม เด็กและเยาวชน

- เจ้าหน้าที่ บุคลากรอาสาสมัครและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรทุกคน จะต้องปฏิบัติงานทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส ไม่เป็นการส่อถึงการทุจริตไม่โปร่งใส ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบด้านลบต่อเด็กและเยาวชน และบุคคลทั่วไป

- เจ้าหน้าที่ บุคลากรอาสาสมัครและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรทุกคน จะต้องไม่กระทำการใดๆทั้งสิ้น ที่เป็นการละเมิดและทารุณกรรมเด็ก/เยาวชน การกระทำที่อาจจะนำไปสู่การละเมิดและเพิกเฉยต่อการละเมิดและทารุณกรรมเด็ก/เยาวชน (และรวมไปถึงการละเมิดและการกระทำความรุนแรงต่อบุคคลทั่วไปด้วยเช่นกัน)

- เจ้าหน้าที่ บุคลากรอาสาสมัครและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรทุกคน จะต้องมีการวางแผนการดำเนินงานและการปฏิบัติกิจกรรมทุกอย่างจะต้องประเมินความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทุกรูปแบบ ทั้งก่อนเริ่มกิจกรรมระหว่างการจัดกิจกรรมและหลังจากการจัดกิจกรรม

- เจ้าหน้าที่ บุคลากรอาสาสมัครและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรทุกคนจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นจริงต่อเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ การเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างของปาตานี ฟอรั่ม จะต้องได้รับความยินยอมสมัครใจจากเด็กและผู้ปกครองมีการเซ็นเอกสารที่ระบุในรายละเอียดของกิจกรรมอย่างครบถ้วน

- เจ้าหน้าที่ บุคลากรอาสาสมัครและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรทุกคนจะต้องปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงและจะต้องปฏิบัติตามกติกาและเคารพกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด

การเข้าถึงของคนภายนอก

- ปาตานี ฟอรั่ม จะต้องให้ความรู้เบื้องต้นแก่ เด็ก เยาวชน และผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการป้องกันการฉวยโอกาสจากบุคคลภายนอก ที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยกะทันหัน

- เด็ก เยาวชน และผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีสิทธิที่จะแสดงออกถึงความต้องการ ที่จะไม่ให้ข้อมูลตามความพึงพอใจ หรือรู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัย

- ผู้สนับสนุนงบประมาณ ผู้มีอำนาจในท้องถิ่น หรือในองค์กรเอง ไม่สามารถที่จะตัดสินใจแทนเด็ก เยาวชน และผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้

- การพบปะ หรือเยี่ยมชม การจัดกิจกรรม บุคคลภายนอก จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปาตานี ฟอรั่ม ล่วงหน้า  และเจ้าหน้าที่ที่ทำการดำเนินกิจกรรม จะต้องแจ้งให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรับทราบ ล่วงหน้า ด้วยเช่นกัน

- ผู้สนับสนุนงบประมาณ ผู้มีอำนาจในท้องถิ่น หรือในองค์กรเอง จะไม่สามารถกระทำการใดๆทั้งสิ้นกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยปราศจากการยินยอมจากเด็กและเยาวชนเอง (เช่น การสัมภาษณ์,การถ่ายรูป,การนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ เป็นต้น)

ทั้งหมดนี้เป็นการเรียกร้อง ปาตานี ฟอรั่มให้เกิดความตระหนักเรื่องเด็ก เยาวชนที่เป็นจริงเป็นจัง ซึ่งพอการันตีได้ว่า ข้อเรียกร้องจะไม่ได้หายกลายเป็นอากาศธาตุเหมือนการเรียกร้องต่อคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย ที่ทุกวันนี้สาธารณชนก็รู้ว่ามีอยู่จริง แต่…จับต้องยากซะเหลือเกิน