คุยสั้นๆกับนักประวัติศาสตร์ ศ.ดร.ธเนศ เรื่องการเมืองของคำ

ภาพโดย: ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์

คำว่า “ปาตานี” กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงในแวดวงภาคประชาสังคม และแวดวงวิชาการในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในแง่มุมประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ในสังคมไทยโดยจะพบในผลงานวิชาการมากมาย อย่างไรก็ดี ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่นับตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา คำว่า “ปาตานี” ก็ถูกนำมาถกเถียงและวิพากษ์ในมิติทางการเมืองมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ ยิ่งแล้วภายหลังการเกิดขึ้นของกลุ่ม MARA PATANI ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวงานการเมืองของฝ่ายคิดต่างจากรัฐที่อาจมีข้อสงสัยจากสาธารณะชนอยู่ว่าจะมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ต่อการควบคุมงานกำลังอาวุธในพื้นที่ ทั้งนี้ในการเปิดตัว กลุ่ม MARA PATANI ต่อสื่อมวลชนครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 58 นั้น ประเด็นคำว่า “ปาตานี” ก็กลายเป็นประเด็นข้อสงสัยจากฝั่งตัวแทนรัฐไทยเช่นกัน

ในโอกาสที่มีการจัดงานสัมมนาวิชาการ ประวัติศาสตร์ “สยาม-ปาตานี” ข้อมูลใหม่ในความสัมพันธ์กับ “นครเมกกะฮ์” เมื่อเร็วๆนี้ (18 กันยา 58 )โดยมี .ดร.ธเนศ  อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชื่อดังได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาและในช่วงเวลาสั้นๆหลังจบงาน จึงหาโอกาสนั่งพูดคุย รับฟังมุมมองความเห็นของ อาจารย์ธเนศ เกี่ยวคำว่า “ปาตานี” ที่ไม่ใช่แค่มิติประวัติศาสตร์แต่หมายรวมไปถึงมิติการเมืองและการจัดการความขัดแย้งด้วย ซึ่งประเด็นที่ท่านสะท้อนให้ฟัง คือ สำหรับมุมมองของนักประวัติศาสตร์การเรียกตัวเองว่า “ปาตานี” น่าจะเกิดจากความต้องการนำเสนออัตรลักษณ์ตนเอง ความต้องการมีชื่อเรียกของตนเอง

“ถ้าในแง่มุมประวัติศาสตร์ การถูกศึกษา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ย่อมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อาจจะไม่เป็นปัญหามาก และโดยทั่วไปตัวประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เกิดจากความหลากหลายทางชาติพันธ์ เมื่อถูกวิพากษ์ เมื่อมีการเล่า จึงทำให้การเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จึงเป็น 2 ด้าน ซึ่งควรจะให้มีการพูดถึงประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้”

ทั้งนี้หากย้อนไปดูแนวทางสมัยการบริหารประเทศจอมพล ป. ก็มีบทเรียนมากมายที่มีความพยายามจะทำให้คนหลากหลายชาติพันธ์เชื่อว่าตัวเองเป็นไทย แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญในสถานการณ์ที่รัฐบาลไทยในการทำความเข้าใจการแก้ปัญหาไฟใต้

ดังนั้นหากมองแบบเชื่อมโยงกับปรากฎการณ์สำคัญ กรณีมีการพูดคุยระหว่างรัฐไทย กับ กลุ่มMARA PATANI  ซึ่งอาจารย์ธเนศ  อธิบายว่าการมีการพูดคุย เจรจา กับกลุ่มผู้คิดเห็นต่างคือ มาร่าปาตานี ก็จะพบเห็นว่า ทางกลุ่มมาร่าปาตานี เองก็มีความพยายามนำเสนอจุดยืนที่เชื่อว่ามาจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถ้าหากภาครัฐไม่เห็นด้วย ก็ต้องถกเถียงด้วยเหตุผล และต้องปล่อยให้อีกฝ่ายได้ถกเถียงถกเถียงด้วยเหตุผลเช่นกัน แล้วเหตุผลก็จะทำให้สาธารณะยอมรับเอง

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงคนสังคมไทย สำหรับ คำเรียก “ปาตานี” อาจารย์ธเนศ ก็มองว่า สังคมไทยก็ต้องเข้าใจว่า เรื่องชื่อนั้นไม่ใช่ปัญหาสามารถเปลี่ยนได้

“ที่ผ่านมาสังคมไทยมักจะคิดว่า หากมีการเปลี่ยนคำว่าปัตตานี มาเป็น ปาตานี ก็คือ การแบ่งแยกดินแดน ซึ่งอันที่จริงเราไม่ควรคิดไปไกล เพราะเรื่องการเปลี่ยนชื่อนั้น เป็นเรื่องปกติ คนเราก็มีการเปลี่ยนชื่อกันได้เลย เราต้องปล่อยให้คนในพื้นที่ได้แสดงอัตลักษณ์ตัวเอง ถ้าหากการเปลี่ยนนั้นทำให้ความขัดแย้งลดลง”

ขณะเดียวกันสถานการณ์การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในพื้นที่นั้นก็เป็นโจทย์สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาก็มักถูกโยงให้เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง ดั้งนั้น อาจารย์ธเนศ เห็นว่า การขับเคลื่อนเรื่องคำว่า ปาตานี ก็เป็นอะไรที่ทำให้เกิดการโต้แย้งกับภาครัฐ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า หากการขับเคลื่อนที่ขยายเป็นเรื่องการโต้แย้งอย่างรุนแรง ก็อาจจะต้องคำนึงว่า ควรจะขับเคลื่อนบนสถานการณ์และจังหวะที่เหมาะสม และจังหวะเช่นนั้นควรจะขับเคลื่อนอย่างไร เพื่อไม่ทำให้ความขัดแย้งที่รุนแรง

“ต้องขับเคลื่อนให้ถูกจังหวะ ต้องระวัง เพราะหากไม่คำนึงถึงจังหวะ ก็จะไปทำให้ชะลอการทำงานประเด็นอื่นๆไปด้วย อย่างไรก็ตามในสำหรับแนวทางวิชาการแล้วย่อมเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้เพราะเป็นการขับเคลื่อนที่คำนึงถึงเหตุผล ความน่าเชื่อถือและเป็นสันติวิธี” อาจารย์ธเนศ เสนอแนะตอนท้ายของการสนทนาในช่วงเวลาสั้นๆเพราะด้วยกำหนดการภารกิจที่บีบรัดตัว ซึ่งยังคงมีประเด็นอีกมากมายให้ค้างคาที่อยากสนทนากันต่อ  ฺ

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาสั้นๆนั้น ก็ทำให้เห็นประเด็นชวนคิดได้ว่า การเมืองของคำว่า “ปาตานี” หากคู่ขัดแย้งมองเป็นเรื่องแพ้-ชนะ  ก็จะไม่ก่อเกิดคุณูปการใดต่อประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ แต่หากมองว่า เป็นการจัดการเพื่อการอยู่ร่วมกันได้แม้นจะไม่เข้าใจทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็อาจจะเป็นการลดเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนระหว่าง 2 เขาควายไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียเพิ่มขึ้นอีก