ร่วมตระหนัก "รายงานสถานการณ์ความรุนแรงที่มีต่อเด็กชายแดนใต้"

วันเด็กผ่านไปแล้ว แต่แง่มุมของเด็กชายแดนใต้ยังคงต้องพูดถึงอยู่ โดยเฉพาะสถานการณ์เด็กในพื้นที่ความรุนแรงชายแดนใต้ โดยไม่นานมานี้ กลุ่ม Children Voices for Peace ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นปัญหาที่เหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ช่วยกันรณรงค์การคุ้มครอง ปกป้องสิทธิของเด็กและเยาวชน ตามหลักมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และหลักสิทธิเด็ก ในกรอบของมาตรฐานระหว่างประเทศ

Children Voices for Peace  ได้ออกแถลงการณ์ รายงานสถานการณ์เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉบับที่ 1 ซึ่งเริ่มเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 มกรคม ที่ผ่านมา

“ทั้งนี้ ทางปาตานี ฟอรั่ม เล็งเห็นว่าแถลงการณ์ดังกล่าว มีประโยชน์ต่อกลุ่มเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ เสียงของพวกเขาไม่ค่อย ดัง ในความคิดของหลายฝ่าย หลายคน”

ปาตานี ฟอรั่ม ด้วยความตระหนักในการเป็นพื้นที่ของเสียงที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ จึงอยากจะนำเสนอเผยแพร่ แถลงการณ์ รายงานชิ้นนี้ โดยรายละเอียดระบุดังนี้

รายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉบับที่ 1 (เผยแพร่ในวันที่ 14 มกราคม 2556 เวลา 23:30)

ข้อมูลสถานการณ์เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ

1. เหตุยิงกราดร้านคาราโอเกะ ในวันที่ 9 มกราคม 2556 
เหตุเกิดขึ้นที่ร้านคาราโอเกะ ในพื้นที่ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ในเวลา 19.00 น.มีการกราดยิงเข้าใส่ร้านคาราโอเกะ ผลทำให้นางสาวเอ (นามสมมติ)และ เด็กชายบีและเด็กชายซี (นามสมมติ) ได้รับบาดเจ็บ
พบว่า นางสาวเอ ซึ่งมีอายุเพียง 15 ปี ได้รับบาดเจ็บจากการยิงด้วยปืนพกขนาด 9 มม. ถูกยิงเข้าที่บริเวณสะโพก ขณะนี้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเป็นที่คาดว่านางสาวเอ จะเป็นผู้ที่ทำงานในร้านคาราโอเกะดังกล่าว (ทางกลุ่มจะพยายามสืบค้นความจริงในกรณีนี้ต่อไปในโอกาสหน้า)

ในกรณีของเด็กชายบี อายุ 14 ปี และเด็กชายซี อายุ 12 ปี นั้น ในช่วงเกิดเหตุได้เดินทางออกจากบ้านไปซื้อของยังร้านค้าย่านดังกล่าว และได้เห็นเหตุการณ์การยิงกราดดังกล่าว จึงหยุดดูเหตุการณ์บริเวณริมถนนฝั่งตรงข้ามกับร้านที่เกิดเหตุในกรณีของนางสาวเอ ต่อมาทางผู้กระทำการไม่ทราบฝ่าย ได้จุดชนวนระเบิดที่ซุกซ่อนไว้ในรถจักรยานยนต์ในบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นเหตุให้เด็กทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดและไม่มีรายงานการเข้ารับการรับตัวในโรงพยาบาล
การวิเคราะห์สถานการณ์

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางกลุ่มมีข้อสังเกตถึงการอยู่ในที่เกิดเหตุของนางสาวเอ ซึ่งเป็นเด็กอายุ 15 ปี แต่ทำงานในสถานบริการกลางคืน ซึ่งอาจมีความผิดตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 26 เรื่องการทำให้เด็กประพฤติตนไม่เหมาะสมและน่าจะเสี่ยงต่อการกระทำผิด เสี่ยงต่อการจำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุรา/บุหรี่กับเด็ก การใช้แรงงานเด็ก การแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ และประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก และอาจเสี่ยงต่อการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นการค้ามนุษย์ หรือ เป็นการละเมิดพิธีสารเลือกรับ การค้าเด็ก การค้าประเวณี และสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก ทั้งนี้ทางกลุ่มจะดำเนินการติดต่อลงพื้นที่เพื่อติดตามข้อเท็จจริงต่อไป

ในขณะที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กชายบีและเด็กชายซีนั้น ทางกลุ่มตั้งข้อสังเกตุถึงการทำงานของผู้ก่อเหตุที่ยังไม่ตระหนักถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและประชาชนผู้บริสุทธ์ รวมถึงในฝ่ายของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยังไม่สามารถรับมือกับสภาวะเสี่ยงดังกล่าวได้ โดยจากข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อมวลชนทำให้ทราบว่า การวางระเบิดในรถจักรยานยนต์เกิดหลังเหตุกราดยิงประมาณ 10 นาที และมีชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวพบพิรุธของบุคคลที่เอารถจักรยานยนต์มาจอด จึงได้พากันหลบเลี่ยงเนื่อจากไม่มั่นใจว่ารถจักรยานยนต์ดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือของการก่อความรุนแรงครั้งนี้หรือไม่ แต่เนื่องจากไม่มีการกั้นบริเวณของเจ้าหน้าที่ เมือเด็กทั้งสองคนซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมาจากบริเวณอื่นพบเหตุการณ์ความสูญเสียกรณีนางสาวเอ จึงได้หยุดดูโดยไม่รู้ถึงข้อพิรุธของรถจักรยานยนต์คนที่เกิดระเบิดขึ้นดังกล่าว

ข้อเสนอแนะ

ทางกลุ่มขอเรียกร้องให้ ผู้ก่อเหตุพิจาณาอย่างถ้วนถี่ทุกครั้งในการดำเนินการใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและชีวิตของเด็ก และงดเว้นการกระทำใด ๆ การกระทำใด ๆ ที่มุ่งเอาชีวิตบุคคล ซึ่งอาจมีผลให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้ไม่เกี่ยวข้อง และขอให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในการปกป้องชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนอย่างรอบคอบเต็มที่อย่างมีระเบียบแบบแผนโดยอาศัยเครื่องมือใด ๆ ที่จะลดความสูญเสียในชีวิตทั้งของเจ้าหน้าที่เองและของประชาชนทั้งหลาย 

ขอให้ความสันติสุขจงมีแก่ทุกท่านโดยเร็ววัน