งานสันติวิธีต้องมา “ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ปัญหาแทรกซ้อนใต้พรมความขัดแย้งชายแดนใต้”

 

ปัญหาแทรกซ้อนท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ปรากฏเห็นชัดหลายปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการนิยมความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ที่บริบทแวดล้อมความรุนแรงจากสถานการณ์ทำให้การใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ เป็นเรื่องปกติ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามของหน่วยงานราชการและภาคประชาสังคม เรียนรู้และค่อยๆแก้ปัญหา แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ในเร็ววัน

อย่างไรก็ดีก็มีอีกหนึ่งตัวอย่างความพยายามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการและภาคประชาสังคมที่ต้องนำมาบอกเล่าให้ฟัง โดยเมื่อเร็วๆนี้ สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานีร่วมมือกับเครือข่ายชุมชน องค์กรภาคประชาสังคม ผุดหลักสูตร เสริมเน้นเนื้อหาสันติวิธี การไม่ใช้ความรุนแรง ดึงคุณค่าเชิงบวก “เยาวชนในสถานพินิจ”

ทั้งนี้สถานพินิจ คุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี ได้จัดประชุมหารือเพื่อวางแนวทางในการอยู่ร่วมกันของเด็กและเยาวชน โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน เครือข่ายชุมชนจิตอาสา และหน่วยงานราชการ จำนวน 20 คน

การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกันของเด็กและเยาวชนระหว่างเยาวชนไทยพุทธและมุสลิมในสถานพินิจฯ จังหวัดปัตตานี และเพื่อทบทวนหลักสูตรการฟื้นฟูเยาวชนในสถานพินิจฯ  เพื่อให้มีความสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักสูตรหนึ่งในการรองรับการจัดตั้งศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดยะลา   ในอนาคตอีกไม่ช้านี้

นางวิวรรษา แซ่เจี่ย นักจิตวิทยาคลีนิกชำนาญการ จากสถานพินิจฯ จังหวัดปัตตานี ผู้เฝ้าสังเกตและประเมินพฤติกรรมเยาวชนในสถานพินิจ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สถานพินิจฯ รับเยาวชนกระทำผิดจากศาลปัตตานี ศาลยะลา และศาลเบตง โดยมีเวลาที่ถูกควบคุมในสถานพินิจ ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ ถึง 1 ปี ตอนนี้มีเยาวชนทั้งหมด ๓๒  คน  ช่วงระยะหลังพบว่าเยาวชนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปคือ มีพฤติกรรมที่ค่อนข้างใช้ความรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่พบพฤติกรรมแบบนี้ และมีการแบ่งพรรคพวกระหว่างเยาวชนพุทธและมุสลิม จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน

ขณะที่ บุษยมาส อิศดุลย์ ภาคประชาสังคมกลุ่มบ้านบุญเต็ม   จังหวัดยะลา กล่าวคล้ายกันว่า ปัญหาระหว่างเด็กไทยพุทธกับมุสลิมมีมาจากข้างนอกสถานพินิจแล้ว เด็กที่รับมาจากศาลยะลา มีคดีทำร้ายร่างกาย และปล้นชิงทรัพย์ประชาชนในเขตเทศบาลนครยะลา  ปัญหานี้เรื้อรังมา 15 ปีแล้ว วันนี้ก็ยังเกิดขึ้น รู้สึกสงสารประชาชนบริสุทธิ์ทั้งไทยพุทธและมุสลิมที่ถูกเป็นเหยื่อจากปัญหาอาชญากรรมนี้ ยอมรับว่า ในเทศบาลยะลามีปัญหาเรื่องเยาวชนระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมมา 5 ปีแล้ว”

ด้วยความตระหนักในสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการผุดหลักสูตรเสริมสอนสันติวิธี การไม่ใช้ความรุนแรง เน้นการเปลี่ยนแปลงจากข้างใน โดย นางฮัมซะ อับบัส นักวิชาการฯ จากสถานพินิจฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เนื้อหาและกิจกรรมที่เราทำกับกลุ่มเด็กเหล่านี้ เป็นกระบวนการกลุ่มตามหลักสูตรที่ใช้เหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งบางกิจกรรมไม่สอดคล้องกับเยาวชนที่นี่

   “กิจกรรมที่สถานพินิจได้ทำกับกลุ่มเยาวชนเหล่านี้เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงของเด็กกลุ่มนี้ต้องมาจากการเปลี่ยนแปลงข้างในหรือการเปลี่ยนแปลงด้านจิตวิญญาณด้วย อีกทั้งเจ้าหน้าที่เองยังขาดความรู้ ทักษะและกระบวนการสันติวิธีที่จะนำมาสอนเด็ก เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้ง เราไม่มีกระบวนการขอโทษหรือการให้อภัยระหว่างกลุ่มเยาวชนทั้ง 2 กลุ่ม ปัญหาจึงยิ่งบานปลาย จึงอยากให้เครือข่ายองค์กรที่เชิญมาได้เสนอแนะและถ่ายทอดกระบวนการสันติวิธีแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้สอนเองต้องเท่าทันกับภูมิหลังของเด็กเพื่อดึงมุมบวกและคุณค่าที่ถูกเก็บซ่อนในตัวเด็กด้วย  ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่าวจะเริ่มนำมาใช้กับเยาวชนเร็วๆ นี้”

อนึ่งหลักสูตรเสริมเนื้อหาสันติวิธี มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประการที่หนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนรู้คุณค่าตัวเอง   ประการที่สอง เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเยาวชนพุทธ-มุสลิม  ประการที่สาม เพื่อแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงทั้งภายในและภายนอก  

แนวทางของเนื้อหาและกระบวนการมีดังต่อไปนี้

1.ให้มีกิจกรรมให้เด็กมีความคิดเชิงวิเคราะห์ กิจกรรมที่สอนให้เด็กเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งกิจกรรมที่ทำ ต้องย่อยให้ละเอียดเพื่อให้เด็กเข้าใจง่ายมากที่สุด

2.ทำกิจกรรมเพื่อทลายความเกลียดระหว่างกัน

3.กิจกรรมต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างกลุ่มเด็กด้วยกัน และเด็กกับเจ้าหน้าที่

4.กิจกรรมที่มีการฟื้นฟูพลังจิตใจ  และกระบวนการแก้ไขปัญหาให้อยู่ในวิถีชีวิต เช่น การให้สลาม

5.การเตรียมภาวะอารมณ์ของเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาถูกควบคุมตัว

6.การเตรียมเยาวชนที่เชื่อมระหว่างเด็กพุทธและมุสลิม

   ข่าวคราวที่มาเล่าข้างต้น พอจะทำให้เข้าใจได้ว่า ความขัดแย้งในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ ไม่ใช่มีผลแค่เรื่องการเมือง การทหารเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงซ้ำเติมปัญหาสังคมอื่นๆตามมา ดังนั้นการยอมยืดหยุ่นปรับตัวการทำงาน ความร่วมมือกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในสถานการณ์เช่นนี้

ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครอื่นใด แต่เป็นประโยชน์ของผู้ที่ต้องแบกรับชะตากรรมอย่างประชาชนในพื้นที่นั่นเอง..