สำนึกรากเหง้าแห่งสันติภาพด้วยศิลปะแนวคิด “Art melayu”

 

ลายเส้นที่แต่งแต้มบนพื้นที่ว่าง ผ่านการสร้างสรรค์ด้วยจินตนาการและอารมณ์ ถูกรวบเกี่ยวพันธ์เป็นหนึ่งเดียวอย่างมีความหมาย เป็นอีกนิยามหนึ่งของคำว่าศิลปะ แต่สำหรับความคิดของอาจารย์โตรอยี หรือ มูฮัมมัดโตรอยี   แวกือจิ แล้ว การสอดแทรกกลิ่นอายความเป็นมลายูและความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม คือแก่นสารสำคัญของ Art melayu

Art melayu เป็นความพยายามของกลุ่มศิลปินคนรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนใต้ที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างมากในโลกโซเชียลมีเดียขณะนี้ โดยเฉพาะผลงานสร้างสรรค์ภาพ 3 มิติ รูปมัสยิดกรือเซะ และ เรือกอและ ณ หอศิลป์ภาคใต้ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ม.อ.ปัตตานี โดยผลงานดังกล่าวมีผู้คนเข้าร่วมแห่ชมอย่างต่อเนื่องแทบไม่ขาดสาย

Art melayu ก่อตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่จะยกระดับและใช้ศักยภาพทางด้านศิลปะจากคนในพื้นที่เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึก นึกคิดของความเป็นมลายูและศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนใต้ อันเป็นความหมายสำคัญของการขับเคลื่อนสันติภาพในแบบฉบับ Art melayu

อาจารย์โตรอยี ผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่ม อธิบายว่า Art melayu คือการวาด การขีดเขียน คือศิลปะที่เป็นผลผลิตของคนมลายูที่อยากสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก การเข้าถึง วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่เหมือนชนชาติอื่น ความเชื่ออื่น มันมีความต่างจากที่อื่น มีความพิเศษที่เป็นลักษณะเฉพาะ

“ผมอธิบายความคิดของผมผ่านโลโก้ Art melayu ซึ่งจะเป็นรูปจันทร์เสี้ยวที่ประกอบสร้างด้วยคำว่า ลูกีสซัน ซึ่งแปลว่าการเขียน คำว่า คอร์ท คือการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ศาสนาอิสลาม คำว่า นาซีฮัต หมายถึง การให้ความรู้ ความขัดเกลาจิตใจ และสุดท้ายคำว่า ฟัน หมายถึง ศิลปะ ทั้งหมด คือ รวมกันเป็นศิลปะที่สะท้อนรากเหง้าความเป็นมลายูและความเป็นอิสลามที่ส่งเสริมความรู้และการขัดเกลาจิตใจ

“เราในฐานะศิลปินมีความสามารถทางด้านงานศิลปะ มีความคิดอยากสรรสร้างผลงานที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี มลายูที่ไม่ขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นศาสนาหลักของคนมลายูในยุคปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาเราเรียนศิลปะในแบบตะวันตก มีเรื่องของจิตวิญญาณ ความเชื่ออย่างเสรีจนเกินขอบเขต ไม่สอดคล้องกับหลักความเชื่อ หลักการศาสนาอิสลามในหลายประเด็น หลายมิติ”

อาจารย์โตรอยี สะท้อนว่า ทุกวันนี้งานศิลปะบ้านเรา ยังไม่ได้ยกระดับเท่าที่ควร คนทำงานศิลปะทำงานเป็นไปในแบบส่วนตัว อยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่กลมเกลียว ไม่ค่อยนึกถึงเรื่องการช่วยเหลือสังคมสักเท่าไหร่

“คนมีฝีมือทางด้านศิลปะในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำไปเพื่อหวังผลทางธุรกิจเป็นเป้าหมายสูงสุด นอกจากนี้คนทำงานศิลปะก็ยังไม่ได้ใช้ศักยภาพตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหากมีการรวมตัวกันแล้วดึงศักยภาพของตัวเองเป็นกลุ่มอย่างเต็มที่ งานศิลปะก็จะสะท้อนบริบท อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของที่นี่ ต่อสาธารณะอย่างมีพลัง”

ทั้งนี้ อาจารย์มูฮัมมัดโตรอยี  แวกือจิ เป็นคนรุ่นใหม่เกิดที่บ้านดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เคยศึกษาจบระดับประถมโรงเรียนบ้านดอนรัก  ต่อมาในระดับมัธยมก็ศึกษาที่โรงเรียนปทุมคงคาอนุสรณ์  และระดับอนุปริญญาก็ศึกษาที่วิทยาลัยอาชิวะศึกษา จ.ปัตตานี ก่อนจะไปสู่ระดับปริญญาตรี คณะศิลปะศาสตร์ มอ.ปัตตานี

อาจารย์โตรอยี เล่าว่า จุดเริ่มต้น ตนเองเริ่มหลงเสน่ห์งานศิลปะจากการเป็นคนชอบดูการ์ตูนในวัยเด็ก และฝึกการวาดรูปการ์ตูน วาดงานศิลปะ และเข้าแข่งขันจนได้รางวัลตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับปริญญาตรี

“ผมเคยได้รางวัลทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภาค และถูกทาบทามให้เป็นวิทยากรด้านศิลปะตั้งแต่กำลังศึกษาอยู่ และช่วงใกล้เรียนจบก็เป็นตัวแทนวิทยากรได้รับเชิญจากศูนย์การศึกษานอกระบบ (กศน.)และวิทยาลัยในวัง จ.นครปฐม เรื่องการเขียนลายเรือกอและ พอจบมาก็เป็นครูอาชีวะ สอนศิลปะ 5 ปี แต่ก็ออกมาเพราะคิดว่าไม่เหมาะกับตนเองอีกอย่างตนเองก็ไม่มีวุฒิครูแต่ที่สำคัญกว่าคือ อยากออกมาทำ Gallery ส่วนตัว ขายงานศิลปะ เป็นรูปแบบธุรกิจไปพร้อมๆกับการเป็นครูสอนพิเศษ”

“ก็ค่อยๆสร้างฝันของตัวเองขึ้นมา ไปพร้อมกับสอนพิเศษในโรงเรียนเอกชนและระดับอุดมศึกษา มอ.ปัตตานี แต่สุดท้ายก็ต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์พิเศษแล้วหันมาขายงานศิลปะอย่างเดียว ซึ่งเมื่อทำไปสักพักก็มีโอกาสได้ฟังมุมมอง ทัศนะประวัติเกี่ยวกับศิลปะกับอิสลามโดยบังคนหนึ่งซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ จึงรู้สึกเกิดตั้งคำถามกับตัวเองว่าที่ผ่านมาเราทำงานศิลปะที่ไม่ได้ตอบแก่นสารความเป็นรากเหง้าตนเอง รากเหง้าที่สะท้อนความเป็นมลายูและความเป็นอิสลาม ซึ่งเป็นแก่นสารที่ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นบนโลกใบนี้ จึงลองปรึกษากับเพื่อนๆในแวดวงงานศิลปะและวิชาการเรื่องการตั้งกลุ่มทำงานศิลปะที่ตอบโจทย์รากเหง้าตนเองซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนๆในแวดวง และร่วมเป็นเครือทีมงานหลายคน จนตนเองเริ่มมีความหวัง จึงตั้งกลุ่มขึ้นมา เรียกว่า Art melayu”

เมื่อฟังแผนงานและแนวทางของกลุ่มArt melayu อย่างเจาะลึกไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้น่าสนใจอย่างยิ่งยวด อาจารย์โตรอยี เผยว่า การก่อตั้งกลุ่มของเราจะมุ่งไปสู่การเป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมและทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายศิลปินด้านศิลปะ

“แนวทางของเราหวังเพื่อเชิดชูและยกระดับ เอกลักษณ์มลายู เอกลักษณ์ศาสนาอิสลาม ในรูปแบบต่างๆ ให้เป็นที่นิยมของคนทั่วไป นอกจากนี้อยากส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่หันมาตระหนักงานศิลปะตามแนวคิดของ Art melayuโดยอยากผลักดันเป็นหลักสูตรเฉพาะเพื่อไปใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่งหวังว่างานศิลปะตามแนวคิดแบบArt melayu จะช่วยขัดเกลาจิตใจเด็กๆ เสริมสร้างจินตนาการและสำนึกรากเหง้าตนเองยิ่งขึ้น”

“ที่ผ่านมาก็สรรสร้างผลงานหลายงานหลายชิ้น เช่น ภาพวาด 3 มิติ ซึ่งได้รับการติดต่อจากองค์กรเอกชนและพิพิธภัณฑ์หอศิลป์ภาคใต้ หรือบางทีก็รับงานอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับมิติวัฒนธรรม เช่น สร้างภาพวาดตกแต่งร้านค้าต่างๆ ตอนนี้กำลังทำ gallery art melayuซึ่งเป็นที่รวบรวมงานสร้างสรรค์ต่างๆของตนเองและเครือข่าย เป็นงานในแนวจิตกรรม ประติมากรรม งานภาพพิมพ์ และศิลป์ประยุกต์”

ผลงานสร้างสรรค์ของกลุ่ม Art melayu ยิ่งแจ่มชัดเมื่อ อิสระ  กูรุง นักวิชาการศึกษา สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณีวัฒนา ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลหอศิลป์ภาคใต้ ยืนยันว่า ตั้งแต่กลุ่ม Art melayu เข้ามามีบทบาทในการทำภาพเขียน 3 มิติ มีผู้คนเข้ามาชมผลงานหอศิลป์เยอะกว่าที่ผ่านๆมา

 “ต้องยอมรับว่าตอนนี้งานที่ร่วมกับกลุ่ม Art melayu มีผู้คนเข้ามาสนใจจากคนระดับต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ชาวบ้าน ดารานักแสดง และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเอกอัครชทูตเบลเยี่ยมประจำประเทศไทยก็มาชื่นชมด้วย จนถึงต้องเปิดเพจเพื่อนำเสนอผลงาน ซึ่งผู้คนที่มาเยี่ยมชมต่างก็ยอมรับชื่นชมในผลงานว่าเป็นงานคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากไอเดียของกลุ่ม Art melayu ทางหอศิลป์ภาคใต้ก็ให้เพียงแค่ Concept เท่านั้น”

“ปัจจุบันสถาบันศิลปะทุกจังหวัดจะสร้างงานเพื่อดึงดูดผู้คน ซึ่งในส่วนหอศิลป์ภาคใต้จะได้รับนโยบายเรื่อง ส่งเสริมงานพหุวัฒนธรรม ธรรมนุบำรุงวัฒนธรรม เป็น concept เรื่องวิถีชีวิต สถานที่สำคัญในภาคใต้ ซึ่งกลุ่ม Art melayu ก็เป็นกลุ่มคนที่รู้จักในเรื่องการทำงานศิลปะเพื่อสังคม เข้าใจเรื่องอัตรลักษณ์ วิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ดี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนอื่นๆพยายามจะเสนอรับงานชิ้นนี้ แต่เราเลือกกลุ่มคนที่มีความเป็นมืออาชีพและมีความเข้าใจศึกษาเรื่องวิถีท้องถิ่นพอสมควร เราเลยเลือก กลุ่ม Art melayu รับงานนี้”นักวิชาการหอศิลป์ภาคใต้ เปิดเผย

ดั่งที่สาธยายไปข้างต้นถึงแนวทางการขับเคลื่อนของกลุ่ม Art melayu ที่ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างผลงานนำเสนอต่อสาธารณะชนเท่านั้นแต่รวมหมายถึงการปลุกปั้นเยาวชนที่สนใจเรียนรู้งานด้านศิลปะซึ่ง มุสตาอาน  ดือระปูปิ คือหนึ่งในเยาวชนรุ่นแรกที่สนใจโดยเล่าว่า เดิมมีความชอบส่วนตัวเกี่ยวกับงานศิลปะ

“ผมรู้สึกว่าศิลปะอยู่ในวิถีชีวิตคนเรา ศิลปะการค้าขาย การพูด ปฎิสัมพันธ์กับผู้คน พอได้เห็นผลงานของอาจารย์โตรอยี จึงรู้สึกโดนใจ อยากถ่ายทอดวิถีของเราออกมาเป็นงานศิลปะ จึงอยากเรียนรู้ ตอนนี้ก็เริ่มด้วยการเป็นผู้ช่วยลากเส้น เตรียมสี อุปกรณ์ ในงานต่างๆที่อาจารย์ชวนไป”

 มุสตาอาน เป็นเยาวชนจาก ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี อายุ 22 ปี ซึ่งมีพ่อแม่ทำอาชีพกรีดยาง จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย ก่อนจะต่อด้วยศึกษาด้านศาสนาอิสลามในสถาบันปอเนาะตาเซะ ซึ่งปัจจุบันทำงานเปิดซุ้มร้านขายชา กาแฟ ตามงานต่างๆ โดยก่อนหน้านี้เขาเล่าให้ฟังว่าตลอดชีวิตไม่เคยออกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เลย จนมีครั้งหนึ่งได้มีโอกาสไปกรุงเทพฯ เพียงไม่กี่สัปดาห์

“ผมเคยได้ไปกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้นมาก ไปตามโครงการของราชการ แต่เมื่อไปแล้วผมก็ได้เห็นสภาพสังคมที่มีความแตกต่างจากบ้านเรา เป็นสังคมที่ค่อนข้างอยู่แบบตัวใครตัวมัน แต่ขณะที่บ้านเรายังคงอยู่กันแบบพึ่งพา ช่วยเหลือ กันอยู่ แต่ก็เริ่มจะเปลี่ยนไปเหมือนกรุงเทพฯโดยเฉพาะในเขตเมือง เขตตลาด ส่วนเยาวชนก็เริ่มนิยมเทคโนโลยี  แฟชั่น ตามกระแส ไม่คิดเรื่องมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์”

นับเป็นช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ทำให้มุสตาอานรู้สึกตระหนัก ไม่อยากเห็นเพื่อนๆเยาวชน หมกมุ่นจมปรักอยู่กับความเป็นสมัยใหม่ จนขาดความผูกพันกับรากเหง้าของตนเอง จึงมีความใฝ่ฝันอยากทำอะไรสักอย่าง ซึ่งการรู้จัก Art melayu นับเป็นการต่อเติมความฝันของเขา

“ผมคาดหวังว่าสักวันหนึ่งผมจะเป็นศิลปินด้านการวาดรูป อยากสืบทอดทักษะการวาดรูป อยากสร้างผลงานที่สะท้อนภาพความเป็นท้องถิ่นบ้านตัวเอง ไม่อยากให้ลืมกัน  และถ่ายทอดให้แก่เยาวชนมลายูรุ่นต่อๆไป เพราะทุกวันนี้ ความทรงจำท้องถิ่นสมัยเก่าๆ ก็ค่อยๆหายไป ไม่ค่อยมีเยาวชนสืบทอด เยาวชนมัวแต่สนใจเทคโนโลยี ของเล่นสมัยใหม่ที่เข้ามา ”

“ดังนั้นในฐานะ Art melayu ผมจะพยายามเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยถ่ายทอดศิลปะ หลากหลายรูปแบบ ที่สะท้อนรากเหง้าความเป็นมลายูและอิสลาม จนเยาวชนหันมาสนใจมากขึ้นซึ่งหวังว่าเยาวชนมลายูจะรู้สึกผูกพันธ์ ภูมิใจ และรักความเป็นตัวตนของตัวเองไม่ถูกกลืนด้วยความสมัยใหม่ของโลกทุกวันนี้”  มุสตาอานเผยด้วยความหวัง

ทั้งหมดคือจิตประกายเล็กๆของสามัญชนคนธรรมดาในปาตานี ที่บริบทความ “ไม่ปกติ”  มิอาจทำให้พวกเขาต้องอยู่อย่างนิ่งเฉยได้ ดั่งคำพูดศิลปินหนุ่ม มูฮัมมัดโตรอยี สะท้อนเสมอๆ ในการสนทนาว่า 

“ศิลปะอาจไม่ถึงขั้นนำไปสู่สันติภาพ ศิลปะไม่สามารถสร้างสันติภาพด้วยตัวของมันเอง แต่ศิลปะอย่างArt melayu จะทำหน้าที่ช่วยสะท้อน อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด กระตุ้นมุมมองของคนที่พบเห็น ได้รับรู้และเข้าถึงสังคมปาตานีในมิติที่หลากหลายและลึกซึ้งยิ่งขึ้น”