เรื่องเล่าความคิด ชีวิตและการเดินทางของฮัจยีสุหลง (๑)

 

 

Picture credit by wartani

ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ต่วนมีนาลย์ ซึ่งมีชื่อจริงว่า มูฮำหมัด บิน ฮัจยี อับดุลกอเดร์ บิน มูฮำมัด บิน ต่วน มีนาลย์ หรือที่รู้จักกันสั้นๆในชื่อฮัจยีสุหลง เป็นหนึ่งในนักคิด นักการศาสนา และนักเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปาตานี

ชื่อของฮัจยีสุหลงถูกอ้างอิงในประวัติของทางการอยู่เสมอ และในบรรดาผู้ที่เรียกว่านักต่อสู้ปาตานี โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวและการเสียชีวิตของเขาเป็นหมุดหมายสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นในแผ่นดินแห่งนี้ ฮัจยีสุหลงเกิดที่กำปง อาเนาะรู ในปี คศ.1895/2438 เป็นบุตรชายคนเดียวของ ฮัจยี อับดุลกอเดร์ กับภรรยาคนแรกที่ชื่อว่า ซารีฟะฮ์ (บางคนเรียก เจ๊ะปะฮ์) ซึ่งเสียชีวิตในปี 1907/2450

ตอนฮัจยีสุหลงมีอายุได้เพียง 12 ปี จากนั้นบิดาของท่านได้แต่งงานใหม่อีกสองครั้งและมีบุตรอีกเก้าคน บุตรสองคนแรกเกิดจากภรรยาคนที่สอง มีชื่อว่า ฮัจยีอับดุลรอฮีม และ โซฟียะฮ์ ส่วนบุตรอีกเจ็ดคนนั้นเกิดจากภรรยาคนที่สาม สุหลงเป็นชื่อที่เรียกเล่นๆกันในครอบครัวตามธรรมเนียมของคนมลายู เนื่องจากเป็นบุตรชายคนโต ทั้งยังเป็นพี่ๆของน้องอีกเก้าคน และนั่นทำให้ชื่อฮัจยีสุหลงกลายเป็นชื่อที่ติดปากของคนทั่วไปด้วย คุณพ่อของฮัจยีสุหลง เป็นหลานของอูลามาชาวปาตานีที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้นที่ชื่อว่าโต๊ะมีนา (ต่วนมีนาลย์) และเป็นผู้แต่งตำราทางศาสนาอันมีชื่อเสียงเช่น “Kashful Litham , Akidah Al-Najim” รวมทั้งตำราอื่นๆอีกหลายเล่ม

ชื่อจริงๆของ โต๊ะมีนา (ต่วน มี นาลย์) คือ ฮัจยี ไซนัล อาบีดีน บิน อะห์มัด ชีวิตในวัยเด็กของฮัจยีสุหลงนั้นก็มีลักษณะเหมือนเด็กมุสลิมทั่วๆไปที่ต้องเรียนรู้วิชาทางศาสนากันตั้งแต่ตัวเล็กๆ โดยเฉพาะเรียนรู้การอ่านคัมภีร์ “อัล-กุรอ่าน” จากครูคนแรกในชีวิตซึ่งก็คือคุณพ่อของเขา กล่าวกันว่าฮัจยีสุหลงเป็นเด็กที่หัวไวและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วทำให้ฮัจยีสุหลงสามารถอ่านคัมภีร์ “อัลกุรอ่าน” จบเล่มตั้งแต่อายุแปดขวบ ด้วยเหตุนี้เองทำให้คุณพ่อของฮัจยีสุหลงจึงตัดสินใจฝากลูกกับบาบอฮัจยีอับดุลราชิดเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางศาสนา ณ ปอเนาะกำปงบานา สุไหงปาแน จวบจนอายุสิบสองปี เมื่ออายุสิบสองปี

นอกจากที่ฮัจยีสุหลงต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่เพราะคุณแม่เสียชีวิตแล้ว ยังเป็นเวลาที่คุณพ่อของฮัจยีสุหลงตัดสินใจครั้งสำคัญในการส่งตัวฮัจยีสุหลงออกไปเผชิญโลกกว้างเพื่อศึกษาความรู้ในทางศาสนาเพิ่มเติมกับอูลามะห์คนสำคัญของปาตานีและมีศักดิ์เป็นญาติสนิทที่อาศัยอยู่ ณ มหานครมักกะห์ นั่นคือ เชคอะห์หมัด อัลฟาตอนี หรือ ตวนกูรู ฮัจยี วันอะห์มัด บิน วันเซน บิน มุสตาฟา อัลฟาฏอนี (Tuan Guru Haji Wan Ahmad bin Wan Zain bin Mustapha al-Fatani) ฮัจยีสุหลงไปศึกษาต่อ ณ มหานครมักกะห์ ได้เพียงปีเดียว เชคอะห์หมัดก็เสียชีวิตลงและนั่นทำให้ฮัจยีสุหลงต้องหาที่อยู่ใหม่ แต่โชคดีที่ญาติอีกท่านของฮัจยีสุหลง คือ ปะดอ อูมาร์ (Pakda Omar) รับอุปการะให้อยู่ด้วย ฮัจยีสุหลงจึงต้องย้ายที่อยู่ใหม่ไปอาศัยอยู่ที่กำปงจิฮาด ในเมืองเมกกะห์ ชีวิตในเมืองเมกกะห์ นอกจากการศึกษาเล่าเรียนวิชาการศาสนากับอูลามาจากปาตานีด้วยกันแล้ว

ฮัจยีสุหลงยังมีโอกาสได้ร่ำเรียนศาสนากับอูลามาที่มีชื่อเสียงหลายๆท่านจากหลายๆภูมิภาคของโลกเช่น อูลามาจาก เมอเซร์ (อียิปต์) อูลามามักรีบี (โมรอคโค) และชาติอื่นๆในอาหรับ จนทำให้ฮัจยีสุหลงเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้รู้ทางศาสนาด้าน อูซูลุดดีน (Usuludin) และ ตัฟซีร (Tafsir) ทั้งยังเชี่ยวชาญภาษา และ อักษรศาสตร์อาหรับอีกด้วย นอกจากการเป็นผู้รู้ในด้านศาสนาแล้ว ตัวฮัจยีสุหลงเองก็มีความสนใจในด้านการเมืองมาก ชอบอ่านหนังสือพิมพ์และแลกเปลี่ยนความคิดกับนักการเมืองที่มีชื่อเสียงในยุคสมัยนั้นด้วยเสมอโดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญในคาบสมุทรอาหรับ

เมื่อถึงวัยหนุ่ม ฮัจยีสุหลงได้สมรสกับ เจ๊ะซาฟียะห์ (Cik Safiyah binti Omar) บุตรรีของ ปะดอ อูมาร์ แต่อยู่ด้วยกันได้เพียงปีเดียว ภรรยาก็เสียชีวิตโดยที่ยังไม่ทันมีบุตรด้วยกัน สองปีต่อมา ฮัจยีสุหลงจึงได้สมรสอีกครั้งกับฮัจยะฮ์ คอดีเยาะฮ์ บุตรสาว ฮัจยีอิบรอฮีม ซึ่งมีตำแหน่งเป็นมุฟตีแห่งรัฐกลันตัน และเป็นน้องสาวของ ดาโต๊ะ ฮัจยี มูฮำมัดนอร์ ( Datuk Haji Muhammad Nor bin Haji Ibrabim) ซึ่งในกาลต่อมาก็ได้กลายมาเป็นมุฟตีของรัฐกลันตัน (1968-1987) เช่นเดียวกับบิดา ในห้วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ความเป็นอยู่ที่นครมักกะฮ์ประสบกับความยากลำบาก ฮัจยีสุหลงจึงตัดสินใจจากมักกะฮ์ชั่วคราวในช่วงปลายปี 1915 โดยเดินทางกลับบ้านเกิดที่จากมาร่วมๆยี่สิบปี โดยระหว่างเดินทางก็ได้ทำงานเผยแพร่ศาสนาและเสาะหาปัจจัยยังชีพสำหรับเป็นทุนรอนในการเดินทางกลับมักกะฮ์อีกด้วย

ฮัจยีสุหลงเดินทางโดยทางบกมุ่งหน้าทิศตะวันออกผ่านอัฟกานิสถาน ปากีสถาน พม่า จุดหมายแรกที่ฮัจยีสุหลงตัดสินใจแวะหลังจากใช้เวลาเดินทางกว่า สี่สิบห้าวันคือ กำปงจามซึ่งอยู่ภายใต้อาณัติของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่ผู้ประชากรส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม เพียงไม่กี่วันที่ฮัจยีสุหลงพำนักอยู่ที่กำปงจามก็ถูกทางการฝรั่งเศสควบคุมตัวเพราะสงสัยว่าเป็นสายลับของอ็อตโตมาน แต่ก็ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา

ฮัจยีสุหลงใช้เวลาสอนศาสนาแก่ผู้คนที่กำปงจามเป็นเวลาสามเดือน จึงเดินทางต่อไปบางกอก และพำนักที่ “บ้านครัว” เกือบหนึ่งเดือนเพื่อหาปัจจัยยังชีพ จากนั้นก็ได้เดินทางต่อไปยังอาเจะห์ สุมาตรา สิงคโปร์ และ มลายา ในมลายา ฮัจยีสุหลงได้มีโอกาศไปสอนกีตาบที่เปรัค และ เซอบารังไพร หนึ่งเดือน และที่นี่ ฮัจยีสุหลงก็ได้รู้จักกับกัลยาณมิตรท่านหนึ่งที่ชื่อว่า ตวน ฮัจยี อะห์มัด บาดาวี (Tuan Ahmad Badawi) ซึ่งเป็นบิดาของ ดาโต๊ะ อับดุลลอฮ์ บาดาวี ( YB Datuk Haji Abdullah Badawi ) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซีย

จากมลายาฮัจยีสุหลงเดินทางกลับปาตานี และพำนักอยู่ที่บ้านเพียงหนึ่งเดือนก็ตัดสินใจกลับมักกะห์โดยย้อนรอยทางบกที่เดินทางมาอีกครั้ง จากเส้นทางกลับบ้านทำให้ฮัจยีสุหลงได้เรียนรู้ประสบการณ์ พบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย ทั้งความทุกข์ยาก ความขมขื่น การทดสอบ ความคิดทางการเมืองจำนวนมากระหว่างทางกลับบ้านอันโลดโผนและยาวนาน และนั่นทำให้ฮัจยีสุหลงได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น และได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับองคาพยพของกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามซึ่งได้รับแรงบรรดาลใจจาก เชค จามาลุดดีน อัล อัฟกานี (Sheikh Jamaludin Al-Afghani ) และ มูฮำมัด อับดุฮ์ ( Muhammud Abduh) เมื่อเดินทางกลับไปถึงมหานครมักกะห์อีกครั้ง...........