ปริศนาการตาย “อับดุลลายิ” ฤาจะเป็นตัวชี้วัดสันติภาพในอากาศ
ปมเงื่อนไขความขัดแย้งชายแดนใต้ดูเหมือนยังคงปรากฏให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเมื่อไม่นานมานี้ของเช้าวันที่ 4 ธันวาคม 2558 เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี แจ้งญาตินายอับดุลลายิ ดอเลาะ อายุ 45 ปี โดยระบุว่าได้เสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตเป็นชาวบ้านชุมชนบ้านใหม่ ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งถูกควบคุมตัวเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ต่อมาญาติผู้เสียชีวิก็ได้เข้าไปติดต่อ โดยมีเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพและชาวบ้านคอลอตันหยงเดินทางมาร่วมรับศพผู้เสียชีวิตในขณะควบคุมตัวแต่เจ้าหน้าที่ก็ได้แจ้งว่าได้พาศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลมอ.หาดใหญ่ก่อนจะทำความเข้าใจในเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้ครอบครัวผู้เสียหายยังไม่สะดวกในการให้สัมภาษณ์
อย่างไรก็ตามต่อมา พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ก็ได้ออกมา ชี้แจงกรณีประชาชนเสียชีวิตในค่ายทหารอย่างเป็นทางการแล้ว ดังนี้
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 เวลา 08.00 น. ได้รับแจ้งว่า นายอับดุลลายิ ดอเลาะ อยู่ที่บ้านใหม่ ตำบลคอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้เสียชีวิตในค่ายทหาร
นายอับดุลลายิ ดอเลาะ ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 โดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดปัตตานี และ หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 เข้าติดตามจับกุม บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ตำบลคอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ หรือ เปาะซู เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ระดับหัวหน้า kompi และผลการซักถามขั้นต้น นายอับดุลลายิบฯ ได้ให้การยอมรับว่า เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง เคยผ่านการซูมเปาะ ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำไปลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองจิก และทำการส่งตัว นายอับดุลลายิบฯ ดำเนินกรรมวิธีซักถาม ณ หน่วยข่าวกรองทางทหาร ส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558
การเสียชีวิตของ นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ เจ้าหน้าที่ได้เชิญกำลัง 3 ฝ่าย ญาติผู้เสียชีวิต และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีเข้าทำการตรวจสอบ และแพทย์ในพื้นที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของการเสียชีวิตได้
ในเมื่อไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อความสบายใจของญาติๆ และประชาชนทั่วไป ที่สำคัญเพื่อเป็นข้อกังขาให้กลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีนำประเด็นการเสียชีวิตของ นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ ไปหาผลประโยชน์ทำการขยายผล และบิดเบือนข้อเท็จจริง หรืออาจจะมีการกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงได้ขออนุญาตจากภรรยา นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ นำศพไปทำการผ่าพิสูจน์ที่ โรงพยาบาล มอ.หาดใหญ่ โดยทางญาติได้ให้คำยินยอมเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงเรียนมายังพ่อแม่พี่น้องประชาชน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มเครือญาติผู้เสียชีวิต อย่าหลงตกเป็นเครื่องมือเชื่อข่าวลือใดๆ ของกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีอันที่จะนำมาซึ่งสร้างแตกแยก ความเสื่อมเสีย และสร้างความเสียหายต่อหน่วยงานภาครัฐ ก่อนที่ความจริงจะปรากฏ รอผลจากการผ่าพิสูจน์ศพจากทางคณะแพทย์ จะมีการแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป
ขณะเดียวกันในวันดังกล่าวก็มีภาคประชาสังคม นักศึกษา สื่อมวลชนก็ได้ไปสังเกตการณ์ซึ่ง ตูแวดานียา ตูแวแมแง จากสำนักปาตานีรายา เพื่อสันติภาพ (LEMPAR) ได้บอกว่า การมาของภาคประชาสังคมครั้งนี้ เจตนาแรกเพื่อไปร่วมรับศพกับชาวบ้านพร้อมรับทราบข้อเท็จจริง พอไปถึงก็เจอชาวบ้านกลุ่มหนึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงประมาณ 50 คน ซึ่งชาวบ้านบอกในขณะนั้นว่าศพยังอยู่ในค่าย โดยมีคณะสังเกตการณ์ชุดหนึ่งซึ่งมีครอบครัวผู้เสียชีวิต ศูนย์ทนายความมุสลิม สำนักสื่อวัรตานี และเข้าใจว่ามีคณะกรรมการอิสลามอยู่ด้วยเข้าไป แต่ชาวบ้านไม่สามารถเข้าได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไป
ตูแวดานียา เล่าต่อว่า ส่วนภาคประชาสังคม และชาวบ้าน ก็เป็นชุดที่ 2 ถูกกันไม่ให้เข้าไปแต่ก็ถูกพาไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งมารู้อีกที ไม่ใช่เป็นที่ๆที่มีการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่จนมีการแถลงข่าวเสร็จแล้ว ทำให้คณะสังเกตการณ์ชุดที่ 2 ก็ได้แต่รอเกล้อ แต่ทราบข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่รัฐว่า ผู้ตายได้เสียชีวิตหลังปฎิบัติละหมาดซุบฮิ์ ช่วงหัวรุ่ง และผู้ตายก็ไม่มีโรงประจำตัวอะไร และถูกพาไปตรวจสอบการตายที่โรงพยาบาลแถวหาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม ตูแวดานียา ตั้งข้อสังเกตการณ์ว่า ขณะที่มีการพูดคุยอยู่บ้างกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคน พบว่ามีพฤติกรรมรวบรัดข้อมูล และผิดปกติ ยิ่งเมื่อดูในเอกสารชี้แจงที่รับทราบภายหลัง เหมือนจะทำให้บรรยากาศเบาบางลง ด้วยการระบุว่าผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าฝ่ายขบวนการ ที่ผ่านการสืบค้นได้ เหมือนอยากให้สาธารณะชนยอมรับได้
“การชี้แจงของเจ้าหน้าที่รัฐ ในทางการข่าวชี้ว่า เป็นหัวหน้ากลุ่มขบวนการ ทั้งๆที่ผู้ตายอยู่เป็นผู้ต้องสงสัยโดยหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนชั้นต้น ยังไม่ได้มีข้อสรุปในชั้นศาล ซึ่งเป็นที่รู้ๆกันว่าหลายๆครั้ง ผู้ต้องสงสัยหลายกรณี เมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลก็มักจะถูกยกฟ้อง"
“ขณะเดียวกันในกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมอิสระเข้าไปร่วมสืบสวนข้อเท็จจริงนั้น ตูแวดานียา มองว่าในกระบวนให้ความเป็นธรรมจะใช้คณะกรรมการอิสระที่มาจากทุกภาคส่วน ส่วนคณะกรรมการอิสลามเป็นเพียงแค่กลไกเชื่อมทุกภาคส่วนและชาวบ้านเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาผลของการตรวจสอบมักไม่ได้มีการต่อยอดในการค้นหาความจริง เหมือนบทบาทของคณะกรรมการอิสระเป็นเพียงแค่ผู้อำนวยความสะดวกในการประชุมเท่านั้น และตอนนี้สังคมก็เข้าใจว่าคณะกรรมการอิสระที่เคยถูกตั้งขึ้นมีไว้เพื่อติดตามการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นๆ แต่ไม่ได้มีอิสระอย่างแท้จริง”
“ดังนั้นทางออกก็คือ จะต้องมีกลไกจากการพูดคุยสันติภาพมาร่วมด้วย คือ ต้องมีภาคส่วนอื่นๆเพิ่มขึ้น ต้องมีตัวแทนจากมาเลเซียมาเป็นคณะกรรมการอิสระด้วย ไม่ใช่มีเพื่อเป็นกระแสเฉยๆ และที่สำคัญยิ่งรัฐไม่เปิดให้สาธารณะเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยิ่งทำให้บรรยากาศพูดคุยสันติภาพแคบลงไปด้วย เพราะสาธารณะเข้าใจว่าภาครัฐพยายามปกปิดความไม่ชอบมาพากล”
ตูแวดานียา กล่าวตอนท้ายว่า หลังจากนี้ผมในฐานะตัวแทนจาก LEMPAR ซึ่งมีพันธกิจในเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ก็จะติดตามเหตุการณ์ครั้งอย่างเกาะติด เพราะเรื่องนี้กระทบต่อกระบวนการสันติภาพโดยตรง เพราะกรณีผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัยได้เสียชีวิตในขณะการดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้พึ่งเกิด แต่เกิดมาหลายครั้งแล้ว เช่น กรณีอีหม่ามยะผา กาเซ็ง กรณีสุไลมาน แนแซ หรือ กรณีที่เกิดขึ้นในภาคอื่นๆ
ขณะที่ อุสต๊าสอับดุลซุโกร ดินอะ นักวิชาการมุสลิม สะท้อนว่า กรณีเหตุการณ์เหล่านี้มีความน่าเป็นห่วงมากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารที่ไม่มีช่องทางตรวจสอบทั้งนี้ผู้นำศาสนา องค์กรศาสนาค่อนข้างจะไม่มีประสบการณ์หรือไม่ค่อยอยากทำงานนี้มากนัก ซึ่งเเน่นอนต้องกระทบต่อแนวทางการแก้ปัญหาที่นี่แน่ เพราะเมื่อความยุติธรรมไม่ถูกทำให้กระจ่าง ก็ไม่มีวันเกิดสันติภาพ
ทางด้านนักสิทธิมนุษยชนระดับประเทศอย่าง พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มองคล้ายกันว่า ถ้าเป็นการกระทำที่เกิดจากเจ้าหน้าที่จริงหรือเชื่อว่าน่าจะมีการละเมิดสิทธิในระหว่างการควบคุมตัว ก็เป็นผลเสียต่อกระบวนการสันติภาพแน่นอน กระบวนการสันติภาพต้องการความเชื่อมั่น สิ่งนี้ทำลายความเชื่อมั่น แต่ก็ยังแก้ไขได้ ถ้าแนวทางการสืบสวนสอบสวนและการนำคนผิดมาลงโทษอย่างจริงๆจังๆ เกิดขึ้นในห้วงนี้อย่างไม่ยกเว้น มีมาตรการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการค่ายอิงคยุทธฯ อย่างจริงจัง เพราะมีเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเป็นลำดับในช่วงเดือนที่ผ่านมา และมีการปิดกั้นไม่ให้องค์กรเอกชนไปตรวจเยี่ยมในค่ายด้วยยิ่งทำให้ประชาชนมองได้ว่าฝ่ายราชการไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี
พรเพ็ญ อธิบายต่อว่า การตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวเป็นแนวทางในการป้องกันการทรมานและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับผู้ถูกควบคุมตัวเป็นแนวทางในการทำงานของกรมราชทัณฑ์มาตลอดมา ผู้ถูกควบคุมตัว ผู้ถูกจับ ผู้ต้องสงสัย หรือจำเลยตามกฎหมายควรได้รับการปฏิบัติตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้หมายรวมถึงผู้ต้องโทษในคดีความผิดที่มีกำหนดโทษสูงซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
อนึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม มาตรการหนึ่งที่คณะกรรมการการต่อต้านการทรมานได้เสนอแนะต่อรัฐบาลไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 เกี่ยวกับการตรวจสอบและการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังในย่อหน้าที่ 24 ว่า คณะกรรมการสังเกตว่า หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานสามารถเข้าตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังได้ รวมทั้งองค์กรเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เมื่อมีการร้องขอและได้รับอนุญาตก่อน คณะกรรมการตั้งข้อสังเกตว่าถ้อยแถลงของคณะผู้แทนของประเทศไทยแสดงความหวังว่า จะดำเนินการภาคยานุวัติพิธีสารเลือกรับ OPCAT ภายในปีพ.ศ.2557 อย่างไรก็ตามคณะกรรมการยังคงห่วงใยว่า ยังขาดการตรวจสอบสถานที่คุมขังทุกประเภทและทั้งหมดอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และเป็นอิสระ (ข้อ 2, 11 และ ข้อ 12)ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะให้ (ก) ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งโดยการตรวจเยี่ยมปกติ และการตรวจเยี่ยมโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยการตรวจสอบระดับชาติและระดับระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ การตรวจสอบยังรวมถึงการตรวจสอบจากองค์กรเอกชน เพื่อป้องกันการทรมานและการปฎิบัติและการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (ข) นำเสนอข้อเสนอแนะจากการตรวจเยี่ยมเผยแพร่สู่สาธารณะ และติดตามผลของระบบการตรวจสอบดังกล่าว (ค) เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ เวลา และระยะเวลา การตรวจสอบ รวมถึงการตรวจเยี่ยมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ตามสถานที่ที่ทำให้สูญสิ้นเสรีภาพ ตลอดจนข้อค้นพบและการติดตามผลของการตรวจเยี่ยมดังกล่าว (ง) ให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและประติบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และจัดตั้งกลไกป้องกันแห่งชาติ ICRC และยูเอ็นเป็นกลไกระหว่างปท.ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และต้องการโอกาสในการทำงานกับราชการไทยเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงและทำงานในเชิงป้องกัน
อีกปมเงื่อนสำคัญที่รัฐ ต้องพิสูจย์ความจริงใจด้วยการทำให้กระจ่าง อย่าปล่อยให้เป็นปมเงื่อนที่ทำให้ภาครัฐต้องปวดหัวไปอีกทศวรรษ เหมือนกับกรณี เหตุการณ์ตุลาตากใบ และการหายตัวไปของฮัจยี สุหลง