กว่าทศวรรษ งานพัฒนากลางกลิ่นอายความขัดแย้ง “ยังห่างไกลหัวใจกัมปง”
“แน่นอนมุมมองที่กำลังจะสะท้อนออกมาผ่านงานชิ้นนี้ไม่มีอะไรการันตีถึงข้อสรุปชัดเจน แต่เป็นเรื่องที่ท้าทายความคิดคนทำงานพัฒนาไม่น้อย หากสิ่งที่กล่าวถึง เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่จริงในกัมปงชาวปาตานี”
ขอเริ่มต้นด้วยการเกริ่นว่า ตลอดระยะเวลาที่ความรุนแรงยังคงรายล้อมประชาชนในพื้นที่ปาตานี นับตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสภาพสังคม ทรัพย์สิน และจิตใจของประชาชนในพื้นที่ มิได้วรรคเว้นเพียงแค่ในชุมชนหมู่บ้านเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงเขตตัวตลาดและชุมชนเมืองด้วยเช่นกัน ผลกระทบดังกล่าวได้สร้างความบิดเบี้ยวการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม อันเป็นผลกระทบทางอ้อมที่ตามมาภายหลังจากความรุนแรง ความบิดเบี้ยวที่กำลังบ่มเพาะซ่อนอยู่ภายใต้ความรู้สึกและค่อยๆขยายความขัดแย้งร้าวลึกระหว่างคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ มุสลิม ข้าราชการ ชาวบ้าน ชาวนา เป็นความบิดเบี้ยวที่นำมาซึ่ง ความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ความหวาดระแวงของผู้คนเกิดขึ้นจริง ท่ามกลางสภาพการณ์ที่มิอาจโกหกอีกต่อไปด้วยคำว่า ปรองดอง สมานฉันท์ หรือเข้าใจและเข้าถึงนั้น ชั่งเป็นสถานการณ์ที่ผลักคำว่าสันติภาพให้ห่างไกลออกไปจากความเป็นจริงอย่างมิต้องสงสัย
อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผู้เขียนได้มีโอกาสคลุกคลีกับคนทำงานพัฒนาในบทบาทของนักสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือ NGOs และชาวบ้านที่มีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ พบว่า ก็ยังมีองค์กรมากหน้า หลายสายหลายปีก พยายามที่จะจัดการกับความบิดเบี้ยวของสังคม มีความพยายามจะกำจัดความหวาดระแวงระหว่างประชาชนด้วยกัน ด้วยกลเม็ด ยุทธวิธีต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นความพยายามของภาครัฐ หรือ NGOs และภาคประชาสังคม
โดยเฉพาะการใช้ยุทธวิธีการพัฒนา สานคน สานสันติภาพ ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ความมุ่งหวังจะสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยอาศัยกิจกรรมของคนต่อชุมชนขับเคลื่อน ผสาน ผลักดัน อย่างค่อยเป็นค่อยไป หวังให้สายสัมพันธ์ของความเป็นคนที่เคยเกาะเกี่ยวเหนี่ยวแน่นอย่างทะนุถนอมมาโดยตลอดก่อนเกิดความรุนแรงได้ฟื้นมาอีกครั้ง ซึ่งเป็นนิยามสำคัญของยุทธศาสตร์งานพัฒนาเพื่อสันติภาพที่กำลังถูกขยับขยาย และผลักดันจากทุกฝ่ายมาอย่างต่อเนื่อง
แต่มิใช่เรื่องง่ายที่ยุทธศาสตร์ของ NGOs ประชาสังคมและภาครัฐวาดหวังไว้จะประสบความสำเร็จ เพราะความรุนแรงในพื้นที่ตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าได้ฉีก ชำแหละ งานพัฒนาที่ถูกกำหนดเป็นโครงการโดยคนไม่กี่คนแม้นจะด้วยเหตุผลของภาระงาน หรือความมีจิตรอาสาที่เกิดจากภายในตนก็ตาม แต่ด้วยการมองสถานการณ์ไม่รอบด้าน อ่านความขัดแย้งไม่ชัดเจน เล็งเห็นจุดที่จะยึดโยงคน ยึดโยงชุมชนอย่างแท้จริงไม่ออก พลันกลับตรงกันข้ามจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อการพัฒนาในพื้นที่ขยายกลายเป็นการตอกย้ำบาดแผลประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ซึ่งมีกลิ่นอาย การถูกชี้นำ การหลอกให้ตายใจ การมองเห็นชุมชนเป็นพื้นที่ของผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น
ดั่งที่กล่าวข้างต้นการพัฒนาที่จะนำมาซึ่งการสร้างความเข้มแข็งกลับได้สร้างความยุ่งยากและมีความซับซ้อนเพิ่มมาอย่างเนืองๆ ทั้งนี้หากย้อนมาในหลักการแล้วงานพัฒนาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะจุดประกายสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ งานพัฒนาสามารถยกระดับจิตใจ ความคิด ความเข้าใจของคนในชุมชนต่อเรื่องราวความเป็นไปของสถานการณ์ ทำให้มองเห็นว่าตนเองจะจัดวางตัวเองอยู่ตรงในการคลี่คลายปัญหา อีกทั้งสามารถมองเห็นว่าตนเองสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน สร้างการเรียนรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น จะเป็นตัวเพิ่มการสร้างความสัมพันธ์อันดี เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน จนก่อเกิดการพัฒนาร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งเป็นนัยยะที่ชี้ถึงความยั่งยืนในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่ปรากฏในชุมชนกลับตรงข้าม เพราะงานพัฒนาที่เกิดขึ้นในหลายๆพื้นที่มิได้เป็นอย่างที่องค์กรตามหน้าที่ และตามความหวังดีได้มโนไว้
“งานพัฒนาที่ลงมาไม่ว่ามาจากองค์กรไหนๆมิเคยได้ใจชาวบ้านอย่างเบ็ดเสร็จ” NGOs นักพัฒนาคนหนึ่งยอมรับอย่างตรงไปตรงมาเมื่อครั้งการสนทนาร่วมกันอย่างเจาะลึก
แม้นงานพัฒนานั้นจะถูกขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เคยผูกใจชาวบ้านได้อย่างเหนี่ยวแน่นร้อยเปอร์เซนต์ เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งที่ถูกสะสมมาอย่างยาวนานได้ร้าวลึกจนสร้างสงครามระหว่างชาวบ้านกับความเป็นคนนอกที่เข้ามา สงครามที่ไม่ได้หมายถึงสงครามกำลังอาวุธ แต่เป็นสงครามความคิด ความคิดของชาวบ้านที่ค่อนข้างจะเฝ้าระวังความคิดตนเองไว้สูงมาก เกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งใหม่ๆที่เข้ามายังชุมชน คำถามที่ชวนให้ชาวบ้านคนอื่นๆตั้งคำถามผ่านกระบวนการบอกปากต่อปากอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับชาวบ้านสำหรับสิ่งใหม่ หรือ กิจกรรมใหม่ๆที่เข้ามายังชุมชน กระบวนการคิดที่ไม่ให้ยุ่งยาก และไม่รกสมองก่อนจะไปใช้ชีวิตตามปกติ คือ มองเห็นเพียงว่ากิจกรรมนั้นของรัฐ หรือไม่ใช่รัฐ แล้วก็จบ
คำว่า “แล้วก็จบ” ความหมายอาจคิดว่า จบ ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ปฎิสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นข้อสรุปที่ดูถูกชาวบ้านในพื้นที่จนเกินไป แต่คำว่าจบในที่นี้หมายถึง ชาวบ้านก็จะรู้ว่าตัวเองจะวางตัวอย่างไร ปฎิสัมพันธ์อย่างไร จะเกาะเกี่ยวอะไรได้บ้างที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน และจะป้องกันอะไรไม่ให้กลายมาเป็นไวรัสในชุมชน
การมองความคิดต่างๆที่ไหลเข้ามายังชุมชนชาวบ้านนั้น เป็นดั่งเสมือนสงครามที่จะต้องต่อสู้ ฟาดฟัน เฝ้าระวังนั้น คงไม่ได้ จู่ๆ ก็เกิดขึ้นเองอย่างไร้เหตุผล ย่อมมีแรงผลักอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจมีชุดวิเคราะห์มากมายให้ได้นั่งขบคิดกัน
“อาจจะเป็นเพราะชาวบ้านเองมีบทเรียนการถูกกระทำจากสิ่งใหม่ที่เกาะเกี่ยวต่อเนื่องกับชุมชนจนเคยสร้างปัญหาความซับซ้อนยุ่งยากตามมาบ่อยครั้ง จึงทำให้ชาวบ้านต้องทำตัวให้ไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นเครื่องมือสร้างความยุ่งยากต่อชุมชนที่ค่อนข้างมีลักษณะความเป็นเครือญาติค่อนข้างสูง”
"อาจจะเป็นเพราะได้รับอิทธิพลความคิดของกลุ่มขบวน หรือ ฝ่ายรัฐ ทำให้ชาวบ้านต้องตั้งแง่ความเป็นมิตร เป็นศัตรู เพื่อไม่ตกเป็นเป้าของทั้งสองฝ่าย หรือเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"
“หรืออาจเป็นเพราะการตื่นตัว ตื่นรู้ของชาวบ้านเองเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการช่วงชิงมวลชนทั้งจากภาครัฐ และขบวนการ”
ทั้งนี้แง่มุมการวิเคราะห์ที่กล่าวถึง หรืออาจมากกว่านี้ มีความเป็นไปได้ทั้งหมด ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่า การงานพัฒนาที่หวังยึดโยงกับคน กับชาวบ้านในพื้นที่ความขัดแย้งปาตานีร่วมสมัยนั้น ครั้นจะยึดการมองแบบอดีตก็ไม่ได้ หรือจะมองล้ำหน้า คิดเอง เออเอง บนฐานความรู้ตนเองก็ไม่ได้ แต่ควรจะทำไปพร้อมกับการสำรวจความรู้ ความคิดเทียบเคียงกับการเป็นไปของวิถีคิดของชุมชนชาวบ้าน ซึ่งหมายความว่า คนทำงานพัฒนา ก็ต้องพร้อมปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นกลยุทธ์ วิธีการ วิถีคิด ที่สอดรับกับวิถีชุมชนชาวซึ่งบ้านดำรงประสบ หรือ ชาวบ้านพร้อมที่จะยกระดับไปต่อ และแน่นอนนี่คือหนทางที่จะเป็นตัวพิสูจน์ความจริงใจ ดั่งที่เสียงจากกำปงท้าทายอยู่เสมอๆว่า “สำหรับชาวบ้านที่นี่ คนนอกจำเป็นต้องพิสูจน์ความจริงใจ หลายชั้นเลยทีเดียว”
แต่ก็นั่นแหละ งานพัฒนายังคงเป็นมุกแป๊ก เพราะกิจกรรมที่ผ่านมามักมาจะในรูปแบบใบโครงการ มีกรอบ กระบวนการ มีขั้น มีตอน แข็งตัว ยืดหยุ่นยาก ต่างจากกิจกรรมงานพัฒนาที่มาจากการระดมทุนกันเองของคนในชุมชนอย่าง งานมาแกแตเพื่อสร้างตาดีกา