แด่ 'สมชาย นีละไพจิตร' สามัญชนผู้ปกป้องคนทุกคน
12/03/2015 10:30:47 ผู้เขียน:เอกรินทร์ ต่วนศิริ
..(จำนวนครั้งที่อ่าน) 3427 ครั้ง
แด่ 'สมชาย นีละไพจิตร' สามัญชนผู้ปกป้องคนทุกคน
เมื่อปลายปี 2556 ในห้องเรียนวิชาการจัดการความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนักศึกษาอยู่ประมาณ 200 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามีภูมิลำเนาอยู่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีหัวข้อ “ความรุนแรงและกระบวนการสันติภาพ” โดยใช้เวลาบรรยาย 2 สัปดาห์ ก่อนเริ่มหัวข้อการบรรยาย ผมถามว่าใครในห้องนี้รู้จักทนายสมชาย นีละไพจิตร ขอให้ช่วยเล่าเรื่องเกี่ยวกับทนายสมชาย ว่าเป็นใคร และทำอะไรอยู่ ไม่มีใครลุกขึ้นตอบแบบจริงจัง มีเพียงเสียงกระซิบกันไปมา และเสียงของการพูดคุยแลกเปลี่ยนก็เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ผมนั่งเงียบๆและจับความบางประโยคได้ว่า “ทนายสมชาย ที่โดนอุ้มหายไปหรือเปล่า ?” และ “แล้วทนายหายไปไหน ?” จนมีนักศึกษาชายคนหนึ่งลุกขึ้นเล่าให้ผมและเพื่อนในห้องฟังว่า ทนายสมชาย นีละไพจิตร คือ ทนายที่หายตัวไป ช่วงทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นคนที่ช่วยพี่น้องมุสลิม
ผมจึงถือโอกาสถามว่า “ทนายสมชายเป็นคนที่ไหนและภูมิหลังเป็นอย่างไร ?” นักศึกษาคนเดิมก็อาสาตอบและขอความช่วยเหลือกับเพื่อนๆให้ช่วยกันตอบ มีหลายเสียงตอบว่า ทนายสมชายเป็นคนปัตตานีหรือยะลา น่าจะเป็นคนบ้านเรา ไม่งั้นจะมาช่วยบ้านเราได้อย่างไร และมีคำถามแทรกจากเพื่อนๆกันเองว่า ทนายสมชายเป็นมุสลิมหรือว่าพุทธ ? จนกระทั่งมีคำถามว่าตรงเสียงดังจากหลังห้อง ทนายสมชายช่วยโจรที่จะแบ่งแยกดินแดนจริงไหมอาจารย์ ?
สำหรับนักศึกษาวัยยี่สิบต้นๆ จำนวน 200 กว่าคน คงไม่ใช่เรื่องผิด หากว่าพวกเขาไม่รับรู้เรื่องทนายสมชายเลย แต่ทว่าสิ่งที่พวกเขารู้และพูดออกมาเป็นคำถามที่สำคัญมาก เพราะการรับรู้และคำถามของพวกเขาเหมือนเป็นวาทกรรมของผู้มีอำนาจรัฐใช้เรียกกับคนที่เห็นต่างกับรัฐ เช่น ทนายโจร พวกแบ่งแยกดินแดน ในยุคสมัยนั้น ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ติดฝังหัวอยู่สังคม ดั้งเช่นปัจจุบันที่มีแรกว่า พวกล้มเจ้า พวกไม่รักชาติ ซึ่งไม่ต้องการคำอธิบายแต่ดูเหมือนว่าคนในสังคมส่วนหนึ่งพร้อมใจกัน ตอบรับวาทกรรมเช่นนี้ โดยที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ไม่ตั้งคำถาม หรือคำอธิบายอะไรต่อไปทั้งสิ้น
ชีวิตของของสามัญชนที่รักความเป็นธรรม คงมิได้หมายถึงการเข้าโรมรันกับความอยุติธรรมด้วยกำลังเสมอไป หากหมายถึงความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ที่จะเดินตามเสียงเพรียกของคนผู้ทุกข์ยากโดยมิปล่อยให้สิ่งใดมากั้นขวางแม้แต่คำขู่ของผู้มีอำนาจ ซึ่งอาจจะเกิดภัยอันตราย มีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้นจึงจะรู้สึกได้ว่าการมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งที่มีความหมาย มีศักดิ์ศรีของความเป็นคน หากมุ่งมั่นและทำงานด้วยความตั้งใจ คงไ่ม่ต้องรอให้ถึงวันชนะอย่างเด็ดขาดของประชาชน หากแต่ชัยชนะเล็กๆของสามัญชนที่ลงน้ำพักน้ำแรง ก็พอที่กอบกู้หัวจิตหัวใจที่หดหู่จากความรุนแรงได้
นักประวัติศาสตร์ ได้กล่าวว่า เป้าหมายของประวัติศาสตร์คือ การค้นหาความจริงในอดีต เพื่อที่จะรับใช้คนในปัจจุบัน และ กำหนดท่าทีในอนาคต สำหรับการรัฐประหารความรุนแรงรอบใหม่ 11 ปี ห้วงระหว่างความรุนแรงในปาตานี มีรัฐประหารเกิดขึ้น 2 ครั้ง คือ 19 กันยายน 49 กับ 22 พฤษภาคม 57 ข้อประการหนึ่งของการรัฐประหาร 19 กันยา 49 คือปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ แต่หลังจากรัฐประหาร รัฐบาลทหารก็ไม่สามารถแก้่ไขอะไรได้เลย วิธีการหนึ่งที่เห็นผลอย่างมากก็คือ การวกกลับไปพึ่งหน่วยงานราชการ และตั้ง ศอ.บต. ขึ้นมาใหม่ เพื่อจะแก้ไขปัญหา หากทว่าก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาาได้หรือให้ทุเลาลง ครั้งนี้ก็คงไม่ต่างกัน
หากเราพิจารณาสิ่งที่่ผ่านมาคงจะปฎิเสธไม่ได้ว่าการทำงานกระบวนการสันติภาพ จะต้องร่วมงานกับทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากทว่า การทำงานกับกลุ่มคน/คณะ ที่ทำลายความเท่าเทียมทางการเมืองขั้นพื้นฐานของคนร่วมสังคม โดยการรัฐประหาร และควบคุมทุกอย่างภายใต้อำนาจกระบอกปืน คงไม่สามารถก่อเกิดสันติภาพได้ในระยะยาว หากทว่าปัญหาความรุนแรง ณ ปาตานี จะค่อยทุเลาลงได้ ก็คือ เราต้องเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ จะส่งผลบวกต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานี ไม่ใช่คณะรัฐประหารปัจจุบัน
หากว่านับว่าชัยชนะใดบ้างที่เกิดจากสามัญชนที่สามารถก่อให้เกิดความภาคภูมิ เช่น การเปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน จากภาษาไทยมาเป็นภาษามลายู ทั้งในเชิงความหมายและภาษา การลุกขึ้นมาต่อสู้และทวงถามความเป็นธรรมจากอำนาจรัฐและสังคมมลายูด้วยกันเอง ของกลุ่มผู้หญิงมุสลิมทั้งจากเหยื่อความรุนแรงและผู้มีจิตใจอาสาสมัคร
การเติบโตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาทำงานทางด้านสื่อสาธารณะและรายงานข่าวและบทวิเคราะห์จากพื้นที่ คือ กลุ่มสื่อ วารตานี (wartani) สำหรับการเปิดพื้นที่ใหม่ให้แก่คนในพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และถักทอปัญหาเปิดเวทีสาธารณะให้ความรู้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ วิทยาลัยประชาชน ( People’ college)
สามัญชนคนทำงาน ส่วนใหญ่คงไม่มีบารมีมากพอที่จะคุยกับอำนาจรัฐและกลุ่มผู้ก่อการ ซึ่งทั้งสองฝ่ายล้วนถือปืนทั้งสิ้น และหากว่ากลุ่ม คณะบุคคลคนใดอ้างว่าจะพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพได้ ก็คงเห็นว่าไม่จริงจากสภาพบรรยากาศเช่นนี้ เหตุเพราะการยึดอำนาจของคณะรัฐประหารและต่อมา ผู้นำที่ไม่ผ่านฉันทามติ อันทำตัวเองให้ตลกอำมหิต จิตไม่ว่าง และเต็มแน่นไปด้วยอัตตาครองอำนาจ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ปาตานีได้หรือเบาทุเลาลง สืบเนื่องปัญหาที่สะสมมาเป็นร้อยปี
หากพอจะจำกันได้งานสิทธิมนุษยชนชิ้นสุดท้ายของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร คือ คนที่ล่ารายชื่อจำนวนประชาชน 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2547 ถือว่าเป็นงานชิ้นสุดท้ายแม้ว่าไม่สำเร็จ และผมเดาว่าวันนี้หากทนายสมชายยังอยู่ เจตจำนงของท่านคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ ยกเลิกอัยการศึกทั่วประเทศ
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.prachatai.com/journal/2015/03/58315
Tags: Patani Forum News Interview Deep South