โจทย์เก่า มาถกเถียงใหม่ ใครคือ “สื่อปาตานี”

ย่างเข้าสู่ห้วงทศวรรษที่ 2 ของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ หากนับจาก ปี 47 เป็นต้นมา ท่ามกลางกระกระแสการพูดคุยสันติสุข หรือการ “ตื่นรู้” ของนักสื่อสารในพื้นที่ และสถานการณ์การเมืองไทยที่อ่อนไหว ยังไม่แน่ไม่นอน  คนทำสื่อปาตานี/ชายแดนใต้ โดยระยะหลังๆมานี้ มีการตื่นตัวและก่อเกิดกลุ่มมากมาย หลายองค์กร ซึ่งแต่กลุ่ม องค์กร ก็มีความพยายามขับเคลื่อนภารกิจเพื่อตอบโจทย์สันติภาพในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในห้วงกระแสที่กล่าวมาข้างต้น กลุ่ม องค์กรสื่อปาตานี อาจมีโจทย์อีกมากมายที่ต้องร่วมค้นหาคำตอบ ไม่ว่าเรื่องของ การให้คำนิยาม เป้าหมาย หลักการสำคัญของความเป็นสื่อปาตานี หรือบทบาทที่เกี่ยวโยงกันซึ่งกันและกัน หรือที่เข้าใจสั้นๆว่า “เครือข่าย” ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อค้นพบที่สำคัญจากรายงาน “ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้”

ทั้งนี้การริเริ่ม กระดุมเม็ดแรก จะต้องทำอย่างไร โดยวงเสวนาปาตานี ฟอรั่ม เมื่อไม่นานมานี้ ได้แลกเปลี่ยนในหัวข้อ “ทิศทางสื่อปาตานี ในอนาคตอันใกล้” ซึ่งพบประเด็นและเนื้อหาสำคัญ อันมาสู่การสร้างการแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันต่อ โดยในวงเสวนาแลกเปลี่ยนกันว่า การ “นิยาม” สื่อปาตานี มีความสำคัญในแง่ การเป็นสื่อที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ เป็นหลักการสำคัญทั้งนี้ พบว่า

 

  • การใช้คำว่า “สื่อปาตานี” มีความเข้าใจนัยยะ มุมมอง ลักษณะต่อต้านรัฐ ดังนั้นสื่อปาตานีต้องทำความเข้าใจใหม่ต่อสาธารณะ ทำให้นัยยะไม่ได้ชี้ไปยังลักษณะการต่อต้านรัฐ แต่เป็นลักษณะการเข้าใจชีวิต ความรู้สึก ความคิด ของคน วิถี และประวัติศาสตร์จากพื้นที่ปาตานี ซึ่งเป็นเรื่องหลักมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นมีนัยยะเพื่อส่งเสริมสันติภาพในพื้นที่ ส่งเสริมความสัมพันธ์ ความผูกพันของคน
  • สื่อปาตานี ต้องยืนยันว่า ไม่ได้ปฏิเสธการนำเสนอเรื่องราว ความขัดแย้ง ความรุนแรง แต่จำเป็นจะต้องอธิบายความเป็นมาของความขัดแย้ง ความรุนแรง นั้นๆ
  • ประภาคารแห่งแสง สามารถอธิบายได้ดี ความเป็น “สื่อสันติภาพปาตานี”
  • การสร้างพลัง และพัฒนาศักยภาพของสื่อทางเลือก ซึ่งแต่ละองค์กรอาจต่างทำ แต่ควรได้มีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยน อันจะนำมาซึ่งการตรวจสอบเนื้อหางานของตนเอง
  • การเชื่อมโยงเครือข่าย และการทำงานร่วมกัน การประสานประเด็นข่าว เนื้อหา ที่ต้องคำนึงถึงจริยธรรม ความเป็นมืออาชีพ ช่องทางการสื่อสาร ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้รับข่าวสาร ซึ่งจะมีผลต่อการมีส่วนร่วมในการหาทางออก
  • ด้วยความเป็นสื่อ ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อผลที่เราสื่อสารออกไป องค์กรสื่อปาตานีในพื้นที่จำเป็นต้องมีการช่วยตรวจสอบ เนื้อหาข่าว เนื้อหาสาร ซึ่งกันและกัน
  • สื่อปาตานี ต้องกลับมาให้ความสำคัญเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ก็ต้องมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่ คำบอกเล่า จะต้องเอาเนื้อหา ประเด็นที่ชัดเจน เราต้องทำงานค้นหาข้อมูลอีกที ก่อนจะสื่อสารออกไป
  • สื่อในพื้นที่ต้องยึดมั่นในหลักการ หรือการมีจุดยืนที่ชัดเจนในความเป็นสื่อปาตานี ซึ่งว่าด้วยเรื่องหลักการ จำเป็นจะต้องมานั่งถกเถียง พูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มสื่อปาตานี ควรจะมากำหนดประเด็นในการทำข่าวร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ข่าวมีพลัง ควรจะเป็นแนวทางเร่งด่วน
  • การทำงานเพื่อสื่อสารประเด็นอ่อนไหว ซึ่งประเด็นการขับเคลื่อนด้วยนักศึกษา ทำให้ได้ข้อมูลอีกด้านที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ จากพื้นที่ ซึ่งตรงนี้จะเป็นข้อมูลที่จะสนับสนุนต่อสื่อปาตานี
  • ประเด็นการขับเคลื่อนของนักศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ ควรจะมีการติดตามจากสื่อปาตานี ดังนัั้น

"เนื้อหาที่ได้มาจากกลุ่มนักศึกษาควรจะมีมองรอบด้านความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ไม่ยึดติดเฉพาะคน              มลายูมุสลิมเท่านั้น"

"ประเด็นที่นักศึกษาไปเก็บข้อมูลมาจากชาวบ้านเรียกร้องหากพื้นที่ไหนเรียกร้องไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม             กลุ่มนักศึกษาก็พร้อมจะลงไปเก็บข้อมูล"

"นักศึกษาควรมีเนื้อหาในแถลงการณ์ อธิบายถึงความเป็นมาในการลงพื้นที่เหตุการณ์ทุกครั้งเพื่อทำความ             เข้าใจต่อสาธารณะอันจะช่วยลดความหวาดระแวงความสงสัย" 

"สื่อปาตานีต้องให้ชัดในความเป็นองค์กรสื่อซึ่งกลุ่มนักศึกษาก็ต้องชัดในความเป็นนักศึกษาจะมารวมกันไม่ได้ แต่ทำงานหนุนเสริมกันได้"

 

  • สื่อปาตานี ควรให้ข้อมูล ข้อเท็จ ถูกสื่อสาร นำเสนออย่างอิสระ ขณะเดียวกันก็ต้องให้พื้นที่ในการให้ข้อมูลข่าวสาร หักล้างกัน สื่อปาตานีต้องเป็นพื้นที่กลางของทุกข้อมูล ทุกข้อเท็จจริง
  • สื่อต้องนำเสนอโดยมีหลักการด้านมนุษยธรรม เป็นหลักการนำ ซึ่งจะอธิบายได้ว่า ไม่ได้เอียงข้าง หรือมีอคติ ต้องเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิด และการกระทำด้วย
  • ประเด็นความเสมอภาค ควรมีการถกก็เพิ่มเติม แลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทบทวนการทำงาน
  • การรายงานของสื่อกระแสหลัก เรารับรู้ในเรื่องสถานการณ์รู้สึกหดหู่เกินไป การรายงานข่าวในความสวยงามของพื้นที่ เห็นควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องส่งเสริม
  • ประเด็นการพูดคุยสันติภาพ สันติสุข เป็นนโยบายรัฐ แต่สื่อปาตานีต้องมีเป้าหมายคือ เข้าใจ วาระความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เป็นหลักการสำคัญ
  • พัฒนาศักยภาพสื่อปาตานี ให้เป็นมากกว่ารายงาน แต่ให้การศึกษา ให้ข่าวมีชีวิต
  • สื่อปาตานี ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมการทำงานของสื่ออื่นๆ
  • สื่อปาตานีควรจะหยิบยกประเด็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มิติมลายูพุทธ-มุสลิม
  • สื่อปาตานี ต้องเตรียมพร้อมในเรื่องภาษามลายูกลาง ภาษาอังกฤษ หากต้องการยกระดับไปสู่ระดับอินเตอร์
  • สื่อปาตานี ต้องยอมรับความจริงจากข้อมูลที่ค้นพบได้ แม้นจะขัดแย้งกับมุมมอง ทัศนคติของตนเอง  และต้องกล้าสื่อสารออกไป
  • สื่อปาตานีกับการทบทวนวาระปาตานี  ต้องมีหลักการสำคัญ คือ ความเป็นเอกภาพในผสานการทำงานและประเด็น เพื่อนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างมีพลัง
  • กลุ่มคนทำงานด้านสื่อปาตานี ควรจะมีการพูดคุยกันบ่อยๆ เพื่อพัฒนาการทำงานสื่อปาตานีทั้งในแง่ประเด็น และแนวทางการทำงานร่วมกัน
  • ขับเคลื่อนแนวทางการทำงานเครือข่ายสื่อทางเลือกระดับภูมิภาคเพื่อ เชื่อมการทำงาน แชร์ข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง
  • วาระหนึ่งของสื่อปาตานีในอนาคตอันใกล้ ควรขับเคลื่อนการเปิดพื้นที่ เปิดประเด็นใหม่ๆ เพื่ออธิบายต่อหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ระดับต่างๆ
  • หลักการของสื่อ คือตัวเชื่อม จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ไม่ใช่แค่ข่าว แค่เหตุการณ์ ไม่ใช่แค่เรื่อง แต่เป็นการเปิดเรื่องราวต่างๆ สื่อสารไปยังสาธารณะ ในหลากหลาย มิติ แง่มุม หลายช่องทาง หลายรูปแบบ ควรคิดวิธีการนำเสนอในรูปแบบการเมืองวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น
  • สื่อปาตานี ต้องยืนยันในหลักการการนำเสนอความเป็นจริง และเพิ่มน้ำหนักกับการนำเสนอข่าวด้านบวกอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดคือความท้าทายสื่อปาตานี บนรอยต่อทศวรรษที่ 1 และ 2 ของไฟใต้..