สภาวะปกติท่ามกลางความไม่ปกติของท้องถิ่นชายแดนใต้



บนถนนเส้นทางสายหลักจากปัตตานี สู่นราธิวาส แล้วย้อนกลับมายะลา มีเส้นทางสายย่อยๆเชื่อมต่อไปยังหมู่บ้าน ชุมชน หลายสาย ซึ่งมีลักษณะทั้งที่แตกต่างและคล้ายคลึงกัน บางสายย่อยเป็นถนนแดง ถนนดำ หรือถนนคอนกรีต บางสายก็เห็นพงหญ้ารกร้างริมข้างทางเป็นถนนที่เต็มไปด้วยเศษอิฐ เศษหินเล็กๆ ที่มักจะมาพร้อมกับฝุ่นตลบเมื่อมีรถขับผ่าน ยิ่งเข้าสู่ช่วงหน้าฝนด้วยแล้ว ถนนสายย่อยเหล่านั้นก็ได้สรรสร้างหลุมบ่อเป็นแอ่งๆ ชวนให้รำคาญใจยิ่งนักเมื่อจำเป็นต้องขับผ่าน


 วิถีของถนนสายย่อยๆเหล่านี้มีให้เห็น ไม่ต่างจากชุมชนหมู่บ้านของจังหวัดอื่นๆในประเทศไทย แต่สิ่งที่ต่างออกไป คือ ถนนสายย่อยในดินแดนปลายด้ามขวานได้ชักชวนเราไปรู้จักกับเรื่องราว บริบท วิถี และความมืดเทาของเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งจะทำให้มโนภาพของคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาแวะเวียน เยี่ยมผ่าน จมดิ่งอยู่กับห้วงความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และเรื่องราวที่แต่ละคนได้พบเจอ

อย่างไรก็ดีคงไม่มีใครอยากเจอะเจอประสบการณ์ร้ายๆ ซึ่งมักพบเจอได้ไม่ยากบนหน้าสื่อ หนังสือพิมพ์ หรือทีวี และหมู่บ้านซึ่งอยู่ลึกลงไป ณ แถบกันดารปลายด้ามขวาน เช่นเดียวกับพวกเรา ทีมงานปาตานีฟอรั่ม และเครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคมเมื่อครั้งมีกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนโดยมีถนนสายย่อยๆเป็นไกด์นำทาง

เราลงไปยังบ้านบือแต ต.ตะโละดือรามัน อ.กระพ้อ จ.ปัตตานี ซึ่งเคยเป็นแค่กิ่งอำเภอเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เรานั่งรถไปบนเส้นทางสายเล็กๆ ถนนดินแดง มีต้นไม้ ต้นยาง รกร้างข้างทางเปลี่ยวๆ มีบ้านเรือนตั้งอยู่ห่างๆ นับได้เป็นหลังๆ เราเห็นชาวบ้านดำเนินวิถีอย่างเรียบง่ายตามพื้นเพ ท้องถิ่นตนเอง

เราไปยังบ้านของ เด็กหนุ่มในชุมชนคนหนึ่งเพื่อถามทาง เด็กหนุ่มคนนั้นมีใบหน้าเหี้ยมเกรียม ชุ่มเหงื่อ กำลังแบกเลื่อยไฟฟ้าตัดซากต้นมะพร้าว เขาแต่งกายด้วยกางเกงขายาวขาดๆ เสื้อสีขาวเปื้อนคราบสกปรกสีดำ มองดูแล้วทำให้เรารู้สึกกล้าๆ เกร็งๆ ที่จะเข้าไปทักทาย แต่ห้วงระหว่างการตัดสินใจ เด็กหนุ่มใบหน้าเหี้ยมเกรียม เดินเข้ามาพร้อมทักทายเราด้วยภาษามลายูถิ่นผสม ภาษากลางเพี้ยนๆซ่อนรอยยิ้ม เขาชวนคุยเรื่องสับเพเหระ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งทำให้เราคลายจากอาการเกร็ง ระแวง ขณะเดียวกันเราก็ได้คำว่า “เพื่อน” ตามเราไปพร้อมกับการเรียนรู้ชุมชนบนเส้นทางสายย่อยต่อไป

เมื่อกลับมานึกคิดดีๆ เด็กหนุ่มคนที่กลายเป็นเพื่อนเราคนนี้ หากเรามัวแต่เกร็ง หวาดระแวง เพราะหมกมุ่นอยู่กับมโนภาพของสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จนไม่เปิดใจสื่อสาร เราก็จะไม่รู้ว่า เขาก็เป็นเด็กหนุ่มทั่วๆไป ที่ใช้ช่วงเวลาปิดภาคเรียนจากสถานศึกษาในตัวเมืองกลับมาช่วยพ่อ แม่ ทำงานที่บ้าน นอกจากนี้ทำให้เรามารู้เรื่องตลกๆของเด็กหนุ่มคนนี้ภายหลังว่า “ไม่นานมานี้ เด็กหนุ่มคนนี้เลี้ยงลิงตัวหนึ่ง เอาไว้ขึ้นมะพร้าว ครั้นเมื่อมะพร้าวมีลูกเต็มต้นก็ต้องการจะใช้งาน เลยเดินไปหาเจ้าลิงที่เลี้ยงไว้อยู่หลังบ้าน เมื่อไปถึง ก็เห็นเจ้าลิงที่รัก นอนนิ่ง ค้างอยู่บนสายไฟ มารู้อีกที โอ เจ้าลิงตายแล้ว เพราะไปกัดสายไฟแล้วไฟช็อตตาย จนกลายเป็นเรื่องแซว ขำๆ กันภายในชุมชนว่า เจ้าลิงยอมฆ่าตัวตายเพราะกลัวเด็กหนุ่มจะเอาไปขึ้นมะพร้าวซึ่งมีอยู่เยอะในสวนตนเอง” พวกเราได้ยินเรื่องนี้ก็อดขำไม่ได้เช่นกัน อดขำเรื่องของเพื่อนใหม่ของเรา

เราเดินทางต่อไปแล้วแวะพัก ณ ร้านน้ำชาข้างทางในชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นร้านเล็กๆ มีผู้คนไม่มากนัก เป็นร้านของกำนันในพื้นที่ เราดื่มชา กาแฟเย็นๆ มีภรรยากำนัน ชวนเราคุย ถามไถ่ ว่าเรามาจากไหน จะไปไหน แต่จุดสนใจที่ภรรยากำนันสนใจคงเป็นหนึ่งในพวกเราซึ่งมีพื้นเพนอกพื้นที่ 3 จชต. ภรรยากำนัน ระบายให้ฟังตอนหนึ่งว่า “ ดีนะ บ้านไม่ได้อยู่แถวนี้ อยู่แถวข้างบน ไม่ต้องเจอเรื่องวุ่นวาย กะเคยไปแถวนั้น ดูน่าอยู่มาก คนมุสลิมก็มีมาก” ภรรยากำนันระบายให้เราฟังแต่เผยให้เห็นถึงความหดหู่ใจต่อสถานการณ์ชุมชนตนเอง เพราะก่อนหน้านี้เราทราบจากชาวบ้านว่า กำนันผู้ซึ่งเป็นสามี เคยโดนจับในคดีความมั่นคงและฝากขังอยู่หลายปี ก่อนจะต่อสู้คดี และยกฟ้องในที่สุด แต่ถึงกระนั้นอิสรภาพของกำนันก็ไม่ถึงที่สุด เพราะทุกวันนี้ กำนันยังเป็นที่หวาดระแวง เป็นที่จับตา ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง มีเพียงชาวบ้านในชุมชนเท่านั้นเป็นเกราะยืนยันความบริสุทธิ์ และเคารพ ยอมรับนับถือ

ภรรยากำนันยังพูดถึงการทำมาหากินในพื้นที่แถบนี้ด้วยว่า “แถวนี้เมื่อก่อนทำนากันเยอะ แต่ละคนมีที่นาเยอะ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ชาวบ้านเลยเปลี่ยนพื้นที่นามาเป็นสวนยาง เพราะรายได้ดีกว่า แต่ก็เสียดายความรู้เหมือนกัน ตอนนี้ไม่มีใครรู้แล้วว่าทำอย่างไร ก็คงเหมือนที่อื่นๆของประเทศ” เราฟังเสียงการแลกเปลี่ยน บอกเล่าของหญิงวัยกลางคนท่านนี้ แล้วย้อนไปถึงเพื่อนใหม่ของเราแห่งบ้านบือแต ทำให้เรานึกถึงสภาพชีวิตของชาวบ้านชุมชนอื่นๆ แถวภาคเหนือ อีสาน หรือภาคใต้ตอนบน เมื่อครั้งออกค่ายสมัยเป็นนักศึกษาล่ากิจกรรม ซึ่งทำให้คิดได้ว่า การเรียนรู้ครั้งนั้นและครั้งนี้แทบไม่แตกต่างกันมากนัก มีความรู้สึกแบบท้องทุ่ง ความเป็นกันเองด้วยการสื่อสารภาษาง่ายๆ คละเคล้าไปกับเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม

ยิ่งเมื่อพานพบเจอกับอีกเรื่องชวนฮายามเดินทางต่อ ขณะแวะกินข้าวตรงร้านอาหารเล็กๆหลังโรงเรียนบ้านโคกเคียน ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส จู่ๆตอนที่เรากำลังจะอ้าปากกินข้าวคำแรก เรามองเห็นรถเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ผ่านไป ผ่านมาหน้าร้านหลายรอบ เหมือนจะมีเหตุการณ์ไม่ปกติ แต่เมื่อมองไปรอบๆตัว ก็ไม่เห็นมีใครตื่นตระหนก เราวิเคราะห์ว่าอาจเป็นภาพที่คุ้นชินสายตาของคนแถวนี้ หรือไม่ก็อาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่รับผิดชอบโดยทั่วไปของคุณตำรวจ คุณทหาร ซึ่งค่อนข้างประเมินยากหากมองในมุมของคนนอกพื้นที่

ความรู้สึกขณะนั้นดูเหมือนผ่านไปช้าๆ ทั้งที่ภาพเหตุการณ์ดำเนินไปแค่ไม่กี่นาที ทันใดนั้น เสียงนกหวีด ปี๊ด ปี๊ด ดังขึ้นจนคนในร้านตกใจ เราพยายามหาที่มาของเสียง จู่ๆ มีชายวัยกลางคนคนหนึ่ง ทำหน้าขึงขัง วิ่งออกมาจากร้านอาหาร เรามองตามแบบเกาะติดสถานการณ์ เขาตะโกนเสียงดังลั่น “กลับเข้าไป กลับเข้าไป ไอ้เด็กพวกนี้ ครูเผลอไม่ได้ จะโดดกำแพง หนีเรียนตลอด ขี่เกียจกันจริงๆ” ตะโกนเสร็จ แล้วเขาก็เดินกลับ ทำท่าทางอธิบายอะไรบางอย่างต่อคนในร้านตรงระยะไกลๆ ทำให้เข้าใจได้ว่า เขาเป็นครูฝ่ายปกครอง กำลังตรวจจับเด็กที่กำลังจะโดดเรียน ชวนให้คนในร้านอดขำไม่ได้ เพราะเข้าใจว่าเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติอะไรบางอย่าง แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของครูฝ่ายปกครองจับเด็กหนีเรียนนี่เอง

ทำให้อดนึกย้อนไม่ได้ว่า เรื่องราวเช่นนี้ก็มีให้พบ ให้เห็นเมื่อครั้งที่เราเป็นเด็กสมัยประถม ภาพวิ่งไล่ของเด็กนักเรียนผู้ชายหลังเลิกเรียน ภาพคุณครูฝ่ายปกครองตะโกนดุเด็กขณะจะหนีเรียน หรือภาพเด็กนักเรียนเดินทางกลับบ้านกันเองเป็นกลุ่มๆ ซึ่งภาพสมัยนั้น ทุกวันนี้ก็ยังมีให้เห็น ให้ถูกพูดถึง ไม่ว่าจะในชุมชนท้องทุ่ง หรือชุมชนเมืองตามจังหวัดต่างๆของประเทศไทย รวมทั้งที่นี่ ดินแดนที่ถูกนิยามว่ามีแต่ความรุนแรงปกคลุมทั่วพื้นที่เช่นกัน

หลากเรื่องราวเล็กๆที่ถนนสายย่อยๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พาเราไปสัมผัสครั้งนี้มีอีกมากมาย ซึ่งต้องยอมรับว่าสนุกไม่ใช่น้อย ถึงแม้ว่ามโนภาพเริ่มต้นก่อนเรียนรู้ชุมชนจะเต็มไปด้วยความหวาดกลัว หดหู่ ตึงเครียด มืดเทา ถูกพกพาไปกับการเดินทางซึ่งเกิดจากการรับรู้ข่าวสารเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงเรื่องระเบิด ยิง ฆ่า เรื่องปิดล้อม ตรวจค้น บุกจับ  หรือเรื่องราวที่ล่องลอยมากับคำบอกเล่า ร่ำลือ และการอภิปรายในเวทีวิชาการก็ตามแต่  จนทำให้ฉุกคิดได้ว่าบางทีมโนภาพในตอนต้นนั้น กำลังไปทำลายภาพความเป็นจริงที่เป็นปกติบางอย่างในชุมชน กำลังบดบังสีสันและลวดลายในท้องทุ่ง หากไม่ถูกนำเสนอ

“แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ไม่อยากโกหก หรืออ้อมค้อม ถึงความเป็นไปของพื้นที่ ณ ขณะนี้ เพราะเอาเข้าจริงๆแล้วสถานการณ์ในชุมชนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ก็ยังไม่ปกติ  ยังคงมีเหตุการณ์ความรุนแรงอีกหลายจุด หลายชุมชน ยังคงมีความหวาดระแวงระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือชาวบ้านกับชาวบ้านด้วยกันเอง แต่เพียงอยากจะบอกว่า ในความไม่ปกตินั้น ก็ยังมีแง่มุมของความปกติอีกมากมาย ที่จะช่วยลดความหวาดกลัว หวาดระแวง หรือความเกลียดชังภายในใจของคนนอกพื้นที่ เมื่อครั้งอยากสัมผัสหรืออยากเข้าใจ เข้าถึงพื้นที่ปลายด้ามขวาน”

เพราะวันนี้สังคมไทยกำลังเรียกร้องให้ทุกคนเข้าใจ 3 จชต. อย่างลึกซึ้ง มากยิ่งขึ้น และงานเขียนชิ้นนี้ก็กำลังทำหน้าที่นั้นอยู่ เช่นเดียวกับงานเขียนอื่นๆอีกมากมายที่แพร่กระจายอยู่ ณ ขณะนี้