คาร์บอม... เราก็ยังต้องอยู่ร่วมกันต่อไป

เหตุการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้ระลอกล่าสุด ( 31 มี.ค. 2555) สร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้บริสุทธิ์และทรัพย์สินอย่างมากมายกว่ารอบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์เชื่อมโยงป่วนใต้ ระเบิด “คาร์บอมบ์” ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองหาดใหญ่ทำให้ผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บกว่า 100 ราย นับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุด ณ ห้วงขณะนี้  ซึ่งถ้าจะย้อนเหตุคาร์บอมบ์ที่พูดถึงมากไม่แพ้กันก่อนหน้านี้ คงต้องย้อนไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ (9 ก.พ.2555 )ที่ผ่านมา เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นการลอบจุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่ซุกไว้ในรถกระบะ (คาร์บอมบ์) บริเวณสี่แยกหน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ถนนสฤษดิ์ ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ทำให้มีประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาเสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 8 ราย

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์คาร์บอมครั้งนั้น เป็นการก่อเหตุเพียงแค่จุดเดียวคือบริเวณอำเภอเมืองปัตตานี แตกต่างจากความรุนแรงระลอกล่าสุดมากมายนัก เพราะเหตุระเบิดครั้งนี้ได้ส่งผลครอบคลุมมากกว่าเพียงจุดเดียวในวันเดียวกันคือ มีเหตุคาร์บอม มอเตอร์ไซต์บอมจำนวนสามครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเเจ็บ 78 ราย ในย่านธุรกิจร้านค้าของอำเภอเมือง จังหวัดยะลา รวมถึงเหตุระเบิดที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานีเป็นเหตุให้รองผู้กำกับการตำรวจอำเภอแม่ลานบาดเจ็บ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้สร้างความเสียหายอย่างหนักกว่ารอบหลายเดือนที่ผ่านมา

ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็เร่งสืบหาเบาะแสอย่างไม่ลดละ ซึ่งยืนยันว่าจะได้คำตอบภายในไม่กี่วัน ขณะเดียวกันทางด้านสื่อมวลชนทุกสำนัก ทุกกระแสก็พยายามเกาะติดสถานการณ์ เพื่อต้องการคลี่คลายปมเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ที่ออกมาวิเคราะห์เชื่อมโยงเหตุการณ์ครั้งนี้ได้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพทีมีคุณอังคณา  นีละไพจิตร เป็นประธาน ได้ออกแถลงการณ์ ประณามผู้ก่อเหตุความรุนแรงครั้งนี้ พร้อมแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต่อต้านทุกรูปแบบและหันมาแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี อย่างทันท่วงที

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ ไม่มีใครทราบได้แน่ชัดว่าการสื่อสารของคนในสังคมจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะปรากฏการณ์ที่ผ่านมาสามารถจับได้ว่าการสื่อสาร พูดคุยของคนในสังคมทั้งในและนอกพื้นที่เกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ จะเป็นเรื่องการจับผิดกล่าวโทษกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนไปก่อนแม้ยังไม่ได้ข้อสรุป รวมไปทั้งการกล่าวผิดถึงการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ในการควบคุมสถานการณ์ความรุนแรง แล้วหากมองไปอีกชั้นการพูดคุยก็ยังพบเรื่องของการค้นหาต้นสายปลายเหตุความรุนแรงจนนำไปสู่การสร้างข้อเสนอ การรับมือต่อสถานการณ์ในอนาคตข้างหน้า ยิ่งแล้วในระดับคนพื้นที่ที่เลือกฝักฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือขบวนการฯ ก็จะอาศัยเหตุการณ์ความรุนแรงแต่ละครั้ง “ดิสเครดิต” ซึ่งกันและกัน

ปรากฏการณ์การสื่อสารที่กล่าวข้างต้นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นมาแล้วตลอดที่ไฟใต้คุโชนกว่า 8 ปี ซึ่งปาตานี ฟอรั่ม เห็นว่า ไม่ว่าสถานการณ์การพูดคุย สื่อสารของผู้คนจะเป็นไปอย่างไร ล้วนแต่ทำให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ได้มองเห็นพัฒนาการความรู้สึกนึกคิดของคนท่ามกลางความขัดแย้ง ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ต้องยอมรับว่า ณ วันนี้มันคือส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว

ด้วยมุมมองเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ความขัดแย้งก็คือส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว เราไม่สามารถหลีกหนี หรือเลี่ยงที่จะเผชิญ รวมทั้งจะปฏิเสธความขัดแย้งได้ แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ เราควรที่จะทำให้ความขัดแย้งเหล่านั้นถูกทำให้เข้าใจ เราควรที่จะออกแบบการสื่อสารความขัดแย้งรูปแบบใหม่ๆแล้วกล้าจะทดลองใช้ เราควรที่จะสื่อสาร รับฟังกันให้มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นใด แต่เพื่อที่จะไม่ไปขยายความขัดแย้ง เพื่อไม่ไปขยายความรุนแรงต่อ

เพราะเราคงไม่ลืมว่าท้ายที่สุด เราก็ยังต้องอยู่ร่วมกัน….ต่อไป