ชุมชนเสวนาว่าด้วยเรื่องงานพัฒนา “จากฝีมือชาวบ้าน คำถามถึงภาครัฐ”
ปาตานี ฟอรั่ม ลงพื้นที่ไปยังเส้นทางที่คดเคี้ยวเลี้ยวเลาะ บรรยากาศเปลี่ยวๆ รายล้อมด้วยต้นยางรกร้างริมข้างทางชวนให้นึกถึงการก่อเหตุร้ายต่างๆในพื้นที่แต่ ปาตานี ฟอรั่มก็ยังไม่หวั่นทีจะเดินทางเข้าสู่ชุมชน หมู่ 3 บ้านควนโนรี ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยครั้งนี้มีปลายทางเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลควนโนรี ซึ่งมีเวทีเรียนรู้เรื่องงานพัฒนาภายในชุมชน ผู้เข้าร่วมที่เป็นตัวเอกคือ คณะทำงานชุมชนชาวบ้านซึ่งเกิดจากการการสนับสนุนของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาหรือเรียกสั้นๆว่า “LDI” (Local Development Institute) ภายใต้โครงการนำร่องสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนใต้ มีหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นทั้ง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยราชการอื่นๆ รวมไปถึงแกนนำชุมชนรอบๆ เข้าร่วมแลกเปลี่ยน
เวทีการเรียนรู้ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อการทำงานของคณะทำงานชุมชนสิ้นสุดปีที่ 2 ดังนั้นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจึงมีเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมไปแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นนั้นค่อนข้างท้าทายแนวทางการทำงานการพัฒนาของหน่วยงานราชการไม่น้อย เพราะการวิเคราะห์ เลือกประเด็นการพัฒนา หรือแม้กระทั่งการจัดการเรื่องงบประมาณการเงินมาจากการทำงานของคณะทำงานชุมชนซึ่งเป็นแกนนำธรรมชาติในชุมชน และที่สำคัญแนวทางดังกล่าวเพื่อตอกย้ำให้เห็นการทำงานที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งมีความต่างจากการทำงานของหน่วยงานราชการที่มักจะมีคำแหนบแนมจากชาวบ้านเสมอๆว่า ต้องผ่านหน่วยงานราชการ ดำเนินงานโดยราชการ ชาวบ้านมีส่วนร่วมเพียงแค่เวทีประชาคม และปฎิบัติตามกรอบคิดที่ทางราชการคิดเอาไว้ ซึ่งแนวทางการทำงานที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ นับเป็นความคาดหวังของ LDI ที่อยากให้หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นเอาไปเป็นแบบอย่าง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างความเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างแท้จริง ด้วยความท้าทายเช่นนี้ บรรยากาศในการพูดคุยแลกเปลี่ยนจึงมีความน่าใจไม่น้อย
ข้าราชการท้องถิ่นในพื้นที่คนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า “การดำงานที่ผ่าน ทางราชการยังไม่เห็นรับรู้ แต่ก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้การทำโครงการต่างๆที่ได้รับการสนับจากหน่วยงานอิสระ จะต้องไม่สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นในพื้นที่”
เสียงสะท้อนเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการดำงานที่ผ่านมาตามหลักคิดของ LDI คือ การสนับสนุนให้ชุมชนปฎิบัติงานโดยผ่านกระบวนการที่ให้ไปจนเป็นรูปธรรม เพื่อจะนำรูปธรรมไปนำเสนอต่อหน่วยงานราชการท้องถิ่นได้เห็นทราบในภายหลัง ทั้งนี้เพราะ LDI เชื่อว่าการพูด การกล่าวในเชิงหลักการแต่ไม่ได้ปฏิบัตินั้นจะไม่ทำให้เห็นสิ่งที่เป็นก้อน เป็นเนื้อ เป็นรูปธรรม หากนำไปแลกเปลี่ยนแล้วก็ไม่ก่อเกิดประโยชน์ในระยะยาวได้
สำหรับแนวทางการทำงานโดยย่อ อดินัน สุและเลาะ ผู้ประสานงานพื้นที่ กล่าวว่า แนวทางการทำงานนั้น มีหลักคิดที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมโดยชุมชน เพื่อชุมชน LDI มีหน้าที่แค่เป็นผู้สนับสนุน ให้แนวทางหลายๆ แนวทาง ซึ่งชุมชนจะเป็นผู้ตัดสิน เป็นผู้สรุปเองว่าจะดำเนินงานอย่างไร ภายใต้ข้อมูลที่เกิดจากการศึกษาของคณะทำงานชุมชนเอง
“คณะทำงานชุมชน มาจากผู้ที่มีจิตอาสาในชุมชน ไม่มีค่าตอบแทน บทบาทของ LDI จะชวนคนเหล่านี้ เข้าร่วมเรียนรู้กระบวนการการทำงานพัฒนา ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆโดยเน้นในเรื่องวิธีการศึกษาหาข้อมูล แล้ววิเคราะห์
กะดะ หนึ่งในคณะทำงานชุมชน เล่าความรู้สึกจากการมีส่วนร่วมในโครงการนี้ว่า “ สำหรับชาวบ้าน การทำโครงการแบบนี้ เป็นเรื่องยาก ยากมาก เราไม่เคยทำอะไรที่ต้องทำด้วยด้วยความละเอียด มีระบบการตรวจสอบความโปร่งใส สอนเรื่องความโปร่งใส คณะทำงานชุมชนต้องประชุมกันเองทุกเดือน มีเรื่องจุกจิก จนบางครั้งก็ท้อ ไม่อยากทำ ที่เราทำก็ไม่มีเงินเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน ค่าเดินทางใดๆ ทำให้แรกๆเราก็ท้อ แต่ก็เป็นเรื่องสอนเรา พิสูจน์เราต่อการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน ต่อความรักในชุมชน จนวันนี้ เราก็คิดว่า ความยุ่งยากตรงนั้น สร้างประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง”
กะดะ เล่าเพิ่มเติมว่า บางเรื่องที่เราทำก็ไปไม่รอด ต้องยุติ แต่กระบวนการที่เรียนรู้กับ LDI ทำให้เรารู้ว่า การทำงานเป็นทีม การร่วมคิด ช่วยกัน ปรึกษาหารือกัน เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานเพื่อชุมชน
กัลยา บุญชู หนึ่งในคณะทำงานชุมชนอีกคนย้ำว่า แนวทางการสนับสนุน กระบวนการการทำงานที่ได้เรียนรู้จาก LDI เป็นวิธีการที่ดีมาก เพราะเป็นการสอนชุมชนให้ทำงานภายใต้ข้อมูล ภายใต้การร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำโดยชุมชนเอง มีการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานที่สามารถตรวจสอบ ความโปร่งใส ทำให้ชาวบ้านมีทักษะ มีการพัฒนาศักยภาพ เราคิดว่า นี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างความเข้มแข็งในระยะยาวจริง”
สมาชิก อบต.คนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า การคิดหาประเด็นในการพัฒนา ในการทำนั้น ที่ผ่านมาเราได้ร่วม ได้พูดคุยเกี่ยวกับโครงการในชุมชน ตามความคิดเห็นของคณะทำงานชุมชน เราพยายามเข้าไป เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกในชุมชน ซึ่งเกิดจากโครงการที่ทำ เพราะโครงการที่ทำนั้นจะต้องพิจารณาว่า ต้องได้รับประโยชน์ต่อชุมชนโดยทั่ว ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเท่าที่ผมได้รับรู้ ก็เห็นว่า คณะทำงานชุมชนเลือกที่จะทำเรื่องน้ำประปาในชุมชน ก็ค่อนข้างเห็นด้วย ซึ่งเราก็มีแนวโน้มจะเข้าไปช่วยต่อยอดโครงการดังกล่าว เพราะเป็นโครงการค่อนข้างใหญ่ ต้องทำต่อยอดให้จบ
“ที่ผ่านมา ผู้หลัก ผู้ใหญ่ก็คิดนะว่า ทำไมให้ชาวบ้าน คณะทำงานชุมชนทำเอง จะทำได้หรือไม่ แต่เราก็คิดว่า โครงการที่ทำเป็นของชุมชน เราก็ทำความเข้าใจข้างในว่า ต้องให้ชุมชนได้เรียนรู้ ได้ร่วมสร้าง เพื่อความรักในโครงการชุมชนที่ทำ สิ่งสำคัญ คือ โครงการที่ทำ เราให้ความสำคัญเรื่องที่จะไม่ทำให้ชุมชนแตกแยก”
นุชนาฎ จันทวิเศษ ผู้จัดการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จังหวัดชายแดนใต้ ชี้ว่า ที่ผ่านเราทำงาน ไปพร้อมกับการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เราพบว่ากระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งที่เกิดจากการสร้างให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม พัฒนาศักยภาพด้วยตัวเอง จะสามารถทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้ เราเห็นการทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของคนพุทธ และมุสลิมในพื้นที่ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตนเอง เราได้เรียนรู้ว่า การแก้ปัญหาที่นี่ ส่วนหนึ่งทำให้เราฐานะคนข้างนอกพื้นที่มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่แห่งนี้มากยิ่งขึ้น
มาถึงตรงนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ การทำงาน ทำโครงการในชุมชน ที่ออกมาจากชาวบ้านตัวเล็กๆในมุมของบางส่วน บางฝ่าย แต่สามารถทำได้ขนาดนี้ สามารถทำไปแล้วเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน และหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ไม่นำไปสู่การสร้างความขัดแย้งในชุมชน ซึ่งเข้าใจได้ว่ากระบวนการในการทำงานพัฒนาชุมชนนั้น หากพิจารณาจากเสียงของชาวบ้าน จากกระบวนการข้างต้นแล้ว กุญแจสำคัญ คงชี้ไปที่ประเด็น เรื่องการสร้างการมีส่วนร่วม อย่างที่หลายๆคนกล่าวอ้าง แต่ความหมายของคำว่า การสร้างการมีส่วนร่วม ที่มาจากเสียงของคณะทำงานชนในเวทีเรียนรู้ครั้งนี้ คือ การได้ร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติงาน และร่วมรับผิดชอบ ซึ่งการร่วมทั้งหมดจะนำไปสู่การสร้างเกราะ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนจากปัญหาที่เข้าถาโถมในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
จึงเป็นคำถามถึงแนวทางการทำงานพัฒนาของราชการปลายด้ามขวาน ฟังเสียงชาวบ้านแล้ว คิดอย่างไร?