รัฐบาลต้องมีข้อเสนอที่ดีพอเพื่อคุยกับกลุ่มที่คิดต่างในภาคใต้

 

รัฐบาลต้องมีข้อเสนอที่ดีพอเพื่อคุยกับกลุ่มที่คิดต่างในภาคใต้

ดอน ปาทาน
Patani Forum

 

กองทัพบกของไทยและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกำลังขับเคี่ยวแย่งชิงพื้นที่มวลชนและเกทับกันว่าใครจะสามารถควบคุมพื้นที่ และ แสดงอิทธิพลกับประชาชนในพื้นที่ได้ดีกว่ากัน

การมอบตัวของสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทั้ง ๙๓ คน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับโดยแม่ทัพภาคที่ ๔ ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐที่จะแย่งชิงพื้นที่ของมวลชนกลับมาจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (separatists) ชายหนุ่มทั้ง๙๓คนที่มอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ ได้ร่วมกันออกเวทีแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศรายหนึ่งได้เปิดเผยว่า คนที่มามอบตัวส่วนใหญ่นั้นเป็นเพียงสมาชิกแนวร่วมระดับธรรมดาเท่านั้น หลายคนแค่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกเวลาที่มีการก่อเหตุ และช่วยเป็นหูเป็นตาดูทางหนีทีไล่เพียงเท่านั้น ไม่ได้เป็นนักรบถือปืนหรือที่เรียกกันติดปากในภาษามลายูว่า เป็นพวก “ญูแว” (juwae)

และภายหลังการมอบตัว ก็มีการตอบโต้จากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างทันควันในเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่สายบุรีซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหกคน (สี่จากหกคนเป็นชาวบ้านกำลังผ่านในย่านนั้น) และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่าสามสิบคน เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้บาดเจ็บป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ด้านนิติวิทยาศาสตร์

เรื่องของการมอบตัวดังกล่าวไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ในห้วงระยะเวลาเก้าปีของความขัดแย้งรอบใหม่ ก็มีการประกาศการมอบตัวกันมาแล้วหลายครั้ง ครั้งหนึ่งคุณภาณุ อุทัยรัตน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. ในขณะนั้น ได้นำสมาชิกของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจำนวน ๑,๖๙๒ คน มามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม ถึง มีนาคม ๒๕๕๔ การประกาศดังกล่าวดูเหมือนกับว่ารัฐกำลังเดินมาถูกทางแล้ว แต่คล้อยหลังจากนั้นไม่นานเรื่องดังกล่าวก็ถูกพัดผ่านไปในสายลม เมื่อสถานการณ์ความไม่สงบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากสมาชิกกลุ่ม (separatists) ที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศและจากตำรวจได้บอกว่า คุณภาณุได้ประสานกับอดีตนักรบที่พักพิงในยุโรปให้เกิดการมอบตัว ซึ่งจุดประสงค์ในเรื่องดังกล่าวก็เพียงเพื่อจะรักษาเก้าอี้เลขาฯ ศอ.บต. ของคุณภาณุเท่านั้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมากลับล้มเหลวเพราะคนที่ประสานงานไม่สามารถนำตัวสมาชิกของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศมามอบตัวกับทางการได้ เหตุผลดังกล่าวอาจจะเป็นเพราะว่าอดีตนักรบทั้งหลายคงไม่คิดว่ามันจะเป็นทางเลือกที่ดีมากนัก

ผู้นำหลายคนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ลี้ภัยในต่างประเทศได้กล่าวอย่างน่าสนใจไว้ว่า พวกเขาไม่เชื่อว่าการมอบตัวหรือกิจกรรมอื่นๆที่คล้ายคลึงกันจะมีผลต่อการลดสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เหตุการณ์คาร์บอมบ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นหรือเหตุการณ์ใหญ่อื่นๆเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด สถานการณ์อาจจะเลวร้ายลงมากกว่าที่จะดีขึ้น

พวกเขายังกล่าวอีกว่า อาจจะเป็นเพราะช่วงนี้ประเทศไทยไม่ค่อยได้ประสบกับข่าวดี ทำให้ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามต่อเหตุการณ์การมอบตัวของทั้ง ๙๓ คนกับทางกองทัพบก ซึ่งคำถามหลายคำถามเกี่ยวข้องกับเรื่องกระบวนการทางกฎหมายที่มีต่อผู้ที่เข้ามามอบตัว และการก่อเหตุคาร์บอมบ์ที่สายบุรีเป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่เรื่องการมอบตัวหรือไม่

ชะตากรรมของกลุ่มที่เข้ามามอบตัวทั้ง ๙๓ คนก็ยังไม่แน่นอน เพราะพวกเขาถูกปล่อยให้กลับไปอยู่ในหมู่บ้านทันที ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า พวกเขาหวังว่าเจ้าหน้าที่น่าจะมีทางออกที่ดีกว่าให้กับพวกเขา และไม่ส่งเขากลับมาในพื้นที่เพื่อมาเป็นสายลับสองหน้าในพื้นที่หลังจากที่ตัวตนของพวกเขาถูกเปิดเผยในที่สาธารณะ และพวก ญูแว ได้พิสูจน์ให้เราเห็นตลอดมาว่าสายข่าวของหน่วยงานความมั่นคงมักจะถูกเก็บ และบางคนก็ยังถูกยิงในระยะเผาขนเสียด้วยซ้ำ

เมื่อมองขึ้นมาที่กรุงเทพฯ ดูเหมือนว่ารัฐบาลชื่นชมยินดีกับการมอบตัวในครั้งนี้ แต่แหล่งข่าวในรัฐบาลบอกว่า จริงๆแล้วรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรไม่ค่อยพอใจกับการแถลงข่าวเรื่องการมอบตัวดังกล่าว เนื่องจากพวกเขาเองก็เตรียมที่จะแถลงข่าวการมอบตัวเช่นเดียวกัน และดูเหมือนว่ากองทัพกำลังขโมยซีนรัฐบาลอยู่เนืองๆ เพราะรองนายกฯเฉลิมเคยประกาศเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีสมาชิกของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกำลังจะมามอบตัวกับรัฐบาล แต่ความพยายามของเฉลิมกลับล้มเหลว

การแสดงออกหรือตอบโต้ของกลุ่มญูแวต่อเรื่องราวทั้งหมดแทบจะไม่ต้องใช้กระสุนหรือระเบิดเลย ในรอบสามสัปดาห์ที่ผ่านกิจการแทบจะทั้งหมดในสามจังหวัดถูกสั่งให้หยุดทำการ สิ่งที่เกิดขึ้นแทบจะไม่ต้องการอธิบายใดๆเพิ่มเติมเลย รัฐเหมือนกำลังถูกตบหน้าเข้าอย่างจัง และดูเหมือนว่าชาวบ้านจะไม่ค่อยเชื่อถือเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าสามารถคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน

แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าพวกญูแวจะสามารถกดดันให้วันศุกร์เงียบเหงาต่อไปได้นานเพียงใด เพราะการประกาศให้หยุดทำงานในวันศุกร์เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหกปีที่ผ่านมาและทุกครั้งจะเกิดขึ้นไม่เกินสองอาทิตย์ อย่างไรก็ตามคนในพื้นที่สามจังหวัดที่เป็นมลายูมุสลิมอาจจะค่อยๆหมดความอดทนกับกลุ่มญูแวอีกต่อไปหากการกดดันให้หยุดค้าขายในวันศุกร์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีหยุด

นักวิเคราะห์ของฝ่ายรัฐหรือฝ่ายความมั่นคงมองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือการแย่งชิง เอาชนะใจมวลชนในพื้นที่ระหว่างกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐ ใครได้ใจมวลชนมากกว่าคนนั้นจะเป็นผู้ชนะ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามตอนนี้ กลุ่มญูแว และกลุ่ม BRN-Coordinate กำลังคิดว่าการสร้างปฏิบัติการทางจิตวิทยาควบคู่ไปกับการใช้กำลังโจมตีนั้นเป็นสิ่งที่ได้ผล

เสียงของคนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อเรื่องนี้คือ ยุทธศาสตร์ของเรากำลังใช้ได้ผล แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดแบบใหม่ ออกมามากมายหนึ่งในนั้นก็คือข้อเสนอของ ร... เฉลิม อยู่บำรุง ให้จัดตั้งเพนตาก้อน 2 (Pentagon II) เพื่อให้พลเรือนดูแลนโยบายการแก้ปัญหาสามจังหวัด

โครงสร้างดับไฟใต้อันใหม่นี้ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกชงมาจากฝั่งทหาร และดูเหมือนว่าทหารอยากจะมานั่งดูแลโครงสร้างใหม่นี้เสียเองนั้น แต่ว่าในที่สุด พล.. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะยังเป็นคนที่ดูแลในโครงสร้างดับไฟใต้แห่งนี้ โดยที่ทหารจะยังเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของหน่วยงานใหม่นี้อยู่ดี

นอกจากนี้ ทางกองทัพก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่าจะไม่ไปวุ่นวายกับกระบวนการพูดคุยที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจำนวนหนึ่งที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีอิทธิพลทางความคิด หรือ เชื่อมต่อกับกลุ่ม ญูแว หรือนักรบในพื้นที่ได้มากสักเพียงใด

ภารกิจการพูดคุยครั้งนี้ถูกมอบหมายให้ เลขาฯ ศอ.บต. คนปัจจุบัน คุณทวี สอดส่อง ที่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้ผลักดันงานดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ภาระกิจดังกล่าวเป็นของคุณสมเกียรติ บุญชู อดีตรองเลขาฯ สมช. ที่เพิ่งออกจากตำแหน่ง ทางด้าน พ... ทักษิณ ชินวัตรเองก็มั่นใจมากว่า พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯสมช.คนปัจจุบันจะให้การสนับสนุนคุณทวีอย่างเต็มที่ในเรื่องของการพูดคุย

ก่อนหน้านี้คุณทวี ได้ใช้งานเครือข่ายกลุ่มการเมืองในพื้นที่อย่างกลุ่มวะดะห์ในการเดินเกมดังกล่าว แต่หลังจากที่กลุ่ม “ญูแว” ตอบโต้ความพยายามที่จะพูดคุย ด้วยการก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ครั้งใหญ่ในเขตธุรกิจของจังหวัดยะลา และ เมืองหาดใหญ่เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคมที่ผ่านมานั้น ทำให้คุณทวี ต้องกลับมาคิดหนักและตัดสินใจที่จะใช้กลุ่มผู้นำศาสนามามาช่วยงานพูดคุยให้มากขึ้น

ในทางการเมือง พรรคเพื่อไทยกำลังเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นผู้แพ้ที่ดี ด้วยการไม่โจมตีงานการพูดคุย เพราะครั้งหนึ่งหรือหลายครั้งในอดีต ต่างฝ่ายต่างก็เคยพูดคุยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมาแล้ว

ในขณะที่รัฐบาลมาเลเซียก็ตกลงที่จะอำนวยความสะดวกในการพูดคุย แต่แหล่งข่าวจากกลุ่ม BRN-Coordinate พูดว่า พวกเขาไม่สนใจกับการพยายามของใครก็ตามที่จะมาเป็นตัวกลางการพูดคุย เพราะว่ามันไม่ใครเลยที่น่าไว้วางใจ ไม่แม้กระทั่งองค์กรอย่างองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation : OIC)หรือ โอไอซี เองก็เป็นพวกปากว่าตาขยิบในเรื่องของการสร้างสันติภาพตลอดระยะเวลา ๓ ทศวรรษ ที่ผ่านมา เพราะ โอไอซี ไม่แม้แต่จะพยายามกดดันให้วาระความขัดแย้งในสามจังหวัดเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ โอไอซี ได้อนุมัติให้ประเทศไทยมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ (Permanent Observer Status)ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดกั้นที่ยืนให้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน(separatist movements)ในการเข้าไปมีบทบาทตรงนั้น

สมาชิกของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ได้เล่าว่า อันที่จริงแล้วก็ขึ้นอยู่กับประเทศไทยว่าจะแสดงออกในเรื่องของการผลักดันขบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ต่อไปอย่างไร ซึ่งมันจะเป็นการพิสูจน์กันว่ารัฐไทยมีความจริงจังและจริงใจแค่ไหน ท่าทีของรัฐบาลไทยเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าท่าทีของคนอื่นๆ

แต่ก็น่าเสียดายที่ว่า เวลานี้ กลุ่มญูแวในพื้นที่ก็ยังไม่มี่ทีท่าจะพูดคุยกับทางการไทยมากนัก แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกไว้ว่า ข้อเสนออะไรก็ตามที่มาจากรัฐจะต้องเป็นข้อเสนอที่ชัดเจนและดึงดูดมากพอ กลุ่มญูแว และ BRN Coordinateถึงจะยอมมานั่งโต๊ะพูดคุยกับตัวแทนจากรัฐบาลไทย

Note: For more reading on the conflict and insurgency in southern Thailand, please visit:

http://www.seasiaconflict.com/