การเสริมสร้างความเข้มแข็งภาษามลายูชายแดนใต้สู่ประชาคมอาเซียน
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2555 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมสัมมนานานาชาติในหัวข้อ การเสริมสร้างความเข้มแข็งภาษามลายูสู่ประชาคมอาเซียน โดยภาษามลายูจะใช้คำว่า “Seminar Antarabangsa Mematabakan Bahasa Melayu di Asean” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 ตุลาคม 2555 ณ โรงแรมปาร์ควิว อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีกิจกรรมที่สำคัญคือ การเสวนาทางวิชาการ การนำเสนอบทความทางวิชาการภาษามลายู การจัดนิทรรศการด้านภาษามลายู มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และสถาบันด้านภาษาประเทศสิงคโปร์เข้าร่วมโดยมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมการสัมมนาและได้รับเกียรติจาก ดร.นลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด
นายอดินันท์ ปากบารา กล่าวว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต. ) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ University Pendidikan Sultan Idris, Malaysia ได้จัดโครงการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการเกี่ยวกับภาษามลายูในมิติต่าง ๆ เช่น ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม ศึกษาศาสตร์ และมลายูศึกษา และยังจะเป็นเวทีเพื่อทำความรู้จักกันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ของนักวิชาการในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางวิชาการในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และภูมิปัญญาท้องถิ่นทางภาษามลายู ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในประชาคมอาเซียน อีกทั้งเป็นการสร้างความตระหนักรู้ของวงวิชาการไทยเกี่ยวกับโอกาสของสังคมไทยที่จะได้ประโยชน์จากการที่มีประชากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สามารถสื่อสารภาษามลายูในชีวิตประจำวันเพื่อจะนำซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติบ้านเมืองในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดูเพิ่มเติมใน https://www.facebook.com/#!/page.sbpac?fref=ts
ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซี่ยนให้ทัศนะว่า ประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกของสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประชาคมที่มีความหลากหลายทางภาษาและชาติพันธุ์ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประชาคมอื่นในองค์การระหว่างประเทศด้วยกันที่มีอยู่ขณะนี้ แม้ว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของประชาคมอาเซียนในการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการก็ตาม ประชากรส่วนใหญ่ของประชาคมก็เป็นกลุ่มประชากรที่มีภาษามลายูเป็นภาษาที่หนึ่งอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุสสลาม ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและพูดภาษามลายูเป็นภาษาที่หนึ่ง และบางส่วนในสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ พม่า กัมปงจามในเขมร และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยซึ่งมีการใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ภาษามลายูมีความสำคัญในประชาคมอาเซียนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในมิติของประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มประชากรที่ใช้ภาษามลายูในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเหล่านี้มีรากเหง้าเดียวกันทางภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตอันจะส่งผลต่อการเสริมสร้าง หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคมของอาเซียน ให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
ในขณะนักวิชาการจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุสสลาม สิงคโปร์รวมทั้งไทยมีความคิดเห็นสอดคล้องกับเลขาธิการอาเซี่ยนแต่การเสริมสร้างความเข้มแข็งภาษามลายูแต่ละประเทศถึงแม้สำเนียงจะแตกต่างกันจะต้องมีหน่วยงานกลางจากรัฐหรือภาคประชาชนด้านภาษามลายูโดยเฉพาะในการเสริมสร้างความเข้มแข็งดังกล่าวพร้อมทั้งสามารถประสานระหว่างกันโดยเฉพาะในประเด็นวิชาการและการวิจัยการศึกษามลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความเป็นจริงการศึกษาภาษามลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นผ่านหนังสือศาสนาอักษรยาวีในสถาบันปอเนาะซึ่งหนังสือดังกล่าวนิพนธ์โดยนักปราชญ์มุสลิมปาตานีหรือชายแดนใต้ เช่นชัยค์ดาวุด และชัยค์อะหมัด อัลฟาฏอนีย์นับร้อยปี แต่การศึกษาที่เป็นวิชาภาษามลายูทั้งอักษรยาวีและรูมีจะอยู่ในหลักสูตรอิสลามศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันตาดีกาประจำชุมชน ศูนย์อบรมคุณธรรมจริยธรรมประจำมัสยิดตลอดห้าสิบปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันภาษามลายูอยู่ในหลักสูตรอิสลามศึกษา พุทธศักราช 2546 สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ภาษามลายูอยู่ในหลักสูตรอิสลามศึกษา พุทธศักราช 2548 สำหรับสถาบันตาดีกา ศูนย์อบรมประจำมัสยิด ภาษามลายูอยู่ในหลักสูตรอิสลามศึกษา พุทธศักราช 2551 สำหรับโรงเรียนของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้ม หรือโรงเรียนของรัฐภาษามลายูอยูในสาระเพิ่มเติมหรือ หลักสูตรท้องถิ่น ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2550
นายนิสิต ชายภักตร์ ผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดสตูล(ผอ.สพป.สตูล) ได้เปิด เผยว่า จังหวัดสตูล จัดทำหลักสูตรการสอนภาษามลายูกลางหรือรูมี นำร่องใช้ในโรงเรียน 7 แห่งรับประชาคมอาเซียน ชี้ผลงานน่าพอใจ นักเรียนสามารถสื่อสารกับชาวมาเลเซียได้... ประชาชนใน จังหวัดสตูล หลายอำเภอ มีจุดแข็งตรงที่สามารถพูดภาษามลายูท้องถิ่นได้ การเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้แก่นักเรียนที่จะรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ภาษามลายูก็มีความสำคัญเช่นกัน จึงมอบหมายให้ศึกษานิเทศก์ครู ร่วมกันจัดทำหลักสูตรการสอนภาษามลายูกลาง (รูมี) ลงในหลักสูตรท้องถิ่น ปีการศึกษา 2550 และให้ใช้นำร่องใน 7 โรง คือ โรงเรียนบ้านควน โรงเรียนบ้านเจ๊ะบิลัง โรงเรียนบ้านทุ่งมะปรัง โรงเรียนบ้านแป-ระเหนือ โรงเรียนบ้านสนกลาง โรงเรียนบ้านปากบารา และโรงเรียนปากละงู
ทั้งนี้ โดยเฉพาะ ร.ร.บ้านควน นับว่าเป็นโรงเรียนที่มีผลการจัดการเรียนการสอนภาษามลายูกลาง (รูมี) ที่มีความก้าวหน้าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง นักเรียนสามารถใช้ภาษามลายูกลาง (รูมี) ในการทำกิจกรรมการเรียนแลกเปลี่ยนกับนักเรียนโรงเรียนคู่แฝด และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ ประเทศมาเลเซียได้อย่างมีคุณภาพ ขณะนี้ สพป.สตูล กำลังอยู่ระหว่างการประเมินผลการจัดกิจกรรมการสอนภาษามลายูกลาง (รูมี) ใน 7 โรงเรียนดังกล่าว โดยจะนำผลการประเมินสู่การพัฒนาและขยายผลต่อไปในโรงเรียนอื่นๆ (โปรดดู http://app.eduzones.com/portal/alledunews/article.php?contentid=1480)
ในขณะที่ระดับอุดมศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยของรัฐไม่ว่าจะเป็นหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวอย่างมหาวิทยาลัยยะลา ก็เป็นสอนภาษามลายูเช่นกัน ศอ. บต. ควรเป็นหน่วยงานหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพภาษามลายูในปัจจุบัน
ด้วยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นพื้นที่พิเศษอยู่และยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพในการการเสริมสร้างความเข้มแข็งภาษามลายูสู่ประชาคมอาเซียน ได้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต. ) ก็ควรเป็นหน่วยงานหลักในการหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพภาษามลายูในปัจจุบันโดยนำทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชนทั้งระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา หรือองค์กรภาคประชาสังคมอย่างสภาประชาสังคมที่มีองค์กรต่างๆมากมายทำงานใกล้ชิดประชาชนฐานรากและพัฒนาภาษามลายูสู่ประชาคมอาเซี่ยนของคนที่อยู่นอกระบบการศึกษาและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ ในขณะเดียวกันองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นไม่ว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตำบล เทศบาลน่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งในการทำงานร่วมกันกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต. ) ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะพล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้ให้ทัศนะว่า การประชาสัมพันธ์เป็นภาษามลายู เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ เน้นใช้จุดเด่นด้านความหลากหลายของภาษาและชาติพันธุ์ให้เกิดประโยชน์ โดยได้เห็นชอบยุทธศาสตร์ที่จะให้โรงเรียนของรัฐมีการเรียนการสอนเป็นภาษามลายู ควบคู่ไปกับการสอนภาษาไทย จากเดิมที่มีการเรียนการสอนภาษามลายูเฉพาะในโรงเรียนสอนภาษา และโรงเรียนปอเนาะ ในขณะเดียวกันมีการประชาสัมพันธ์เป็นภาษามลายูผ่านรายการวิทยุผ่านคลื่นเอฟเอ็ม พร้อมทั้งได้เตรียมการจัดทำรายการโทรทัศน์เป็นภาษามลายู เพื่อให้เป็นรายการโทรทัศน์ท้องถิ่นในพื้นที่ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่ง ศอ.บต. พยายามที่จะทำให้เป็นรายการโทรทัศน์ของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการเชิญประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการกำหนดรูปแบบรายการอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ศอ.บต. เตรียมความพร้อมเพื่อไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งเรื่องบุคลากร ความรู้เรื่องภาษาและประชาคมอาเซียน รวมทั้งเรื่องสถานที่ โดยการทำป้ายชื่อและสัญลักษณ์ถนนและสถานที่สำคัญในพื้นที่เป็น 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และ ภาษามลายู
ประมวลภาพการประชุมได้ที่
https://www.facebook.com/#!/media/set/?set=a.416946328372727.87408.100001720892385&type=3
https://www.facebook.com/#!/tuwaedaniya.meringing/photos