ถึงครูสันติวิธี

ในโอกาสที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้รับรางวัล "การศึกษาสันติภาพ" จากมูลนิธิเอล-ฮิบรี แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค. 55) เลยขออุทิศบทความนี้ให้อาจารย์...จากลูกศิษย์(จันจิรา สมบัติพูนศิริ)

 

ในสังคมไทย คำว่า “สันติวิธี” อาจดังกว่าครูชื่อชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คนรุ่นหลังพฤษภาทมิฬอย่างนักศึกษาที่ข้าพเจ้าสอนอยู่ทุกวันนี้คงได้ยินคำคำนี้จากสื่อฯ ต่างๆ ตั้งแต่อ้อนแต่ออด นักคิด นักเคลื่อนไหวทางสังคม นักการเมือง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ หรือกระทั่งดาราจำนวนหนึ่งตอนนี้ก็เสนอให้คนในสังคมแก้ปัญหา “อย่าง” สันติวิธี ไม่เว้นแม้แต่ในหน้าเวบยูทูปที่ปรากฏมิวสิควิดีโอเพลงสันติวิธี แต่หากถามว่าใครปั้นคำว่าสันติวิธีให้กลายเป็นดาวโด่งดังเช่นนี้ น้อยคนนักที่อยู่นอกวงการ (วิชาการ) จะรู้คำตอบ

 

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คู่บุญแห่งคณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์เขียนบทความอภิปรายที่มาและความหมายของคำว่าสันติวิธีให้แก่สารานุกรมไทยฉบับราชบัณทิตยสถาน (ปรับปรุงล่าสุด) โดยชี้ว่ากลุ่มคนแรกๆ ในสังคมไทยที่ “ให้ความสำคัญกับแนวคิดและปฏิบัติสันติวิธี...ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2510 คือสุลักษณ์ ศิวรักษ์, ประชา หุตานุวัตร, วิศิษฐ์ วังวิญญู, ชาญณรงค์ เมฆินทรากูล, และไพศาล วิสาโล พระนักสันติวิธีคนสำคัญของประเทศในปัจจุบัน” ไม่มีชื่ออาจารย์ชัยวัฒน์? เป็นไปได้ว่าอาจารย์ลืมนับตนเอง?

 

อันที่จริงชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นหนึ่งในกลุ่มคนแรกๆ ที่ศึกษาสันติวิธีในฐานะเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองอันทรงพลังกว่าการใช้ความรุนแรง ผลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหัวข้อ “เจ้าผู้ปกครองแบบไร้ความุรนแรง” (The Nonviolent Prince) เป็นหมายหลักของแนวคิดนี้ ทั้งยังส่งอิทธิพลต่อเส้นทางวิชาการและบทบาทนักวิชาการสาธารณะ โดยเฉพาะความพยายามเสนอให้รัฐใช้สันติวิธี ผู้คนในแวดวงวิชาการรู้จักอาจารย์ผ่านผลงานสำคัญหลายชิ้น อาทิ ท้าทายทางเลือก, สันติภาพของเด็กยากจน, อาวุธมีชีวิต, การเมืองแห่งอภัยวิธี และที่สำคัญคืองานเขียนจำนวนมากที่ชี้ว่าปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (nonviolent action) เป็นหนทางให้ชุมชนมุสลิมต่อสู้กับความอธรรม 

 

ส่วนคนนอกวงการ (วิชาการ) รู้จักมักคุ้นกับอาจารย์ชัยวัฒน์ในฐานะกรรมการในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งรัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งทั้งในสังคมไทย งานนโยบายรัฐที่สำคัญได้แก่การร่วมก่อตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในโครงสร้างของสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงการผลักดันนโยบาย 66/2543 เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างสันติ สำหรับประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชื่อชัยวัฒน์ อาจมีความหมายเกือบเท่ากับความหวังแห่งสันติภาพ ในพจนานุกรมความขัดแย้งแรงในพื้นที่ ผู้ไม่สัดทัดการเมือง – เช่นมารดาข้าพเจ้า – ยังรู้จักและพบเห็นอาจารย์จากหน้าจอทีวี บางทีก็เผลอ “กดไลค์” ให้หนึ่งทีเมื่ออาจารย์วิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งในยามบ้านเมืองวิกฤตได้ถูกใจ

 

ทว่าพวกไม่ถูกใจ และไม่กดไลค์ก็มีอยู่มาก คนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามต่อน้ำยาสันติวิธี บ้างก็สงสัยว่าในห้วงสงคราม นักสันติวิธีหายไปไหน และเนื่องจากอาจารย์ชัยวัฒน์เป็น “ยี่ห้อ” สันติวิธีในสังคมไทย คำถามเช่นนี้จึงเรียกร้องคำอธิบายจากอาจารย์ ยิ่งความขัดแย้งแหลมคมมากเท่าไหร่ นักสันติวิธีก็ยิ่งถูกกร่นด่าจากคู่กรณีแทบทุกฝ่าย ซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์ก็มักเปรย (กึ่งปลอบใจตนเอง) ว่า “ถ้าเราถูกวิจารณ์จากทุกฝ่ายแสดงว่าเราทำอะไรบางอย่างถูก” คงไม่มีความขัดแย้งในสังคมไทยครั้งใดที่สร้างความร้าวฉานให้เครือข่ายนักวิชาการได้เท่ากับความขัดแย้งเหลือง-แดง-หลากสี ยามใดที่อาจารย์ขัยวัฒน์แสดงความเห็นที่ถูกตีความว่าเข้าข้างสีต่างๆ ผู้ที่เคยเป็นลูกศิษย์จำนวนหนึ่งก็แสดงความขัดข้องใจ บ้างก็ตัดพ้อแสดงความผิดหวังต่อท่าทีของอาจารย์ แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ เพราะอาจารย์คืออาจารย์ชัยวัฒน์ จึงมักมีวิธีเข้าใจโลกบนฐานที่ว่ามนุษย์ส่วนใหญ่มีเจตนาดี ฉะนั้นคำอธิบายต่อความผิดหวังของลูกศิษย์ในกรณีความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้คือ “เพราะเขารักเรา เขาเลยหวังให้เราอยู่ข้างเขา” พอไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ลูกศิษย์จึง “งอน” บ้างอะไรบ้าง

 

ทว่าก่อนจะเป็นนักวิชาการสาธารณะ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์คือคุณครูผู้สอนสันติวิธีให้แก่นักศึกษา ไม่ใช่แค่คณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงศิษย์จากสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่อาจารย์เดินทางไปบรรยายตลอดชีวิตครู 30 กว่าปีที่ผ่านมา คงไม่เป็นการเยินยอเกินงามหากจะกล่าวว่าอาจารย์เป็นคนแรกที่สอนวิชาสันติวิธีในสถาบันการศึกษาไทย วิชา ร 415 หรือการใช้ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงในการเมือง ซึ่งเปิดสอนที่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ประมาณปี 2526 จนถึงปัจจุบัน สร้างแรงบันดาลให้นักศึกษาผู้อยากเปลี่ยนแปลงโลกให้รุนแรงน้อยลง และรักความเป็นธรรมมากขึ้น มาหลายรุ่น

 

ข้าพเจ้าจำได้ว่าเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเรียนวิชาสาขาปกครองนี้ ทั้งที่วิชาเอกของตนคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะเคยไปฟังอาจารย์บรรยายในเวทีเสวนาสาธารณะ และค้นพบว่าสันติวิธีเป็นเรื่อง “น่ามหัศจรรย์” (ยืมคำติดปากของอาจารย์มา) ได้เยี่ยงนี้ ทว่าวิธีการสอนในห้องของอาจารย์น่ามหัศจรรย์ใจยิ่งกว่า อาจารย์มักถามคำถามซึ่งคนทั่วไปคิดไม่ถึงว่านี่เป็นคำถามได้ด้วย และเวลานักศึกษาอย่างข้าพเจ้าให้คำตอบที่ฟังดูพื้นๆ ถึงขั้นเพี้ยนๆ อาจารย์กลับบอกว่า “ฉลาดมาก” หนแรก ข้าพเจ้างงกับคำชมแบบจู่โจมของอาจารย์อยู่เหมือนกัน แต่ลูกศิษย์ที่รู้จักมักคุ้นมายาวนานย่อมรู้ดีว่านี่เป็นวิถีแห่งครูของอาจารย์ชัยวัฒน์ – ครูผู้เห็นศักยภาพของนักศึกษาว่าเขาหรือเธอสามารถมีอนาคตก้าวไกลหากได้รับการสนับสนุนหรือกระทั่งคำพูดให้กำลังใจเพียงสองสามประโยค – ที่สำคัญไปกว่านั้น อาจารย์ดึงดูดลูกศิษย์บุคลิกหลากหลาย ตั้งแต่นักธุรกิจใหญ่โต ไปจนถึงผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนนิยาย นักข่าว ข้าราชการ แอร์โฮสเตช ตลอดจนพวกชอบแหวกกฏเกณฑ์สังคม แม้เข้ากับใครไม่ได้ แต่ก็เป็นมิตรสหายกับอาจารย์ชัยวัฒน์ได้ดี นี่คือครูแบบที่ชัยวัฒน์เป็น ครูผู้ให้อิสระภาพแก่ลูกศิษย์ในการคิด และเป็นอย่างที่ตนใฝ่ฝัน อาจารย์มิได้ทำตนเป็น “แบบอย่าง” แต่แสดงให้เห็นว่า “แบบ” มีได้หลายแบบ ถ้าไม่เป็นแบบอาจารย์ ลูกศิษย์ก็มีอนาคตสดใสได้

 

สำหรับคนทำงานด้านสันติวิธี การเปิดพื้นที่ให้คนอื่น (inclusiveness) คือองค์ประกอบสำคัญ อาจารย์ชัยวัฒน์จึงเป็นทั้งคนสอนหนังสือและปฏิบัติหลักการซึ่งตนพร่ำสอน

 

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อประกาศข่าวสำคัญ ซึ่งอาจเล็ดลอดวงข่าวลือในเฟสบุ๊ค รายงานข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ หรือกระทั่งคอลัมน์บรรณาธิการในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ นั่นคือในวาระมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพนี้ มูลนิธิเอล-ฮิบรี แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ถือโอกาสมอบรางวัลคู่ขนาน “การศึกษาสันติภาพ” (Peace Education) ให้แก่ท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในวันที่ 13 ตุลาคม ณ กรุงวอชิงตันดีซี โดยอาจารย์เป็นผู้รับรางวัลชาวต่างชาติคนแรก ในห้วงหกปีที่ผ่านแห่งมอบเสนอรางวัลนี้ นาย Robert Buchanan ประธานมูลนิธิได้กล่าวยกย่องอาจารย์ว่าเป็นผู้นำเสนอแนวทางเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งอย่างสันติในประวัติการทำงานที่ผ่านมา ทั้งยังสนับสนุนการศึกษาสันติภาพ เหล่านี้คือสิ่งที่มูลนิธิพยายามเผยแพร่ สำหรับสังคมไทย รางวัลการศึกษาสันติภาพย่อมสะท้อนคุณภาพของสมาชิกในสังคมด้วย เพราะสังคมนี้ให้พื้นที่อาจารย์ชัยวัฒน์ทำงานฟูมฟักองค์ความรู้ด้านสันติวิธี จนถึงขั้นที่นำความรู้นี้ไปสร้างคุณูปการให้แก่การศึกษา “เพื่อ” สันติภาพในประชาคมนานาชาติได้