แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง : Hate speech คือถ้อยคำแห่งอคติที่ต้องแก้จากข้างใน

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายเป็นพื้นฐานมาแต่เดิม ทั้งความแตกต่างทางชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ และความเชื่อ เป็นอาทิ อคติถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สั่นคลอนความสัมพันธ์ของผู้คนที่เคยดำรงอยู่อย่างหลากหลายระหว่างกัน ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ผู้คนเกิดอคติระหว่างกันหรือไม่ ? หรือแท้ที่จริงแล้วสังคมไทยมีวัฒนธรรมบางอย่างที่คอยหล่อเลี้ยงความเกลียดกลัว ? ปาตานีฟอรั่ม คุยกับ ผศ.ดร. แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งในมิติการทำงานวิชาการและงานด้านทักษะวัฒนธรรม มองปัญหาถ้อยคำความเกลียดชัง (Hate speech) ในสังคมไทย ตลอดจนทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

ถ้อยคำจากอคติ

สำหรับแพร ศิริศักดิ์ดำเกิง อธิบายว่า เฮทสปีชคือการใช้ถ้อยคำหรือสัญลักษณ์บางอย่างที่ไปสร้างความเกลียดชังให้กับคนอื่นอันมีที่มาจากอคติบางอย่างของคนในสังคมที่มีต่อบุคคลหรือกลุ่มคน อย่างกรณีปัญหาความรุนแรงในพ้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการมุ้งเป้าไปยังคนมุสลิม ความแตกต่างในอุดมการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและอนุรักษ์นิยม หรือกรณีการใช้ถ้อยคำความเกลียดชังแก่คนที่บางกลอยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่นั่น กระทั่งรัฐมีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยานในปัจจุบัน อคติที่ไม่เข้าใจความแตกต่างเหล่านี้เองเป็นเหตุสำคัญให้เกิดเฮทสปีช

“ประเด็นเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาเพราะว่ามีผู้คนที่มองเห็นว่าคนเหล่านี้เป็นคนที่แตกต่าง แล้วก็ไม่เข้าใจว่าเขามีคุณค่าหรือวัฒนธรรมแบบนั้นที่แตกต่างกับเรา ก็ทำให้เกิดความรู้สึกแบบว่าดูหมิ่นเกลียดชังเกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ แล้วก็ความรู้สึกนั้นก็คือการกระทำที่ส่งทอดออกมาเป็นเฮทสปีช”

 

วัฒนธรรมซ่อนหาของความเกลียดชังบนโลกออนไลน์

ขณะเดียวกัน แพรมองว่าผู้คนในสังคมไทยมีวัฒนธรรมไม่เผชิญหน้ากัน และเช่นกัน วัฒนธรรมเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้ต่อบนโลกออนไลน์ การผนวกกันระหว่างทั้งสองยังได้กระตุ้นการใช้เฮทสปีชให้แพร่หลายมากขึ้น เนื่องด้วยพื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ที่อิสระเสรีในการสื่อสาร

“...คุณอาจจะรู้จักหรือไม่รู้จักใคร คุณสามารถพูดสิ่งที่คุณอยากพูดโดยที่ไม่ต้องแคร์ใคร เพราะฉะนั้นสำหรับในสังคมไทยจริง ๆ แล้วอาจจะมีความร่วมกับในสังคมวัฒนธรรมอื่น ๆ ว่าออนไลน์มันก็เป็นพื้นที่ที่อิสระเสรีที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดจากับใครก็ได้ แต่ในสังคมไทยมันบวกไปนิดนึง ยิ่งเพราะว่าต่อหน้าเราไม่กล้าพูดกัน พื้นที่นี้ก็เลยเป็นพื้นที่ค่อนข้างจะเสรีภาพกับเรามาก ๆ ที่จะไปพูดถึงใครหรือพูดอะไรต่อใครก็ได้ค่ะโดยที่ไม่ได้คำนึงว่านั่นคือเฮทสปีชหรือไม่ หรือไปละเมิดคนอื่นหรือไม่ หรือจะสร้างความเจ็บช้ำให้กับคนกลุ่มบางกลุ่มหรือไม่”

 

Free speech กับ Hate speech

แพรอธิบายว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Free speech) คือการแสดงความคิดเห็น กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ถือเป็นการละเมิดคนอื่น และเมื่อไหร่ก็ตามที่การแสดงความคิดเห็นได้เปลี่ยนไปสู่ “การแสดงความไม่เคารพวิถีชีวิตวัฒนธรรมหรือคุณค่าที่คนอื่น” ก็ย่อมเป็นถ้อยคำความเกลียดชัง (Hate speech)

“..เมื่อไหร่ที่คุณไปลดทอนคุณค่าของคนอื่น เมื่อไหร่ที่คุณไปดูหมิ่นเหยียดหยามวัฒนธรรมความเชื่อของคนอื่น แล้วก็มากกว่านั้นคือคุณไปชักชวนผู้คนให้มารังเกียจด้อยค่าคนกลุ่มอื่น สำหรับเราคือ Hate speech ไปจนถึงสิ่งที่คุณบอกกันว่านั่นคือไปชักชวนกันอนุญาตให้กระทำความรุนแรงต่อคนอื่น ๆ เสมอเหมือนว่าเขาไม่ใช่คนเท่าเทียมกับคุณ อันนี้สำหรับเราก็คือ Hate speech”

 

เปลี่ยนจากข้างในเพื่อเคารพคนอื่น

แม้ว่าการออกกฏหมายจะเป็นหนึ่งในข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายถ้อยคำความเกลียดชังในสังคม กระนั้น แพรมองว่าการมุ่งใช้กฏหมายยังคงมีข้อบกพร่องบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฏหมายโดยรัฐ ซึ่งมักเน้นไปที่การไล่บี้คนที่เห็นต่างและโยนความผิดให้บุคคลหรือกลุ่มคนเหล่านั้น สำหรับแพร หนทางของการแก้ปัญหาการระบาดของถ้อยคำความเกลียดชังนั้นต้องแก้ทุกส่วนของสังคม โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนความนึกคิดและการเปลี่ยนจากข้างในเพื่อเคารพคนอื่น 

“คนไทยไม่ค่อยที่จะให้ความตระหนักต่อผู้คนว่าเราจะต้องเคารพและเห็นคนเท่าเทียมกันอย่างไร ไม่เห็นวัฒนธรรมอื่นๆ ที่อยู่ในประเทศนี้ว่ามีคุณค่าเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น ทำยังไงก่อนที่จะให้คนมีวิธีคิดเรื่องนี้ก่อน มันจะถึงมาสู่การสื่อสาร...”

แพรยังมีความคิดเห็นว่าการเห็นคุณค่า ตลอดจนการเห็นวัฒนธรรมอื่นเท่าเทียมกับวัฒนธรรมของตน ยังคงเป็นมุมมองที่สำคัญ หากผู้คนให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ คุณก็จะไม่ไปดูหมิ่นคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ของคนอื่นผ่านถ้อยคำหรือสัญลักษณ์บางอย่าง โดยการแก้ปัญหาต้องทำทั้งสังคม ไม่สามารถที่จะทำแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งได้