ฮัจญ์ คุณค่าหรือทัศนศึกษาราคาแพง ?

โดย : อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก ดินอะ)

ฝ่ายวิชาการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะจังหวัดชายแดนใต้

อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ

ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ

อ.จะนะ จ.สงขลา         

Shukur2003@yahoo.co.uk

http://www.oknation.net/blog/shukur

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

ฮัจญ์ คือ การรวมตัวของมนุษยชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถรวบรวมประชาคมโลกที่ก้าวพ้นพรมแดนแห่งชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม มุสลิมทุกคนต้องประกอบพิธีฮัจญ์แม้ครั้งเดียวในชีวิต หากมีความสามารถ ฮัจญ์คือเทศกาลประจำปีระดับนานาชาติที่เชิญชวนและเรียกร้องมนุษยชาติให้หวนรำลึกและฟื้นฟูบรรยากาศแห่งศรัทธา การยำเกรง การยึดมั่นในคำสอน การฝึกฝนความเป็นน้ำหนึ่งเดียว รับทราบ ศึกษาและร่วมแก้ไขวิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความเชื่อผมั่นในศักยภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ดังนั้นจึงเห็นว่า ทุกๆ ปี ชาวไทยมุสลิมจำนวนมากจะไปร่วมประกอบพิธี "ฮัจญ์" ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย ตามศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นความตั้งใจสูงสุดเช่นเดียวกับอิสลามิกชนจากทั่วโลก  โดยในปีนี้ผู้ที่เดินทางไปทำฮัจญ์หรือ "ฮุจญาจ" ในส่วนของประเทศไทยประมาณ จำนวน 13,000 คน

แม้ว่าสถานการณ์ไฟใต้ที่ยังคงคุกรุ่น และไม่มีทีท่าว่าจะดับมอดได้ในเร็ววันนั้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ซบเซาอย่างหนัก จนกระทบกับวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิมประเทศไทย  ทว่าวัตรปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามดูจะเป็นสิ่งเดียวที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะพี่น้องมุสลิมยังคงยึดถือและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดไม่เปลี่ยนแปลง

ถึงแม้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้จะสูงขึ้นคืออยู่ระหว่าง 155,000 - 170,000 บาทต่อคน

เพราะการประกอบพิธีทำฮัจญ์ เป็น 1 ใน 5 หลักปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมที่มีความสามารถต้องปฏิบัติอย่างน้อยหนึ่งครั้งชั่วชีวิต ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้
ความว่า "และเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเหนือมวลมนุษย์ คือ การทำฮัจญฺ ณ อัลบัยต์ (บ้านของอัลลอฮฺ) สำหรับผู้ที่มีความสามารถหาทางไปสู่มัน (บ้านหลังนั้น) ได้ และผู้ใดปฏิเสธ (การทำฮัจญฺ) แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงพอเพียงจากประชาชาติทั้งหลาย"  (ซูเราะฮฺอาลอิมรอน อายะฮฺที่ 97)

ในขณะเดียวกันฮุจญาจทราบดีว่าท้ายสุดที่เขาใฝ่ฝันคือการได้รับอภัยโทษและสรวงสวรรค์อันเป็นที่พำนักชั่วนิรันดร์ หากฮัจญ์ของฮุญาจถูกตอบรับ (มับรูณ)

ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด ถูกถามถึงการงานที่ดีที่สุด ท่านตอบว่า "การศรัทธาต่ออัลลอฮฺและศาสนฑูตของพระองค์" มีผู้ถามอีกว่า "แล้วอะไรอีกเล่า?" ท่านตอบว่า "การญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ" แล้วถามอีกว่า "แล้วอะไรอีกเล่า?" ท่านตอบว่า "ฮัจญฺที่ถูกรับรอง" (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า  "อุมเราะฮฺหนึ่งถึงอีกอุมเราะฮฺหนึ่งเป็นการลบล้างความผิดระหว่างอุมเราะฮฺทั้งสอง และฮัจญฺมับรูร(ที่ถูกตอบรับ)ไม่มีผลตอบแทนใด ๆ แก่เขานอกจากสวนสวรรค์" (บันทึกโดยมุสลิม)

แต่มิใช่การประกอบพิธีฮัจญ์ของทุกคนจะถูกตอบรับหากเขาคนนั้นกลับมาเมืองไทยยังทำความเดือดร้อนต่อผู้อื่น เพราะในสมัยก่อนมีหญิงคนหนึ่งเป็นคนอวดตัวและชอบนินทาคนอื่น เธอได้เก็บเงินเพื่อเดินทางไปทำฮัจญ์เมื่อวันนั้นมาถึงเธอร้องไห้ด้วยความดีใจ หลังจากไปทำฮัจญ์กลับมา นิสัยของเธอก็ยังไม่เปลี่ยน สองปีหลังจากนั้นเธอก็ได้ไปทำฮัจญ์อีก หลังจากกลับมา นิสัยของเธอก็ยังไม่เปลี่ยน ฉะนั้น ฮัจญ์ของเธอจึงไม่ถูกยอมรับเพราะท่านศาสนฑูตมุฮัมมัดได้กล่าว่า ฮัจญ์ที่ถูกตอบรับคือการที่คนนั้นได้ละทิ้งบาปต่างๆที่เคยกระทำมาในอดีต แต่หากเขากลับมาแล้ว เขายังจะทำความบาปอีก ฮัจญ์ของเขาก็ถือว่าไม่ถูกตอบรับ

ปัจจุบันในชุมชนมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ผู้ที่จะไปทำฮัจญ์จะเชิญผู้นำศาสนา และชาวบ้านมารวมตัวกันที่บ้านเพื่อขอพรต่อพระเจ้า ให้เขาเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างปลอดภัยและถูกต้อง ในขณะเดียวกันเจ้าของบ้านจะเลี้ยงอาหารเป็นการตอบแทนเมื่อถึงวันเดินทาง ญาติพี่น้อง ชุมชนในหมู่บ้านจะเหมารถไปส่งฮุจญาจเต็มคันรถนับสิบคันที่สนามบินหาดใหญ่ และอื่นๆ ญาติบางคนยังมีน้ำใจบริจาคเงินให้ฮุจญาจเพื่อร่วมทำบุญ

โดยปกติฮุญาจไทยจะไปอยู่ที่นั้นประมาณ 40  วัน เพื่อประกอบศาสนกิจสำคัญๆในสองเมืองคือมักกะฮ์และมะดีนะฮ์  แต่พิธีฮัจญ์จริงๆจะอยู่ในวันที่ 8-13 ซุลฮิจญะห์ (เดือนที่12 ตามปฏิทินอิสลามซึ่งปีนี้ ตรงกับ (ประมาณ) 23-28 96ตุลาคม 2555 ) ตามวันเวลา และสถานที่ต่าง ๆที่ทางศาสนาอิสลามกำหนดไว้ ซึ่งศาสนกิจข้อนี้เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิง ทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง ที่จะต้องปฏิบัติ ในช่วงฮัจญ์ ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางเข้าสู่อารเบีย โดยก่อนอื่นจะมีการทำ อิฮฺรอม นั่นคือการตั้งใจว่าจะทำพิธีฮัจญ์ ก่อนการเข้าไปในแผ่นดินฮะรอม ในซาอุดิอารเบีย โดยจะปฏิบัติตามกฏของฮัจญ์ อาทิเช่น การไม่สมสู่ การไม่ล่าสัตว์ในแผ่นดินฮะรอม การไม่ตัดเล็บหรือผม การไม่เสริมสวยหรือใช้น้ำหอมผู้ชายจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย มาสวมผ้าเพียงสองผืน แล้วต่างก็จะมาชุมนุมกันที่ ทุ่งอะร็อฟะหฺ ในตอนเช้าตรู่ของวันที่เก้าของเดือนซุลฮิจญะหฮ์ แล้วพอตกค่ำ ซึ่งตามปฏิทินจะเป็นคืนที่สิบ บรรดาฮุจญาจกจะเดินทางผ่าน ทุ่งมุซดะลิฟะหฺ พักชั่วครู่หนึ่งก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่ ทุ่งมีนา ก่อนเที่ยงของวันต่อไป

ฮุจญาจจะพักอยู่ที่ ทุ่งมีนา เป็นเวลาสามวัน เพื่อขอพรและบำเพ็ญตนตามพิธีฮัจญ์ หลังจากนั้นจึงเดินทางเข้ากรุงมักกะหฮ์ เพื่อฏอวาฟ (เวียนรอบ) กะอฺบะฮ์หรือที่เรียกว่า บัยตุลลอหฮ์อันเป็นเสมือนเสาหลักของชุมทิศซึ่งตั้งอยู่ใน มัสญิด ฮะรอม (เมืองมักกะฮฺ) หลังจากนั้นฮุจญาจก็จะเดินจากเนินเขาศอฟา สู่เนินเขามัรวะหฺ ซึ่งมีระยะทาง 450 เมตร ไปมาจนครบเจ็ดเที่ยว ระหว่างที่เดินก็จะกล่าวคำขอพรและคำวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเสร็จพิธีนี้แล้วก็จะขลิบผมหรือโกนหัว   หลังจากนั้นจะไปพักแรมที่มีนา และขว้างเสาหินทั้ง 3 ต้นโดยขว้างเรียงกันไป1-3 เป็นเวลา 3 วัน (วันตัชรีก วันที่ 11 - 12 – 13 ซุลฮิจญะฮ์ ) ออกเดินทางจากมีนา มุ่งสู่เมืองมักกะฮ์ (ก่อนดวงอาทิตย์ตก) ท้ายสุดการฏอวาฟวิดาอฺ (ฏอวาฟอำลา คือการเวียนรอบกะบะฮฺเป็นครั้งสุดท้ายก่อนออกจากดินแดนเมืองมักกะฮฺเพื่อจะเดินทางกลับ)

 นี่คือพิธีกรรมในการฝึกทั้งกาย  วาจา และ ใจซึ่งหากผู้ปฏิบัติปฏิบัติเพียงตามคนในอดีตเท่านั้นฮัจญ์ของเขาก็จะไม่เพิ่มมูลค่าต่อตนเองและสังคมเท่าไรอีกทั้งยังเป็นทัศนาจรราคาแพง  ดร.อิสมาอีลลุฏฟีย์  จะปะกียา อามีรุลฮัจญ์ปี 2553 กล่าวว่า  “ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์คือผู้ใฝ่สันติ เขาไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนใดๆไม่ว่าต่อตนเอง ผู้อื่นสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เหล่าสิงสาราสัตว์แม้กระทั่งกิ่งก้านหรือใบไม้เล็กๆ ก็ตาม ช่วงเวลาการทำฮัจญ์คือช่วงเวลาแห่งสันติ ในขณะที่มักกะฮ์คือดินแดนและอาณาบริเวณที่สันติสุข ดังนั้นผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จึงซึมซาบบรรยากาศของสันติภาพทั้งเงื่อนไขแห่งเวลาและสถานที่ เพื่อฝึกฝนให้มุสลิมสร้างความคุ้นเคยในภาคปฏิบัติสู่การประยุกต์ใช้วิถีแห่งสันติในชีวิตจริงต่อไป

สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของปรัชญาฮัจญ์มับรูรฺ ที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องศึกษาเรียนรู้และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อกลับสู่มาตุภูมิ หาไม่แล้วฮัจญ์ก็เป็นเพียงทัศนาจรราคาแพงที่มีการเก็บออมและลงทุนทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถเกิดดอกออกผลในชีวิตจริง สังคมมุสลิมก็ตกในวังวนแห่งการบูชาพิธีกรรมและเทศกาลที่ไม่มีผลต่อระบวนการพัฒนาเลย วัลลอฮฺ อะอฺลัม.