“ราก” และ “เหง้า” แห่งจิตวิญญาณ (จบ)

อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

         

 

“สถาบันการศึกษาต้องผูกร้อยและเชื่อมโยงกับสถาบันศาสนา เพื่อใส่ปุ๋ยซ่อมบำรุงและถักร้อยรอยผุพังของจิตวิญญาณ

การศึกษาจำเป็นขนาดที่ว่ามันคือชุดแต่งกายและเครื่องปรุงแต่งทุกอิริยาบทในวิถีสามัญชนประจำวัน”

เซอร์ ซัยยิด อะหมัด คาน  (Sir Syed Ahmad Khan 1817 – 1898) 

 

มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีกัรจึงได้กลายเป็นทางรอดทางเดียวสำหรับการเป็นมุสลิมชนกลุ่มน้อยในประเทศแบบนี้ ใต้ห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งดังกล่าว เพราะต่างคนมีรอยบอบช้ำกับสงครามกลางเมืองที่ยังไม่หายจากบาดแผลเดิมเมื่อปี ๑๘๕๗ ที่ผ่านมา

“หากคุณยอมรับการดำรงอยู่ของประเทศนี้ คุณก็ต้องยอมรับการเป็นอยู่ภายใต้การควบคุมของกฏหมายเบงกอล และถ้าเป็นอย่างนั้นจริงแล้ว จะทำให้คุณชอบรองเท้าของเบงกอล ด้วยพระนามแห่งพระเจ้า คุณต้องสวมมันและกระโดดขึ้นไปบนรถไฟ แล้วนั่งลง และแน่นอนคุณต้องลงจากรถไฟเพื่อไปเผชิญกับอำนาจของมัสดราส”

คำกล่าวของ เซอร์ ซัยยิด อะหมัด คาน ที่เราจำไม่เคยลืม หลังจากความขัดแย้งดังกล่าวเป็นหนึ่งในเหตุและผลที่นักคิดผู้นี้ต้องเดินทางไปอังกฤษเพื่อไปดูระบบการศึกษาและหาทางเยียวยาสังคมที่กลายเป็นความเสี่ยงต่อการปะทะและการลุกฮือได้ทุกเมื่อ[2]   จึงไม่แปลกที่ ทุกซอกซอยของมหาวิทยาประดับด้วยรูปภาพของ เซอร์ ซัยยิด อะหมัด คาน   ( Sir Syed Ahmad Khan) ท่านได้ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีชื่อว่า “อาร์ลีกัร” (Aligarh Movement)

ในช่วงเวลานั้นท่านศึกษาศาสตร์สมัยใหม่และท่านเคยทำงานในศาลของอังกฤษแม้หลังจากการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในปี ๑๘๕๗ แล้ว  ท่านก็ยังคงทำงานให้กับอังกฤษต่อไปและท่านได้ใช้ชีวิตในการทำงานด้วยการเขียนหนังสือและเป็นนักวิชาการ [3]

ท่านได้ก่อตั้งกลุ่ม The Aligarh Institute Gazette เพื่อศึกษาสังคมและปรับทัศนคติของคนอินเดียในเดือนมีนาคม ๑๘๖๖ จากนั้นเป็นต้นมาท่านได้ขบคิดและติดต่อกับมิตรสหายเช่น มะดิ อะลี (Mahdi Ali) เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับฟื้นฟูสังคมมุสลิมโดยเฉพาะการพัฒนาด้านการศึกษา

“ไม่มีคืนไหนผ่านไปโดยที่ท่านไม่ได้พูดคุยและขบคิดเกี่ยวกับการก่อตั้งสถาบันการศึกษา”[4]

และท่านได้เริ่มเขียนวารสารที่มีชื่อว่า“ตะซิบุล อักบัร” ('Tehzibul Akhlaq') หรือ “การปฏิรูปสังคมมุสลิม” ในปีที่ ๑๘๗๐ นับเป็นการแสดงทัศนะและขับเคลื่อนกับสังคมอย่างวงกลว้างและชัดเจน จนกระทั่ง แนวความคิดรองรับความรุนแรงและปลดพ้นจากการเข่นฆ่าด้วยการจับปืนผ่านเป็นติดอาวุธทางปัญญาดังกล่าวได้กลายมาเป็นฐานสำคัญของมุสลิมด้วยการเป็น  “Aligarh Muslim University”( علی گڑھ مسلم یونیورسٹی) เป็นต้นมา [5]

มหาวิทยาลัยได้เปิดสอนในวันแรกประมาณ ปี ๑๘๗๕ โดยนักเรียนกลุ่มแรกนั้นมีประมาณ ๒๓ คน และในเดือนธันวาคม นักเรียนเพิ่มเข้ามาอีก ๖๖ คน จำนวนนักศึกษาในปีแรกของการก่อตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้มีประมาณ ๘๙ คน[6] พร้อมหมวกใบแรกที่นักศึกษาสวมใส่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนั่นก็คือ หมวกใบสีแดง ภายใต้วัฒนธรรมของอาณาจักรอุสมาณียะฮ์หรือ ออตโตมันในขณะนั้น

อินเดียในสมัยดังกล่าว ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนใน  David Lelyveld  ชื่อ หนังสือ Aligarh first generation ; Muslim solidarity in British India ว่า

 “ชาวอาลีกัรนั้น ประมาณ ศ.๑๘๗๐ มีประชากรประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน สถานที่แห่งนี้ได้ระบุว่า เป็นพื้นที่เต็มไปด้วยยุงและแมลงวัน”

ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวประกอบไปด้วยชุมชนต่าง ๆ ประมาณ ๒๗ ชุมชน ซึ่งเป็นช่วงเวลาการปกครองของโมกุล (Mughal) มุสลิมในพื้นที่นี้ประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็น ซึ่งประกอบไปด้วยช่างตัดผม(weavers),พ่อค้าขายผลไม้(fruitseller),ช่างทำกุญแจ(lockmakers), กระทั่งช่วงกลางศตวรรษดังกล่าว มีอาชีพที่เพิ่มมาอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือ พ่อค้าขายเนื้อ (butchers),ครูสอนศาสนา (religious teacher)[7]

นี่คือเหตุและผลอย่างหนึ่งในการทำงานมวลชนและปรับทัศนคติของผู้คนด้วยการตั้งกลุ่มเพื่อเช็คระดับความคิดและความพร้อมของผู้คนในการเปลี่ยนไปสู่อาณาจักรของมหาวิทยาลัยต่อไป จึงไม่แปลก การก่อตั้งกลุ่ม The Aligarh Institute Gazette  เริ่มต้นในปี ๑๘๖๖ และใช้เวลาเกือบสิบปีในการเรียนรู้พื้นที่และทำความเข้าใจชุมชน หลังจากผ่านไปเกือบทศวรรษ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเลยเริ่มต้นขึ้น  ในปี ๑๘๗๕

ทั้งหมดคือ การวางฐานที่มั่นคงและแน่นอย่างเห็นได้ชัด เพื่อเตรียมทรัพยากรบุคคลที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในช่วงวันข้างหน้าอย่างเป็นระบบ

ในปี ๑๘๖๙ พื้นที่กองทัพทหารนับเป็นพื้นที่รกร้างซึ่งฐานทัพได้แตกเมื่อเกิดโรคระบาดและขาดแคลนน้ำอย่างแรง ซึ่งฐานทัพดังกล่าวเหล่านี้ได้ถูกก่อตั้งขึ้นหลังจากมีการปฏิวัติของประชาชนครั้งใหญ่ในปี ๑๘๕๗ แต่เมื่อมีโรคระบาดนับเป็นสาเหตุให้ชาวอังกฤษขายที่และย้ายรกรากของตัวเองออกจากพื้นที่แห่งนี้

ประมาณ ปี ๑๘๗๓ พื้นที่ดังกล่าวได้ว่างลงจึงมีการใช้ในการสร้างมหาวิทยาลัยนั้นได้รับการสนับสนุนจาก John Strachey ซึ่งเป็นผู้ดูแลกองทัพของอังกฤษในสมัยนั้น ด้วยการบริจาคที่ดินเป็นที่ตั้งฐานทัพ ๓ แห่ง ได้รับการรับมอบพื้นที่ดังกล่าวให้สร้างโรงเรียนและสร้างวิทยาลัยใต้อาณาเขตเริ่มแรกประมาณ  ๗๔ เอเคอร์[8]

เซอร์ ซัยยิด อะหมัด คาน ได้นำปรัชญาหลักที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเข้ามาจัดการปัญหาการรุกคืบของตะวัน การเปิดสอนภาษาอังกฤษนับเป็นความแปลกใหม่และแหวกขนบแบบเดิม ๆ ที่เป็นไปในห้วงยามนั้น ขณะสังคมมุสลิมอินเดียในสมัยนั้นไม่มีใครต้องการการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษและวัฒนธรรมอังกฤษ เพราะการยอมรับภาษาดังกล่าวคือสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ การเป็นตะวันตก คนต่างศาสนาและการยอมแพ้ [9]

การบอกกับผู้คนอินเดียให้รู้ว่าผ่านหลักการอิสลามที่ชัดแจ้งว่า علم الانسان ما لم يعلم หรือ “พระเจ้าสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขานั้นไม่รู้”[10] จนเป็นนิยามสั้น ๆ ที่ได้เขียนจารึกไว้ว่า “มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีกัร เป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกที่ชาวมุสลิมอินเดียได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้น”

“การศึกษาคือ วิถีทางเดียวในการสร้างอาวุธที่สำคัญและกองกำลังที่ทรงประสิทธิภาพเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของระบบการศึกษานั่นก็คือ กระบวนการสอนและวิถีแห่งการกล่อมเกลาเพื่อปรับทัศนคติ แนวคิด สร้างคนดีมีศีลธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้คือฐานและรากที่จะหลอมรวมให้ผู้คนก้าวไปสู่ผู้นำของสังคม”

“เมื่อข้างในของมนุษย์อ่อนแอและตายด้าน วิธีการเยียวยาอย่างเดียวนั่นก็คือ บ่มเพาะและปลูกระบบการศึกษาจากตำราและจริยะศาสตร์เพื่อเป็นปุ๋ย กระนั้นเพื่อปรับสิ่งแวดล้อมแห่งสังคมที่เน่าเปื่อยเพื่อคนรุ่นต่อไป”[11]

กลุ่มอาลีกัรมีอิทธิพลและบทบาทอย่างมากในการปลดปล่อยสังคมจากการครอบงำจากประเทศอาณานิคมอย่างอังกฤษ และที่สำคัญเป็นการกำหนดทิศทางการศึกษาของประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ด้วยการติดอาวุธทางปัญหาให้กับมุสลิมเพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจความเป็น “โลกสมัยใหม่และศาสตร์ตะวันตก” 

กลุ่มนี้มีบทบาทต่อการกำหนดวิถีชีวิตมุสลิมและการต่อสู้ทางการเมืองของคนอินเดียเป็นอย่างมาก และที่สำคัญ กลุ่มนี้ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วยการหนุนเสริมให้สังคมมุสลิมสมบูรณ์ด้วยการปรับใช้ความเป็นอิสลามผ่านการเรียนรู้และดำรงอยู่ด้วยความทันสมัยใหม่ของสังคมและการศึกษาวิทยาการใหม่ๆที่โลกเป็นไป

ณ วันนี้ ผมยังมีความสุขกับการขับรถผ่านถนนสายนี้ ภาพสุดท้ายที่ผมจอดรถไว้ข้างทาง ผมเพิ่งพบเด็กน้อยคนหนึ่ง กำลังเดินเล่นอยู่อย่างมีความสุข เราเดินพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ ริมบาทวิถี มูฮัมหมัด เตาฟิก (Muhammad Taofig) เด็กน้อยอาศัยห้องหับย่านก่อสร้างกับครอบครัวเพื่อเป็นคนงานเฝ้าบ้านเช่าที่กำลังเปลี่ยนชุมชนเป็นเมือง เราเดินพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ เขายิ้มแย้มและมีความสุขในการเป็นอยู่ของเขา

เด็กน้อยอีกคนวิ่งเข้ามาใกล้ แล้วแซงเขาไป เขาเริ่มออกวิ่งเพื่อแข่งกับเด็กน้อยคนดังกล่าว ทันทีผมเพิ่งรู้ว่า เด็กน้อยคนนี้ท่อนขาของเขาไม่สมบูรณ์ เขาไม่สามารถวิ่งอย่างคนปกติได้ เขาวิ่งกระโพลกกระเพลกอย่างรวดเร็ว แล้วเอาชนะเด็กน้อยอีกคน  รอยยิ้มของเขา ทำให้ผมได้เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งว่า “ชีวิตที่ไม่ได้ปรุงแต่งก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะไร้ค่าและไร้ความสุข”

ผมยังเดินวนเวียนในซอกซอยของมหาวิทยาลัยผ่าน ร่องรอยต่าง ๆ มันฝังราก จนผมอดคิดไม่ได้ว่า “ผมก้าวผ่านยุคแห่งความชังมาเป็นยุคแห่งการค้นพบ” กระนั้น หลายชั่วอายุคนที่ต้องอยู่ระหว่างช่วงกลางแห่งยุคสมัย นั่นคือ “การแสวงหา” นั่นก็เท่ากับว่า มันเป็นยุคแห่งการสูญเสียและการฆ่าฟัน

เมื่อเป็นแบบนั้น จึงไม่ใช่ประเด็น ที่มนุษย์อย่างเราจะลืมง่ายขนาดนั้น เมื่อยุคสมัยดังกล่าวทุกคนยอมหลั่งหยดเลือดมานับครั้งไม่ถ้วนเพื่อ “รดราดบนแผ่นดินมาตุภูมิ” ด้วยเหตุประการดังกล่าวคราที่นำ “หยดเลือด” มากรีดและหยิบยื่นให้แก่กันก็ไม่สามารถพบคำตอบแห่งสันติภาพและการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้

มนุษย์จึงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วย “การคลำ” หาเส้นทางอื่น แม้ในปากของพวกเขายัง “กลืนกินหยดเลือด” ของตัวเอง แม้จะใช้เวลาเป็นศตวรรษ ทว่า ทางออกเหล่านั้นก็เกิดขึ้นในอีกวันของย่ำรุ่งอรุโณทัย

 ก็แน่ละ บทเรียนมันบอบช้ำและโหดร้ายจนทุกคน “สำนึกร่วมในบาดแผล” ที่ต่างคนต่างมีรอยบอบช้ำมา

การหาทางเยียวยาจึงไม่ใช่เรื่องยากเสียทั้งหมด วิธีการใหม่ ๆ ต้องถูกนำเสนอแม้จะผ่านชะตากรรมแบบเดิมและต้องเพิ่มความกล้ามากกว่าเดิมในการนำเสนอแนวความคิดเหล่านี้ให้กับสังคมที่นับวันยิ่งเลวร้ายและ “ยึดติดขนบเดิม” แบบ “มากกว่าเดิม”

ทว่าไม่ใช่ ความกล้าใน “รูป”และ “แบบ” เดิม ๆ



[1] M.A. Political science (Islamic political philosophy), Aligarh Muslim University,India,2008-2010 เขียนเมื่อ ; 1-8-2012

[2] ท่านได้เดินทางไปอังกฤษปี ๑๘๖๙-๑๘๗๐ ระยะเวลา ๑๗ เดือนของการเดินทาง นักคิดผู้นี้ต้องการเข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาล โรงงาน  มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดและแคมบริดจ์ ตลอดจนศูนย์การค้าต่าง ๆ ทั้งหมดเหล่านี้มีส่วนปรับแนวคิดของเขาในการแสดงถึงเจตนารมณ์เพื่อปลดแอกสังคมที่ค่อนข้างน่าเบื่อเต็มทีด้วยการ สร้างและเน้นย้ำระบบการศึกษาโดยเฉพาะคนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมในประเทศอินเดียต้องได้รับการศึกษามากกว่าที่เป็นไปและเชื่อมร้อยด้วยศาสตร์สากลต่าง ๆ เพื่อปรับทัศนคติและมุมมองต่อเพื่อนร่วมโลก  กระนั้นการทำงานดังกล่าวเพื่อเรียนรู้ในการก่อตั้งและปรับระบบการศึกษา ท่านได้อาศัยลูกของท่านคือ ซัยยิด มะหมูด (Sayyid Mahmud) กับ ซัยยิด ฮามิด (Sayyid Hamid) อ่านเพิ่มเติม ใน David Lelyveld , Aligarh first generation ; Muslim solidarity in British India,Oxford University Press,1996, P.104-105

[3] ในปี ๑๘๔๗ ท่านได้เขียนหนังสือเล่มโด่งดังที่สุดของท่าน ชื่อว่า Asarus Sanadeed' ได้พูดถึงเรื่องราวของมุสลิม ๘๐๐ ปีของอินเดีย กระทั่งปี ๑๘๕๕ ท่านได้เขียนหนังสืออีกเล่มที่ชื่อว่า 'Ain-e-Akbari'. หนังสือเกี่ยวกับระบบการศึกษาของท่านที่โด่งดัง คือ Stricture on the present state of English Education in India, หลังจากการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในปี ๑๘๕๗ ท่านได้เขียนหนังสือเล่มสำคัญและตีพิมพ์ในปี ๑๘๕๙ คือ 'Asbab-e-Baghawat-e-Hind' หรือ “สาเหตุที่ชาวอินเดียก่อการปฏิวัติ” ในปี ๑๘๗๐ หนังสืออีกเล่มของท่านก็ได้นำเสนอเกี่ยวการศึกษาและวิถีอิสลามผ่าน Essay on the life of Muhammad

[4] Sayyid Ahmad to Mahdi Ali , London,April 22,1870,Maktubat,P.99.

[5] ท่านได้เปิดโรงเรียนขึ้นในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๑๘๗๕ ชื่อ “Madrasatul Uloom Musalmanan-e-Hind” และในวันที่ ๘ มกราคม ปี ๑๘๗๗ ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น “วิทยาลัยมูฮัมมาดัน แองโก-โอเร็ลเต็น” (The Mohammaden Anglo-Oriental College) จนกระทั่งวิทยาลัยดังกล่าวได้มีแนวความคิดในการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยอาลีกัรมุสลิม เป็นมหาลัยที่เก่าแก่ที่สุดและมีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศอินเดีย แรกเริ่มเดิมที่การก่อตั้งได้ใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยมูฮัมมาดัน อังกาโล โอเรนเต็ล” (Mohammadan Anglo-Oriental college) ปรับฐานะเป็นมหาวิทยาลัยและ “Aligarh Muslim University”( علی گڑھ مسلم یونیورسٹی)ตั้งแต่ปี ๑๙๒๐ เป็นต้นมา

มหาวิทยาลัยหลอมรวมเพื่อนร่วมโลกในศาสนาฮินดู อิสลาม พุทธ คริสต์ ซิกห์ โดยมหาวิทยาลัยมีนักศึกษามาจากประเทศอาหรับ กลุ่มประเทศแถบแอฟริกา กลุ่มประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)กลุ่มประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออก(SAARC)และประเทศสมาชิกในเครือจักรภพ(Commonwealth countries) มหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตต่าง ๆ ประมาณ ๕ แห่งทั่วประเทศอินเดีย เช่น Genesis of the New Centres, Malappuram Centre (Kerala), Murshidabad Centre (West Bengal), Kishanganj Centre (Bihar), Aurangabad Centre (Maharashtra) เปิดสอนกว่า ๓๒๕ สาขาวิชาและเปิดรับนักศึกษาทุกศาสนา ทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิว ทุกเพศและทุวัย ไม่ต่างจากเพื่อนอิหร่านของผมที่มาสมัครเรียนปริญญาโทสาขาภาษาอังกฤษที่อายุ ๖๒ ปี นักศึกษามากกว่า ๓ หมื่น คน อาจารย์ของมหาวิทยาลัยมากกว่า ๑,๔๐๐ คนและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยทั้งหมดมากกว่า ๖,๐๐๐ คน

 มีประมาณ ๑๒ คณะ(Faculties) รวม ๙๕ ภาควิชา (Departments), ๕ ศูนย์สถาบันศึกษา (Institution) เช่น Institute of Ophthalmology, Food Craft Institute, ๑๓ ศูนย์การเรียนรู้ (Centers) เช่น Centre of Advance Study in History, Centre of West Asian Studies, Centre for Distance Educationมีวิทยาลัยต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น The Zakir Hussain College of Engineering and Technology, Jawaharlal Nehru Medical College, Dr. Ziauddin Dental College, University Boys' Polytechnic, University Women's Polytechnic โรงเรียนมัธยมและโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีมากกว่า ๕ โรงเรียน เช่น Abdullah Girls High School, Abdullah Nursery School, A.B.K. Union High School (boys)and(girls), City High School (boys) and (girls), S.T.S. High School (Minto Circle) (boys จำนวน ๑๘ หอพักนักศึกษา (Halls of residence) บรรจุหอพักย่อย(Hostels)ทั้งหมดมากกว่า ๗๓ แห่ง  อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองของเขาเกี่ยวกับการศึกษาได้ใน Sayyid Ahmad , Stricture on the present state of English Education in India, London;n.p.,1869

[6] David Lelyveld , Aligarh first generation ; Muslim solidarity in British India, Oxford University Press,1996, P.167

[7] David Lelyveld , Aligarh first generation ; Muslim solidarity in British India, Oxford University Press,1996, P.150

[8] David Lelyveld , Aligarh first generation ; Muslim solidarity in British India, Oxford University Press,1996, P.151-152

[9] Syed Abul Hasan Ali Al-Nadwi , Muslims in India , Academy Islamic Research and Publications,1980.P. 97-98

[10] ('Allama al-insan ma lam y'alam) Taught man what he did not know (Qur'an 96:5)

[11] Sayyid Ahmad , Stricture on the present state of English Education in India, London;n.p.,1869 ,P.225