ขบวนการฯยังไม่พร้อมที่จะให้อภัยทักษิณ

เมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้นำเสนอแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจว่า การบริหารงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายใน (กอ.รมน.) เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น   ดูเหมือนว่าพล.ต.อ. อดุลย์คงพยายามที่จะหยั่งกระแสนี้ให้กับสังคมเพื่อดูว่าจะมีการตอบรับอย่างไรต่อข้อเสนอนี้โดยเฉพาะกระแสการเมือง ซึ่งสอดรับกับแหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งให้ข้อมูลว่าจะมีการโยกให้ศอ.บต.เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของ กอ.รมน. เพื่อแลกกับการให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้เดินหน้าเรื่องการพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้อย่างเต็มที่

ดูเหมือนว่าการขยับในครั้งนี้จะเป็นการเอาใจกองทัพครั้งใหญ่ของรัฐบาล ถ้ากองทัพได้รับอนุญาตให้คุมการบริหารงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วกองทัพจะไม่เข้ามาออกหน้ารับผิดชอบกับกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินการโดยรัฐบาลพลเรือนถ้ามันล้มแหลว

เห็นได้ชัดว่าความพยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ (ศปก.จชต.) ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ยุทธศักดิ์  ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงจะเป็นเพียงเรื่องเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น  

พล.อ.ยุทธศักดิ์ได้ประกาศว่ารัฐบาลจะเริ่มกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแต่ก็ย้ำว่าการพูดคุยนั้นจะต้องไม่ใช่การเจรจา   ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่พล.อ. ยุทธศักดิ์อาจจะลืมไปก็คือ กระบวนการพูดคุยหรือความพยายามที่จะพูดคุยกับกลุ่มต่อต้านรัฐนั้นเป็นสิ่งที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลในสมัยนั้น

ความพยายามดังกล่าวได้หยุดไปในช่วงทศวรรษ 1990 หลังจากการล่มสลายของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนรุ่นเก่า  การพูดคุยได้กลับมาเริ่มต้นอีกครั้งในปี 2005 ในช่วงรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร แต่ว่ารูปแบบนั้นแตกต่างอย่างมากกับการพูดคุยในอดีต  พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่พล.อ.ยุทธศักดิ์พูดไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการตอกย้ำความลับที่มีคนรับรู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการพูดกันในที่สาธารณะเท่านั้น

ในอดีตกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มติดอาวุธนั้นถูกผูกขาดโดยทางกองทัพแต่เพียงผู้เดียว กระบวนการพูดคุยเกิดขึ้นในหลายๆเมืองของประเทศในแถบอาหรับ แต่ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2549 รัฐบาลชั่วคราวซึ่งนำโดยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ให้ฝ่ายพลเรือนเข้ามามีบทบาทมากชึ้นในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2547

พล.อ. สุรยุทธ์ได้มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติตั้งกลุ่มที่ปิดลับเพื่อทำงานในเรื่องนี้โดยการสนับสนุนขององค์กรเอกชนระหว่างประเทศ   สมช. ประสบความสำเร็จในการริเริ่ม “กระบวนการเจนีวา” (Geneva Process) ซึ่งเป็นการพูดคุยกับหนึ่งในหลายมุ้งของกลุ่มพูโลซึ่งนำโดยนายคัสตูรี  มะกอตา (Kasturi Mahkota)     ในขณะที่มีมุ้งอื่นๆ ที่ผู้นำประกาศตัวว่าเป็น “ประธานพูโล” ด้วยเช่นกัน เช่น นายนอร์  อับดุลเราะห์มาน (Noor Abdulrahman)  และนายซัมซูดิน คาน (Samsudine Khan) กระบวนการเจนีวาไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่เพราะว่าไม่สามารถที่จะนำเอากลุ่มที่เคลื่อนไหวมานานเข้ามาร่วมพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลได้

มีคนหลายคนซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศที่อ้างตัวว่าเป็นสมาชิกของ Barisan Revolusi Nasional-Coordinate (BRN-C)  ซึ่งก็คล้ายๆ กับกลุ่มพูโล  ทุกคนดูเหมือนอยากจะใช้ชื่อองค์กรที่ตนเองเคยเป็นสมาชิกเมื่อสามสิบปีก่อนมาเพื่อทำให้ตนเองมีบทบาทขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  คำถามก็คือคนที่อ้างตนเป็นสมาชิกหรือหัวหน้าของกลุ่มนี้กลุ่มนั้นมีความสามารถขนาดไหนในการควบคุมกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ยูแว (juwae)

กระบวนการเจนีวาได้หยุดชะงักเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเข้ามาสู่อำนาจและเลือกที่จะให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. เป็นผู้ที่ดำเนินการในเรื่องนี้แทน   ทวีเป็นคนที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพรรคเพื่อไทย  คนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือนายทักษิณซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริงนั่นเอง  ทักษิณไม่เห็นด้วยกับการตั้งศอ.บต.มาตั้งแต่ต้นแล้ว   เขายุบหน่วยงานนี้ในปี 2545 เพราะว่าเขาคิดว่ากลุ่มวาดะห์(Wadah)น่าจะมีความสามารถในการดูแลกลุ่มคนมลายูมุสลิมในภาคใต้ได้  

กลุ่มวาดะห์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างราบคาบหลังเหตุการณ์ฆ่าหมู่กรณีตากใบในเดือนตุลาคม 2547  กลุ่มของทักษิณและนักการเมืองในสังกัดของเขาไม่สามารถที่จะฟื้นความนิยมในพื้นที่ขึ้นมาได้อีก  เมื่อยิ่งลักษณ์ น้องสาวของเขาก้าวเข้ามาสู่อำนาจเมื่อปีก่อน ทักษิณคิดว่าจะยุบศอ.บต.อีกครั้งหนึ่ง   แต่ว่าการยุบศอ.บต.อีกครั้งนั้นเป็นเรื่องยากเพราะมี พรบ. ศอ.บต.ซึ่งออกในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลคำ้คออยู่  ฉะนั้นการยุบหน่วยงานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย  ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงตัดสินใจส่งทวีไปนั่งเป็นเลขาธิการศอ.บต. แทน

นอกจากเป็นเลขาธิการแล้ว ทวียังได้รับมอบหมายงานที่สำคัญงานหนึ่งคือการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการ  ซึ่งการเตรียมการนี้ได้นำไปสู่การพบกันของนายทักษิณกับกลุ่มขบวนการในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา   รัฐบาลมาเลเซียได้มอบหมายให้ตำรวจสันติบาลเป็นผู้ประสานงานติดต่อให้เกิดการประชุมนี้ขึ้นระหว่างทักษิณและกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนซึ่งก็คือกลุ่มเดียวกันกับคนที่ได้พบกับทหารไทยเมื่อสามสิบปีก่อนในประเทศแถบตะวันออกกลางประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทวีอ่านไม่ขาดคือ ในฝ่ายขบวนการนั้นมีช่องว่างของวัยและความเชื่อถือระหว่างกันของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่  กลุ่มคน “รุ่นเก่า” เหล่านี้ไม่อาจที่จะควบคุมกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนรุ่นใหม่ (ยูแว-juwae) ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ได้  ซึ่งแปลว่าความพยายามของทวีที่ผ่านมานั้นไม่ประสบผลสำเร็จ

นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ในขณะที่นายทวีได้ผลักดันการดำเนินการพูดคุยกับรุ่นเก่าอย่างเต็มที่นั้น  ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนรุ่นใหม่หรือยูแว (juwae) เองก็ได้โต้กลับโดยการก่อเหตุให้มีความรุนแรงมากขึ้น โดยความรุนแรงนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความกลัวให้กับคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อทางด้านการเมืองของประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องรีบทำการปรับโครงสร้างด้านหน่วยความมั่นคง ตัวอย่างจากความรุนแรงที่ผ่านมาได้แก่ เหตุการณ์คาร์บอมบ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ยะลาและหาดใหญ่   ปฏิบัติการ “มายอ” ซึ่งเป็นการก่อเหตุหน้ากล้องวงจรปิด  การวางระเบิดคาร์บอมบ์โรงแรมซีเอสปัตตานี รวมไปถึงมหกรรมการปักธงชาติมาเลเซียเพื่อล้อเลียนการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและการโจมตีฐานทหารหลายๆ ครั้งในหลายปีที่ผ่านมา

ทวีคิดว่าการแจกเงินเยียวยาให้กับเหยื่อของความรุนแรงและโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ศอ.บต.ดำเนินการอยู่จะช่วยส่งสัญญาณแห่งความปรารถนาดีจากเขาไปสู่พี่น้องประชาชนเพื่อที่จะส่งต่อความรู้สึกในเชิงบวกในการพูดคุยกับขบวนการ   แต่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่หยั่งรากลึกมานานระหว่างรัฐกับคนมลายูมุสลิมยังคงไม่เปลี่ยนแปลงและขบวนการไม่เคยให้อภัยทวี  และรวมถึงสิ่งทักษิณทำมาในอดีต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทวีถูกส่งลงมาไล่ล่าผู้ก่อความไม่สงบหลังเหตุการณ์ปล้นปืน in 2004 นายคัสตูรี แกนนำมุ้งหนึ่งในกลุ่มพูโลกล่าวว่าการพุ่งสูงขึ้นของความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าคนมลายูมุสลิมยังไม่เคยลืมหรือให้อภัยรัฐโดยเฉพาะเหตุการณ์ตากใบซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนในปี 2547

สารจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ก็คือความปรารถนาดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ    แต่รัฐบาลจะต้องมีความตั้งใจจริงอย่างต่อเนื่อง   และรัฐบาลจะต้องชี้แจงว่าพร้อมที่จะให้อะไรกับฝ่ายขบวนการบ้าง หากเป็นเช่นนั้น กลุ่มคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันก็อาจจะพร้อมที่จะขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพเพื่อสร้างสันติภาพ  ผู้ปฏิบัติการคนหนึ่งของ BRN-C กล่าว

สำหรับในตอนนี้  ความรู้สึกไม่ดีของกลุ่ม BRN-C และพวกยูแวต่อทักษิณยังคงมีอยู่  แต่สมาชิกบางคนของ BRN-C มองว่าความรู้สึกนี้สามารถที่จะเปลี่ยนได้และพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธที่จะพูดคุยกับรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง  แต่มันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลไทยพร้อมที่จะเสนออะไรบนโต๊ะเจรจา

แต่มีปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราลืมไม่ได้เลยคือปฏิกิริยาของทหาร ถ้าทหารปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับข้อตกลงที่รัฐบาลพลเรือนไปทำไว้กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สันติภาพคงเป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าเราจะเอื้อมไปถึง

Note: For more reading on the conflict in southern Thailand, please visit: http://seasiaconflict.com/