“ราก” และ “เหง้า” แห่งจิตวิญญาณ (1)

 

อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

“ในสายตาเพื่อนร่วมโลก เราต่างไม่ใช่ทั้งมุสลิมหรือฮินดู แต่เราคือ อินเดีย                                                                                             

สำนึกแห่งเรา มันคือ ตัวตนแห่งความเป็นชาติ นั่นก็คือ ฮินดู มุสลิม คริสต์ พุทธ                                                                                           

เราทั้งหลายล้วนทิ้งรกและฝังรากที่นี่ เพราะที่นี่คือ ประเทศของเรา                                                                                                          

เมื่อเราต่างเชื่อแบบนี้ สิ่งเดียวจะเกิดขึ้นต่อสาธารณะ                                                                                                                        

นั่นก็คือ การหยิบยื่นความดีให้แก่กัน” 

 

ผมมักขับรถเวสป้าผ่านประตูแดงของมหาวิทยาลัยเสมอ ๆ ประตูที่มักสลักทุกอย่างแห่งอดีตให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้จดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นี่ “ประตูเซอร์ซัยยิด” (Sir Syid Bab) สลักเป็นรูปโดมมัสยิดด้วยก้อนหินสีแดงปกคลุมด้วยลวดลายต่าง ๆ บ่งบอกถึงความเป็นสถาปัตยกรรมแบบอินเดีย

รถจักรยานของศาสตราจารย์ภาควิชาวรรณกรรมภาษาอาหรับกำลังปั่นผ่านไปข้างหน้าผม  สายตาหันมายิ้มและกล่าวทักทายผ่านชุดเชิ้ตวานี[2] (Shirt Wani) และสวมหมวกสีขาวไม่ต่างจากชุด รถวิ่งผ่านต้นไม้ใหญ่สองข้างทางไปไม่นาน รถของอาจารย์เริ่มชะลอความเร็วด้วยเหตุผลโซ่รถจักรยานหลุด ผมหยุดรถพร้อมส่งสัญญาณบางอย่างเพื่อให้การช่วยเหลือ อาจารย์ยิ้มแล้วหันกลับมาพร้อมรอยมืดที่ดำขลับผ่านน้ำมันสีหม่นของโซ่รถ

รอยยิ้มของอาจารย์ขณะมือเปื้อนรอยคราบน้ำมันสีดำ ทำให้ผมยิ้มและมีความสุขที่เห็นคนอย่างศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยใช้ชีวิตและดำเนินวิถีแบบนี้ มันเป็นห้วงยามที่สะท้อนออกมาให้ผมเห็นถึงโลกอีกแบบที่เรามักหลงลืม “ภาพหัวกลับ”สะท้อนออกมาอีกมุมเพื่อเตือนผมและคนรอบข้างให้ละทิ้งเรื่องราวที่ไร้สาระบางอย่างบนโลกอันจอมปลอม

ชีวิตหรูหราของเพื่อนร่วมโลกกลับสะท้อนให้เห็นอย่างออกนอกหน้า ขณะชีวิตครูผู้สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่หมกเราไปด้วยจิตวิญญาณพยายามหาทุกวิถีทางเพื่อหลีกหนีสิ่งเหล่านั้น จักรยานและมืดเปื้อนคราบน้ำมันคือ พยานอย่างดีที่พะยุงผมและเตือนเสาเข็มแห่งช่วงวัยของผมได้เป็นอย่างดี

ภาพของเพื่อนรุ่นน้องชื่อ เชากัต อาลี เด็กนักศึกษาปริญญาตรี เอกวิทยาศาสตร์เคมี ยังปรากฏออกมาให้เห็นเป็นระยะ ๆ เราเคยพบกันครั้งแรกที่มัสยิดย่านฝั่งชุมชนเฟรนส์โคโลนีแถบเซอร์ซัยยิดนากัร ช่วงนั้นละหมาดวันศุกร์ ผมเดินออกจากมัสยิดมาเจอกับเขา เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลายอย่าง เขากำลังจะออกจากมัสยิดเพื่อกลับไปยังอัฟตาฟฮอลล์ (Aftab Hall) หอพักนักศึกษาในมหาวิทยาลัย  ช่วงจังหวะที่เราเอ๋ยลาจากกัน เขาก้มลงหยิบรองเท้าของเขาที่ชั้นวางรองเท้า ผมจึงรู้ว่า เขาได้รับเท้าซึ่งเป็นของกำนัลจากพระเจ้าตั้งแต่วันเขาคลอดออกจากท้องแม่มาเพียงข้างเดียว แถมขาอีกข้างที่ติดเรือนร่างของเขามาตั้งแต่กำเนิดนั้นก็ไม่เข้ารูปเข้ารอยเหมือนคนปกติ

ไม้เท้าขนาบร่างอันสันทัดของเขา มืออีกข้างหนึ่งของเขาถือไม้เท้าเพื่อค้ำยันให้ร่างกายได้ทรงตัว ขาอีกข้างใช้แรงกว่าคนปกติเพื่อรองรับน้ำหนักของร่างกาย เชากัต  อาลี ก้มหยิบรองเท้าด้วยมืออีกข้างที่เขาโน้มไม้เท้าและเท้าที่ค้ำยำร่างกายย่อลงต่ำ สายตาเพิ่งมองผ่านไม้เท้าที่กำลังเขี่ยรองเท้าขึ้นมา ผมหันไปมองเขาพลางเอ๋ยปากบอกว่า ผมช่วยหยิบให้เขาเอง 

เขาส่งยิ้มมาให้ผมแล้วบอกว่า “ผมมีความสุขดี ผมทำเรื่องแบบนี้มานาน จนมันเป็นเรื่องปกติของผม ผมมักช่วยเหลือตัวเองในสิ่งที่ผมทำได้ก่อนที่ผมจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเสมอ  ๆ” น้ำเสียงเชากัต อาลี บอกให้เรียนรู้บทเรียนบางอย่างที่คนปกติอย่างผมไม่สามารถคิดมันออกมาได้

เขาเดินทางกลับหอพักโดยระยะทางมากกว่า ๓ กิโลเมตร ปริศนาสุดท้ายที่เขาทิ้งไว้นั่นก็คือ น้ำเสียงเขาเต็มไปด้วยด้วยรอยยิ้มและจิตวิญญาณ จะว่าไปแล้ว ภาพแห่งความเป็นสมัยเก่าและความล้าหลังทั้งเนื้อหนัง เรือนร่างและรูปแบบการใช้ชีวิต ยังนำเสนออกมาให้เห็นอย่างหนาตา แต่อย่างหนึ่งที่คนแถบนี้ไม่เคยล้าหลัง นั่นก็คือ ระบบการคิด วิถีแห่งชีวิตที่บอกได้ลึกถึงการฝังเสาเข็มของพวกเขาตั้งแต่วัยเยาว์

อาจจะเกี่ยวกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นก็คือ เมืองแห่งการเรียนการสอน ทุกคนมีความใฝ่รู้ด้วยการอ่านและหน้าที่การงาน โดยพื้นที่คนส่วนมากมักได้รับการหล่อหลอมอย่างดีผ่านการคลุกตัวเองในสถาบันการศึกษา การปรุงแต่งจิตวิญญาณของพวกเขาจึงเป็นไปอย่างน่าติดตาม

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเกือบทุกครั้งผมต้องวิ่งรถผ่านต้นไม้ใหญ่และผมมักได้รับลมแห่งกลิ่นอายที่คลุ้งไปด้วยจิตวิญญาณและการต่อสู้ สายลมสำนึกแห่งการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมโลก รอยกลิ่นชนชั้นและการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดภาพจิตกรรมเหล่านั้นยังคงล่องลอยไปในอาณาบริเวณแห่งนี้ ห้องหับและตึกรามยังโผล่วิญญาณขบถออกมา

“รอยลมแห่งการขบถและวิถีปลดแอกยังคงแสดงออกมาให้เห็น แม้ห้วงเวลาเหล่านี้จะผ่านไปมากกว่าร้อยกว่าปี มหาวิทยาลัยกลายเป็นหนึ่งในผลงานแห่งจิตกรรมทีมุสลิมชาวอินเดียไม่เคยลืม มันผลพวงแห่งปัญญาและผลผลิตแห่งการต่อสู้ทางอาวุธที่เฉียบคมแบบสมัยใหม่และทรงพลังกว่ากระบอกปืน”

เพื่อนรุ่นพี่และสหายร่วมรุ่นหลายคนมักสะท้อนให้ผมฟังเมื่อเราเริ่มแลกเปลี่ยนเรื่องนี้

มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ “ยุคสมัยแห่งการนองเลือด”ได้ผ่านพ้นไป “ตราบาป” แบบนี้มักฝังรกรากไว้ทุกหัวระแหงและ “รอยแห้งกรังของหยดเลือด” ไว้ทั่วอาณาบริเวณ ยิ่งประเทศอินเดียด้วยแล้ว ทั้งหมดล้วน “เหม็นคาว”ด้วยหยดเลือดการต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของชาวอินเดียกับมหาอำนาจตะวันตกอย่างอังกฤษ หรือ โปรตุเกต 

กว่านั้น “รอยเหม็นฉุน” ยังฝาดเกลื่อนเมือง เมื่อภาพแห่งอดีตมันได้กลบเรือนร่างบนผนังห้อง อิฐสีแดง และถนนหนทาง ที่แย่ไปกว่านั้น มันฝังไว้ใน “เรือนร่างของเด็กน้อยและวิถีของพวกเขา” แต่ก็อีกนั่นแหละ หลายสิ่งที่อินเดียได้พัฒนาและก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเพราะการเป็นเมืองขึ้นของประเทศอาณานิคมอย่างอังกฤษนั่นเอง

ก็แน่ละ เมื่อการตกเป็นคนชั้นสอง “การถีบตัว” คือทางรอดเดียวที่มนุษย์ร่วมโลกจะอยู่ได้เพื่อค้นหาชะตากรรม

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ผลผลิตอย่างหนึ่งในห้วงยามนี้ ไม่มีทางออกอื่นนอกจาก “วิถีแห่งการอยู่รอด” หนึ่งในปรากฏการเหล่านั้นก็คือ “การติดอาวุธทางด้านจิตวิญญาณ” ให้กับผู้คนนั่นเอง

หากจะรื้อประวัติศาสตร์มานำเสนอผ่านห้วงยามแห่งการถูกยึดครอง นั่นก็คือ “ห้องหีบแห่งการสูญเสียให้กับอาณานิคม” ที่โหดร้ายไปกว่านั้นคือ “กลุ่มชาติพันธุ์” ได้จับอาวุธมาต่อสู้กันเอง ชาวมุสลิมได้ก่อการทำลายชาวฮินดู ไม่ต่างจากชาวฮินดูได้ลุกฮือเผาบ้านเรือนของชาวมุสลิม ชาวพุทธถูกมองเป็นชนชั้นอื่น ชาวคริสต์เป็นชนกลุ่มน้อยไม่สามารถได้รับการคุ้มครอง ชาวซิกห์เพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นของประเทศก็ต้องหลบหนีจากการถูกตามล่าของชาวมุสลิมและชาวฮินดู เพราะมันคือ “วิบากกรรมแห่งความชัง” การหลบหนีเพื่อความอยู่รอดผ่านการสูญเสียและสังเวย

หากรวมปี ๑๙๔๗ กับการแบ่งแยกประเทศในห้วงยามนั้นด้วยแล้ว อินเดีย คือ “สมรภูมิเลือด” อย่างแท้จริง

 ไม่ต่างที่ทัศนะของ Rajmohan Gandhi นักวิชาการจากสำนักศูนย์นโยบายศึกษาแห่งกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือ The Revenge And Reconciliation Understanding South Asian History ว่า

“ณ จุดหนึ่งของความขัดแย้ง คนต่างศาสนาที่เราเคยพบปะพูดคุยหรือติดต่อค้าขายกัน จะลุกขึ้นมาเข่นฆ่าทำร้ายเรา สยดสยองเมื่อเห็นคนเรือนแสนลุกขึ้นมาฆ่าฟันกัน ดูเหมือนว่า ความปรารถนาดี ความสำนึกผิด การยอมรับและการศรัทธา ทำงานช้ากว่าความจงเกลียดจงชัง ความเคียดแค้นและความรุนแรง” 

ปัญหาดังกล่าวที่ได้รับการกดทับผ่านประวัติการเมืองที่บอบช้ำและน่าสะพรึงกลัว ทางออกไม่ได้มีมิติที่ก้าวกระโดดไปกว่า “การฆ่าฟันกัน” ผ่านหัวใจถูกปลูกให้มี “ความรู้สึกเป็นอื่น”

กระทั่ง ประเทศอินเดียได้รดราดด้วยหยดเลือดมามากกว่า ๑,๐๐๐ ปี  ส่วนหนึ่งของการโปรยความชังได้เด่นชัดในยุคสมัยที่ประเทศกลายเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจจากตะวันตก การเติบโตของแนวความคิดเมืองแห่งอาณานิคม ไม่ใช่เพียงเข้ามาปกครองและปกคลุมการค้า เศรษฐกิจและการเมือง ทว่า “วิถีแห่งตะวันตกเดินเบียดเสียดเข้ามาชนกับวัฒนธรรมเดิมของอินเดียอย่างแรง”

ผู้คนเกิดความโกลาหล แย่งชิงเพื่อความอยู่รอด ภาพหนึ่งที่เห็นได้ชัดนั่นก็คือ วิถีมุสลิมได้ถูกคุกคามผ่านขนบ อัตลักษณ์และความเป็นศาสนิก กระทั่งวุ่นวาย จนการหาทางรอดกลายเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว

ไม่มีทางรอดอื่นสำหรับสังคมในห้วงเวลานั้น นอกเหนือจาก “การติดอาวุธและยกกองกำลังขึ้นมาต่อสู้” กระนั้น หนทางดังกล่าวก็พรากชีวิต ทรัพย์สินและความเป็นเพื่อนร่วมโลกไปมากต่อมาก ทางออกสุดท้ายที่เด่นชัดและเฉียบคมที่สุดนั่นก็คือ “ทางที่ไม่ต้องแลกด้วยหยดเลือดและการฆ่าฟัน”

“อินเดียคือแผ่นดินแม่ของเราทั้งฮินดูและมุสลิม เราคือผู้ที่หายใจโดยใช้อากาศเหมือนกัน  ผู้ที่ดื่มน้ำจากแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์เหมือนกันคือ ยามูนา   และผู้ที่บริโภคสินค้าจากผืนแผ่นดินเดียวกัน”

สงครามแห่งการต่อสู้เพื่อเป็นอิสรภาพจึงได้เกิดขึ้นผ่านกองทัพประชาชน จนผู้คนทั้งประเทศไม่เคยมีใครลืม “การปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในปี ๑๘๕๗ของประชาชนทั่วไป” ในประเทศอินเดีย ด้วยเหตุและผลไม่กี่ประการ [3]  เช่น

ประการที่แรก กษัตริย์และอำนาจเก่าเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย ณ ช่วงเวลานั้นให้การสนับสนุนประชาชนและทหารในการปฏิวัติ  เพราะบรรดากลุ่มทุนเก่าที่เคยควบคุมอังกฤษได้รวบรวมนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการผสมกลมกลืนทางด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรมที่ใช้โดยอังกฤษ ทั้งหมดเหล่านี้ส่งผลมาจากระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศาสนาและการบริหารการจัดการของประเทศอาณานิคม

ประการที่สอง  ปัจจัยทางการเมืองผ่านนโยบาย Doctrine of lapse” ที่ออกโดยลอร์ด ดาโฮซี (Lord Dalhousie)ตั้งแต่ปี ๑๘๔๘ ตลอดการใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางชาติพันธุ์ (Assimilations) และวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานะของการปกครองของรัฐบาลอังกฤษที่ใช้ควบคุมคนอินเดีย นโยบายดังกล่าวใช้บังคับและควบคุมโดยขุนนาง จนกระทั่งการโฆษณาชวนเชื่อทางด้านกฏหมายดังกล่าว ส่งผลต่อ กษัตริย์อินเดีย ผู้ถือกฎหมาย และเด็ก ๆ แต่ทั้งหมดเหล่านี้ก็ต้องยอมรับการดำรงอยู่ของกฎหมายดังกล่าว ภายใต้บริษัทของประเทศอังกฤษในอินเดีย

ประการที่สาม กฏหมายของอังกฤษ ก็ไม่ได้ให้เกียรติแก่คนอินเดียเท่าที่ควรโดยเฉพาะคนงานอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือคนประกอบอาชีพทั่วไป โดยพวกเขาเหล่านั้นถูกไล่ออกจากการบริการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ประการที่สี่ การรุกคืบของศาสนาคริสต์ในประเทศอินเดียตั้งแต่ ปี ๑๘๑๓   ทางด้านกฎหมายก็เปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้การยอมรับมิชชันนารีของคริสเตียนเข้ามาเผยแพร่ศาสนา  โดยเป้าหมายสูงสุดก็ไม่ใช่เพื่ออื่นใด นอกจาก การโฆษณาชวนเชื่อศาสนาคริสต์ให้กับคนทั่วไปในประเทศอินเดีย  แต่ชาวอินเดียก็ไม่ยอมรับ การประกาศศาสนาของคริสเตียน มีผลต่อชาวฮินดูและมุสลิมในประเทศนี้เป็นอย่างมาก เพราะอังกฤษต้องการที่จะล้มล้างและทำลายศาสนาเดิมของอินเดีย ทั้งอิสลามและฮินดู

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชวนเชื่อที่ว่า “หากใครรับศาสนาคริสก็สามารถที่จะเป็นอยู่อย่างมั่นคงและมีสถานภาพในสังคมที่เท่าเทียมกับคนอังกฤษ”  จนแล้วจนรอด อังกฤษก็ได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาในปี ๑๘๕๖  ว่าผู้คนไม่สามารถรับศาสนาเดิมของตัวเองได้  ทุกสิ่งโดนควบคุมโดยศาสนาคริสต์ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน   โรงพยาบาล จนกระทั่งนักโทษที่อยู่ในคุก ต้องโดนควบคุมเรื่องอาหารและโดนสังเกตแม้กระทั่งการปรุงอาหารและการกินอาหาร

ประการที่ห้า อังกฤษได้เขียนและร่างกฏหมายไว้หลายฉบับ เพื่อควบคุมสังคมอินเดีย  โดยเฉพาะองค์ประกอบพื้นฐานของสังคมอินเดีย  ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการรถไฟ  การติดต่อด้านไปรษณีย์   การติดต่อทางด้านวิทยุสื่อสาร การบริการดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่สมัยของ ลอร์ด ดาลโฮซี (Lord Dalhousie,๑๘๔๘ – ๑๘๕๖) โดยได้เพิ่มความทันสมัยและได้ใช้การเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างโครงสร้างทางด้านสังคมของอินเดียไปโดยปริยาย

สำหรับในเรื่องของสังคม อังกฤษพยายามที่จะใช้ความต่าง เชื้อชาติ ชาติพันธุ์และเงื่อนไขของอดีตเข้ามาเกี่ยวข้อง จนกระทั่งว่า พฤติกรรมทุกอย่างของอังกฤษที่ปรากฏออกมาไม่มีความเป็นมนุษยธรรมแฝงไว้เลยแม้แต่นิดเดียว  ห้ามคนอินเดียในการเดินทางโดยใช้บริการรถไฟชั้นหนึ่ง   คนอินเดียไม่สามารถนั่งร่วมกับคนอังกฤษได้ หรือแม้แต่กระทั่งเข้าร่วมในงานเทศกาลต่าง ๆ สโมสรและโรงแรมถูกควบคุมและเป็นเจ้าของโดยชาวยุโรป  และคนอินเดียก็ได้ถูกสั่งห้ามมิให้เป็นพ่อค้า  บางโรงแรมที่จัดตั้งขึ้นได้มี ป้ายเขียนเอาไว้ว่า

“สุนัขและคนอินเดีย ห้ามผ่าน”

(Dog and Indian are not allowed)

ศาลของรัฐบาลอังกฤษก็เช่นกัน  ไม่สามารถใช้หน้าที่ทางตำแหน่งอย่างบริสุทธิ์เพราะการไต่สวนเป็นไปอย่างอคติและเลือกปฏิบัติ 

ประการสุดท้าย สำหรับเรื่องของระบบเศรษฐกิจ ก็เป็นเช่นเดียวกันนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษสามารถควบคุมและดูแลอย่างทั่วถึงโดยพวกขุนนาง  ชนชั้นกลาง  เจ้าของที่ดิน  ผู้ประกอบการ  เจ้าของโรงงาน และพ่อค้า ทั้งหมดเหล่านี้ นำไปสู่หนทางที่วิบัติของระบบทั้งสิ้น คนจนกลับต้องจ่ายภาษีอย่างหนักให้กับบุคคลชนชั้นดังกล่าว

กระนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอำนาจบางอย่าง การต่อสู้ของผู้คนกับอำนาจเหล่านี้นั้นมันเริ่มสุกงอม การใช้กระปอกปืนมากราดยิงกันนั้นมันเริ่มเกิดความสะอิดสะเอียนของผู้คน เหตุผลอย่างหนึ่งคือ “การล้มหายตายจากของเพื่อนร่วมเมืองเป็นจำนวนมาก”

ผลผลิตเหล่านั้นเมื่อมัน “ตกผลึก” ทางเดียวในการอยู่ต่อ นั่นก็คือ “การสร้างอาวุธทางปัญญา” ที่เฉียบคมกว่าเดิม จริงอยู่ ว่าก่อนหน้านี้ มุสลิมและฮินดูได้มีการรวมตัวและเข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อสู้ บางครั้งก็ต้องต่อสู้กันเองแต่ช่วงหลังทุกคนเริ่มได้บทเรียนร่วมบางอย่าง ทางออกแห่งยุคสมัยนั่นก็คือ “การต่อสู้โดยไม่ต้องแลกด้วยเลือด”

เซอร์ ซัยยิด อะหมัด คาน (Sir Syed Ahmad Khan 1817 – 1898)[4] ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีกัรจึงหาทางออกความขัดแย้งดังกล่าวด้วยวิธีการที่ว่า

“หนทางการต่อสู้ด้วยการเข้าไปมุ่งเน้นการเมืองเป็นหลักและการใช้การเมืองมาปรับแก้สถานการณ์ความขัดแย้งนั้น นับเป็นมูลเหตุแห่งการพ่ายแพ้ที่ยั่งยืน กระทั่งการต่อสู้ในแบบเดิม ๆ นั่นหมายความว่า เราต้องเน้นกองกำลังและหยดเลือดมาต่อสู้กับมลทินเหล่านี้มากกว่าเดิม เพราะโดยมากการควบคุมและความอยากในอำนาจ นั้นก็คือการเส้นไหว้ด้วยหยดเลือด แต่ทางออกที่ยั่งยืนและสูงส่งกว่านั่นคือ การศึกษา”[5]

มุมมองใหม่ที่สังคมมุสลิมในอินเดียพยายามปรับและสร้าง นั่นก็คือ “การสร้างฐานและรากเหง้าภายใต้จิตสำนึกร่วมด้วยการศึกษา” จนทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีกัรยังฝังรากแห่งการต่อสู้ทุกหัวระแหงและรอยแห่งการปรับทัศนะคติใหม่ ๆ ให้กับชาวอินเดียที่ไม่ต้องลุกขึ้นหยิบปืนมาต่อสู้อำนาจรัฐเหมือนผู้คนในรุ่นปู่ ทว่า มันคือ “การหยิบปากกาผ่านอาวุธทางปัญญามาต่อสู้กัน”

โดยมากมิติแห่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ มันอยู่ที่ทัศนคติเดิมของคนและการคิดวิเคราะห์เป็นทุนเดิม แต่เมื่อสังคมต้องการสิ่งที่ดีกว่า ต้องใช้ “มุม”และ “แหวกขนบเดิม” ให้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพื่อก้าวให้พ้น “มายาคติและการห้ำหั่นแบบเดิม ๆ” เพื่อไม่ต้องเห็นคนล้มตายกัน “เหมือนเดิม”

หากกระบวนการใหม่ไม่ได้ถูกเฝ้ามองอย่างตั้งใจและหวังผล “หน่ออ่อน” ของสันติภาพก็มักจะโดนคลื่น “ลมมรสุมแห่งความโกรธ”และ “หยดเลือดแห่งความบ้าคลั่ง” ถอนรากถอนโคน

“เมื่อข้างในของมนุษย์อ่อนแอและตายด้าน วิธีการเยียวยาอย่างเดียวนั่นก็คือ บ่มเพาะและปลูกใหม่ระบบการศึกษาจากตำราและจริยะศาสตร์เป็นปุ๋ยอย่างดีในการเพาะพันธุ์และหน่อไม้เล็ก ๆ  เพราะ“การศึกษาที่แท้จริงจะไม่ทำให้จิตวิญญาณและสำนึกสาธารณะของผู้คนตายด้าน ที่มากไปกว่านั้นคือ โดยหลักการธรรมชาติของการศึกษาจะทำหน้าที่ซ่อมช่องโหว่แห่งจิตวิญญาณและปะชุนรอยแผลแห่งศีลธรรมให้กับผู้คน”

โปรดติดตาม...ตอนจบ ในครั้งต่อไป



[1] M.A. Political science (Islamic political philosophy), Aligarh Muslim University,India,2008-2010 เขียนเมื่อ ; 1-8-2012

[2] เป็นเสื้อสูตรในแบบยาวเหมือนเสื้อโต๊บอาหรับ ซึ่งเป็นชุดประจำชาติของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหนก็จะแต่งกายแบบนี้เหมือนกันหมด เสื้อชนิดนี้ใช้กันมากในประเทศแถบเอเชียใต้โดยเฉพาะอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ อัฟกานิสถาน มันเป็นชุดทางการของประเทศในการเข้าร่วมกิจกรรมใหญ่ ๆ เช่น การหาเสียง การแต่งกายเข้าทำเนียบรับบาล การสัมมนาวิชาการ หรือ การละหมาดของมุสลิม ชุดเชิ้ตวานีประกอบด้วยถุงเสื้อหน้าอก มีกระดุมตรงกลางตั้งแต่ต้นคอจนกระทั่งตาตุ่ม ตัดเย็บด้วยผ้าอย่างดี ราคาทั่วไปประมาณ ๑,๒๐๐-๓,๐๐๐ รูปีแล้วแต่ขนาดและเนื้อผ้า เสื้อเชิ้ตวานีคือ ชุดพิธีการของนักศึกษา (ยูนิฟอร์ม)และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีกัร

[3]Mahendra Jain,Indian National Movement  and Constitution Development , Pratiyogita Darpan  p.9

[4] ท่านเป็นหนึ่งในนักต่อสู้และนักเคลื่อนไหวที่ทรงอิทธิพลต่อโลกมุสลิมและประเทศอินเดีย  ท่านได้ถือกำเนิดในวันที่ ๑๗  ตุลาคม  ๑๘๑๗  และเสียชีวิตในวันที่  ๒๘  มีนาคม ๑๘๙๘  ท่านกำเนิดในครอบครัวที่มีเกียรติในการทำงานรับใช้ในศาลของโมกุล   ท่านได้รับการศึกษาจากบิดาของท่านเองที่บ้าน ท่านมีความรู้ภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซีย อีกทั้งยังรู้อย่างชำนาญในวิชาสาขาคณิตศาสตร์และแพทย์ศาสตร์  แต่ท่านไม่ได้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษา ทว่าท่านกลับอุทิศตนทั้งหมดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว  ว่ายน้ำ และ ทุกกิจกรรมที่เป็นบุรุษชน

หลังจากพี่ชายของท่านได้เสียชีวิต ท่านก็ได้เปลี่ยนที่อยู่อาศัย ในช่วงอายุประมาณ ๑๘ ปี  จนกระทั่งอายุท่าน ๒๒ ปี ท่านต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว เพราะซัยยิด มูฮัมหมัด มุตตากี (Syed Mohammad Muttaqi) พ่อของท่านได้เสียชีวิต  ท่านก็เลยได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทในศาลของโมกุลสมัยกษัตริย์อักบัรแทนพ่อของท่านได้อย่างง่ายดาย อ่านเพิ่มเติม ใน Vishnoo Bhagwan, Indian political thinker, atma ram and son,1999,p.87-98

[5]  Syed Abul Hasan Ali Al-Nadwi , Muslims in India , Academy Islamic Research and Publications,1980.P.114