การชุมนุม Bersih สู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสการเมืองโลกในเกิดปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ประเทศต่างๆ ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง โดยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น ได้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงจากแนวราบขึ้นไปสู่ แนวดิ่ง กล่าวคือ ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นมาจากการลุกฮือจากประชาชน และได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้นำวางมือจากอำนาจ และเปลี่ยนการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งโดยประชาชน และหลายประเทศได้มีผู้นำที่มาจากการรับรองจากเสียงส่วนใหญ่ภายในประเทศ
ในกรณีของมาเลเซียก็เช่นเดียวกัน ไม่สามารถหนีพ้นจากปัญหาการชุมนุมที่เกิดขึ้นของประชาชน จากจุดเริ่มต้นของ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเชื้อชาติ รวมถึงการเมืองที่ค่อนข้างไม่เป็นอิสรเสรี การควบคุมสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อมวลชน การจำกัดการเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน ได้ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวของแนวร่วมฝ่ายค้าน, องค์กรอิสระ, และประชาชนทั่วไป ที่ออกมาเรียกร้อง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า เดินประชาธิปไตย มีวัตถุประสงค์ให้ทางรัฐบาลปฏิรูปการเลือกตั้งให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น
1.บทนำ
มาเลเซีย 1 ในเพื่อนบ้านใกล้เคียงของประเทศไทย และกล่าวได้ว่ามาเลเซียมีลักษณะร่วมบางอย่างทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ที่มีส่วนเหมือนกับมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และในช่วงเวลาปี 2007-2012 การเมืองมาเลเซียมีความครุกรุ่น อันเนื่องมาจากความร้อนแรงทางการเมือง โดยที่ประชาชนจำนวนมากได้ให้ความสำคัญทางการเมือง และเริ่มท้าทายอำนาจของพรรคร่วมรัฐบาล หรือ แนวร่วมแห่งชาติ (Barisan National) ที่ครองอำนาจในการบริหารประเทศมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1957 การเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาของมาเลเซีย ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมมาเลเซีย
เดิมทีการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในมาเลเซียนั้น เป็นไปอย่างค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กระแสการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนชาวมาเลเซียเริ่มที่จะปรากฏอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้นทั้งในรูปแบบของการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออก “ความไม่เห็นด้วย” กับนโยบายและการบริหารงานของรัฐบาลผ่านการลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2008 ที่ผ่านมา
การเมืองมาเลเซียยุคแห่งการชำระ และการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในปี 2007-8
ในช่วงระหว่างปลายปี 2007 ต่อเนื่องไปถึง 2008 ได้มีการเกิดขึ้นของการประท้วงโดยมีการใช้ชื่อว่า Bersih ซึ่งตามความหมายแล้วมีความหมายว่า สะอาด อย่างไรก็ตาม Bersih ในบริบทนี้หมายถึง ความสะอาดและความยุติธรรมในการเลือกตั้ง สำหรับข้อเรียกร้องของการชุมนุมครั้งแรก มีดังต่อไปนี้
1. จัดการทำบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งขึ้นใหม่ เพื่อป้องกันการผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผี
2. ปฏิรูปการลงคะแนนทางไปรษณีย์อย่างโปร่งใส เพื่อให้คนที่ไม่สามารถมาลงคะแนนด้วยตัวเองในวันเลือกตั้ง มีช่องทางในการลงคะแนนเสียง
3. ให้ใช้หมึกที่ลบไม่ออกในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
4. ให้อิสรเสรีภาพและความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารในทุกฝ่าย
การเลือกตั้งปี 2008 ผลสะท้อนต่อการเรียกร้องความยุติธรรมภายในประเทศ
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของมาเลเซียเมื่อปี ค.ศ. 2008 ได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ อับดุลเลาะห์ อะหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศยุบสภาในวันที่ 13 ก.พ. 2008 และได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งวันที่ 8 มี.ค.2008 นี้นั้นจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Parliament) ทั่วประเทศเป็นจำนวน 222 ที่นั่ง และเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ (State Assemblies) ใน 12 รัฐ (ยกเว้นรัฐซาราวักที่ได้เลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐไปแล้วในปี ค.ศ. 2006) เป็นจำนวน 505 ที่นั่ง ซึ่งโดยปกติแล้วตามรัฐธรรมนูญของมาเลเซีย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ จะมีวาระเป็นเวลา 5 ปี
ก่อนหน้านี้ในสภาผู้แทนมาเลเซียมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 219 ที่นั่ง ทางพรรคร่วมรัฐบาลหรือ แนวร่วมแห่งชาติ (Barisan Nasional) ได้ที่นั่งในสภาทั้งสิ้น 198 โดยที่ พรรค UMNO (United Malays National Organization) แกนนำรัฐบาลมีที่นั่งเป็นจำนวน 109 ที่นั่ง ถือว่าเป็นเสียงที่เกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร โดยที่พรรคฝ่ายค้าน มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 20 ที่นั่งแบ่งเป็นพรรค Democratic Action Party (DAP) 12 ที่นั่ง พรรค PAS 6 ที่นั่ง (อีก 1 ที่นั่งเป็นของผู้สมัครอิสระ)
ในการเลือกตั้งของปี ค.ศ. 2008 ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อการเมืองมาเลเซีย เนื่องด้วยการเลือกตั้งในครั้งนี้ พรรคฝ่ายค้าน หรือ แนวร่วมทางเลือกได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบของสภาผู้แทนราษฎรและสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ Barisan National และ Barisan Alternatif (แนวร่วมทางเลือก) ซึ่ง Barisan National ประกอบด้วยพรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่พรรค UMNO (United Malays National Organization) พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย (Malaysian Chinese Association-MCA) , พรรคสภาอินเดียมาเลเซีย (Malaysian Indian Congress - MIC) , พรรคเอกภาพภูมิบุตรอนุรักษนิยม (Parti Pesaka Bumiputera Bersatu - PPBB) , พรรคแห่งชาติซาราวัก (Sarawak National Party- SNP) พรรคเอกภาพประชาชนซาราวัก พรรคซาบาห์ก้าวหน้า และพรรคเสรีประชาธิปไตย
ทางด้านพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ แนวร่วมทางเลือก มีพรรคการเมืองประกอบด้วย พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Islam Se-Malaysia) พรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party-DAP) พรรคยุติธรรม (Parti Keadidan Rakyat) เป็นต้น
ภาพรวมของผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 222 ที่นั่ง มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งสิ้น 7,942,803 คน โดย Barisan National ได้ที่นั่งทั้งสิ้น 140 ที่นั่ง ได้รับเสียงจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น 4,081,115 เสียง ทางแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งทั้งสิ้น 82 ที่นั่ง มีคะแนนเสียง 3,796,289 เสียง และพรรคอิสระได้รับคะแนนเสียง 65,399 เสียง แต่ไม่มีผู้ได้รับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ในครั้งนี้จะเห็นได้ว่า คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมด คะแนนเสียงอันดับ 1 เป็นของ UMNO อยู่ที่ 2,381,725 เสียง อย่างไรก็ตามลำดับถัดมาคือ 2,3,4 กลับเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ แนวร่วมทางเลือกโดยมีคะแนนดังต่อไปนี้ พรรค PKR ได้คะแนนเสียง 1,509,080 เสียง พรรค PAS ได้ 1,140,676 เสียง พรรค DAP ได้ 1,118,025 เสียงสำหรับการเลือกตั้ง
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยประมาณ 6,988,002 เสียง โดย Barisan National ได้รับที่นั่งในสภาทั้งสิ้น 307 ที่นั่ง พรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียง 3,320,234 เสียง ได้รับที่นั่งในสภาทั้งสิ้น 196 ที่นั่ง และพรรคอิสระได้คะแนนเสียง 61,238 เสียง ได้ที่นั่ง 2 ที่นั่ง
การเคลื่อนไหวครั้งที่ 2
ในวันที่ 9 ก.ค. 2011 ได้มีการจัดชุมนุม Bersih 2.0 ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำความต้องการเดิม ที่ได้เรียกร้องมาตั้งแต่ครั้งแรก และมีการเพิ่มเติม โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม Bersih 2.0 ได้แก่
1. จัดการทำบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งขึ้นใหม่ เพื่อป้องกันการผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผี
2. ปฏิรูปการลงคะแนนทางไปรษณีย์อย่างโปร่งใส เพื่อให้คนที่ไม่สามารถมาลงคะแนนด้วยตัวเองในวันเลือกตั้ง มีช่องทางในการลงคะแนนเสียง
3. ให้ใช้หมึกที่ลบไม่ออกในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
4. กำหนดระยะเวลาให้ผู้ลงสมัครหาเสียงอย่างน้อย 21 วัน เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังนโยบายและพิจารณาถี่ถ้วนว่าจะลงคะแนนเสียงให้ใคร จากพรรคใด
5. กำหนดให้สื่อมวลชนทุกแขนงรายงานการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา และเสนอข่าวให้ทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน
6. ให้สถาบันสาธารณะ เช่น ตุลาการ อัยการ หน่วยงานต่อต้านการคอร์รัปชันของมาเลเซีย ตำรวจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง คงความอิสระและเป็นกลางในช่วงการเลือกตั้ง
7. ยุติการคอร์รัปชัน
8. ยุติการเล่นการเมืองแบบสกปรก
ทางออกของรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อการผ่อนปรนความตึงเครียดที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ทางรัฐบาลได้ใช้รัฐสภาในการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้งหลายฉบับ เพื่อนำพาการเลือกตั้งในครั้งที่ 13 ให้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของประชาชนที่ชุมนุมมองว่า การพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้งนั้น ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหา และยังคงเป็นทางฝ่ายรัฐบาลที่ยังได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้
การเคลื่อนไหวครั้งที่ 3
การเคลื่อนไหวออกมาชุมนุมในทั้งสองครั้ง ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ทางผู้ชุมนุมได้วางไว้ ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจึงประกาศรวมตัวกันเพื่อชุมนุม Bersih 3.0 ต่อไป ซึ่งได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2012 และมีการเรียกร้องข้อเสนอต่อทางรัฐบาลอีก 3 ข้อด้วยกันคือ
1. ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งลาออก เนื่องจากเป็นองค์กรที่ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน
2. ให้ปฏิรูปการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ซึ่งจะมีขึ้นภายในปี 2013
3. ให้เชิญผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติเข้ามาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งที่ 13
บทสรุป
ในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย ตั้งแต่การได้รับเอกราชเป็นต้นมา การเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องที่ไกลตัวของประชาชน ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากพื้นฐานความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียมระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ อย่างไรก็ดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การทำงานของรัฐบาลถูกตั้งคำถามจากประชาชนมากขึ้น กระทั่งได้นำไปสู่ปรากฏการณ์การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่จากประชาชนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซีย
ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนจำนวนมาก จากเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดอาจนำพามาเลเซียไปสู่ทิศทางที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ท้ายที่สุดแล้วการเลือกตั้งในสมัยหน้าจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองมาเลเซียได้ในที่สุด