ความต่างบนความสูง ๓,๕๒๐ เมตร
ทันทีที่รถเทียบท่าสถานีขนส่งเมืองเละ (Leh) เมืองหลวงของลัดดาก (Ladakh) สถานที่แรกที่ผมนึกได้คือ ยาเมาะมัสยิด (Jamah Masjid) “ผมไม่มีทางเลือกมากมายสำหรับการเป็นนักเดินทาง” ชื่อหนึ่งที่ผมเขียนติดในสมุดบันทึกมาด้วยนั่นก็คือ Hafiz Maulana Imam Gulam Muhamad Al-Nadvi “เขาอาจช่วยผมได้ในบางอย่าง” ผมนึกในใจ
ฆูลาม มูฮัมหมัด อัลนัดวี คือ อิหม่ามประจำมัสยิดในเมืองเละ จบการศึกษาปริญญาตรีศาสนาจากสถาบันสอนศาสนาดารุลอูลูม นัดวาตุล อูลามะ เมืองลักเนาว์ ประเทศอินเดีย (Darul-Ulum Nadwatul Ulama,Lucknow,India) และจบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยแคชเมียร์ ทางด้านวรรณกรรมภาษาอุรดู อิหม่ามเป็นครูของรัฐสอนในโรงเรียนมัธยมเมืองเละซึ่งไม่ไกลจากยาเมาะมัสยิด
ผมได้นั่งร่วมกับผู้คนมากมายในยาเมาะมัสยิดช่วงค่ำคืนที่ ๒๗ ของเดือนรอยับ (Rayab) ตามปฏิทินอิสลามซึ่งเราจะเรียกกันว่า “คืนอิสรอและเมียะรอจ”[1] ประการเหล่านี้เมืองลัดดาห์จึงเงียบ ร้านรวงปิดแต่หัวค่ำ ผู้คนต่างหลั่งไหลมามัสยิด เสียงอิหม่ามนำละหมาดสิ้นสุดลง ผมหันไปมองแถวละหมาดข้างหลัง ผู้คนมากกว่า ๔๐๐ คนยืนเรียงแถวอย่างสวยงาม เด็กน้อยหญิงชายมากมายกว่า ๔๐ คน วัยรุ่นกว่า ๑๕๐ คน ผู้ใหญ่และผู้เฒ่านั่งเต็มลานในมัสยิด
ยะยา (Yahya)ลูกชายของอิหม่ามฆูลามเริ่มเปิดพิธีด้วยการอ่านอัลกุรอ่าน หลังจากนั้นเด็กสาวของชุมชน ๕ คน เดินเข้ามาในมัสยิดเพื่อขับร้องอนาชีดเกี่ยวกับอิสลามในภาษาลัดดากีสำเนียงจีน ผู้คนมากมายคอยนั่งฟัง หลังจากนั้นอิหม่ามพูดเกี่ยวกับความสำคัญของเดือนรอยับและการบัญญัติละหมาดให้กับมุสลิมเพื่อปฏิบัติ เวลาผ่านไปชั่วโมงกว่า ประธานสมาพันธ์มุสลิมในเมืองลัดดากห์ขึ้นพบปะกับผู้คนเป็นลำดับถัดไป
“อาจจะเกี่ยวข้องกันและจำเป็นในการเป็นชนกลุ่มน้อยต้องมีการพูดคุยและรวมกลุ่มกัน เพื่อความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มคน หาไม่แล้วการแบ่งแยก แบ่งฝ่าย แล้วแตกหักกันจะเข้ามาทำลายสังคมของเรา อย่างที่หลาย ๆ ประเทศเป็นกัน โดยเฉพาะเรื่องความต่างแห่งศาสนา หรือศาสนาแห่งความไม่เหมือนในแบบสายใหม่ สายเก่า กระทั่งเราก็โจมตีกัน แบ่งฝ่าย จนเขนฆ่ากันแบบดุเดือด”
ความจริงเมืองลัดดาก มีชื่อเรียกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเมืองธิเบตที่ ๒ (The Second of Tibet), เมืองแห่งทะเลทรายหนาวของอินเดีย (The Cold Desert of India) , เมืองแห่งลามา(Bladwags) , เมืองแผ่นดินสีแดง(Maryul) หรือ เมืองหิมะ (Kachumpa)
จากการสำรวจในปี ๒๐๐๑ “ประชากรในเมืองลัดดากห์ประมาณ ๑๑๗,๒๓๒ คน โดยแบ่งเป็นศาสนาพุทธมากที่สุด ๗๗.๓๐ เปอร์เซ็น ประมาณ ๙๐,๖๑๘ คน มุสลิม๑๓.๗๘ เปอร์เซ็น ประมาณ ๑๖,๑๕๖ คน ฮินดู ๘.๑๖ เปอร์เซ็นประมาณ ๙,๕๗๓ คน ซิกห์๐.๔๓ เปอร์เซ็น ประมาณ ๕๐๗ คน คริสเตียน ๐.๒๙ เปอร์เซ็น ประมาณ ๓๓๘ คน ศาสนาอื่น ๆ ๐.๐๔ เปอร์เซ็น ประมาณ ๔๔ คน”[2]
ในขณะที่ หนังสือเล่มหนึ่งของ Zauddin sadar ชื่อหนังสือ "the no-nonsense guide to Islam" ได้เขียนว่า "ประชากรโลกในปี ๒๐๐๒ มีประมาณ ๖,๑๐๐ ล้านคน คริสต์ประมาณ ๓๓ % หรือประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านคน ,มุสลิมประมาณ ๒๒ % หรือประมาณ ๑,๓๐๐ ล้านคน ,ฮินดูประมาณ ๑๕% หรือ ๙๐๐ ล้านคน ,พุทธ ๖% หรือประมาณ ๓๖๐ ล้านคน,แนวคิดแบบลัทธิขงจื้อ-เล่าจื้อของจีนประมาณ ๔ % , อื่น ๆ ประมาณ ๖% และไม่มีศาสนาประมาณ ๑๔ %”
Zauddin sadar ได้อธิบายต่อว่า “ทั้งหมดเหล่านี้ที่เป็นอิสลามประมาณ ๘๕% มาจากมุสลิมซุนนี ซึ่งที่เหลือคือ ชีอะจากอิหร่าน,อิรัค,อินเดียและส่วนอื่น ๆ ของโลก ในจำนวนมุสลิมทั้งหมดมาจากประเทศโลกอาหรับเพียง ๒๐% ที่เหลือมาจาก ประเทศมุสลิมแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"[3]
สำหรับมุสลิมในลัดดากห์เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งมาก พวกเขาได้แปลอัลกุรอ่านจากภาษาอาหรับเป็นภาษาลัดดากีของพวกเขาเอง โดยการเริ่มต้นของ ฮัจยีอับดุลรอฮีม มาลิก (Abdunrahim Malik) จนกระทั่งอัลกุรอ่านแปลเสร็จสมบูรณ์ในเดือนรอมาดอนของปี ๑๙๘๙
คุณภาพของประชากร เมื่อพิจารณาแล้วไม่ธรรมดาเลย งานเขียนที่เป็นภาษาอังกฤษของชุมชนเมืองลัดดากห์ ได้เริ่มมีตั้งแต่ปี ๑๙๒๓ โดยหนังสือเล่มดังกล่าวเขียนโดย กูลาม รอซูล กัลวาน (Gulam Rasool Galwan) หนังสือชื่อ “The Servant of Sahibs” พิมพ์ที่ สำนักพิมพ์ของแคมบริดจ์ (Cambridge ,UK) และตีพิมพ์ที่เมืองเละ ปี ๑๙๙๕
ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ ก็ได้มีการพัฒนามาเป็น หนังสือพิมพ์ของเมืองลัดดากห์เอง ตั้งแต่ปี ๑๙๐๔ โดย เอ. เฮช.แฟรงค์. (A.H. Francke) เป็นนักวิชาการชาวเยอรมัน ในชื่อ “Ladakh Phonya” และภาษาอุรดูก็ได้มีการนำมาใช้ในเมืองลัดดากห์ แม้พื้นที่ท้องถิ่นใช้ภาษาลัดดากีเป็นหลัก โรงเรียนมีการใช้สี่ภาษาหลักสอนหนังสือและเป็นสื่อการเรียนของเด็ก ๆ ในโรงเรียนของรัฐ นั่นก็คือ อังกฤษ,ลัดดากี,อุรดูและฮินดี
การต้อนรับสหายจากต่างแดนของเมืองเละนับเป้นความประทับที่ยากจะลืมเลือน ผมได้รับเกียรติไปพักบ้านพักของอิหม่ามและได้นั่งพุดคุยกันถึงเรื่องต่าง ๆ อิหม่ามเล่าให้ผมฟังว่า
“ในแต่ละปี เมืองลัดดากห์จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวและส่วนใหญ่ที่มาในเมืองลัดดากห์นั้นจะมาพบกับองค์ดาไล ลามะ (Dalai Lama) ท่านไม่ต่างกับจุดขายและศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณของผู้คนแถบนี้”
มุสลิมในเมืองนี้เป็นชนกลุ่มน้อยไม่ต่างจากสังคมไทย แต่กิจกรรมทั้งหมดในชุมชน “ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งถึงขั้นแตกหักหรือ การเขนฆ่ากัน เพราะทุกอิริยาบถมีการประนีประนอมและทำความเข้าใจกันเป็นอย่างดีสำหรับความต่าง”
เพราะ โจทย์ของที่นี่คือ “เมื่อรู้ว่าต่าง เราจะอยู่(ร่วม)กันอย่างไร แบบไหน ?.....”
คนทุกวันนี้มักถามกันแค่คำถามเดียวว่า “เราจะอยู่รอดกันอย่างไร” แต่ลืม ถามต่อไปอีกว่า “เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร” เราจึงหาทางออกปัญหาเรื่องความต่างไม่เคยได้
ทุกคนต่างให้เกียรติกัน กิจกรรมของมุสลิม อิหม่ามได้เชิญชาวพุทธเข้าร่วม และไม่ต่างกันกิจกรรมของชาวพุทธได้เชิญมุสลิมเข้าร่วม “ดาไล ลามะ ได้รับเกียรติจากชุมชนมุสลิมด้วยการเข้ามาพูดและเป็นวิทยากรบรรยายในยาเมาะมัสยิดปีละ๑-๒ ครั้งตามโอกาส” อิหม่ามบอก
ผมได้ถามว่า “มุสลิมส่วนใหญ่ยอมให้พระเข้าในมัสยิดเหรอ”
อิหม่ามบอกว่า “ตอนองค์ดาไลลามะมา เขามาในชุดจีวรของพระก็จริง แต่เขาก็คือ มนุษย์ร่วมโลกเราไม่ใช่เหรอ ? อิหม่ามถามพวกเรากลับอย่างเผ็ดมัน “เพราะพหุสังคมบอกว่า นอกจากเขาเป็นพระแล้ว เขายังเป็นเพื่อนของผู้คน พี่น้องร่วมโลกและมนุษย์ร่วมชะตากรรม” อิหม่ามกล่าวต่อ
“ในมิติสังคมที่นี่ เราต้อง ตระหนักเสมอว่า เราต้องอยู่ร่วมกัน เข็มและเบ้าแรกที่เราต้องคิดคือ สังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม คำถามแรกที่เราคิดเสมอคือ เราจะต้องเรียนรู้และทำอย่างไรให้เราอยู่กันให้ได้ คำถาม ไม่ใช่อยู่ที่ว่า เขาเป็นพุทธ เราเป็นมุสลิม แต่คำถามและโจทย์ใหญ่ที่มากไปกว่านั้นคือ เราเป็นมนุษย์ร่วมโลก ทำอย่างไร เราจึงอยู่ร่วมกันได้”
อิหม่ามบอกต่อว่า “โจทย์ของเรา วางหลักที่ “อย่างไร” (How To) เมื่อคนเริ่มคิดแบบนี้ คือ กระบวนการแชร์เกิดขึ้น เราหาทางออกเพื่ออยู่(ร่วม)กัน ไม่ใช่เราหาทาง(รอด)ที่จะไปจากกัน สังคมพหุวัฒนธรรมก็เลยน่าอยู่”
“กิจกรรมเด็กที่โรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นเด็กไทยพุทธ และมุสลิมเป็นเด็กกลุ่มน้อย กิจกรรมบนเวทีมีการแสดงแบบเต้น และร่ายร่ำ เด็กมุสลิมก็ต้องมีส่วนร่วม เด็กเล็ก ๆ ก็อายที่จะแสดง เพราะ เมื่อรู้ว่าอิหม่ามอยู่ ไม่กล้าทำอะไร”
อิหม่ามเล่าให้ฟังว่า “บางครั้งทำเป็นไปสายหรือ ขอลา เพราะกลัวเด็กอาย” บางคนในกลุ่มได้ถามอิหม่ามต่อว่า “ทำไมไม่ห้ามเด็ก การกระทำของเด็กไม่ควร เพราะการเต้นและการร่ายรำ มันไม่เหมาะสมกับหลักการศาสนา”
อิหม่ามบอกว่า “สิ่งที่เห็นมันใช่ มันไม่ถูกหลักการ แต่เมื่อเราอยู่ร่วมกัน กับคนที่ไม่ใช่อิสลามทั้งหมด อะไรที่พอจะอนุโลมกันได้ ไม่ใช่หลักการยึดมั่น(อากีดะห์) ก็ไม่น่าจะมาเข้มงวด ผ่อนปรนบางอย่างเพื่อแชร์กันและเรียนรู้ความต่างระหว่างกัน แต่เราควรจะเข้มงวดเมื่อเราอยู่กันในกลุ่มมุสลิม อย่าสร้างภาพให้เห็นว่าเราเข้มแข็งตอนอยู่ต่อหน้าคนอื่น พอเราอยู่กันเอง เราอ่อนปวกเปียก โดยมากของคนเคร่งจะมีสติ แต่คนคลั่งมักเดินหลงทางเสมอ ๆ ”
“อีกอย่าง เด็กก็เรียนศาสนาทุกวัน อย่างน้อยการคลุกคลีกับเพื่อนต่างศาสนิกทำให้เขาเข้าใจ “องค์รวมของสังคม” เขาจะเข้าใจว่า “สังคมหลากหลายจะอยู่ร่วมกันอย่างไร” ไม่ใช่เรียนรู้แค่เพียงว่า “เขากับเราต่างกันอย่างไร”แต่อยากให้เขาเรียนรู้ต่อไปอีกว่า“ต่างกันแล้วจะแชร์กันแบบไหนอยู่กันได้ยังไง ?”
อย่างน้อย “เราไม่ได้อยู่เพื่อตัวเราคนเดียว คนรอบข้างมีอีกตั้งมากมายที่ไม่เหมือนเรา”
เข้าใจว่าอยู่ยาก แต่เราก็ต้องหาทางออก “โรงเรียนรัฐที่อิสลามเพียงสิบเปอร์เซ็น ก็ปล่อย ๆ ไปบ้าง ทำเป็นไม่รู้เสียบ้าง ดูแบบห่าง ๆ บ้าง หากไม่ใช่ขัดหลักศาสนาขั้นหลักอากีดะห์ (การยึดมั่นและศรัทธา)ก็ควรผ่อนปรนกัน การเข้มจำเป็นเมื่อเกี่ยวผันกับหลักศรัทธา”
เมื่อพวกเขามาเรียนศาสนาเราค่อยนำหลักการของเรามาบอกและตักเตือนพวกเขาใหม่ ใครพอที่จะโตสักหน่อยก็จะคิดออกและเข้าใจในสิ่งที่ครูสอน พวกเขารู้ “เส้น กรอบ ระยะ และวิถี” ว่าต้องทำอย่างไร ?
“เราต้องมาเข้มในหลักการของเราเอง และเมื่อพวกเขาอยู่กับเรา เราต้องหนักแน่นกับตนเอง ผ่อนปรนกับคนรอบข้าง บางครั้ง “สิ่งที่ดีที่สุด” ก็ใช้ไม่ได้ในบางสถานการณ์ในสังคมที่หลากหลาย หาวิถีทางอื่นมาผ่อนปรนบ้าง บางครั้ง “สิ่งที่ไม่ควร” ก็ต้องนำมาปรับใช้เมื่อสถานการณ์จำเป็น”
“หลักการศาสนาไม่ได้โหดร้าย เห็นแก่ตัว มักง่าย เข้มข้นหรือตึงเกิน เพราะทุกอย่างพร้อมจะผ่อนปรนและอำนวยความสะดวก แต่เราอย่าทำมักง่ายกับศาสนา และต้องเข้าใจ ว่า เวลาไหน ควรทำอะไร ปัญหาอย่างหนึ่งที่สังคมวุ่นวาย เราไม่เข้าใจว่า ความรู้ที่มี นำมาวางให้ถูกที่และถูกเวลาอย่างไร” อิหม่ามฆูลามอธิบายให้ผมฟังอย่างละเอียดผ่านวิถีความเป็นมุสลิมในมิติพหุวัฒนธรรมและฐานของชนกลุ่มน้อย
น้ำชาเริ่มเสร็จพอดี ฮาลีมะ (Halima) หลานสาวอิหม่ามมาจากเมืองนูรบาได้นำมาบริการให้กับผมและเพื่อน ๆ ในกลุ่ม ขณะเดียวกันอิหม่ามได้เล่าต่อ
“อย่างหนึ่งที่เมืองเละ ได้ดำเนินการมาโดยตลอด นั่นก็คือ การสนทนาระหว่างมุสลิมและพุทธ (The Buddhist-Muslim Dialogue In June At The Mahabhodi International Mediation Centre)”
ซุกรี (Shukria) เพื่อนร่วมวงได้เอ๋ยปากถาม “ลักษณะการจัดเป็นแบบไหน? ”
อิหม่ามได้เล่าต่อ “นักวิชาการทั้งสองศาสนาและประชาชนเข้าร่วมให้ทัศนะและแสดงความคิดเห็นกัน อย่างน้อยเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และไขข้อข้องใจในเรื่องศาสนาระหว่างสองกลุ่มในฐานะเป็น รอยต่อของจิกซอร์แห่งพหุสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน”
เราต่างกระดกชาร้อน ๆ ผสมด้วยนมสดแบบอินเดีย พลางฟังอิหม่ามเล่าต่อ “เหตุผลเกิดจากการกลัวความขัดแย้งและความไม่เข้าใจในหลักการศาสนา จนนำศาสนามาเป็นเครื่องมือในการติดอาวุธ ก่อความรุนแรงและความไม่สงบ
“เมื่อเป็นเช่นนั้น ความไม่สงบไม่ได้มีผลต่อคนอื่น นอกจากสังคมมนุษย์เริ่มสั่นคลอน ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างหวาดระแวง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็ต้องมีส่วนได้ส่วนเสีย ชีวิตประเสริฐที่พระเจ้าให้มา ไม่คุ้มที่จะนำมาเป็น “เครื่องเส้นไหว้”ให้กับความรุนแรงและ “บูชาให้กับความต่าง” กระทั่งรดราดด้วยหยดเลือด”
ชารีฟ(Sharif) ลูกชายคนเล็กเพิ่งกลับจากโรงเรียน เมื่อวางกระเป๋าอิหม่ามหันไปมองแล้วเชิญให้นั่งร่วมลง อิหม่ามได้เล่าต่อขณะบรรยากาศข้างนอกและส่วนอื่น ๆ ของโลกยัง “แลกเลือดกันอย่างเลือดเย็น”
อิหม่ามฆูลามกล่าวต่อ “ก่อนหน้านี้เคยมีการจัดงานลักษณะแบบนี้ ในปี ๒๐๐๒ The Buddhist-Muslim Dialogue in March At Columbia University in New York , ในปี ๒๐๐๖ The Buddhist-Muslim Dialogue in October At Beijing University”
“ในปี ๒๐๐๙ The Conflict Resolution In The World Parliament Of Religion in December At Melboune ; Australia, หรือ ในปี ๒๐๑๐ The Buddhist-Muslim Dialogue In June At The Mahabhodi International Mediation Centre ,Leh,Ladakh,India”
อิหม่ามฆูลาม เล่าว่า “ปัญหาแบบนี้เคยเกิดขึ้นที่อินเดีย ในปี ๑๙๙๒ ปัญหาการก่อจลาจลเรื่องบาบรีมัสยิดที่มีการแตกหักกันระหว่างมุสลิมและฮินดู(The Babri Masjid Mosque in Utara Pradesh ) จนกระทั่งมีการสูญเสีย มากกว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน”
“และปัญหาแบบนี้ก็เคยทำให้โลกทั้งโลกปั่นป่วนมาแล้ว รู้ไหมตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 หลังจากการระเบิดตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ (World Trade Centre) พลเมืองอเมริกันสนใจเกี่ยวกับอิสลาม โดยเฉพาะการศึกษาอัลกุรอ่าน ประเด็นเรื่องการพลีชีพ จนกระทั่งอัลกุรอ่านได้มีการตีพิมพ์มากกว่า ๑๐ ครั้งในประเทศอเมริกา” อิหม่ามฆูลามเล่าให้พวกเราฟัง
อิหม่ามได้ตั้งข้อสังเกตว่า “สิ่งที่พวกเขาพบและได้รับคำตอบก็คือ เหตุการณ์ 9/11 นั้นไม่ได้เป็นผลลัพธ์จากอัลกุรอ่านในการใช้ให้ก่อความรุนแรงและเช่นเดียวกันสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War) การถล่มผู้คนล้มตายทันทีมากกว่า ๑,๐๐๐ คน ที่ฮิโรชิมา (Hiroshima) และนางาซากิ (Nagasaki)ของอเมริกา ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ไม่ได้เขียนไว้ในคัมภีร์ไบเบิล”
พวกเราในวงสนทนาได้นั่งฟังเรื่องราวและ ซุกรี (Shukri)ก็ถามต่อว่า “กระบวนการไกล่เกลี่ยเจรจาหรือไดอะลอ๊ก (Dialogue)ที่เกิดขึ้นสำหรับเมืองเละดำเนินการไปอย่างไร”
อิหม่ามจึงกล่าวว่า “การไดอาล๊อกหรือ วิวาทะระหว่างพุทธกับมุสลิมนั้นเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าถึงรากเหง้าและความเป็นมาของชุมชนและสังคมพื้นฐานโดยภาพรวม เชื่อมร้อยความผูกพันและความสัมพันธ์กันผ่านรากเหง้าเหล่ากอมาจากลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน เป็นพี่น้องกัน ประวัติศาสตร์การก่อตั้งอาณาจักรและราชวงศ์ได้เชื่อมร้อยกันอย่างลงตัว ผ่านอิทธิพลของกษัตริย์ที่ผันตัวเองมาเป็นมุสลิมในช่วงศตวรรษที่ ๑๗ ชื่อเดลดาล นัมยาล (King Deldan Namgyal) ”
อิหม่ามได้จิบชาพลางกล่าวว่า “กษัตริย์คนนี้มีอิทธิพลกับมุสลิมเป็นอย่างมากและได้สนับสนุนนักฟื้นฟูอย่างซัยยิด อาลี ฮัมดานี (Syed Ali Hamdani) ให้สร้างมัสยิดหลังแรกในลัดดากห์ที่หมู่บ้านเช (Shey) โดยใช้ชื่อว่า มัสยิดชาฮ์ ฮัมดัน (Sha Hamdan Mosque)”
ลัดดากห์มากด้วยชาวพุทธ แต่เมืองนี้มีอู่การค้าและสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิมในสมัยก่อนอย่างการนำเข้า ผ้าชอปัชมีนาจากแคชเมียร์ (Kashmir Pashmina) ซึ่งเป็นผ้าที่ทำจากปุยขนของแกะปัชมีนา (Pashmina wool)อย่างนิ่มและแคชเมียร์ก็ได้ซื้อแพะจากลัดดากห์ (Ladakh) และธิเบตตะวันตก (Western Tibet)
มากไปกว่านั้นคือ การแลกเปลี่ยนสินค้าจากแคชเมียร์ ไม่ว่าจะเป็น หญ้าซัฟฟรอน (Saffron) ,ข้าว (Rice)และสินค้าอื่น ๆ การค้าของอาณาจักรแถบนี้เชื่อมโยงไปยังซินเกียง (Sinkiang)ด้วยการซื้อผ้าฝ้าย (Cotton) ,ไหมดิบ(Raw Silk), เงิน(Silver),ทองคำ(Gold)และเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ (Cloth)
กลุ่มพ่อค้า (Merchant Groups)จากลัดดากห์ได้เดินทางไปค้าขายที่ธิเบตตะวันตก พวกเขาก็ซื้อสินค้าต่าง ๆ กลับมา ไม่ว่าจะเป็น ข้าวบาร์เลย์ (Barley)แป้งบาร์เลย์ (Barley Flour) แป้งข้าวสาลี (Wheat Flour)ด้วยการขนของลา (Donkey)และม้าแกลบ (Ponies)
อิหม่ามกล่าวสรุปสุดท้ายให้เราฟัง “นี่คือความสัมพันธ์ของชุมชนสมัยก่อน มีการเชื่อร้อยความสัมพันธ์กันผ่านการค้าขาย การแต่งงานและการเดินทาง อพยพย้ายถิ่น เรื่องราวแบบนี้ คือ รากเหง้าของคนปัจจุบัน หากแต่ละคนทำความเข้าใจจิกซอร์เหล่านี้ ยากที่พวกเขาจะมาฆ่าแกงกันเป็นว่าเล่น”
“อย่างหนึ่งที่เราต้องรู้ เราอาจกินข้าว กินน้ำด้วยกัน ในชุมชนเล็ก ที่เราอยู่ แต่มีบางอย่างที่เรากินรวมกัน ทำร่วมกันไม่ได้” นี่แหละคือ โจทย์ใหญ่ที่เราตั้งมาโดยตลอดว่า “เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร” (How to live) ไม่ใช่แค่เพียงว่า “อิสลามจะอยู่อย่างไร” หรือ “พุทธจะอยู่แบบไหน”
เมื่อเราเข้าใจรากเหง้าและความสัมพันธ์กันแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ผมจะเข้าวัดไปเยี่ยมพระ และ ไม่ใช่เรื่องยากอีกที่พระจะมาเยี่ยมมุสลิมในมัสยิดเพื่อพบปะและพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะหลักการศาสนาของเราก็สอนไว้อย่างดีว่า “มนุษย์ทั้งโลกคืออุมมะแห่งศาสดาองค์สุดท้าย”
“หากเราเปิดคัมภีร์อิสลาม ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อมุสลิม และที่มากไปกว่านั้นคือ อัลกุรอ่านไม่ใช่เพียงเพื่อคนมุสลิมที่ต้องทำความเข้าใจ ที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น ศาสดาคือ ตัวแทนของมนุษย์ในการประกาศศาสนาให้กับมวลมนุษยชาติ” อิหม่ามฆูลามได้บอกต่อ
ชาเริ่มหายไปจากแก้ว ฮาลีมาและยะยาหายเข้าไปในห้อง นาฬิกาเริ่มกระดิกไปที่ตีหนึ่งกว่า ๆ ความเงียบของกลางดึกเริ่มเข้ามาแทนที่ ความหนาวไหลเข้ามาในห้องอย่างไม่หยุดยั้ง ไอเยือกพัดผ่านเลยเทือกเขาของพระราชวังผ่านมรสุมทะเลทรายเละเข้ามาในห้อง ขณะนี้เรายังผิงร่างของตัวเองบนความสูง ๓,๕๒๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลและนั่ง “สบตากับความต่างที่วนเวียนข้างนอกห้อง”
โจทย์สำคัญคือ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร (How To) เริ่มแค่นี้ก็เริ่ม “สันติ” แล้ว
[1] (อิสรอห์คือการเริ่มต้นการเดินทางในยามค่ำคืนของท่านศาสดาไปสู่นครเยรูซาเล็ม และ เมียะร็อจ คือ การเดินทางของท่านศาสดาขึ้นสูฟากฟ้าเพื่อรับบัญญํติการประทานการละหมาดให้กับประชาชาติของท่านศาสดา -ชุมชนมุสลิมจึงมีการรวมตัวกันเพื่อพูดถึงความสำคัญของคืนดังกล่าวและภาระความรับผิบชอบเกี่ยวกับการรักษาการละหมาด)
[2] Tas hi L Thsangspa, Ladakh Books Of Records ; A General Knowledge Book Of Ladakh 2011,Lay Publication,2011,P.75
[3] Zauddin sadar and Merryl Wyn Davies,The no-nonsense guide to Islam, New internationalist Publications;UK, 2004,P.49