ทำไม Telegram จึงถูกห้ามในหลายประเทศ ?

เมื่อ Edward Snowden กล่าวหาว่า สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติแห่งสหรัฐฯ (NSA) สอดแนมพลเมืองอเมริกัน ความไว้วางใจของผู้ใช้ในแอพฯ เว็บไซต์ ตลอดจนรัฐบาลได้รับความเสียหายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ ในความเป็นจริง รู้สึกว่ามีผู้ใช้งานที่ไม่ไว้วางใจในการเฝ้าระวังของรัฐบาลและโซเชียลมีเดียเพิ่มมากยิ่งขึ้น

Telegram เป็นแอพพลิเคชั่นส่งข้อความยอดนิยมที่เกิดจากความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลและหน่วยงานเซิร์ฟเวอร์ ด้วยกับจำนวนผู้ใช้ที่มีมากกว่า 200 ล้านคน ความนิยมดังกล่าวได้สร้างความสนใจให้แก่รัฐบาลจำนวนมาก และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ใช่แฟนตัวยงของแอพฯดังกล่าว

 

เวลาแห่งความตึงเครียด

นักพัฒนาแอพฯชาวรัสเซีย Pavel Durov ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกขนานนามว่าเป็น “มาร์ค ซักเคอร์เบอร์ก แห่งรัสเซีย” จากผลงานของเขาที่เคยสร้างแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์แก่ชาวรัสเซียที่คล้ายคลึงกับเฟซบุ๊กขึ้น ปัจจุบัน Durov ต้องเดินทางหลบลี้ไปจากบ้านเกิดของเขา อันเนื่องจากความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับรัฐบาลปูติน ว่ากันว่าเขาหนีออกนอกประเทศพร้อมเงิน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่เขาสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวของตนไว้จากรัฐบาลบ้านเกิด Durov เริ่มเขียนโปรแกรม Telegram สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากขึ้นในการรับส่งข้อความ

Pavel Durov ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม VK และ Telegram

กระนั้น เมื่อมีการกล่าวขวัญกันถึงระเบียบวิธีการรักษาความปลอดภัยด้านการสื่อสารที่รัฐบาลต่างต้องพึ่งพาในการติดตามผู้ก่อการร้ายและการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศ มันก็เป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจได้ว่าเหตุใด Telegram จึงถูกปิดกั้นการเข้าถึงในประเทศที่ตรวจตราพลเมืองของตนอย่างเปิดเผย

รัฐบาลอิหร่านและรัสเซียเป็นสองประเทศที่ระงับการใช้งาน Telegram ทั้งประชาชนที่มีการประท้วงและเรียกร้องถึงสิทธิต่าง ๆ อินเทอร์เน็ตได้สร้างพลังของการแสดงออกถึงเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ทุกคนสามารถเข้าถึงเว็บ และทุกคนสามารถเรียกดูไซต์สาธารณะใดก็ได้ แต่อิหร่านและรัสเซียอ้างถึงความมั่นคงของชาติเป็นเหตุผลหลักในการปิดกั้นการใช้งานแอพฯ ทั้งในกรณีที่กลุ่มขบวนการรัฐอิสลาม (IS) ใช้ Telegram ในการจัดวางแผนการเพื่อก่อการร้าย การแพร่ขจายโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ตลอดจนการสื่อสารกับรัฐบาลต่างชาติ

 

Telegram ปลอดภัยแค่ไหน ?

Telegram ใช้การเข้ารหัสแบบ end-to-end1 เช่นเดียวกับ Whatsapp และ Signal ซึ่งคู่แข่งด้านการส่งข้อความรายอื่นต่างได้รับการพัฒนาในซานฟรานซิสโก แต่ Telegram ยังคงใช้ MTProto2 ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่ามีข้อสงสัยในเรื่องความแข็งแกร่งความปลอดภัยและข้อบกพร่อง

“ไม่มีใครรู้ว่ามันทำงานอย่างไร จากการวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยที่ได้ทำกันไปหลายครั้งแล้วนั้น มันแสดงให้เห็นว่ามันไม่ปลอดภัยอย่างที่บางคนคิด” Alan Woodward ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าว ขณะเดียวกัน “ยังพบการรั่วไหลของข้อมูลเมตะเดต้าจำนวนมาก” จากแอพ “เช่น มีการติดต่อกันระหว่างใคร เมื่อไหร่ ใช้ระยะเวลาแค่ไหน รูปแบบการติดต่อนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นอาจเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานข่าวกรอง” Alan กล่าว ซึ่งสำหรับคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Signal กลับแทบไม่มีการรั่วไหลเช่นนั้น

 

Alan Woodward แห่ง University of Surrey

การสกัดกั้นที่แน่ชัด

แม้จะมีการแทรกแซงในรัฐบาลและการเมือง Durov เน้นย้ำว่า Telegram ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง มันเป็นเพียงบริการเทคโนโลยีที่มอบความอุ่นใจให้กับผู้ที่ได้ใช้งาน ขณะที่เทคโนโลยีกับเรื่องการเมือง บางครั้งมันก็เป็นเหมือนน้ำมันและน้ำ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายที่สามารถตราขึ้นได้โดยรัฐบาล เพียงเพื่อผลประโยชน์แก่ตนและการหวังผลทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม เพียงเพราะคุณพยายามที่จะกีดกันผู้คนจากการเข้าถึง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถหยุดความต้องการใด ๆ ไว้ได้ ผู้คนที่ใช้ Telegram ในประเทศต่าง ๆ (ที่หากถึงที่สุดแล้วพวกเขาถูกกีดกันจากการใช้งาน) ก็จะยังค้นพบวิธีอื่น ๆ ในการตอบสนองความต้องการด้านการสื่อสารของตนได้ในที่สุด บางทีนี่อาจเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากการกีดกันจากการใช้เทคโนโลยี

(แปลจาก Why Are So Many Countries Banning Telegram? เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 11 พ.ค.2018 via https://www.dogtownmedia.com/many-countries-banning-telegram/)

-------------------------------------------

1 - E2EE หรือ End-to-end encryption (การเข้ารหัสตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง)อธิบายก็คือการเข้ารหัสด้วยคีย์ที่ถูกสร้างขึ้นและเก็บไว้ในเฉพาะเครื่องสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ของผู้ใช้นั้นๆ โดยมีกระบวนการคือ ข้อความที่ถูกส่งออกไป จะผ่านเซิฟเวอร์กลางในสภาพปิดผนึกไว้ (ถูกเข้ารหัสแบบ 256 บิต) อ้างอิงจาก https://bit.ly/3ko53rS
 
2 - MTProto เป็นชื่อรูปแบบการเข้ารหัสแบบกุญแจสมมาตร (symmetric encryption scheme) ซึ่งถูกใช้เข้ารหัสข้อมูลเพื่อรับ-ส่งข้อมูลของแอพฯ Telegram ผู้อ่านสามารถศึกษาประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมใน www.blognone.com/node/82681 โดยมีการอ้างงานวิจัยว่ารูปแบบการเข้ารหัสดังกล่าวของ Telegram ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ