2 แชะอัตลักษณ์ ในนามของความมั่นคงอันเป็นภาระของประชาชน
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกครั้งของการกำหนดวันสุดท้ายสำหรับผู้ที่ยังไม่ลงทะเบียนซิม “2 แชะอัตลักษณ์” หลังจากที่มีการกำหนดเส้นตายมาแล้วก่อนหน้าคือวันที่ 31 ตุลาคม 2562 สำหรับผู้ที่ยังไม่ทำการลงทะเบียนซิมการ์ดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากการกำหนดทั้งสองครั้งกลับพบว่าผู้ใช้บริการที่ยังไม่ทำการลงทะเบียน 2 แชะอัตลักษณ์ ยังคงใช้งานได้ตามปกติ และยังไม่มีความแน่นอนว่า ถึงที่สุดแล้ว ผู้ให้บริการจะมีท่าทีอย่างไรต่อการให้ผู้ใช้บริการเข้ารับการลงทะเบียนซิมการ์ดดังกล่าว เนื่องด้วยข้อมูลบุคคลต่างๆ ที่แสดงความเป็นเจ้าของซิมการ์ดของแต่ละบุคคล ต่างเคยมีการลงทะเบียนไว้แล้วในช่วงเวลาก่อนหน้าเรื่อยมา นับตั้งแต่กระทรวงไอซีที ออกประกาศกระทรวงฯ เรื่องการลงทะเบียนบัตรประจำตัวของผู้ใช้บริการ (ซิมการ์ด) โดยใช้อำนาจตาม มาตรา 11 ของ พรก.กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อ 6 มาตรา 11 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 [1]
การลงทะเบียน 2 แชะอัตลักษณ์ จึงถือเป็นการลงทะเบียนซ้ำที่จะสร้างความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่เดิมหรือไม่ ?
เมื่อเดือนกันยายน 2562 ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหนึ่งในพื้นที่ได้ทำการร้องเรียนต่อประธานกรรมการ กสทช. โดยมี ปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ใช้บริการในการส่งหนังสือถึงประธานกรรมการฯ ว่าการระงับสัญญาณโทรศัพท์มือถือจากการไม่ลงทะเบียนซิมดังกล่าวนั้นเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการที่ กสทช. ส่งข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ จากการลงทะเบียนให้แก่ กอ.รมน. หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ เองนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งนี้ ในรายละเอียดการร้องเรียนได้มีเนื้อหาระบุว่า ผู้ใช้บริการเคยลงทะเบียนซิมการ์ดไว้แล้วก่อนหน้า จึงคิดไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องไปสแกนใบหน้าและลงทะเบียนซ้ำอีกครั้ง [2]
กระทั่งการร้องเรียนดังกล่าวได้มีจดหมายตอบจาก กสทช. ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2562 มีเนื้อความว่า การให้ลงทะเบียนดังกล่าว เป็นเรื่องของการรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้ริการ การสนับสนุนข้อมูลแก่รัฐเพื่อประโยชน์ความมั่นคงเองนั้น ถือเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมาย และการประกาศให้ผู้ใช้บริการทำการลงทะเบียนซิมก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ผ่านการส่งข้อความไปนั้น เป็นการดำเนินการตามประกาศ กอ.รมน.ภาค 4 ลงวันที่ 26 เมษายน 2562 เรื่องมาตรการการจัดระเบียบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตามอำนาจ พรก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน หากผู้ใช้บริการประสบปัญหาใน “การให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว” ให้ผู้บริการแจ้งต่อ กอ.รมน.ภาค 4 เพื่อหารือแก้ไขต่อไป
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกประจำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การลงทะเบียน 2 แชะอัตลักษณ์ เป็นเรื่องขอความร่วมมือ ไม่ได้บังคับแต่อย่างใด ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล สามารถที่จะปฏิเสธ ไม่ลงทะเบียนซิมการ์ด ไม่สแกนใบหน้าได้ แต่อาจทำให้เสียสิทธิในการใช้โทรศัพท์มือถือตามประกาศของ กสทช. ทั้งนี้ พ.อ.ปราโมทย์ ยังได้ชี้แจงถึงปัญหาของการลงทะเบียนซิมด้วยวิธีก่อนหน้า ว่าประสบปัญหาต่างๆ แก่ผู้ใช้บริการจากการถูกลอบสวมสิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงินและการก่อเหตุร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ [3]
“เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว ทาง กสทช. ก็เลยได้มีการคิดค้นพัฒนารูปแบบการลงทะเบียนใหม่ ที่เรียกว่าเป็นการลงทะเบียน 2 แชะอัตลักษณ์ เป็นการสแกนใบหน้าแล้วก็ตรวจบัตรประชาชนฉบับตัวจริงด้วย” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเชิงเทคนิคเกี่ยวกับการลงทะเบียนซิมการ์ด 2 แชะอัตลักษณ์นั้น ตามที่ได้มีการอภิปรายไว้แล้ว จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้ให้บริการระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2561ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ [4] โดยบริษัทผู้ให้บริการ ต่างอภิปรายถึง ร่างประกาศฯ ไว้ในประเด็นต่าง ๆ ทั้งนี้ ได้ปรากฏคำอภิปรายของผู้ให้บริการ ว่า “เป็นการเพิ่มภาระและความยุ่งยากแก่ผู้ใช้บริการ” ทั้งยังเป็นความซ้ำซ้อนในการจัดทำระบบลงทะเบียนใหม่ ตามตัวอย่างความคิดเห็นของบริษัทในเครือ ทรู
“ตามวัตถุประสงค์ของ กสทช. ที่ต้องการให้ข้อมูลที่ได้จากการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และสามารถติดตามได้นั้น บริษัทฯ ขอเรียนว่าในปัจจุบัน การดำเนินการของบริษัทฯ มีการจัดทำระบบทางอิเล็กทรอนิกส์ การจัดเก็บข้อมูลที่อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้บริการ และสอดคล้องกับสำนักงาน กสทช. ซึ่งผ่านการหารือร่วมกับผู้ให้บริการทุกรายแล้ว ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวจึงถือได้ว่ามีความเหมาะสมและบรรลุวัตถุประสงค์ของ กสทช. แล้ว บริษัทฯ จึงเห็นว่าไม่ควรมีการดำเนินการอื่นใดเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นภาระให้กับผู้ให้บริการอีก”
ขณะที่ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) / บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด ยังมีความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯ ในประเด็นการกำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคล มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ว่า “บริษัทฯ เห็นว่าผู้ให้บริการมีเพียงหน้าที่ในการลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการให้ถูกต้องตามที่กำหนดในในร่างประกาศฯ เท่านั้น ไม่ควรต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบ พิสูจน์ และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ”
บริษัทผู้ให้บริการ ยังได้อภิปรายถึง ประกาศร่างฯ ในเรื่องของหลักฐานในการลงทะเบียนว่า ต้องการให้ใช้หลักฐานยืนยันตัวตนบุคคลที่ไม่จำกัดอยู่แค่บัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น กล่าวคือ สามารถใช้หลักฐานแสดงตัวตนอื่นที่ทางราชการออกให้ได้ ทั้งหนังสือเดินทาง ใบอนุญาตการทำงานของคนต่างชาติ ใบขับขี่รถยนต์ บัตรประจำตัวคนพิการ ใบสุทธิของพระสงฆ์ เป็นอาทิ เพื่อให้ครอบคลุมบุคคลอื่นที่อาจแสดงตนด้วยบัตรประจำตัวรูปแบบอื่น โดยไม่มีได้กินความถึงการใช้หลักฐานอื่นในทางชีวภาพ ตามที่มีปรากฏใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา 26 ซึ่งมีการออก พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวภายหลังจากที่มีข้อเสนอของบริษัทฯ ผู้ให้บริการตามเอกสารสรุปความเห็นต่อประกาศร่างฯ ข้างต้น แต่อย่างใด
สำหรับรายละเอียดข้อมูลชีวภาพ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มาตรา 26 [5] นั้น ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ห้ามเก็บรวบรวม แต่ยังคงมีข้อยกเว้นบางประการไว้ เช่นการใช้ข้อมูลในการป้องหรือระงับอันตรายต่อชีวิตของเจ้าของข้อมูล การเก็บข้อมูลเพื่อสิทธิเรียกร้องต่อสู้ทางกฎหมาย (เช่นการเก็บดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงบางกรณีในชั้นศาล) หรือความจำเป็นทางกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนนี้เองของพระราชบัญญัติฯ อาจมีช่องว่างที่หน่วยงานความมั่นคงรัฐใช้อ้างด้วยเหตุทางมั่นคงในพื้นที่สถานการณ์พิเศษอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในวรรคสุดท้ายตามมาตรา 26 ระบุไว้ว่า “ในกรณีที่เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับประวัติอาชญากรรมต้องกระทำภายใต้การควบคุมของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือได้จัดให้มีมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”
ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน ยังมีข้อสังเกตต่อมาตรการ 2 แชะอัตลักษณ์ ในเชิงกฎหมายไว้ ถึงประเด็นหลักฐานที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล [6] ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2562 นั้น มิได้ระบุให้ผู้ให้บริการซิมการ์ดของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต้องจัดเก็บรูปถ่ายใบหน้าของผู้ใช้บริการด้วยแต่อย่างใด โดยเนื้อหาตามประกาศฯ ระบุไว้ในหมวด 3 ข้อ 9 (9.1) กรณีบุคคลธรรมดา ว่า หลักฐานที่ใช้ลงทะเบียนอย่างน้อยต้องประกอบด้วย เลขบัตรประจำตัว ชื่อและสกุล ที่อยู่ เลขหมายโทรศัพท์ วันที่เปิดให้บริการ ชื่อและสถานที่ตั้งของจุดให้บริการ เท่านั้น อีกทั้ง ศูนย์ทนายความฯ ยังพบว่า “กอ.รมน., กสทช. และผู้ให้บริการซิมการ์ดของแต่ละเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแต่ละเครือข่าย ยังไม่มีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนถึงวิธีการให้ความยินยอมและวิธีการยกเลิกการให้ความยินยอมในการจัดเก็บข้อมูลด้วยวิธีการข้างต้นสำหรับผู้ใช้บริการ”
ในบทความของ ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา เรื่อง มาตรการลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ [7] ได้ให้คำอธิบายถึงความสำคัญในการลงทะเบียนซิมการ์ดว่า เป็นการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหลัก ถึงแม้ว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาจะมีการจัดระเบียบซิมการ์ด แต่ก็ยังพบว่ามีเหตุการณ์การใช้ระเบิดแสวงเครื่องในการก่อเหตุ
ฉัตรชัย ได้ทำตารางสรุปประเภทเหตุของความรุนแรงซึ่งอ้างอิงจากสำนักข่าวอิศรา พบว่าจำนวนเหตุการณ์จากการระเบิด เป็นประเภทการก่อเหตุที่มีจำนวนถึง 3,512 เหตุการณ์ โดยมีเหตุจากระเบิดแบบวาง 3,303 เหตุการณ์ รองจากเหตุการณ์ประเภทยิงด้วยอาวุธปืน ซึ่งมีจำนวน 4,314 เหตุการณ์ ด้วยตารางสรุปดังกล่าว ฉัตรชัยได้สรุปความรู้เกี่ยวกับการทำระเบิดแสวงเครื่องจากเอกสารบางชิ้นว่า “สามารถกำหนดการระเบิดได้ตามต้องการผ่านวิธีการควบคุมระยะไกล (Remote control) โดยการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จุดชนวน”
ขณะที่ในเอกสารคู่มือการป้องกันเกี่ยวกับวัตถุต้องสงสัยสำหรับประชาชน จัดทำโดยหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย กรมสรรพาวุธทหารบก [8] ระบุถึงระบบการควบคุมการจุดระเบิด (Switch) ไว้ถึง 7 รูปแบบวงจร วงจรจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ (Cell Phone) เป็นหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตาม ตามเอกสารระบุว่า วงจรจุดระเบิดด้วยสัญญาณ DTMF ผ่านวิทยุสื่อสาร เป็นวงจรจุดระเบิดที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน สอดคล้องกับการได้รับข้อมูลของ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากการพูดคุยกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี 2552-2554 ถึงมาตรการการควบคุมซิมการ์ดที่ผ่านมาว่า “...ได้ผลอยู่ เพราะผู้ก่อการเลิกใช้โทรศัพท์มือถือจุดระเบิด หันไปใช้วิทยุสื่อสารจุดระเบิดแทน” [9]
ถึงตรงนี้ สิ่งที่อธิบายมาทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังปฏิเสธการให้ข้อมูลเพื่อลงทะเบียนซิมการ์ดกับผู้ให้บริการตามที่หน่วยงานรัฐ “ขอความร่วมมือ” แต่อย่างใด เพียงแต่เห็นว่า ผู้ใช้บริการรายเก่าก่อนที่จะมีการประกาศใช้มาตรการ 2 แชะอัตลักษณ์ ได้ทำการลงทะเบียนซิมการ์ดไปแล้ว โดยหลักฐานที่เคยใช้ประกอบการลงทะเบียน ครบถ้วนตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
ในส่วนของการยืนยันอัตลักษณ์โดยใช้การสแกนใบหน้า เห็นว่าเป็นเพียงความพยายามในการสร้างมาตรการที่ซ้ำซ้อน ไม่เกิดประโยชน์ แม้จะมีการยืนยันเรื่องสิทธิประโยชน์ ในการป้องกันหรือคุ้มครองภัยจากอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการสวมสิทธิในการก่อเหตุความรุนแรง แต่ก็ยังไม่เห็นคำอธิบายเชิงเทคนิคใด ๆ ที่จะเป็นการยืนยันได้ว่า การสแกนใบหน้าจะช่วยป้องกันเหตุดังกล่าวได้
ปัจจุบัน ในกรณีที่ซิมการ์ดของผู้ใช้บริการเกิดการสูญหาย ผู้ใช้บริการเองยังสามารถแจ้งต่อศูนย์บริการของผู้ให้บริการในการระงับซิมการ์ด ตลอดจนการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อยืนยันว่าซิมการ์ดของผู้ใช้บริการ ได้สูญหายไปในช่วงเวลาไหน สถานที่ใด เพื่อป้องกันการนำซิมการ์ดไปก่ออาชญากรรม หรือแม้กระทั่งในกรณีที่ซิมการ์ดนั้นสูญหาย แต่ผู้ใช้บริการประสงค์เปิดใช้งานซิมใหม่แต่คงเลขหมายเดิมได้ เพียงเจ้าของซิมการ์ดใช้บัตรประชาชนของตนยื่นขอรับบริการต่อศูนย์งานของผู้ให้บริการแต่ละราย ก็จะสามารถใช้ซิมใหม่ แต่คงเลขหมายเดิมได้ ตามข้อมูลเดิมที่ลงทะเบียนไว้ทุกประการ ขณะที่ผู้ใช้บริการซิมการ์ดแบบรายเดือน มีการผูกกับข้อมูลส่วนตัวอยู่แล้ว ตามข้อกำหนดของผู้ให้บริการที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหลังใช้บริการในแต่ละรอบเดือนอย่างไม่ต้องสงสัย
เรายังไม่พบว่ามีคำตอบเชิงเทคนิคใดๆ สำหรับการ “ขอความร่วมมือ” ในมาตรการที่ซ้ำซ้อนกับนโยบายที่มีการประกาศบังคับใช้อยู่แล้ว มากไปกว่าการอ้างความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รับรองและคุมเข้มความปลอดภัยไว้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่มากกว่าหนึ่งชั้น แต่ก็ยังพบว่าหลายกรณีผู้คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงของการต้องสงสัย ต่างกลายเป็นแพะและเหยื่อของการถูกซ้อมทรมานในคดีความมั่นคงมาแล้วนับไม่ถ้วน
เมื่อมองในเชิงรายละเอียดไปอีก กลับพบว่าการแก้ไขวรรคตอนประกาศตามมาตรา 11 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ข้อที่ 6 [10] หากเปรียบเทียบประกาศฉบับที่ผ่านมา นี่ไม่ใช่อื่นใด นอกจากเป็นความพยายามในการให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 เข้ามามีบทบาทในประเด็นดังกล่าวนี้ และนี่ยังเป็นเพียงประเด็นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความซ้ำซ้อนของอำนาจหน้าที่ของระบบราชการในภาวะ “พิเศษ” ที่ไม่เห็นข้อเสนอการแก้ไขเชิงเทคนิคใดๆ มากไปกว่าการใช้อำนาจประกาศใช้นโยบายที่ฟุ่มเฟือย
อ้างอิง
[1] ประกาศตามมาตรา 11 ของ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 https://bit.ly/2Ywsasj
[2] เปิดจดหมายตอบจากกสทช. กรณี“การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” ในพื้นที่จชต. https://bit.ly/3aSPTFG
[3] ทำไม ต้องลงทะเบียนซิมการ์ดอีกครั้ง https://bit.ly/2KSU2yR
[4] สรุปการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ได้รับต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ https://bit.ly/3aRqEUg
[5] พระราชบัญญัติ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 https://bit.ly/2SvcAJJ
[6] ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อการบังคับ ‘ลงทะเบียนซิมการ์ด’ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ www.tlhr2014.com/?p=13498
[7] มาตรการลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา https://bit.ly/3aUp6ZL
[8] คู่มือการป้องกันเกี่ยวกับวัตถุต้องสงสัยสำหรับประชาชน จัดทำโดยหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย กรมสรรพาวุธทหารบก https://bit.ly/2zL3TV0
[9] ประวัติกฎหมายลงทะเบียนซิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ (2548 – ยุคก่อนประกาศกสทช.) https://bit.ly/2YpaJtL
[10] ประกาศ ตามมาตรา 11 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 3)
พ.ศ.2562 ประกาศ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562 https://bit.ly/2WnpnyO