นักศึกษามุสลิมอยู่ไหน ?

 

            

หน่วยตำรวจสันติบาลจังหวัดหนึ่ง ได้ส่งหนังสือถึงมหาวิทยาลัยบางแห่ง เรื่องขอทราบข้อมูลนักศึกษา เกี่ยวกับนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลาม เพื่อต้องการทราบข้อมูล จำนวนนักศึกษามุสลิม นับถือนิกาย เป็นนักศึกษาในพื้นที่ หรือว่านักศึกษามาจากนอกพื้นที่ มีการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมหรือไม่ และมีแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มอย่างไร เป็นต้น 

ก่อนอื่น เมื่อผมอ่านหนังสือจากหน่วยตำรวจสันติบาลที่มีคำถามข้างต้นแสดงถึงความตื้นเขินสะท้อนถึงประสิทธิภาพและคุณภาพในการจัดเก็บข้อมูลเบื้องต้น ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาสมัยผมเป็นนักศึกษา ได้มีการเก็บข้อมูลอย่างนี้เช่นกันมาโดยตลอด ซึ่งก็ไม่ได้ข้อมูลเป็นจริงสักครั้ง เช่น การบอกว่านับถือนิกายอะไร ก็ยากเสียแล้ว บางคนก็บอกว่าไม่มีนิกาย แถมบางคนก็เปลี่ยนแนวทางความเชื่อเดิมเมื่อมาอยู่ในมหาวิทยาลัย สำหรับบางคนก็เป็นมุสลิมก็ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นมุสลิม เพราะด้วยเหตุผลส่วนตัว หรือนักศึกษาผู้หญิงมุสลิมบางคนก็ไม่คลุมฮิญาบ (ผ้าคลุมหัว) จนกระทั่งนักศึกษามุสลิมชายบางคน ก็ไม่ได้แสดงออกมากนักว่าตัวเองเป็นมุสลิม เพราะตัวเองสังกัดกลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQ)  ฯลฯ เหตุผลร้อยแปดพันเก้า ที่อยากบอกว่าคำถามข้างต้น มักจะได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงเสมอ 

อัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมบวกกับชาติพันธุ์มักลื่นไหลตามบริบทของพื้นที่ (Space)และ เวลา (Time)ในภาษาอีกแบบคือ ขึ้นอยู่กับว่าการแสดงอัตลักษณ์ของตนเองอย่างโจ่งแจ้งจะได้รับการยอมรับและมั่นใจว่าปลอดภัยพอ และคนที่มีอัตลักษณ์เช่นนี้ ก็คือประเมินเสมอว่า หากไม่ใช่คนที่พวกเขาไว้ใจ จะให้คำตอบแบบใด เพื่อให้คนเหล่านั้นไม่มายุ่งกับพวกเขาอีก  

พลวัตในสังคมมุสลิมในเรื่องความคิดทางศาสนามีข้อถกเถียงมาตลอด ตัวอย่างนักวิจัยฝรั่งคนหนึ่งได้ลงพื้นที่ภาคสนามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นแรมปี ได้ถามมุสลิมว่ายึดถือสำนักคิดสายเก่าหรือสายใหม่ ?​คำตอบของผู้ให้สัมภาษณ์คือ มุสลิมสายปัจจุบัน !  ท่าน ๆ ลองคิดสิครับ หากมหาวิทยาลัยบ้าจี้ไปไล่นับนักศึกษามุสลิม และไล่ถามความคิดความเชื่อนักศึกษา มันจะได้คำตอบแบบไหน วิธีการทำงานเช่นนี้ของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากมักง่ายและไร้ประสิทธิภาพแล้ว มันคือการใช้อำนาจแบบข้ามหัวมหาวิทยาลัยและอาจจะทำให้มหาวิทยาลัยเสียลูกค้ากลุ่มสำคัญในอนาคต

หากทว่าใจความประเด็นสำคัญก็คือ การออกหนังสือเช่นนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงฐานความคิดความหวาดระแวงของรัฐที่มีต่อกลุ่มนักศึกษามุสลิม ที่ลุกลามจากพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ได้สร้างความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจต่อกัน ในพื้นที่สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย  มิพักถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเลือกปฏิบัติ(Discrimination) อย่างโจ่งแจ้ง ที่เกิดขึ้นในระดับการศึกษาในมหาวิทยาลัย อันเป็นพื้นที่ของเสรีภาพทางปัญญา และพื้นที่โอบอุ้มทุกคนอย่างเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน  

 

เท่าที่ผมทราบและได้เดินทางพบคุยกับนักศึกษามุสลิมตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ในรอบ 3-4ปีที่ผ่านมา ในการจัดเก็บข้อมูลรายงานสำรวจวิจัยเรื่องสัญญาณความหวาดกลัวอิสลามในสังคมไทย มีข้อสังเกตส่วนตัวบางประการพบว่าตอนนี้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีนักศึกษามุสลิมเป็นลูกค้าเกือบทุกมหาวิทยาลัย พวกเขาเหล่านั้นโดยเฉพาะนักศึกษาที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นในที่นั้น ๆ  พร้อม ๆ กับดิ้นรนทางด้านเศรษฐกิจเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดและอยู่ได้จนสำเร็จการศึกษา โดยส่วนใหญ่พวกเขาได้เรียนรู้ในการไปศึกษาในพื้นที่ต่างวัฒนธรรม ตั้งแต่กิจกรรมในมหาวิทยาลัย ชมรมต่าง ๆ  แม้ว่าจะมีการความตึงเครียดอยู่บ้างระหว่างวัฒนธรรม แต่ก็เป็นการเรียนรู้แนวราบระหว่างนักศึกษาปัญญาชนด้วยกัน แต่เมื่อมีหน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะสร้างความหวาดระแวงขึ้นมาทันที

การส่งหนังสือของหน่วยงานสันติบาลถึงมหาวิทยาลัย มันคือผลผลิตที่เกิดขึ้นจากวิธีการคิดในการมองปัญหาของ 3 จังหวัดภาคใต้ที่ลุกลามไปในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศที่มีต่อคนมุสลิม  ตราบเท่าที่ยังคิดแบบนี้ ในที่สุดมันก็จะนำไปสู่วิกฤติความหวาดระแวงที่รัฐมีต่อคนมุสลิมในประเทศนี้