ตัวตนของ สุรินทร์ พิศสุวรรณ:หลากมุมมองต่อชีวิตไร้พรมแดน

ตัวตนของ สุรินทร์ พิศสุวรรณ:หลากมุมมองต่อชีวิตไร้พรมแดน

ถอดความโดย อัฐพล ปิริยะ

ขอบคุณภาพจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และสมศักดิ์ พิศสุวรรณ

บ่ายของวันที่ 28พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ มูลนิธิเอเชีย ร่วมกันจัดปาฐกถา เนื่องในโอกาสครบรอบ 1ปี การจากไปของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ณ หอประชุมชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ อาคารสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี ทางปาตานีฟอรั่ม ได้คัดส่วนหนึ่งของเนื้อหาจากปาฐกถาในครั้งนี้มาสรุปเป็นข้อเขียน ถึงชีวิตและบทเรียนของตัวตน จากบุรุษผู้ที่ขึ้นชื่อตามวลีที่ว่า “No man is an Island” ชีวิตไร้พรมแดน

ระหว่างสองโลก

งานครั้งนี้เริ่มต้นด้วยบทกวี "ระหว่างสองโลก" ของซะการีย์ยา อมตยา โดยเป็นการอ่านบทกวีเพื่อให้เกียรติแก่สุรินทร์ พิศสุวรรณ​ โดยเป็นกวีฉบับเต็มจะตีพิมพ์อยู่ในหนังสือสำหรับงานนี้สำหรับผู้ที่สนใจโปรดติดตามอ่านในหนังสือ และสำหรับวีดีโอของการแสดงการอ่านกวีครั้งนี้จะนำเผยแพร่อีกครั้งของเพจผู้จัดงานนี้ 

 

สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตเพื่อนร่วมห้องเรียนรุ่นกับสุรินทร์ พิศสุวรรณ และเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เมื่อครั้งศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นระยะเวลาเพียง 2 ปี ที่ธเนศได้ใช้ชีวิตในฐานะนักศึกษาร่วมกับสุรินทร์ เนื่องจากสุรินทร์ได้รับทุนแมคเคอรี่ได้ไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ทั้งสองแทบไม่ได้ติดต่อกัน กระทั่งสุรินทร์เข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง

ธเนศยังกล่าวต่อ ถึงสุรินทร์ในช่วงเวลาของการก่อเกิดคนเดือนตุลาฯว่า สุรินทร์ไม่ได้มีบทบาทในพื้นที่ดังกล่าวมากนัก โดยเฉพาะการนำเสนอการเคลื่อนไหวผ่านวรรณกรรม อย่างหนังสือเล่มละบาท หรือหนังสือภัยขาว เป็นต้น กระนั้น สุรินทร์ก็ใช้เวลาไปกับการทำงาน โดยทุกช่วงบ่ายเขาจะไปทำงานที่สมาคมศิษย์เก่าอเมริกา (AUA) เวลาส่วนใหญ่ของสุรินทร์จึงมักอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย

ธเนศได้อธิบายถึงชีวิตของสุรินทร์กับพื้นที่ทางการเมืองไว้ว่าเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากเส้นทางของตนและอีกหลายคนในฐานะคนตุลาฯ กล่าวคือ เส้นทางของคนตุลาฯดำเนินเรื่องราวในฐานะการเมืองภาคประชาชนที่อยู่กับมวลชนคนรากหญ้า ขณะที่เส้นทางของสุรินทร์คือการก้าวกระโดดสู่พื้นที่ทางการเมืองในรัฐสภา (Informal)

กระทั่งถึงวิกฤตการณ์ทางการเมือง การชุมนุมประท้วงโดยกลุ่ม กปปส. สำหรับธเนศ ตนรู้สึกไม่เห็นด้วยเมื่อเห็นสุรินทร์เข้าร่วมการเคลื่อนไหวดังกล่าว กระนั้น ธเนศเองก็มิเคยแสดงความคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนกับสุรินทร์ถึงเรื่องนี้ กระทั่ง วันที่ธเนศได้รับตำแหน่งศาสตราพิชาญ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุรินทร์ได้ส่งอีเมลถามตนถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางอย่าง ตอนแรกคิดว่าจะไม่ตอบ แต่ด้วยความรู้สึกบางอย่าง ทำให้ธเนศตอบรับความช่วยเหลือนั้นไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธเนศยอมรับในแง่ทางการเมืองสำหรับสุรินทร์คือคุณูปการทางการเมืองในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวคือ ความสำเร็จทางการเมืองของสุรินทร์นั้น แท้จริงอยู่นอกประเทศไทย 

“มีคน ๆ หนึ่ง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เขาชื่นชม ดร.สุรินทร์ (เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ) ซึ่งหากเขาเข้ามากุมบังเหียนการเมืองไทย มันอาจเกิดการแตกระแหงไปอีกทาง”ธเนศกล่าว

สำหรับเรื่องราวของ ดร.สุรินทร์ ในฐานะที่ธเนศเป็นนักประวัติศาสตร์ ตนมองว่าเรื่องราวที่เล่าสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันที่มีกระบวนการเล่าซ้ำจนอาจกลายเป็นเรื่องปรัมปรา (Fairy Tale) ไปในที่สุด กระนั้น ธเนศมองว่า ในฐานะที่สุรินทร์เป็นนักการเมืองคนหนึ่ง สิ่งที่น่าฉุกคิดคือที่มาที่ไปของความเป็นสุรินทร์ในพื้นที่ทางการเมืองที่มีเอกลักษณ์ ทั้งความโดดเด่นในการจัดการทางการทูตและวาทศิลป์

“ไม่ใช่ตึกไทยคู่ฟ้าที่สร้างการเมืองของสุรินทร์ แต่เป็นการที่เขาเคยอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน มันมาจากวิถีชีวิตที่เป็นมุสลิมของเขา” ศ.ดร.ธเนศกล่าวทิ้งท้าย

ผู้เชื่อมฟากฝั่งเพื่อข้ามแม่น้ำร้าย

 

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องราวความเป็นไปของสุรินทร์ พิศสุวรรณ บนเส้นทางของความรู้วิชาการ ชัยวัฒน์มองว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่สร้างตัวตนของสุรินทร์ขึ้นมา ส่วนหนึ่งคือศาสนาอิสลาม ซึ่งโองการแรกจากคัมภีร์อัลกุรอ่านคือการกล่าวถึงการอ่าน ขณะเดียวกัน สิ่งแรกที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างคือกอลัม (สิ่งบันทึก ณ พระผู้เป็นเจ้า) หาใช่สวรรค์หรือนรก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สุรินทร์จะมีความโดดเด่นทางด้านคำพูดและความคิดไปพร้อมกัน เนื่องจากมุสลิมโดยวิถีถูกปลูกฝังมาเช่นนี้อยู่แล้ว

ด้วยพื้นฐานเช่นนี้เอง ทำให้สุรินทร์มีความสนใจด้านปรัชญาการเมือง ชัยวัฒน์ยังกล่าวต่อ ว่าความสนใจดังกล่าวนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สุรินทร์ได้มีโอกาสพบกับHenry Jaffar กระทั่ง Jaffar ได้ส่งสุรินทร์ไปศึกษาต่อด้านอิสลามศึกษาที่Harvard university ซึ่งที่นั่น ทำให้สุรินทร์ได้พบกับฮาร์วี่ แมนฟิลด์ (Harvey Mansfield) หนึ่งในผู้สอนปรัชญาการเมืองคนสำคัญ ซึ่งมีความโดดเด่นในการสอนที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนของมาเคียเวลลี่ (Machiavelli) เป็นการเฉพาะ วรรณกรรมทางการเมืองของมาเคียเวลลี่ นักปรัชญาการเมืองผู้มีถิ่นเกิดอยู่ ณ เมืองฟลอเร้นซ์ เมืองที่ขึ้นชื่อโดดเด่นและยกย่องการใช้วาทศิลป์ ถูกถ่ายทอดมายังสุรินทร์ ‘ความเพริศแพร้วทางวาทะในฐานะเครื่องประดับสูงสุดของนักการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายที่ดีของนคร (Common good)’ จึงเป็นสิ่งที่ปรากฏอย่างรูปธรรมผ่าน สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในเวลาต่อมา

ความเพริศแพร้วทางวาทะอันเป็นที่ประจักษ์นี้เอง บวกกับวิถีมุสลิมที่สร้างตัวตนของสุรินทร์ ด้วยคุณสมบัติการผนวกรวมระหว่างความเป็นนักคิดและนักพูด ในความเป็นนักการเมือง ทำให้สุรินทร์ทำออกมาได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะผู้เชื่อมสะพานของความต่างโดยเฉพาะความต่างที่ปรากฏอยู่ในชีวิตของเขา ระหว่างโลกใบหนึ่งก่อนที่เขาจะออกจากบ้าน กระทั่งโลกอีกใบหลังจากนั้น เข้าด้วยกัน

“การศึกษาที่เชื่อมโลกได้ ทำให้ อ.สุรินทร์ เป็นสะพานเชื่อมข้ามแม่น้ำร้ายได้” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

นักการเมืองใต้ที่คนส่วนกลางมิอาจปฏิเสธได้

 

สำหรับ ศ.ดร.ไชยยันต์ ไชยพร ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าตนไม่ได้รู้จักกับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ไชยยันต์ยอมรับว่าหากตนไม่ได้ข้อความสำคัญที่ ดร.สุรินทร์ คัดมาจากหนังสือของรุสโซ ลงในบทความฉบับหนึ่งในรัฐศาสตร์สารที่ ดร.สุรินทร์เป็นผู้เขียน ตนก็มิอาจสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิ่น มาได้

ในแง่ของการพบเจอ ไชยันต์ กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสพบกับ ดร.สุรินทร์ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือที่สนามบินสุราษฎร์ธานี หลังจากช่วงเวลาที่ตนฉีกบัตรเลือกตั้งได้ไม่นาน ครั้งที่สองคือที่โรงแรมแห่งหนึ่งในซอยร่วมฤดี ขณะนั้น ตนได้ติดตาม อ.สมบัติ จันทรวงศ์ จึงได้มีโอกาสพบปะกับ ดร.สุรินทร์ สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้จาก ดร.สุรินทร์คือ ท่านมีความต้องการที่จะพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองหลวงที่ทันสมัย มีความเป็นสากลทัดเทียมกันในอาเซียน โดยเฉพาะในแง่การจัดการเชิงสาธารณะ

กระทั่งไชยยันต์ทราบถึงกระแสการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในความคิดของไชยันต์คือตนคาดหวังให้ ดร.สุรินทร์ ได้เป็นหัวหน้าพรรค กระทั่ง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมุสลิมไทยคนแรก ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ทุเลาลงได้

“ผมคิดว่าคุณอภิสิทธ์ควรมีสปิริตลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค บรรดาคู่ขัดแย้งทางการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยและพี่น้องชาวเสื้อแดง หากจะให้พรรคสองพรรคนี้จับมือกัน คิดว่า ดร.สุรินทร์ น่าจะเป็นคนที่ทำได้ ถึงแม้แกจะเป็นคนใต้ แต่ก็มีความสามารถที่คนส่วนกลางมิอาจปฏิเสธได้” ไชยันต์ กล่าว

อีกทั้ง ศ.ดร.ไชยันต์ยังทิ้งท้ายไว้ว่า หากเราจะสามารถมีผู้นำเช่น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในพื้นที่บ้านเกิดของเรา แม้ตนจะไม่ใช่พี่น้องมุสลิม แต่ก็อยากให้สังคมผลักดันคนเช่นนี้ให้เกิดขึ้น

นักกิจกรรมผู้มุ่งมั่นรวมสังคม

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับความร่วมมือจาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ในการสนับสนุนส่งเสริมงานที่เกี่ยวข้องกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลและกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ มาโดยตลอด กระทั่งก่อนวาระสุดท้ายของ ดร.สุรินทร์ ก็ยังได้รับเกียรติจาก ดร.สุรินทร์ ในการเข้าเปิดพิธีในงาน Thailand Halal Assembly ครั้งที่5 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560แต่ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเสียก่อน 

“คุณสมพล รัตนาภิบาล แจ้งผมว่าบังหลีมเข้าโรงพยาบาล ผมก็ตกใจมาก ตอนนั้นเราก็ทำวิจัยเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด ผมก็แจ้งท่านจุฬาราชมนตรีให้เป็นประธานในพิธีเปิดแทน ในใจผมขณะนั้นรู้แล้วว่ากำลังจะสูญเสียพี่ชาย หลังจากเสร็จพิธีเปิด ก็ทราบว่า ดร.สุรินทร์ จากเราไปแล้ว ซึ่งนั่นเป็นวันที่เราไม่เคยลืม” วินัย กล่าว  

ทั้งนี้ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ยังกล่าวต่อ ว่าในระหว่างที่ ดร.สุรินทร์ยังใช้ชีวิตการทำงานร่วมกับตนและคนอื่น ๆ นั้น ท่านยังมีความตั้งใจที่จะทำโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ทั้งต่อสังคมคนทำงานและสังคมโดยรวม ซึ่งมี  4 กิจกรรม ด้วยกัน

กิจกรรมแรก ในชื่อ มัจมะอั้ลบะห์รัย เป็นวลีภาษาอาหรับจากโองการในคัมภีร์อัลกุรอ่าน หมายถึงสายธารทั้งสองที่บรรจบกัน ในที่นี้หมายถึงการบรรจบกันของสองความรู้ คือความรู้อิสลามและความรู้โลกสมัยใหม่ ซึ่งวิทยาศาสตร์ฮาลาลคือหนึ่งในนั้น

กิจกรรมที่สอง ดีวานียะฮ์ เป็นกิจกรรมกลุ่มที่ ดร.สุรินทร์ จัดตั้งขึ้นมาโดยเชื้อเชิญบุคคลที่ใกล้ชิดเข้ามาร่วมกัน สำหรับ รศ.ดร.วินัย นั้น โดยส่วนตัวตนมีความภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่ง ดีวานียะฮ์ คือวัฒนธรรมการพบปะรูปแบบหนึ่งของชาวอาหรับ ที่มีการนั่งพื้นและใช้หมอนสำหรับเอกเขนก ประกอบกับการจับชา สนทนาร่วมกัน

กิจกรรมที่สามคือ อามานะฮ์ อัล-มุจมาอั้ล หรือ Order Society เป็นความพยายามในการผลิตบุคลากรมุสลิมที่มีคุณภาพแก่สังคม โดยคัดเลือกจากนักเรียนที่มีเกรดเฉลี่ย 3 ขึ้นไป เพื่อสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับต่างประเทศ โดยส่วนนี้ รศ.ดร.วินัย ได้รับช่วงต่อจาก ดร.สุรินทร์ โดยตนได้จัดตั้งโรงเรียนสอนคิดขึ้น เพื่อฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้และได้รับการศึกษาที่ดีตั้งแต่เด็ก โดยจะจดทะเบียนจัดตั้งในนามมูลนิธมูฮัมมาดียะฮ์ ตามชื่อกลุ่มทางสังคมที่ก่อตั้งในประเทศอินโดนีเซีย โดย อะหมัด ดะห์ลัน ปู่ของ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

กิจกรรมสุดท้ายคือ อัลฟูนุล อัลอิสลามียะฮ์ เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการฟื้นฟูเรื่องราวของศิลปะอิสลามให้กลับมาสร้างชีวิตชีวาให้กับความเป็นมุสลิมในสังคมร่วมสมัย เนื่องจากการขาดหายไปของสิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมมุสลิมแห้งแล้ง สำหรับ รศ.ดร.วินัย จึงได้นำเสนอให้มีสิ่งเหล่านี้ ผ่านการตกแต่งห้องทดลองในสถาบันวิทยาศาสตร์ฮาลาล ในชื่อห้อง ตันศรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ด้วยการประดับภาพศิลปะอิสลามไว้ในห้องทดลองดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศสุนทรียะในการทำงานของนักวิจัย

จากกิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมา สำหรับ รศ.ดร.วินัย กล่าวว่าเป็นกิจกรรมที่ตนตั้งใจในการสานต่อจาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ โดยเชื่อว่าจะเป็นคุณูปการแก่สังคมไทยโดยรวมต่อไป 

ความภาคภูมิใจจากปอเนาะ

 

อุสมาน ราษฎร์นิยม อาจารย์ประจำวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองว่าตนกับ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ มีความผูกพันระหว่างครอบครัวมาเนิ่นนาน เนื่องจากครอบครัวตระกูลพิศสุวรรณกับครอบครัวของอาจารย์อุสมานร่วมกันทำงานด้านการศึกษาอิสลามแก่สังคมมุสลิมในจังหวัดนครศรีธรรมราช นับตั้งแต่ยุคบุกเบิกปอเนาะหลังแรก ณ ชุมชนท่าเรือ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยปู่ของ ดร.สุรินทร์ คือหนึ่งในผลผลิตจากปอเนาะหลังแรก กระทั่งเกิดปอเนาะบ้านตาล หรือโรงเรียนประทิปศาสน์ ณ ปัจจุบัน ในเวลาต่อมา

“ผมเกิดเป็นเด็กปอเนาะ เกิดในปอเนาะ เป็นวลีสำคัญที่ ดร.สุรินทร์ เคยกล่าว และปอเนาะคือสถานที่บ่มเพาะความเป็นอิสลาม” อาจารย์อุสมาน กล่าว

อาจารย์อุสมาน ยังกล่าวต่อ ว่าสังคมในจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยรวมเป็นสังคมพระพุทธศาสนา มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศาสนสถานเกี่ยวกับพรพุทธศาสนามากมาย แต่สังคมมุสลิมกับพุทธศาสนิกชนก็อยู่ร่วมกันได้ 

สำหรับวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี เอง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ยังเป็นบุคลาธิษฐานที่ยังคุณูปการต่อวิทยาลัย ในสัมมนาวิชาการเพื่อการจัดตั้งวิทยาลัยอิสลามศึกษา ทางวิทยาลัยยังเคยได้รับเกียรติจาก ดร.สุรินทร์ เข้าร่วมนำเสนอบทความทางวิชาการ ประเด็นอิสลามกับการเมือง โดยนำเสนอไว้ว่า อิสลามมีหลักการที่เป็นบูรณภาพร่วมกับสังคม เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคม และการที่มนุษย์จะสามารถมุ่งแสวงหาสิ่งที่ดีได้นั้น จิตวิญญาณที่สัมพันธ์กับอิสลามจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาสังคมต่อไปได้ ซึ่งความคิดนี้ของ ดร.สุรินทร์ ได้ทำให้เกิดวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ขึ้นมา

ขณะเดียวกัน อาจารย์อุสมานยังอธิบายว่า ไม่ว่า ดร.สุรินทร์ จะมีความเกี่ยวข้องกับใคร ล้วนแล้วแต่สร้างความภาคภูมิใจให้แต่ละบุคคล โดยเฉพาะกับแม่ของท่าน คือฮัจยะ ซอฟียะห์ พิศสุวรรณ หรือที่ทุกคนเรียกกันว่า มามา ผู้สร้างตัวตนให้ ดร.สุรินทร์ เป็น ดร.สุรินทร์ ในแบบที่เรารู้จักและภูมิใจ

ตัวตนที่ไร้พรมแดนของการจบสิ้น

 

เพ็ญพิชชา เอกพิทยตันติ หรือ แนน เลขานุการส่วนตัว ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่าตนทำงานร่วมกับ ดร.สุรินทร์ ร่วมระยะเวลาได้ 10 ปี กระทั่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 11

เพ็ญพิชชา ยังกล่าวถึงนิยามของพรมแดนโดยทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่กำหนดขอบเขตพื้นที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกัน เพื่อแบ่งแยกบางสิ่งบางอย่างออกจากกัน สำหรับ ดร.สุรินทร์ ท่านคือบุคคลที่ก้าวข้ามพรมแดนเหล่านั้น สำหรับเพ็ญพิชชา พรมแดนสำคัญที่ ดร.สุรินทร์ ได้ก้าวข้ามมีสามพรมแดนด้วยกัน

พรมแดนที่หนึ่ง คือพรมแดนระหว่างปัจเจกกับส่วนรวม ดร.สุรินทร์ มักกล่าวอยู่เสมอว่า การกระทำของคนหนึ่ง ส่งผลต่อคนอื่นเสมอ การกระทำเพื่อคนอื่น ทำให้เรามีคุณค่า นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ท่านทำงานหนัก แต่ท่านก็มีความสุข เมื่อมีความสุข หัวใจของท่านก็ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งนี้ ท่านยังใช้เวลาบนเครื่องบิน โดยเพ็ญพิชชาคิดว่านั่นคือเวลาสำหรับปลีกตนเพื่อพักผ่อนของท่าน แต่นั่นก็ไม่ใช่ ดร.สุรินทร์ ยังใช้เวลาดังกล่าวไปกับการนำเสนอประสบการณ์ที่ตนได้พบเจอจากการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในสมัยที่ท่านดำตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนเอง ก็เป็นที่ทราบกันว่า ดร.สุรินทร์ เป็นเลขาธิการที่ไม่อยู่กับสำนักงานใหญ่ ท่านมักใช้เวลาไปกับการพบปะ เผชิญกับปัญหาผ่านการลงสนามในพื้นที่ประชาคม เมื่อกล่าวถึงเวลาพักของ ดร.สุรินทร์ สำหรับเพ็ญพิชชา จึงเป็นสิ่งที่มิอาจทราบได้

พรมแดนที่สอง คือพรมแดนที่แบ่งแยกความเป็นมนุษย์ออกจากกัน เพ็ญพิชชากล่าวว่า ดร.สุรินทร์เคยเล่าให้ตนฟังว่า ท่านเกิดในสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม ใช้ชีวิตอยู่กับปอเนาะ ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัดและโบสถ์คริสต์ กระทั่งท่านดำรงตำแหน่งสำคัญทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนระดับนานาชาติ ท่านมีบทบาทหลากหลายในการขับเคลื่อนนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสังคม ภัยพิบัติ กระทั่งสิทธิมนุษยชน ท่านยังคงเดินทางทำงานอยู่ในภารกิจเหล่านี้เสมอ

สุดท้าย คือพรมแดนของการมีตัวตนและไร้ตัวตน สำหรับเพ็ญพิชชา แม้ว่าตัวตนของ ดร.สุรินทร์ จะดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ งานของ ดร.สุรินทร์ ก็ยังคงอยู่ต่อไป

“หากในปีถัดไป มีคนถามว่า (แนน) ทำงานให้ ดร.สุรินทร์กี่ปี ก็คงต้องตอบไปว่าตนทำงานให้ท่านแล้ว 12ปี” เพ็ญพิชชา กล่าวทิ้งท้าย

สะพานสู่ความเป็นไปได้

 

ซากี พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะตัวแทนจากท่านจุฬาราชมนตรีท่านปัจจุบัน กล่าวถึง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ จากสองมุมมอง ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่าง ดร.สุรินทร์ หรือ บังหลีม กับผู้เป็นบิดา คือ ท่านจุฬราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล หรือบังซิส และความสัมพันธ์ในทางสังคมของ ดร.สุรินทร์ ที่ดำรงอยูระหว่างคำสองคำ คือ โพเดี้ยม กับจุดเริ่มต้นของ ดร.สุรินทร์

ซากี อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ดร.สุรินทร์ กับบิดาของตนว่า เริ่มต้นขึ้นจากการที่ ดร.สุรินทร์ ออกเสาะแสวงหาผู้เป็นทายาททางความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปอเนาะบ้านตาล ขณะนั้น บิดาของตนยังเป็นเพียงนักวิชาการศาสนาตัวน้อย ณ ชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา กระทั่ง บังซิส บิดาของซากี ได้เป็นหนึ่งในสักขีพยานในวันสมรสของบังหลีม กับภรรยา ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

ซากี ยังกล่าวต่อ ว่าทุกคนเจอสุรินทร์ผ่านโพเดี้ยม สำหรับตนไม่ใช่แค่การปาฐกถาหรือการหาเสียง แต่มันคือการบรรจบระหว่างโลกสองโลกที่เริ่มต้น ดร.สุรินทร์ กับโลกที่ ดร.สุรินทร์ พบเจอตั้งแต่เริ่มต้นออกจากบ้าน โดยสิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ในคำพูดของเขาเสมอ แม้ในทางปรัชญา นักการเมืองกับนักวาทศิลป์คือสิ่งที่แยกออกจากกัน แต่สุรินทร์ก็ได้รวมสิ่งเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน

“นอกจากไร้พรมแดนแล้ว ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สู่การเป็นไปได้ จากความเลือนราง สู่ความเข้มแข็ง” ซากีในฐานะผู้รู้จัก ดร.สุรินทร์ จากมุมมองที่ห่างไกล กล่าวทิ้งท้าย

ในสายตาของลูกที่มีต่อพ่อ 

 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ในฐานะบุตรชายคนโตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออซ์ฟอร์ด กล่าวถึงช่วงเวลาที่บิดาของตนจากไปเพียงไม่ถึง 1 ปี ทำให้ตนมีวิวัฒนาการในการใช้ชีวิตมากขึ้น ฟูอาดี้เริ่มฉุกคิดถึงความหมายของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป สิ่งสำคัญที่เขาคำนึงได้คือตัวของเขาและน้อง ๆ แล้ว การทำงานเพื่อสังคม ต่อจากนี้ของการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่ต้องทำต่อไป

ฟูอาดี้ ยังกล่าวต่อ ว่าความสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้เป็นบิดามิได้สวยหรู บ่อยครั้งที่ตนถกเถียงทางความคิดกับผู้เป็นบิดา ตั้งแต่เรื่องการเรียน กระทั่งเรื่องที่ผู้เป็นบิดาตัดสินใจกระทำในระดับชาติบ้านเมือง ฟูอาดี้ยอมรับว่าคุณพ่อมีความตั้งใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แม้สิ่งเหล่านี้นำเราไปสู่ข้อถกเถียง แต่คุณพ่อก็ได้สอนให้เขารู้จักถ่อมตนไปในเวลาเดียวกัน การถ่อมตนเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ นั่นคือหนึ่งในคำสอนของผู้เป็นบิดาที่มอบให้แก่ฟูอาดี้ บุตรชายคนโต ขณะเดียวกัน ฟูอาดี้ก็ยอมรับว่าในฐานะบุตรชายของ ดร.สุรินทร์ ก็ไม่อาจหนีพ้นจากความคาดหวังบางประการของสังคมไปได้

“ในช่วงเวลาที่พ่อเป็นบุคคลสาธารณะ ความคาดหวังที่เกิดขึ้น ทำให้ผมผลักดันตัวเอง แต่ผมก็กังวลว่าจะต้องอยู่ใต้เงาของคุณพ่อตลอดไป นั่นอาจเป็นพระประสงค์ที่เหมาะสมแล้ว” ฟูอาดี้ กล่าว

ฟูอาดี้ยังเคยกล่าวถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งผู้เป็นบิดาเคยแนะนำให้ตน ชื่อ City and Man งานเขียนของ Leo Strauss แต่ตนก็อ่านไม่จบเนื่องจากอ่านยาก กระนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นความเข้าใจต่อฟูอาดี้จากหนังสือเล่มดังกล่าวได้ คืออย่าหมกมุ่นกับหน้าที่ จนลืมแสวงหาความสุขให้ตนเอง

สำหรับฟูอาดี้ ตนได้รับความร่วมมือกับมิตรสหายที่รู้จักกับผู้เป็นบิดาในต่างประเทศ ในการจัดตั้งมูลนิธิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ โดยทำงานคล้ายคลึงกับมูลนิธิโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ สำหรับการสนับสนุนช่วยเหลือทางสิทธิมนุษยชนและการศึกษา คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในระยะเวลา 10 – 20 ปี ซึ่งการจัดตั้งมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ นี้เอง เป็นความตังใจหนึ่งที่ตนอยากช่วยแก้ไขปัญหาสังคมโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น

ฟูอาดี้กล่าวว่า ตนเคยพูดกับน้องว่าความสำคัญของการศึกษา ทำให้หลุดพ้นจากกับดักทางสังคม ซึ่งสิ่งเดียวที่จะทำให้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลุดพ้นจากปัญหาที่เผชิญอยู่ คือการมีสิทธิเข้าถึงการศึกษา โดยผู้เป็นบิดาเองเคยกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณยังเคยส่งข้อความทางอีเมล ไปหา ศาสตราจารย์ ตอริก รอมฎอน ประจำแผนกอิสลามศึกษาร่วมสมัย วิทยาลัยเซนต์แอนโทนี่ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“เหตุการณ์ในพื้นที่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตผู้คนไปแล้วกว่าห้าพันคน เหตุผลหลักคือการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ และการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต การศึกษาเท่านั้นที่จะพาเราไปข้างหน้า การศึกษาจะทำให้ได้งานที่ดีกว่า ทำให้เรามีส่วนร่วมกับสังคมต่อไป” 

นี่คือข้อความที่ ฟูอาดี้ บุตรชายคนโต ได้อ่านอีเมล ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่เคยส่งให้กับศาสตราจารย์ตอริก รอมฎอน