รอมฎอนกับวิถีชีวิตมุสลิม

ในสังคมภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดขายแดนภาคใต้ จะมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ก็มีมุสลิมอาศัยอยู่บ้างเป็นประปราย โดยวัฒนธรรมของมุสลิมจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเดือนรอมฎอนอีกหนึ่งเดือน และถือเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดของชาวมุสลิม

เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอนวิถีของชาวมุสลิมทั่วทั้งโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงวันเวลาปกติ ซึ่งในกลางวันของเดือนนี้ ชาวมุสลิมจะต้องอดจากการกิน การดื่ม และอดจากสิ่งต่างๆ ที่ศาสนาห้าม โดยระยะเวลาของการอดนั้นจะเริ่มตั้งแต่ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเล็กน้อย กระทั่งดวงอาทิตย์ตกลง  หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า การถือศีลอดหรือเดือนบวชนั่นเอง  ซึ่งการดำเนินชีวิตในลักษณะนี้ จะดำเนินไปทั้งเดือน

เดือนรอมฎอนเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งเรียกว่าปฏิทินฮิจเราะห์ โดยในการนับวันเดือนปี ซึ่งชาวมุสลิมจะถือการบรรจบของแต่ละเดือนตามระบบจันทรคติ ปฏิทินจันทรคติในหนึ่งเดือนจะนับตามการโคจรรอบโลกของดวง จันทร์ซึ่งต่างจากสากลที่ใช้รูปแบบของสุริยคติในการนับวันเดือนปี สำหรับเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ตรงกับเดือนสิงหาคม

ช่วงเวลาใกล้ถึงรอมฎอนชาวมุสลิมจะตระเตรียมอาหารเพื่อใช่บริโภคภายในเดือนนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ อินทผลัม สิ่งถือเป็นผลไม้คู่กับการถือศีลอด โดยชาวมุสลิมมีความเชื่อว่า การละศีลอดในยามพระอาทิตย์ตกดินด้วย ผลอินทผลัมนั้น จะถือเป็นการได้รับผลบุญเป็นการตอบแทน นอกจากในเรื่องของผลบุญแล้ว อินทผลัมประกอบด้วย น้ำตาลฟรุกโตส กลูโคส น้ำ วิตามิน และแร่ธาตุ โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตส ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารโดยให้พลังงาน และสามารถเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว

นอกเหนือจากการถือศีลอดในช่วงกลางวันแล้ว ชาวมุสลิมถือว่า ช่วงเวลาในเดือนรอมฎอนนี้มีความประเสริฐ การทำคุณงามความดีจะได้รับการตอบแทนเป็นอย่างมากกว่าช่วงเวลาในเดือนอื่นๆ  การแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระเจ้า จะถูกถ่ายทอดออกมา อย่างเช่น การบริจาคทาน การอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน การรำลึกถึงพระเจ้าเป็นต้น

เพราะอะไร เดือนรอมฎอนจึงถือเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐของชาวมุสลิม สาเหตุนั้นก็คือ ในเดือนนี้ คัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นธรรมนูญ หลักการดำเนินชีวิตของมุสลิม ได้ถูกประทานลงมาในเดือนนี้ ฉะนั้นมุสลิมจึงใช้เวลาเกือบทั้งหมด เพื่อที่จะอ่านและศึกษา ทำความเข้าใจกับคัมภีร์นี้ รวมไปถึงในเดือนนี้ เป็นเดือนแห่งความดี ประตูสรรค์ได้ถูกเปิดออก และประตูนรกได้ถูกปิดลง

จึงกล่าวได้ว่า เดือนเราะมะฏอนเป็นเดือนแห่งการขัดเกลาจิตใจ เนื่องจากในช่วงกลางวันมุสลิมต้องอดอาหาร และจะไม่ทำในสิ่งที่ไร้สาระ ด้วยเหตุนี้จึงมีความระมัด ระวังอยู่ตลอดเวลา วิทยปัญญาที่เด่นชัดซึ่งมาพร้อมกับการถือศีลอดก็คือ การเข้าใจถึงความอดยากของเพื่อนมนุษย์ ที่ไม่สามารถหาอาหารได้ การถือศีลอดจึงเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และดังที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้าที่ว่า เดือนนี้ได้มีการส่งเสริมให้มีการบริจาคมากๆ เพื่อที่จะลดช่องว่างระหว่างสังคมขึ้น

อย่างไรก็ตาม การถือศีลอด ได้มีข้อยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ เช่น คนชรา คนป่วย ผู้หญิงมีครรภ์ และผู้หญิงให้นมบุตร

ในยามกลางวัน ครั้นเมื่อใกล้เวลาละศีลอด ในชุมชนมุสลิมจะเต็มไปด้วยร้านอาหารที่ต่างขนเมนูเด็ดๆ  มาขายกันอย่างคึกคัก อาหารพื้นบ้านจะขายดีเป็นพิเศษ เช่น ข้าวยำ ไก่กอและ (ไก่ย่างที่สุกแล้วมาราดน้ำแกงให้ทั่วตัวไก่ แล้วตั้งบนเตาไฟอ่อนๆ อีกครั้ง เมื่อเนื้อหมาดก็ราดน้ำแกงซ้ำอีก 2 ครั้ง) โรตี มะตะบะ ซึ่งบางแห่งลูกค้าต้องต่อแถวกันยืดยาวกันเลยทีเดียว

สำหรับยามกลางคืน  ช่วงค่ำคืนของเดือนนี้จะถูกประดับประดาด้วยสีสันอันสวยงาม แสง สี ตามมัสญิด ผู้คนจำนวนมากจะเดินทางมารวมตัวกันที่นั่น และละหมาดในยามค่ำคืน รวมถึงมีร้านค้าจำนวนมากที่เปิดบริการในช่วงเวลากลางคืน อาจจะกล่าวได้ว่า กลางคืนของเดือนนี้ เสมือนกับกลางวันของช่วงเดือนอื่นๆ ไม่มีผิด กลางคืนในช่วงรอมฎอนของชาวมุสลิมจะยาวนานมาก บางคนใช้เวลากลางคืนในการพักผ่อนเพียงน้อยนิด และทำการภักดีต่อพระเจ้า และก่อนที่แสงอาทิตย์จะขึ้น ชาวมุสลิมจะรับประทานอาหาร เพื่อเตรียมตัวที่จะถือศีลอดวันใหม่

เดือนรอมฎอนถือเป็นโรงเรียนชีวิตที่สำคัญสำหรับชาวมุสลิม ซึ่งโอกาสดังกล่าวนี้จะเป็นช่วงเวลาในการขัดเกลาตนเอง และถือเป็นบทพิสูจน์สำคัญต่อการภักดีพระผู้เป็นเจ้าตาม และบทพิสูจน์ที่แสดงถึงความกตัญญูต่อพระเจ้าความเชื่อของมุสลิม