เลือกตั้งตุรกี 2018 : ชัยชนะของแอรโดอันกับความจริงที่ยากจะรับได้

ตุรกีมีกำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของตุรกี ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางทำให้หลายคนต้องยอมรับความจริงที่ยากจะรับได้ ซึ่งเป็นชัยชนะของ “แอรโดอัน” (เอ็ด-โด-อัน) พรรค AK และ “พันธมิตรของประชาชน”(People’s Alliance) ด้วยกับผลคะแนนร้อยละ 52.55 สำหรับประธานาธิบดี และร้อยละ 53.62 สำหรับพันธมิตรของประชาชน ซึ่งถือว่าคะแนนเสียงดังกล่าวเป็นเสียงส่วนมากสำหรับแอรโดอันและ ส.ส.ของพันธมิตรของประชาชนในรัฐสภา

ตุรกีมีกำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของตุรกี ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางทำให้หลายคนต้องยอมรับความจริงที่ยากจะรับได้ ซึ่งเป็นชัยชนะของ “แอรโดอัน” (เอ็ด-โด-อัน) พรรค AK และ “พันธมิตรของประชาชน”(People’s Alliance) ด้วยกับผลคะแนนร้อยละ 52.55 สำหรับประธานาธิบดี และร้อยละ 53.62 สำหรับพันธมิตรของประชาชน ซึ่งถือว่าคะแนนเสียงดังกล่าวเป็นเสียงส่วนมากสำหรับแอรโดอันและ ส.ส.ของพันธมิตรของประชาชนในรัฐสภา

นับตั่งแต่ปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา อุณหภูมิการเมืองของตุรกีสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ตุรกีเป็นประเทศที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย และเป็นประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลางซึ่งมีบทบาทในการกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของประเทศในภูมิภาคดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น ตุรกีเข้าไปมีส่วนร่วมในการรบในประเทศซีเรีย เป็นตัวถ่วงดุลกับพันธมิตรของประเทศซาอุดิอาระเบียในเหตุการณ์การปิดล้อมประเทศกาตาร์ และมีบทบาทในการสนับสนุนรัฐปาเลสไตน์ นอกจากนั้น ตุรกีภายใต้การนำของประธานาธิบดี ทายยิบ แอรโดอันยังต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพอียิปต์ และเป็นตัวแบบที่สำคัญของ “ประชาธิปไตยแบบมุสลิม” อีกด้วย กล่าวได้ว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้นอกจากจะเป็นตัวกำหนดนโยบายการเมืองภายในประเทศและยังเป็นการกำหนดนโยบายการต่างประเทศของตุรกีในอนาคตด้วย

คู่ต่อสู้หลักในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ประธานาธิบดี เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน  ซึ่งเป็นผู้นำพรรคเพื่อความยุติธรรมและพัฒนา (AKP อ่านว่า อา-แค-แพ หรือ พรรคอัค) และพันธมิตรของประชาชน กับ มูฮัรรอม อินเจ ผู้สมัครท้าชิงจากพรรคสาธารณรัฐประชาชน (CHP อ่านว่า แช-แห-แพ) กล่าวสั้น ๆ การแข่งขันกันในครั้งนี้เป็นการเดิมพันต่อสู้กันระหว่าง “พันธมิตรของประชาชน” กับ “พันธมิตรแห่งชาติ” พันธมิตรของประชาชนมีจุดยืนที่ต้องการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง มีอุดมการณ์แบบสภาพจริงนิยม สนับสนุนนโยบายรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียและส่งกองกำลังทหารเข้าไปแก้ไขปัญหาในประเทศซีเรีย นอกจากนั้น พรรค AK ยังมีนโยบายสนับสนุนกลุ่มขบวนการฟื้นฟูอิสลาม มีส่วนร่วมกับโลกมุสลิมและส่งเสริมประชาธิปไตยในตะวันออกกลางอีกด้วย ในขณะที่ พันธมิตรแห่งชาติมีนโยบายต่างประเทศในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยโดยการส่งตัวกลับประเทศและถอนกองกำลังทหารออกจากประเทศซีเรีย อีกทั้งยังต้องการสร้างระยะห่างกับ “โลกมุสลิม” แต่มุ่งเน้นไปสู่การเป็นพันธมิตรกับยุโรปและตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบ อีกนัยหนึ่ง การเดิมพันครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อล้ม “ระบอบแอรโดอัน” แต่เป็นความพยายามที่จะล้มระบอบเก่าภายใต้แนวทางแบบประชาธิปไตยและสันติวิธี การต่อสู้ครั้งนี้เดิมพันไว้สูงเพราะฝั่งหนึ่งเป็นการ“เดินหน้า” เปลี่ยนระบบจากรัฐสภาไปสู่ระบบประธานาธิบดี และเป็นการ “คงไว้” ซึ่งนโยบายแบบความเป็นจริงนิยมของแอรโดอัน กับฝั่งด้านหนึ่งซึ่งชู “การเปลี่ยนแปลง” ไปสู่ความเป็นเสรีนิยมและเซคคิวล่าแบบตะวันตก และ “หันกลับ” ไปสู่การใช้ระบบรัฐสภาแบบเดิม โดยสรุป ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นตัวชี้ชะตาของประเทศตุรกีว่าจะเดินไปในทิศใดในอนาคตระหว่างสองแนวทางหลักข้างต้น

ทั้งสองแนวทางชู “ประชาธิปไตย” เหมือนกันแต่ให้ความหมายไม่เหมือนกัน แนวทางแรกเป็นตัวแบบที่ชี้ให้เห็นว่า “ประชาธิปไตยกับอิสลาม” สามารถไปด้วยกันได้ มุสลิมสามารถอยู่ในการเมืองแบบเซคคิวล่า (ฆราวาสวิสัย) ได้และสามารถเป็นได้ทั้งมุสลิมและเซคคิวล่าในเวลาเดียวกัน[1] ในขณะที่แนวทางที่สองมองว่าประชาธิปไตยไม่สามารถไปได้กับความเป็นศาสนา (อิสลาม) เช่น การต่อต้านฮิญาบในพื้นที่สาธารณะ เพราะเซคคิวล่าคือการกำจัดศาสนาออกจากการเมือง ดังที่มุสตาฟา กามาล อาตาเติร์กได้กระทำในช่วงก่อสร้างรัฐชาติตุรกี เมื่อใดที่หลักการเซคคิวล่าถูกท้าทายจากความเป็นศาสนา กลุ่มนายทหารที่ถือตนว่าเป็นผู้ปกป้องแนวทางของอาตาเติร์กจึงมักนิยมการยึดอำนาจโดยการทำรัฐประหาร แนวทางที่สองในปัจจุบันมีพรรค CHP และ IYI เป็นหัวขบวน ในขณะที่แนวทางที่หนึ่งมีพรรค AK เป็นตัวแบบที่สำคัญ

มโนทัศน์ประชาธิปไตยอาจแบ่งออกเป็นสองแบบ ได้แก่การให้ความสำคัญไปที่ “กระบวนการ” และ “สาระ” แนวทางแบบแรกชี้ให้เห็นว่าการได้มาซึ่งความชอบธรรมทางการเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจโดยกระบวนการประชาธิปไตยซึ่งมีการเลือกตั้งเป็นกฎเกณฑ์พื้นฐาน ในขณะที่แนวทางที่สองมองว่า “กระบวนการ” อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอในการได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตย แต่กลุ่มแนวทางที่สองก็ไม่สามารถสร้างนโยบายและวางอุดมการณ์ที่ชนะใจคนส่วนใหญ่ได้ กลุ่มที่สองจึงมักจะเรียกร้องโหยหา “สาระ” ของประชาธิปไตย และใช้ “สาระ” ดังกล่าวเป็นข้ออ้างว่ากลุ่มแนวทางแบบแรกไม่เป็นประชาธิปไตยโดยใช้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตและการขาดความเป็นธรรมและเสรีในการเลือกตั้ง ที่ตลกร้ายกว่านั้นคือการที่ทหารกลุ่มหนึ่งมักใช้ข้ออ้างดังกล่าวในการก่อรัฐประหารอีกด้วย

การเลือกตั้งครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการเลือกประธานาธิบดีโดยตรงและส่วนที่สองคือการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เข้าไปนั่งในสภา ถ้าหากว่าผลคะแนนการเลือกตั้งในครั้งไม่สามารถชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนร้อยละ 51 ได้ ก็จะมีการเลือกตั้งรอบสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าหากว่ามีผู้สมัครท่านใดสามารถได้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 51 ก็ถือว่าเป็นส่วนมากอย่างเป็นเอกฉันท์

ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้มีลักษณะทางประชากรคล้ายกับผลการลงประชามติครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 2017[2] ในแง่ที่ว่าประชาชนในเมืองแถบชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือทางทิศตะวันตกของประเทศตุรกี (เช่น อิซมิร มูลา อัยดึน) ให้คะแนนเสียงกับพรรคฝ่ายค้านเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ดิยารบาคิรและหักคารึ ซึ่งเป็นพื้นของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเคิร์ดประชากรส่วนใหญ่เทคะแนนเสียงให้กับพรรคประชาธิปไตยประชาชน (HDP อ่านว่า แฮ แด แพ) ซึ่งเป็นพรรคที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวเคิร์ด ส่วนพรรค AK ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จากทั่วประเทศโดยเฉพาะในเขตที่มีความเคร่งศาสนาสูง อย่างเช่น คอนย่า ริเซ แอรซูรูมและไคซีรี เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ลักษณะทางประชากรที่แตกต่างออกไปจากผลการเลือกตั้งครั้งก่อนคือ ชัยชนะของแอรโดอันและพรรค AK ในเขตเมืองใหญ่ที่สำคัญ อย่างเช่น อิสตันบูล ชัยชนะในหัวเมืองใหญ่เปรียบเสมือนการยัดเยียดความปราชัยที่มีความชอบธรรมให้กับพันธมิตรฝ่ายค้านที่มักอ้างวาทกรรมว่า “คนเมืองที่มีการศึกษาไม่เลือกพรรค AK ในขณะที่คนชนบทที่ยากจนมักจะเลือกพรรค AK เพราะสามารถซื้อเสียงได้ง่าย”

มีข้อสังเกตที่สำคัญสองประการในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประการแรก การรวมตัวกันของ “พันธมิตรแห่งชาติ” ซึ่งประกอบด้วยพรรค CHP, IYI และ SP บ่งชี้ให้เห็นการรวมตัวที่แปลกประหลาด กล่าวคือ พรรค SP คือพรรคที่มีอุดมการณ์อิสลามนิยมและมีจุดยืนฝั่งขวาสุดโต่งสามารถจับมือกันได้กับพรรคที่มีอุดมการณ์เซคคิวล่า เสรีนิยมและมีจุดยืนฝั่งซ้าย การจับมือกันระหว่างพรรคอิสลามนิยมกับพรรคอาตาเติร์กนิยมชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งทางอุดมการณ์ หรืออาจกล่าวได้ว่า การผนึกกำลังครั้งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนการต่อสู้ที่อุดมการณ์ทางการเมืองแต่เป้าหมายสูงสุดคือการกำจัด “ระบอบแอรโดอัน” เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี แม้ว่าฝ่ายค้านจะเอือมระอากับการปกครองของระบอบที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “อำนาจนิยม” แต่กระนั้น ทุกพรรคก็พร้อมเดินหน้าหาทางออกให้กับปัญหาทางการเมืองด้วยการเลือกตั้ง

ประการที่สอง พลเมืองชาวตุรกีส่วนใหญ่ยังคงไว้วางใจ “แอรโดอัน” (60%) และพรรค AK (51%) ให้บริหารประเทศต่อ แต่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าชาวตุรกีในทวีปอเมริกา รัสเซียและจีนส่วนใหญ่เลือกเทคะแนนเสียงให้พรรคฝ่ายค้าน ในขณะที่ชาวตุรกีในยุโรปตะวันตกและสแกนดิเนเวีย อาทิ เยอรมัน ฝรั่งเศส นอร์เวย์และสวีเดนเทคะแนนเสียงส่วนใหญ่กับแอรโดอันและพรรค AK

ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่ที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศไว้วางใจระบอบแอรโดอัน จะกล่าวได้หรือไม่ว่าเสียงเหล่านี้ไม่มีคุณภาพและไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเราควรกล่าวหาระบบการเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งของตุรกีว่าไม่เป็นธรรมและไม่เสรี การเลือกปฏิบัติและกีดกันพรรคฝ่ายค้านทำให้ผู้คนจำนวนกว่า 26 ล้านคน (52.5%) ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 59 ล้านคนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบด้านกระนั้นหรือ? ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สร้างความผิดหวังให้กับหลายฝ่าย อาทิ ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยตะวันตก ฝ่ายเซคคิวล่า ฝ่าย Gulen และกลุ่มซาลาฟีหัวรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่งก็นำความปิติยินดีมาให้กับฝ่ายมุสลิมที่นิยมประชาธิปไตย ขบวนการฟื้นฟูอิสลาม และผู้นำประเทศมุสลิมหัวก้าวหน้า เช่น ในมาเลเซีย อาเซอร์ไบจานและกาตาร์ แม้ว่ามันจะเป็นความจริงที่ยากจะรับได้สำหรับหลายคน แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีพรรคที่แพ้เลือกตั้ง ก็คงจะให้ความหวังและอนาคตที่ดีกว่าและคงดีกว่าการเมืองที่ไม่มีการเลือกตั้งกระมัง

 

 

 


[1] โปรดดูข้อสังเกตเพิ่มเติมได้ที่ Voll, John O. “Turkish Elections: Important Reminders about Secularism, Democracy, and Islam.” Prince Alwaleed Bin Talal Center for Muslim-Christian Understanding. Accessed June 24, 2018. https://acmcu.georgetown.edu/turkish-elections-important-reminders.

[2] อันวาร์ กอมะ. “ประชาธิปไตยลูกผสมจากตุรกีถึงไทย.” ใน ประชาธิปไตยและอิสลาม: ข้อสังเกตเบื้องต้น, เอกรินทร์ ต่วนศิริ และ อันวาร์ กอมะ บรรณาธิการ. ปัตตานี: ปาตานีฟอรั่ม, 2018. ฉบับออนไลน์โปรดดูที่ อันวาร์ กอมะ. “บันทึกจากตุรกีว่าด้วยผลประชามติถึงประชาธิปไตยไทย ตอนจบ.” Patani Forum. Last modified 2017. Accessed April 18, 2017. http://www.pataniforum.com/single.php?id=688.