สื่อมวลชนกับการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
สถานภาพ บทบาท และศักยภาพของสื่อพื้นบ้านในฐานะสื่อทางเลือกเพื่อการพัฒนาสังคมภาคใต้ โดยเฉพาะขีดความสามารถของสื่อและการนำเสนอข่าวออนไลน์ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผูกกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสื่อมวลชนกับการสร้างเสริมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกมองจากหลายฝ่ายว่า เป็นเส้นทางการสื่อสารเพื่อสันติภาพ
ในขณะนี้ เคเบิลทีวีท้องถิ่นมีช่องให้ชมมากถึง 60–80 ช่องรายการ บางบริษัทมีการผลิตรายการตอบสนองความต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในท้องถิ่นด้วย ขณะที่สมาชิกเคเบิลทีวีท้องถิ่นจะจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนอยู่ระหว่าง 200–350 บาท ต่อเดือน จากการสำรวจสถานภาพสื่อโทรทัศน์ท้องถิ่นและโทรทัศน์บอกรับสมาชิกใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) พบว่า จุดแข็งของเคเบิลท้องถิ่นในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างคือ ผู้ประกอบการมีพื้นฐานทางธุรกิจ มีรายได้ที่แน่นอนจากค่าสมาชิก สามารถนำมาวางแผนการประกอบการทางธุรกิจได้ สามารถขยายธุรกิจประเภท (Business Lines) ที่ใกล้เคียงกันได้ ยังสามารถขยายจำนวนสมาชิกในพื้นที่ใกล้เคียงเขตเมืองได้อีก สำหรับจุดอ่อนอยู่ที่ขาดแคลนบุคลากร ในการผลิตเนื้อหาทั้งข่าวและรายการ บุคคลากรขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ทำให้มีการลาออกบ่อยครั้ง ขาดประสบการณ์ ขาดความเป็นมืออาชีพ ผู้ประกอบการขาดความรู้พื้นฐานทางด้านนิเทศศาสตร์ การบริหารองค์กรขาดหลักการ
แต่มีความยืดหยุ่นสูง และรายการท้องถิ่นมีน้อย ส่วนโอกาสคือ การมีสื่อมวลชนท้องถิ่นที่สามารถเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันได้ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และราคาถูกลง การมีสถาบันทางวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ในพื้นที่ ทำให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นในการแสวงหาข่าวสารมากขึ้น และหน่วยงานรัฐเริ่มให้ความสำคัญในการเป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น คู่แข่งธุรกิจในลักษณะเดียวกันน้อย สามารถขยายตลาดได้อีก อุปสรรคของเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นคือ การแข่งขันทางธุรกิจกับโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งค่าใช้จ่ายของผู้รับบริการถูกกว่า จ่ายเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องจ่ายรายเดือน ธุรกิจเคเบิลระดับชาติเดินเกมรุกด้านการตลาดมากขึ้น ทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม โดยผูกกับโทรศัพท์มือถือ ทั้งกฎหมายยังขาดความชัดเจนในการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ และประชาชนมีทางเลือกในการบริโภคสื่ออื่นมากขึ้น การวิจัยสถานภาพ บทบาท และศักยภาพของสื่อพื้นบ้านในฐานะสื่อทางเลือกเพื่อการพัฒนาสังคมภาคใต้พบว่า ศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ ทั้งหนังตะลุง หนังตะลุงคน และดิเกร์ฮูลู ไม่สามารถหารายได้จากการประกอบอาชีพการแสดงได้เพียงอย่างเดียว ต้องประกอบอาชีพอื่นควบคู่ไปด้วย แต่เนื่องจากสื่อพื้นบ้านเหล่านั้นมีใจรัก ผูกพัน และตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสื่อพื้นบ้าน ทำให้ศิลปินพื้นบ้านมีภาระต้องสานต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ เพื่อให้สื่อพื้นบ้านยังคงอยู่ แม้จะอยู่ในสภาพย่ำแย่ และต้องพึ่งพิงรายได้จากการประกอบอาชีพอื่นก็ตาม สื่อพื้นบ้านกำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่ ต้องการการหนุนช่วยทั้งด้านวัตถุ การเพิ่มช่องทาง และการเสริมความรู้ ความคิด และความเข้าใจ ฉะนั้นรายได้จากการแสดงมาจากหน่วยงานที่เชิญสื่อพื้นบ้านไปจัดแสดง ซึ่งมีตั้งแต่หน่วยงานราชการระดับท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล สภาวัฒนธรรมระดับท้องถิ่น วัด โรงเรียน กลุ่มประชาชน กลุ่มศิลปินพื้นบ้านเสนอแนะว่า หน่วยงานรับผิดชอบต้องตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสื่อพื้นบ้านอย่างแท้จริง และต้องสนับสนุนศิลปินพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไปอย่างจริงจัง ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมกับสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ก็ยังเป็นอีกช่องทาง ที่ทำให้สื่อพื้นบ้านสามารถทำหน้าที่สืบทอดคุณค่าในฐานะของครูภูมิปัญญา ดังเช่นที่ คณะดิเกร์ฮูลูมะยะหา และคณะแหลมทราย ได้ดำเนินการไปแล้ว
จากการศึกษาสื่อพื้นบ้านภาคใต้ยัง พบว่า ผู้ที่เป็นศิลปินจะเอาใจใส่ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของสังคม และนำเอามาสอดแทรกในเนื้อหาของสื่อ มีการแลกเปลี่ยนเคล็ดลับฝีมือการแสดง กับเครือข่ายเพื่อนศิลปินด้วยกัน โดยอาจจะถือโอกาสในช่วงของการประกวดประชันกัน เป็นต้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาความรู้ พบว่า ความรู้ที่ศิลปินพื้นบ้านภาคใต้ต้องการ จะเป็นความรู้ที่เป็นความสนใจหลักของศิลปิน เช่น การปรับปรุงศิลปะการแสดง และความรู้ทั่วไปในสังคม ที่ศิลปินต้องติดตามเพื่อคงสถานภาพความเป็นผู้นำทางความคิด หรือความเป็นปัญญาชนของชุมชนเอาไว้ การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า สื่อมวลชนมักนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการแก้ปัญหาและการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ในช่วงแรกที่ได้รับผลกระทบ เช่น รัฐมีนโยบายอย่างไรที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และให้ความช่วยเหลืออย่างไร แต่ไม่มีปรากฏงานข่าวเชิงลึกและการติดตามว่า หลังจากได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบดำเนินชีวิตอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ และถูกกระทำจากสถานการณ์ความไม่สงบมีจำนวนมาก ส่งผลให้หญิงหม้ายมีจำนวนเพิ่มขึ้น การสูญเสียเสาหลักของครอบครัว ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะและบทบาทของตนเองมาเป็นผู้นำครอบครัวแทน โดยการออกหางานทำเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัวและส่งเสียดูแลลูก ประคับประคองชีวิตของสมาชิกของครอบครัวที่เหลืออยู่ให้ดำเนินต่อไป
นอกจากนี้นโยบายและการแก้ปัญหาของรัฐก็ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง และเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งสื่อมวลชนควรนำเสนอ แต่ประเด็นนี้กลับไม่ปรากฏและขาดหายไปจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหาของรัฐ เป็นปัญหาเชิงนโยบายที่สร้างผลกระทบให้กับผู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งรายการที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในฐานะของการผลิตสื่อสันติภาพคือ รายการใต้สันติสุขและยังมีรายการวิทยุอีกหลายรายการ ที่ก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อสังคม สาเหตุที่ทำให้รายการใต้สันติสุขกล่าวถึงกันมาก เพราะนอกจากเนื้อหาจะเน้นการสื่อสารเรื่องสันติภาพโดยตรงแล้ว การออกอากาศยังเป็นลักษณะของเครือข่าย โดยการสลับกันเป็นแม่ข่าย และเปิดโอกาสให้สถานีวิทยุอื่นๆ รับสัญญาณไปถ่ายทอดต่อได้ง่าย จากการศึกษายังพบอีกว่า ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง มีสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาเกิดขึ้นจำนวนมาก และสถานีเหล่านั้น ก็มีความพร้อมในด้านการจัดการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหากดึงสถานีวิทยุเหล่านั้นเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา และสถานีวิทยุชุมชนอื่นๆ ด้วย