บทบรรณาธิการ วารสารจากอินโดนีเซียถึงปาตานี

บทบรรณาธิการ

(1)

จาก “การรู้” สู่ “ความรู้”

วารสารปาตานีฟอรั่มฉบับนี้เป็นลำดับที่24พื้นที่สาธารณะ พื้นที่แห่งการตื่นรู้ ยังคงเป็นชุดความคิดหลักของการทำงานตลอดที่ผ่านมา เราพยายามทำกิจกรรมและเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้เพื่อให้เป็นความรู้ต่อไป 

ฉบับนี้เราแบ่งออกเป็น2 ส่วน ส่วนแรกว่าด้วยเรื่องของกิจกรรม Think Tank Forum ในปีที่ 3 ที่ทางปาตานีฟอรั่มและเครือข่ายองค์กรประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พยายามทำให้เกิดพื้นที่ตื่นรู้ โดยได้คัดสรรประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เข้าสู่อภิปราย ถกเถียงและแลกเปลี่ยนตลอดที่ผ่านมาจำนวน 4 เวที โดยผู้เข้าร่วมเวทีได้มีประสบการณ์จากประเด็นต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ศึกษา/นักวิชาการ/นักวิจัย/ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน 

ภารกิจที่สำคัญการเปลี่ยนผ่านจากคำว่า “การรู้” เป็น “ความรู้” ซึ่งสองคำนี้ห่างไกลกันมากในความหมาย กล่าวคือ “การรู้” ใช่ว่าจะเป็นความรู้ ไปเสียทุกอย่าง เช่นเดียวกับคำว่า “การเห็น” ต่างจาก “ความเห็นหรือความคิดเห็น” โดยสิ้นเชิง ฉะนั้นเองในท่ามกลางแตกต่างและหลากหลายของผู้คนในปัจจุบันกับข้อมูลมีจนล้น จนไม่รู้ว่าอะไรจริงหรือปั้นแต่ง ก็ยิ่งทำให้ความรู้สำคัญยิ่งขึ้น เพราะความเห็นจะสำคัญคือต้องมีความรู้ ในแง่ของการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ที่แหลมคม 

เวทีThink Tank Forum ที่ผ่านมา ก็ได้ยึดภารกิจข้างต้น อย่างน้อย ๆ ปาตานีฟอรั่มในฐานะเป็นองค์กรที่รับผิดชอบเนื้องานทั้งหมด ก็ตระหนักและพยายามผลักดันให้เกิดบรรยากาศแห่งความรู้ เพราะเราเชื่อว่าความรู้จะช่วยให้คนคุยกันรู้เรื่อง ในบทสนทนาแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คนได้อยู่รวมกันได้ และตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง แนวโน้ม กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อรับมือและเผชิญหน้ากับโจทย์ปัญหาทางสังคมใหม่ ๆ ที่ได้เข้ามาโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 

(2)

การสิ้นสุดการเดินทาง คือการเริ่มต้นเดินทางใหม่

โคลด เลวี-สโทรสส์ (Claude Levi-Strauss) นักวิชาการแนวหน้าด้านมานุษยวิทยา ผู้ชื่นชอบที่จะใช้เวลาว่างไปกับการเดินทางท่องป่า และท้ายที่สุดก็ปรารถนาที่จะฝังศพของเขา ณ. ชายป่า (วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า) เขาเริ่มต้นบทแรกว่า“สิ้นสุดการเดินทาง” (La fin des voyages) ด้วยการค้นหาและอธิบายความปรารถนาของคนทั่วไปที่มีต่อข้อเขียน เกี่ยวกับการเดินทางและนักเดินทาง หากจะตีความใหม่คือ เรื่องสั้นงานเขียนคือการสิ้นสุดการเดินทาง ปลายทางของการเดินทางคือการเล่าเรื่องที่ตัวเองได้สัมผัส ไม่ว่าจะแบบใด เพื่อสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เห็นและสัมผัส โดยมากแล้วเรื่องเล่าทุกเรื่องจะเล่าโดยใช้ประสบการณ์ความรู้เดิมของตัวเองมีและคุ้นชิน พูดให้สั้นคือการเล่าเรื่องก็เป็นการเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่คุ้นเคยกับพื้นที่ใหม่ ไม่มากก็น้อย ย่อมมีอยู่ทุกงานเขียน เว้นแต่เป็นการบันทึกของพวกนักสำรวจที่แสวงหาอำนาจ/ทรัพยากรธรรมชาติ ก็จะจดบันทึกอีกแบบ นั้นคือบันทึกข้อเท็จจริง ไม่ใช่การเล่าเรื่องของนักเดินทางจากจังหวัดชายแดนภาคใต้แน่ ๆ 

เรื่องเล่า 9 เรื่องจากคณะเดินทางที่เรียกว่ากลุ่มภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ได้เดินทางไปเรียนรู้และศึกษาดูงาน ณ.ประเทศอินโดนีเซีย คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า เราควรอ่านเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดผ่านงานเขียนเรื่องสั้น 9 เรื่องนี้อย่างไร?  และเรื่องเล่าแบบนี้ได้ทำหน้าที่อะไร? งานเขียนเรื่องสั้น 9ชิ้น ได้ทำหน้าที่แตกต่างจากการเล่าด้วยคำพูด การเสวนา การสนทนา เพราะว่าการเขียนเป็นการใคร่ครวญให้ผู้เขียนได้พิจารณาสิ่งที่ไปเห็นและพบเจอระหว่างช่วงการเดินทางในประเทศอินโดนีเซีย

เรื่องสั้นทั้งหมดได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดผ่านสายตาของผู้เขียนและทักษะการเขียน ผู้เขียนทั้ง 9คน ได้สะท้อนมุมมองที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการตีความผ่านสายตาของตัวเอง และบางเรื่องได้สะท้อนให้เห็นถึงโจทย์ปัญหาปาตานี ทั้งส่วนที่เหมือนและต่าง หน้าที่ของเรื่องเล่าย่อมมีความสำคัญในแง่ของการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมา

ท้ายสุด ความสำคัญของการเดินทางและเรื่องเล่าคือการได้ “พบเห็น” สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยตาตัวเอง และการเดินทางทำให้ได้พบเห็นผู้คน ขนบประเพณีและวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ชุมชน ภาษาที่แปลกแตกต่างกันออกไป จึงนําไปสู่คําถามที่สําคัญยิ่ง คือการนําไปสู่การใคร่ครวญเรื่อง “ตนเอง/ผู้อื่น” ก็คือคำถามที่ว่า สถานที่(ปาตานี)อันที่เราอยู่แตกต่างจากที่ไปเจอ(อินโดนีเซีย)อย่างไร? หรือจากอินโดนีเซียถึงปาตานี คณะเดินทางจะเล่าอะไรให้เราอ่าน วารสารเล่มนี้พร้อมแล้วจะเป็นพาหนะทางความคิดเชื่อมต่อผู้คนด้วยกัน  

ด้วยมิตรภาพ 

เอกรินทร์ ต่วนศิริ 

ปาตานี ฟอรั่ม