เดชา ตั้งสีฟ้า กับ บทสนทนาว่าด้วยเรื่องทักษะวัฒนธรรม ณ ปาตานี ตอนที่ 2
สู่การทำความเข้าใจทักษะวัฒนธรรม
ทักษะวัฒนธรรม มีจุดเน้นอยู่สองเรื่อง คือ คำว่า “วัฒนธรรม” ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจของงานเขียนนี้ และประเด็น ลักษณะพื้นฐาน ของทักษะวัฒนธรรม สำหรับตนเองแล้วการทำความเข้าใจ “วัฒนธรรม” นั้นสำคัญ โดยรายละเอียดของคำว่าวัฒนธรรมได้อภิปรายไว้แล้วในหนังสือ แสง น้ำ และรวงข้าวฯ
แต่มิติหลักของของประเด็นนี้คือ เราจะเข้าใจการอยู่ร่วมกับ “คนอื่น” ได้ เราต้องสนใจความสัมพันธ์ระหว่าง วัฒนธรรม กับ เวลา พูดให้เฉพาะเจาะจงก็คือ คำถามที่ต้องถามคือ ความสัมพันธ์ระหว่าง วัฒนธรรม กับ อนาคต เป็นอย่างไร
ทำไมคำถามนี้จึงสำคัญ?
เพราะเราไม่สามารถอยู่ร่วมกับ “คนอื่น”ได้อย่างมีทักษะวัฒนธรรม หากปราศจากการตรวจสอบการคลี่คลายทั้งของ “ความเป็นเรา” และ “ความเป็นคนอื่น” ไปสู่อนาคต
ในแง่นี้ เหตุผลที่ตนเองนำเรื่อง สาง เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเล่าเรื่องครั้งนี้ก็เพราะ เราอยู่ในโลกที่ผู้คนเคลื่อนย้าย
เมื่อคนเคลื่อนย้าย ผู้คนก็ไม่เหมือนเดิม Kwame Anthony Appiah นักปรัชญาจากแอฟริกา แห่ง New York University (ที่เคยสอนในมหาวิทยาลัยระดับโลกหลายมหาวิทยาลัยรวมทั้ง Harvard Yale และ Princeton) เคยกล่าวไว้ว่า ทุกครั้งที่มีการเผชิญหน้า ไม่ใช่การปนเปื้อนเท่านั้นที่ปรากฏ แต่มีการหล่อเลี้ยงเกิดขึ้นด้วย
ทันทีที่เดชาได้รับการชักชวนจากอาจารย์ชัยวัฒน์ให้ทำวิจัยคู่มือข้าราชการ ทันทีที่เดชาเขียนหนังสือ แสง น้ำ และ รวงข้าวฯ และมาอยู่ในห้องประชุมนี้ตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา เดชาก็ไม่ใช่เดชาคนเดิม แต่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยผู้เข้าร่วมการอบรมและ/หรือปาตานีฟอรัมในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่เดชาเองไม่ค่อยมีความรู้เรื่องภาคใต้มากนัก
เช่นนี้ เมื่อเราถามคำถามว่า ตกลงแล้วเราควรสัมพันธ์กับ “คนอื่น” อย่างไรนั้น เราจึงต้องใส่ใจเรื่องเวลา เพราะการใส่ใจเรื่องเวลาจะช่วยให้กระจ่างมากขึ้นว่า เราเปลี่ยนไปอย่างไร
คำถามนี้เรียกร้องการทำความเข้าใจมโนทัศน์วัฒนธรรมให้ลึกซึ้งและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ตนเองเดินตามนักมานุษยวิทยาคนสำคัญระดับโลกคนหนึ่ง คือ Arjun Appadurai ซึ่งเขียนหนังสือชื่อว่า
The Future as Cultural Fact: Essays on the Global Condition และได้ระบุว่า เราจำเป็นต้องเข้าใจความสัมพันธ์ ระหว่างวัฒนธรรมกับอนาคตใน 3 ลักษณะ คือ ก) การเข้าใจวัฒนธรรมแบบสัมพันธ์ (Relationality) ข) การให้ความสำคัญกับ การเห็นต่าง (Dissensus) ในท่ามกลางกรอบของการเห็นพัอง (Consensus) บางอย่าง และท้ายที่สุดคือ ค) การเข้าใจว่าขอบเขตของระบบวัฒนธรรมนั้นไร้ความคงทน (Weak Boundaries)
ก) การเข้าใจวัฒนธรรมแบบสัมพันธ์ ก็คือ การเข้าใจว่า องค์ประกอบหนึ่งๆของระบบวัฒนธรรมหนึ่งๆเป็นที่เข้าใจได้ ก็เพราะความสัมพันธ์ ที่องค์ประกอบนั้นสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ
เช่น เราไม่สามารถเข้าใจฮิญาบด้วยฮิญาบเอง แต่เราเข้าใจฮิญาบในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของจารีตการแต่งกายของคนมุสลิม
ในลักษณะเดียวกัน เพื่อที่จะเข้าใจวัฒนธรรมหนึ่ง เราต้องวางวัฒนธรรมนั้นในท่ามกลางความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นๆ หรือ การจะเข้าใจคนสักคนหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าคนๆนั้นไม่ได้มีตัวตนที่คงที่และไม่แปรเปลี่ยน แต่เขาเป็นใครขึ้นอยู่กับว่าเขาอยู่ในชุดความสัมพันธ์ไหน ซึ่งก็เปลี่ยนไปตลอด
ข) ส่วนการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นต่างควบคู่ไปกับการเห็นพ้อง ก็คือ เมื่อเราสนใจวัฒนธรรมกับอนาคต สิ่งที่ตามมาก็คือ เราจะพบว่า ทุกครั้งที่เราเข้าใจว่ามีการเห็นพ้องกันนั้น การเห็นพ้องดังกล่าวล้วนไม่ยั่งยืน ในขณะที่ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ
ผู้คนในทุกกระแสธารวัฒนธรรมมีแนวโน้มที่จะเฉลิมฉลองความเห็นพ้องในกลุ่มของตน แต่กดทับความเห็นต่างเอาไว้ เมื่อเราสักคนเดินทางเข้าไปในชุมชนหนึ่งๆ ถ้าเราพยายามจะวาดภาพชุมชนที่สวยงาม ไม่ทะเลาะเบาะแว้งแล้ว เราพึงตระหนักด้วยว่าภาพดังกล่าวนั้นเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว
ค) สุดท้าย เราต้องตระหนักว่า ขอบเขตของระบบวัฒนธรรมนั้น “รั่ว” โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่เกือบทุกพื้นที่ถูกทำให้กลายเป็นทุนและชีวิตทางสังคมก็เป็นไปได้ยากหากปราศจากเทคโนโลยี
แต่เป็นเทคโนโลยีบนฐานของไมโครชิปที่พลานุภาพของมันแปรผกผันกับขนาดของมัน และทำให้ความเร็วของชีวิตประจำวันมากขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนชีวิตเราอย่างมหาศาล และในยุคโลกกาภิวัฒน์แบบนี้เองที่ผู้คนเคลื่อนย้ายมากขึ้น พบปะมากขึ้น และผสมผสาน “ปนเปื้อน” มากยิ่งขึ้น ทั้งในพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ใยแก้ว
ผลที่ตามมาก็คือ คือ การสัญจร กับ การซึมผ่าน (Traffic and Osmosis) คือกฏไม่ใช่ข้อยกเว้น ดังนั้น การผสมผสาน และ ความหลากหลาย คือ “หน้าตา” ของวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์แบบนี้ และเมื่อเราพูดถึงพหุวัฒนธรรมเราก็ต้องพูดถึงในเชิงวิพากษ์ นั่นคือ ในแบบที่ทุกวัฒนธรรมเมื่ออยู่ร่วมกัน ต่างก็เปลี่ยนแปลงซึ่งกันและกัน มากหรือน้อย เร็วหรือช้า
แต่หากเรามองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งที่คงรูปไม่แปรเปลี่ยน ว่าวัฒนธรรมคือสิ่งที่ดีงามที่ต้องรักษาเอาไว้แล้ว เราจะไม่สามารถเข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปรอย่างรวดเร็ว รุนแรง และแหลมคมได้อย่างรอบด้านเพียงพอ
ลักษณะพื้นฐานของวัฒนธรรม
ลักษณะพื้นฐานของวัฒนธรรม ประกอบด้วย ก) การตระหนักรู้ (Awareness) ข) ความเคยชิน (Habit) และ ค) ความสามารถ (Ability) หรือเรียกสั้นๆว่า AHA (อ่านว่า “อ่า ฮ่า”)
ก) การตระหนักรู้: เราต้องตระหนักว่าสังคมมีความหลากหลาย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าเวลานี้เรากำลังพูดถึงอะไร
เช่น หากเราพูดถึงความอาวุโส เราก็อาจมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่อยู่ใต้คนที่อายุมากกว่า แต่แน่นอนที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน และเพราะความหลากหลายและความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นเรื่องปกติ เช่นนี้แล้ว ความขัดแย้งก็เป็นเรื่องปกติ ทันทีที่เราเห็นต่างเราก็ขัดแย้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเห็นต่างแล้วต้องทุบกัน ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาแต่ความรุนแรงไม่ใช่
เรามักจะคิดว่าเราต้องมีขันติธรรมต่อผู้คนที่เห็นต่าง แต่สำหรับตนเองแล้วไม่พอ เราต้องเฉลิมฉลองความต่าง เพราะความต่างคือทรัพยากรทางปัญญา ยิ่งเรามีปัญญาที่หลากหลาย ปัญญานั้นก็พาให้เราสามารถจะเข้าใจโลกที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว รุนแรง และแหลมคมได้ดีขึ้น แต่การเฉลิมฉลองนี้ต้องไม่นำไปสู่การยอมจำนนต่อการให้ความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง ที่อาจมาพร้อมกับความต่าง
ข) ความเคยชิน: เราต้องสามารถสถาปนาการอยู่ร่วมกับ “คนอื่น” ให้เป็นอุปนิสัยให้ได้ ตัวอย่างเช่น นายพันคนหนึ่งที่เข้าไปทำงานที่อัฟกานิสถานได้เสนอทัศนะที่ว่า สังคมก็เหมือนกับคนเรานั่นแหละ เราสามารถสร้างความเคยชินได้ และตนเองก็ยังได้เรียนรู้จากงานของนักปรัชญา William James ที่ว่าด้วยปรัชญาของความเคยชิน ซึ่งในที่สุดแล้ว ความเคยชินเป็นมิติของชีวิตทางสังคม ที่สามารถสถาปนาให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงได้ ทั้งในระด้บบุคคล ชุมชน สถาบัน และ รัฐ-ชาติ
ค) ความสามารถ: เพื่อที่จะมีทักษะวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกับ “คนอื่น” เราต้องเริ่มด้วยการพัฒนาความสามารถในการ เคลื่อนตัวเราเอง ในท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย
จากวัฒนธรรมในระดับครอบครัวสู่ “ชุมชน” ที่กว้างขวางออกไป ซึ่งแต่ละคนอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกับ “คนอื่น” ไม่ว่าพื้นที่เหล่านั้นจะมีความต่างใดๆดำรงอยู่ร่วมกันก็ตาม เช่น ในแง่ ศาสนา ชาติพันธุ์ ชนชั้น เพศสภาพ หรือสีผิว ก็ตาม
เงื่อนไขพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ของการสามารถเคลื่อนตัวเราเองในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น มี ๒ ประการคือ
ประการแรก ฝึกฝนการเปิดพื้นที่ให้กับ “คนอื่น” ที่ต่างจากเรา ด้วยการ ไม่วางตัวเอง (Positioning) เป็นศูนย์กลางในท่ามกลางความต่างเหล่านั้น ดังเช่นที่เขียนไว้ในหนังสือ แสง น้ำ และ รวงข้าว ในเรื่อง แสง ว่า เมื่อแสงในบ้านของเราจ้าเกินไป แทนที่หน้าต่างจะทำให้เราเห็นโลกข้างนอกได้ชัดขึ้น แสงข้างในที่จ้ากว่า กลับทำให้เราเห็นตัวเองสะท้อนอยู่ที่กระจกหน้าต่าง
ประการที่สอง เรียนรู้ที่จะ สื่อสาร (Communicating) กับผู้คนบนตำแหน่งที่ไม่เป็นศูนย์กลางนั้น ทั้งนี้รวมถึงวิธีการที่เราระบุ ชื่อ ของความขัดแย้งที่เรามีกับ “คนอื่น” และ กรอบ ของความขัดแย้งที่เราเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้ความขัดแย้งนั้นเชื่อง
ตัวอย่างเช่น การต่อสู้ที่แหลมคมที่สุดอย่างหนึ่งทางการเมือง คือ การแย่งชิงการนิยาม
เช่นนี้แล้ว หากเราสามารถเคลื่อนตัวเองโดยไม่วางตัวเองเป็นศูนย์กลาง และเอ่ยชื่อ ด้วยการนิยามสถานการณ์ที่เราเกี่ยวข้องอย่างไม่สร้างปัญหาแล้ว ในที่สุด โอกาสที่ความขัดแย้งจะเชื่อง และไม่เปลี่ยนเป็นความรุนแรงก็มีแนวโน้มจะตามมา ในขณะเดียวกัน การเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ต่างจากเรา ต้องเป็นทั้งการเปิดพื้นที่ในทางกายภาพ และพื้นที่ทางเวลาควบคู่กันไป นั่นคือ เราไม่เพียงต้องจัดการกับเรื่องราวของวันนี้ แต่ต้องดูแลกับอดีตของกันและกันด้วย
ทำไมอดีตจึงสำคัญ?
เพราะทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา เราถูกกำกับด้วยความทรงจำ ไม่เพียงแต่ในระดับปัจเจก แต่เป็นในระดับชุมชนและระดับอื่นๆด้วย เราทำบางอย่างเพราะอดีตพาเราไป ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพราะฉะนั้น เราต้องสนใจวิธีการที่แต่ละกลุ่มคนจดจำอดีตของพวกเค้า เช่น เกิดอะไรขึ้นเมื่อ 28 เมษายน 2004 และเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน เหตุการณ์เหล่านี้ ถูกจำและอาจถูกระลึกถึงเพื่อสร้างความรุนแรงในปัจจุบันได้
เราจึงต้องเปิดพื้นที่ให้กับการจัดการเรื่องในปัจจุบันพร้อมๆ กับการจัดการอดีต เพื่อจะเดินต่อไปในอนาคตอย่างเปี่ยมศานติเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในพื้นที่หนึ่งๆนั้น อนาคตนั้นก็ไม่ใช่อนาคตของเราคนเดียว แต่เป็นอนาคตของทุกคนร่วมกัน
กระนั้น โดยทั่วไปแล้วรัฐ-ชาติหนึ่งๆ ต่างก็พยายามทำให้ความทรงจำหลักมีเพียงไม่กี่ชุด และถ้าเป็นไปได้ก็ให้เหลือเพียงชุดเดียว
รัฐ-ชาติไทยต้องการให้ผืนแผ่นดินนี้ มีเพียงแค่ความทรงจำของ “คนไทย” และนั่นเองคือสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้เอง เราจึงต้องไม่เพียงดูแล ปัจจุบัน อดีต และอนาคต ของเราเท่านั้น
เราต้องให้โอกาส “คนอื่น” ที่อยู่ร่วมกับเรา ในการดูแลอดีตของเขา/เธอ แม้จะไม่ใช่อดีตของเรา เพราะเขา/เธอต่างก็อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับเราเพราะในทุกๆ พื้นที่ มีหลายความทรงจำ ทุกคนต่างก็อยากดูแลความทรงจำของตัวเอง จำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราทุกคนต้องเปิดพื้นที่ให้แก่ “คนอื่น” ทุกๆคน และถ้าจำเป็น ก็ต้องทำให้มั่นใจว่าทุกฝ่ายสามารถประกาศความเป็นเจ้าของแผ่นดินร่วมกัน เพราะแผ่นดินนี้ไม่ควรเป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ในแง่นี้ หากให้ตนเองทอนปัญหาของสังคมไทยเหลือเพียงไม่กี่ปัญหาที่สำคัญ สำหรับตนเองแล้วปัญหาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ สังคมไทยเคารพอดีตมากเกินไป และยุติธรรมต่ออนาคตน้อยเกินไป
หลายครั้งที่หลายๆ กลุ่มในประเทศไทยกอดอดีตไว้แน่นเกินไป และไม่เปิดโอกาสให้ตัวเราเองคลี่คลายไปสู่อนาคต เราไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนบรรพบุรุษของเราได้ในท่ามกลางเหตุปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนแปรไป ไม่ว่าเราจะรักและเคารพบรรพบุรุษของเรามากเพียงใดก็ตาม
เสียง ดวงตา และการเดินทาง
ถึงที่สุดแล้ว ถ้าถามว่ามิติสำคัญที่สุดของปฏิบัติการทักษะวัฒนธรรมคืออะไร คำตอบก็คือ การฟัง การฟัง สำคัญมากกว่าการพูด สำคัญมากกว่าการถกเถียง
มโนทัศน์ “ทักษะวัฒนธรรม” นั้น มีหัวใจอยู่สองดวง หนึ่งคือ การเข้าใจ “วัฒนธรรม” อีกหนึ่งคือ มิติหนึ่งของการปฏิบัติทักษะวัฒนธรรม ซึ่งคือ การฟัง
เช่นนี้ หมายความว่าหัวใจทั้งสองดวงนี้สำคัญไม่เท่ากัน เราต้องฝึกที่จะฟังเสียงที่หลายหลาก
ซึ่งประเด็นเรื่อง “เสียง” นี้ หมายถึงทั้ง เสียงที่ได้ยิน และ เสียงในฐานะอุปลักษณ์ของการดำรงอยู่ของคน หรือกลุ่มคน
ทุกสถานที่ที่บุคคลเดินทางเข้าไป ล้วนมีเสียงหลายเสียงอยู่ตลอดเวลา
เช่น ตนเองเข้าไปใน “ค่ายผู้ลี้ภัย” (หรือ ที่รัฐ-ไทย เรียกว่า “พื้นที่พักพิงชั่วคราว”) ในช่วงแรกคือ ปี 2000-2001 เมื่อกลับเข้าไปอีกครั้งในปลายปี 2007 เสียงสวดมนต์ในตอนเช้าตรู่ของคนมุสลิมในค่าย ดังก้องมากในบางโซนของค่าย (ซึ่งมีพื้นกว่าหนึ่งพันไร่เศษ) เป็นเสียงที่ดังมากกว่าที่ตนได้ยินเมื่อครั้งเดินทางเข้าไปในช่วงแรก
คำถามคือ เกิดอะไรขึ้น อะไรที่เปลี่ยนแปลงไป พอเราใส่ใจเรื่องเสียงเช่นนี้ ก็มีเรื่องราวอีกมากมายที่พึงใส่ใจหาคำตอบ
เราต่างรู้ดีว่า โลกนี้มีผู้คนที่มีชะตาชีวิต คล้ายกับ Alan Kurdi คล้ายกับแม่ที่ต้องสูญเสียลูกในสายน้ำเมย
เมื่อเราพิจารณาระดับความรุนแรงและความถี่ของความรุนแรงในโลกนี้ ซึ่งมากขึ้นอย่างน่าใจหายนั้น เราจะพบว่าคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้มีโอกาสที่จะสูญเสียชีวิตมากขึ้นอย่างน่าหวาดหวั่น และเมื่อเราพิจารณาถึงการจากไปของพวกเค้า เราอาจจะได้พบว่า หลายครั้งที่เดียวที่คนเหล่านี้ถูกทำให้วิญญาณจากไป หรือถูกทอดทิ้งโดยคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน
Alan Kurdi ถูกทอดทิ้งเพราะเขาเป็น “คนอื่น” ของชาวเตอร์กิช แม่คนนั้นสูญเสียลูกไปเพราะไม่ใช่คนไทย มีคนแบบนี้อีกมากในโลก ซึ่งเรามักไม่ค่อยรู้ว่าพวกเขาดำรงอยู่
ถ้ารู้ เราก็อาจไม่เข้าใจพวกเธอ
หรือถ้าเข้าใจ เราก็อาจไม่ยอมรับพวกเขา
เรารู้ดีว่าคนเหล่านั้นต่างจากเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การที่เราใส่ใจเสียงของเขาและเธอ จะนำไปสู่เรื่องที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การเมืองเรื่องการเป็นคนเล่าเรื่อง ซึ่งสนใจว่า ใครเป็นคนพูดและใครฟังเสียงที่เปล่งออกมา
Ranajit Guha นักคิดสาย Subaltern ชาวอินเดีย ซึ่งได้ศึกษาคนตัวเล็กตัวน้อยและได้เขียนว่า ถ้าคุณศึกษาเรื่องของคนตัวเล็กตัวน้อย คุณจะพบว่าเรื่องเล่าของเขา “ติดอ่าง” (Stuttering Narrative) กล่าวคือ ในการศึกษาเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยนั้น เราจะพบว่า คนเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะทำให้เรื่องเล่าของตนกลมกลืนได้
เรารู้ดีว่าประวัติศาสตร์ถูกบันทึกโดยผู้ชนะ และเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยมักไม่ได้รับการจดจารเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นในหลายครั้งแล้ว การจะรับรู้เรื่องราวที่กลมกลืนของเขาและเธอก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรือบางคราก็เป็นไปไม่ได้เลย ยิ่งเขาและเธอชายขอบเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากเท่านั้น
ตนเคยพยายามหาวิธีการที่จะได้ข้อมูลจากหลายคนที่อยู่ในสมรภูมิรบฝั่งพม่า แต่หลังจากพยายามถามด้วยคำถามที่ต่างกัน เพื่อตรวจสอบข้อมูล เรื่องราวที่ได้ยินกับวุ่นวายมากทีเดียว
Guha ได้บอกว่า การเมืองเรื่องการฟังคำให้การแบบนี้ นำไปสู่การมีบทสนทนา กล่าวคือ เมื่อคนเราฟัง เราได้เปิดตัวเองและปล่อยตัวเองต่อ “คนอื่น” “บุคคลเอียงไปด้านข้างเล็กน้อยเพื่อฟัง”
เราอาจจะถามว่า แล้วบุคคลควรจะเอียงตัวเองสู่ Alan Kurdi และคุณแม่ผู้สูญเสียอย่างไร โดยที่ตระหนักว่า ทุกครั้งที่เราฟัง เราก็(ค่อยๆ)กลายเป็น “คนอื่น” เป็นการเปิดตัวเอง ในฐานะที่เป็น การอยู่-กับ เพื่อ “คนอื่น” ตามที่ Martin Heidegger กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อ Heidegger ยืนยันว่า บุคคลได้ยิน เพราะบุคคลเข้าใจ และบุคคลได้เข้าใจ ก็ต่อเมื่อบุคคลได้ยินอย่าง “ถูกต้อง” คำถามคือ เราจะได้ยินอย่างไรจึงจะ “ถูกต้อง”?
สำหรับหนังสือ แสง น้ำ และ รวงข้าว แล้ว หัวใจของการฟังอย่าง “ถูกต้อง” ก็คือความอ่อนน้อมถ่อมตน โดยวาง “คนอื่น” เป็นศูนย์กลางขณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่นที่คัมภีร์ เต๋าเต็กเก็ง เขียนไว้ว่า ให้ทำตนเหมือนน้ำซึ่งไหลลงสู่ที่ต่ำ
ในหนังสือ แสง น้ำ และ รวงข้าวฯ นั้น ตนได้อภิปรายอย่างละเอียดว่า การมี “ทักษะ” ไม่เพียงหมายถึง การมีความคล่องแคล่วในการใช้อวัยวะหนึ่งๆในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสามารถทางปัญญาหรือการใช้วิจารณญาณด้วย
ทักษะวัฒนธรรมจึงหมายถึง ความสามารถในการใช้สติปัญญาในการอยู่ร่วมกับ “คนอื่น” อย่างคล่องแคล่ว เป็นความสามารถในการเคลื่อนตัวเองโดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารกับผู้อื่นบนตำแหน่งแห่งที่ดังกล่าวได้อย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อย่างไรก็ดี การฟังอย่าง “ถูกต้อง” ไม่เพียงต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเท่านั้น
แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่จำเป็นที่มนุษย์จะต้องสามารถใช้ถ้อยคำหรือกระทำได้อย่างคล่องแคล่วเสมอไป
ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้น มีเวลาที่การไม่กระทำคือการกระทำ การไม่พูดอาจเป็นการพูดที่ดีที่สุด
ดังนั้น ถ้าจะเข้าใจทักษะวัฒนธรรมจะต้องเข้าใจการไม่มีทักษะ (Disfluency) ด้วย
เป็นการรู้ว่าเวลาใดพึงเงียบ พึงไม่กระทำ นั่นต่างหากคือการมีทักษะวัฒนธรรม
เพราะเราไม่ควรวางตัวเองเป็นศูนย์กลาง
การเปิดให้ผู้อื่นได้พูด ได้แสดง และเราเป็นเพียงผู้ฟังและผู้ชม การวางตัวเองเช่นนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่เพิ่งผ่านโศกนาฏกรรมมา
Samuel Beckett นักเขียนชาวไอริช ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบล ได้เขียนไว้หลังจากที่รับรู้ถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยพรรรคนาซีว่า “ถ้าคุณใส่ใจอย่างจริงจังกับมหันตภัยแล้ว ถ้อยคำที่คล่องแคล่วแม้เพียงเล็กน้อยที่สุด กลายเป็นเรื่องที่ยากจะทนทาน”
ในลักษณะเดียวกัน ทักษะวัฒนธรรมไม่ใช่ความสามารถในการเอื้อนเอ่ยเสมอไป การเงียบและการไม่กระทำกลายเป็นสิ่งที่สำคัญในบางเวลา นั่นคือ เมื่อเรากำลังคุยกับคนที่ผ่านความสูญเสียมา การเงียบ และการฟัง น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด
ดังนั้น การฟังที่ “ถูกต้อง” คือการฟังที่ผู้ฟังทำตัวเหมือนสายน้ำ เปิดใจว่าตนเองจะต่างไปจากเดิมหลังจากได้ฟังในแต่ละครั้ง การฟังเช่นนี้ไม่เพียงแต่ต้องวางตัวเองไว้ที่ชายขอบของความสัมพันธ์ แต่ยังเป็นการฟังเพื่อรองรับอนาคตที่จะมาถึง
หากอยากยุติธรรมต่ออนาคต ทั้งต่อตัวเองและต่อสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ก็ต้องปล่อยให้ตัวเองเปลี่ยนแปลง ตนเองจบการพูดในวันนั้นด้วย หัวข้อ “ดวงตา และ การเดินทาง” โดยกล่าวว่า
เมื่อถูกชักชวนให้มาทำงานภาคใต้ ตั้งแต่เหตุการณ์การปล้นปืนในปี 2004 นั้น ตนเองรู้สึกไม่กล้า เพราะลำพังงานที่จะต้องทำแถวชายแดนไทย-พม่าก็มีไม่น้อย อีกทั้งความซับซ้อนของสถานการณ์แถวนั้นก็มากยิ่ง
กล่าวคือ ในปี 2000 ที่ตนเดินทางเข้าไปเก็บข้อมูลสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนั้น นอกเหนือจากแนวทางทางปรัชญาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์อธิปัตย์กับชีวิตมนุษย์ และวัฒนธรรมศึกษาระหว่างชาติ (International Cultural Studies) แล้ว ตนยังอาศัยแนวทางมานุษยวิทยา 3 แบบ คือ มานุษยวิทยาว่าด้วยพหุชายแดน ว่าด้วยการพลัดถิ่นและผู้ลี้ภัย และ ว่าด้วยความน่าสะพรึงกลัวของรัฐ
ด้วยความซับซ้อนของสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าวนั่นเอง นับจากวันที่ตนเริ่มทำงานแถวชายแดนไทย-พม่าเมื่อปี 2000 เป็นต้นมานั้น ตนมักจะถูกถามว่า ทำไมถึงต้องเดินทางเข้าไปในอาณาบริเวณอันตรายฝั่งรัฐพม่าเพื่อศึกษาความโหดร้ายทารุณที่ผู้คนได้ประสบมา
สำหรับตนแล้ว คำตอบต่อคำถามดังกล่าว อยู่ที่ความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่าง ก) การทำความเข้าใจตนเองให้ดีขึ้น ทั้งในฐานะคนๆหนึ่งและในฐานะผู้ปฏิบัติการทางการเมืองที่พร้อมจะยืนยันในอัตลักษณ์ของตัวเอง กับ ข) การสัมพันธ์กับผู้อื่น และ “การมองผ่านดวงตาของผู้อื่น”
ตามความเข้าใจของตนเองแล้ว กรณีที่สองนั้นนับได้ว่าสำคัญไม่น้อยสำหรับนักชาติพันธุ์นิพนธ์จำนวนมาก ผู้พยายามทำความเข้าใจต่อการดำรงอยู่และการคลี่คลายอัตลักษณ์ตน ผ่านการเดินทางเพื่อทำวิจัย
ตนจบการพูดในวันนั้น ด้วยการขอให้ทุกท่านได้พิจารณาทัศนะของ Mikhail Bakhtin นักวิจารณ์วรรณกรรมคนสำคัญชาวรัสเซีย ซึ่งเคยเขียนไว้ว่า:
การดำรงอยู่หมายถึงการดำรงอยู่เพื่อคนอื่นและผ่านคนอื่น [ดังนั้นจึงเป็นการดำรงอยู่] เพื่อตนเอง มนุษย์ไม่มีอาณาเขตที่เป็นอธิปไตยภายในตัวเอง มนุษย์แต่ละคนนั้นดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยมและทุกเวลา ณ ชายขอบ [ของตัวตนของตัวเอง] การมองเข้าไปในตัวเองนั้น มนุษย์คนนั้นมองเข้าไปในดวงตาของคนอื่น หรือผ่านดวงตาของคนอื่น...ฉันไม่สามารถทำ[อะไร]ได้ โดยปราศจากคนอื่น ฉันไม่สามารถกลายเป็นตัวเองโดยปราศจากคนอื่น ฉันจำเป็นต้องค้นหาตัวเองในคนอื่น ค้นหาคนอื่นในตัวฉัน (ในการพินิจพิเคราะห์และการรับรู้ซึ่งกันและกัน)...ฉันได้รับชื่อของฉันจากคนอื่น และชื่อนี้ก็ดำรงอยู่เพื่อคนอื่น
ปฏิบัติการทักษะวัฒนธรรมไม่อาจปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่าง “ตัวเรา” กับ “คนอื่น” ที่ลึกซึ้งและซับซ้อนได้
ตอนต่อไป พบกับมุมมองของ ดร.อัมพร หมาดเด็น ว่าด้วยเรื่องพหุวัฒนธรรม โปรดติดตามในตอนต่อไป
_____
ภาพจาก https://www.deepsouthwatch.org/node/11657