เดชา ตั้งสีฟ้า กับ บทสนทนาว่าด้วยเรื่องทักษะวัฒนธรรม ณ ปาตานี ตอนที่ 1
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ปาตานีฟอรั่มได้จัดกิจกรรม Think Tank Forum ครั้งที่ 1 ปีที่ 3 ณ โรงแรมปาร์ควิว จ.ปัตตานี โดยมีวิทยากร 2 ท่าน ประกอบไปด้วย ผศ.ดร.เดชา ตั้งสีฟ้า อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.อัมพร หมาดเด็น อาจารย์ประจำหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินรายการโดย อาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ตนเองเริ่มการสนทนาในวันนั้น ด้วยการบอกถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีส่วนในการทำงานประเด็นภาคใต้ ซึ่งเริ่มเมื่อ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ชวนให้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับภาคใต้ โดยขอให้ศึกษาคู่มือสำหรับข้าราชการที่มาปฏิบัติราชการใน 3 ถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสเขียนหนังสือ แสง น้ำ และรวงข้าว: ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น ซึ่งแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับภาคใต้โดยตรง แต่ในหลายๆลักษณะแล้วก็ได้รับแรงบันดาลใจไม่น้อยจากปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
...มีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเล่าให้ฟังว่า ทำไมตนเองจึงคิดและเล่าเรื่องดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือ
โดยหัวข้อในวันนั้นคือ “สางกับทักษะวัฒนธรรม: บทสนทนา ณ ปาตานี” ซึ่งมีประเด็นหลัก 7 ประเด็น เริ่มต้นที่ตัวเลขที่เป็นหมุดในการเล่าเรื่อง 1 ชุด คือ 2001 2010 2015 และ 2018 หลังจากนั้นก็พูดต่อด้วยประเด็น “สาง ที่หลอกหลอน” และตามด้วยเรื่องมโนทัศน์ “องค์อธิปัตย์” ซึ่งจำเป็นต้องแตะ เพราะผู้ฟังในวันนั้นต่างก็ทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นองค์อธิปัตย์นี้ จากนั้นก็ตามด้วยประเด็นเรื่อง “ความเป็นจริง” ซึ่งหลังจากที่ฟังและมีบทสนทนาร่วมกับหลายๆ ท่านในช่วง 2 วันแรก ประเด็น “ความเป็นจริง” จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญควบคู่ไปกับประเด็น “ตำแหน่งแห่งที่ของภาษา” ต่อด้วยประเด็น “จุดเน้นในทักษะวัฒนธรรม” จากหนังสือ แสง น้ำ และรวงข้าว โดยที่บทสนทนานี้จบลงที่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่าง “เสียง ดวงตา และการเดินทาง”[1]
2001-2010-2015-2018: ตัวเลขชุดนี้สำคัญอย่างไร?
2001
วันนี้เมื่อ 17 ปี ที่แล้ว ตนเองอยู่ในสมรภูมิรบลึกเข้าไปในฝั่งพม่าเป็นเวลา 3 อาทิตย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระยะเวลา 11 เดือนที่ตนเก็บข้อมูลสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ณ บริเวณชายแดนไทย-พม่า
ในตอนนั้น ยังไม่มีวี่แววว่าพม่าจะได้เป็นประชาธิปไตย โชคดีที่ในช่วงที่เข้าไปนั้น ไม่ได้พบกับเหตุการณ์ที่เลวร้าย แม้จะมีหลายห้วงเวลาที่ต้องเดินออกจากป่าทึบ และในบางขณะก็เดินอยู่บริเวณตีนเขาซึ่งข้างบนคือค่ายของทหารพม่า…กระนั้น ภาพที่ชวนหดหู่จำนวนไม่น้อยที่ได้เห็น ก็ยังคงติดตาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อกล่าวถึงพม่าแล้ว เราต้องไม่ลืมว่า หลังจากได้รับอิสรภาพ เมื่อปี 1948 นั้น ประเทศนี้ก็แทบไม่เคยได้รู้จักกับคำว่า “สงบ” เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการทำรัฐประหารของนายพลเนวิน เมื่อปี 1962 เป็นต้นมา
นี่คือประเทศซึ่งมีคนจำนวนมากถูกบังคับให้ผลัดถิ่นและตายไปพร้อมกับความเงียบ ประมาณปี 2000 ก่อนที่ตนจะเดินทางไปทำวิจัยบริเวณชายแดนไทย-พม่า ตัวเลขของคนถูกบังคับผลัดถิ่นภายใน (Internally Displaced Persons/People [IDPs]) พม่าสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และโดยทั่วไปแล้ว ด้วยเหตุที่ประชาคมโลกเชื่อเรื่องอธิปไตยของดินแดน ผู้คนจึงไม่เดินทางเข้าไปในรัฐเผด็จการในเวลานั้น เพื่อที่จะศึกษาว่าคนที่ตายไปพร้อมกับความเงียบในพม่าจนถึงตอนนั้นมีกี่แสนกี่ล้านคน ซึ่งมีความเป็นไปได้มากว่า ตัวเลขลำดับที่ 5 ของโลกดังกล่าวน่าจะเป็นการประเมินที่ต่ำกว่าความเป็นจริงไม่น้อยเลย
ตอนที่ตนเองเดินทางเข้าไปในสมรภูมิในปี 2001 นั้น ตนได้เรียนรู้ว่า ทุกครอบครัวที่ตนได้นั่งคุยด้วยตลอดเวลา ๓ สัปดาห์นั้นเคยถูกบังคับให้ผลัดถิ่น หมู่บ้านจำนวนมากถูกเผา ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ได้พบต้องสูญเสียคนที่รักอย่างน้อยที่สุดหนึ่งคน ตนเองมีโอกาสได้อุ้มเด็กคนหนึ่งซึ่งตัวเล็กมาก ใหญ่กว่าฝ่ามือของตนนิดหน่อยเอง ทั้งๆที่อายุประมาณ ๗ เดือน และตอนที่อุ้มอยู่นั้น เด็กก็กำลังร้องไห้อย่างหนัก ร่างกายที่เล็กกระจิ๊ดริดบ่งบอกชัดเจนว่าเด็กเป็นโรคขาดอาหารอย่างน่าตระหนก ไม่นับรวมถึงโรคภัยไข้เจ็บที่ “อาศัย” อยู่ในร่างกายเล็กๆนั้น ที่ตนไม่รู้อีก
ในบรรดาเรื่องราวมากมายที่ได้เห็นและรับรู้ เรื่องหนึ่งที่อยากเล่าตรงนี้คือ เรื่องของเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 15 ปีคนหนึ่ง ซึ่งผู้นำกองกำลังที่อยู่ตรงนั้นเล่าให้ฟังพร้อมกับให้เด็กเปิดเสื้อบริเวณเอว แล้วเห็นรอยกระสุนที่ถากสีข้างของเด็กไป ผู้นำคนดังกล่าวเล่าเสริมว่า พบเด็กคนนี้ตอนยังเป็นทารกที่กำลังกินนมของแม่อยู่ที่อก ซึ่งผู้เป็นแม่ได้ตายไปเป็นศพแล้ว ผู้นำคนดังกล่าวจึงนำเด็กคนนี้มาเลี้ยงดู
ภาพเหล่านี้สำหรับตนเองแล้วเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้รู้ว่า ทันทีที่ผู้มีอำนาจประกาศสงคราม ราคาที่จะต้องจ่ายตามมาคืออะไร โดยเฉพาะผลต่อผู้เยาว์และผู้หญิง
2010
ต่อมาในเดือนพฤศจิกาย ปี 2010 มีการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดในพม่า นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 1962 หลังจากการเลือกตั้งไม่กี่วัน มีการสู้รบเกิดขึ้นที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ตรงข้ามกาญจนบุรี และที่เมียววดี ตรงข้ามแม่สอด ทำให้มีคนกว่า 25,000 คนอพยพเข้ามาพร้อมๆกันในเวลาอันสั้น ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนผู้อพยพที่มากที่สุดในรอบกว่า 20 ปี คนเหล่านั้นถูกส่งกลับไปภายในไม่กี่วันหลังจากนั้น แต่ก็ยังมีคนที่หนีตายข้ามแม่น้ำมาอย่างต่อเนื่องและอาศัยอยู่ตามแนวเส้นแบ่งเขตแดนในฝั่งไทยนับหมื่นกว่าคน โดยรัฐไทยไม่อนุญาตให้สื่อเข้าไปทำข่าว
ตนได้มีโอกาสเข้าไปร่วมทำงานกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม หลังจากนั้นก็ได้ร่วมเก็บข้อมูลผู้อพยพดังกล่าว ได้เรียนรู้รายละเอียดของการหนีข้ามมาฝั่งไทยหลายกรณี กรณีหนึ่งที่ได้รับรู้คือเรื่องราวของแม่คนหนึ่ง ซึ่งเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงของการอพยพนั้น
เวลานั้นเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ผู้คนจำนวนหนึ่งพยายามรีบขึ้นเรือข้ามมาฝั่งไทย ผู้คนเบียดเสียดกันอยู่บนเรือ ซึ่งแล่นข้ามแม่น้ำเมยเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า ในเที่ยวหนึ่ง มีแม่คนหนึ่งพร้อมลูกสองคนอยู่ในอ้อมอก เรือลำนั้นรับน้ำหนักของผู้คนไม่ไหวและล่มลง ทุกคนตื่นตระหนกและพยายามว่ายน้ำเข้าฝั่ง คุณแม่ท่านนั้นว่ายน้ำได้ ขณะที่ลูกทั้งสองว่ายน้ำไม่เป็น ร่างของลูกทั้งสองจมดิ่งลงในสายน้ำ...
ผ่านไปหลายเดือนหลังจากนั้น ทีมสัมภาษณ์ในภาคสนามได้มีโอกาสคุยกับคุณแม่ท่านนั้น ซึ่งได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง...ถ้าเด็กทั้งสองคนคือรูปสัญญะของอนาคต อาจกล่าวได้ว่า แม่คนนั้นได้สูญเสียอนาคตของเธอ ไปพร้อมกับการจากไปของลูกทั้งสองคนแล้วกระมัง?
2015
ในปี 2015 เดือนกันยายน มีการเผยแพร่ภาพศพเด็กชายอายุ 3 ขวบชาวซีเรีย ที่ชายหาดแห่งหนึ่งของตุรกี ตนเรียกภาพนั้นว่า “เด็กที่ตาย ณ ชายหาด” ซึ่งคือตัวอย่างหนึ่งของโศกนาฏกรรมของผู้ลี้ภัย ในเวลาต่อมาผู้คนรับรู้ว่าชื่อที่ถูกต้องของเด็กคนนั้นคือ Alan Kurdi หาใช่ Aylan Kurdi ไม่
สำหรับตนเองแล้ว ถ้าเป็นไปได้ คนผลัดถิ่นที่ตนศึกษาต้องไม่ไร้นาม ตนจึงมักจะพยายามเสาะหาว่าคนพลัดถิ่นที่ตนศึกษานั้นชื่ออะไร
2018
จนถึงวันนี้ในปี 2018 หลังจากการเลือกตั้งในปี 2010 และ 2015 นั้น แน่นอนว่าสถานการณ์ในพม่าดีขึ้นหรือเหมือนจะดีขึ้นเรื่อยๆ
พม่าเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าประเทศไทยไม่มากนัก แต่มีภาษาไม่ต่ำกว่า 135 ภาษา J. H. Green ได้เคยเสนอข้อถกเถียงไว้ในรายงาน ตอนท้ายของสำมะโนประชากร ปี 1931 ว่า ผู้คนหลายชาติพันธุ์ในพม่าเปลี่ยนภาษาพูดบ่อยพอๆกับการเปลี่ยนเสื้อผ้า ในหลายๆลักษณะแล้ว นี่คือประเทศซึ่งลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยภูเขาก่อให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผลที่ตามมาประการหนึ่งคือ ชะตากรรมของความขัดแย้งเกลียดชังระหว่างชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งที่ยาวนานมานับเป็นศตวรรษๆ แม้ว่าการเลือกตั้งทั้งสองครั้งดังกล่าว ค่อยๆคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งให้บางลงบ้างก็ตาม
เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ตนเริ่มศึกษาคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่คนที่ถูกบังคับพลัดถิ่น หรือ เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาณาบริเวณชายแดนไทย-พม่า เช่น กลุ่มคนผลัดถิ่นอย่างเต็มใจ หรือ เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แม่สอด และล่าสุดก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ มาลาเรีย ซึ่งตนเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องเมื่อปี 2013 โดยในเรื่องหลังนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาเลเรียอันดับต้นๆ ของโลก ศาสตราจารย์ Nick White เป็นผู้นำของทีมใหญ่ เป็นงานที่วิจัยควบคู่ไปกับการรับมือกับสภาวะดื้อยาต้านมาเลเรียคือ Artemisinin ซึ่งเป็นยาต้านมาเลเรียที่ดีที่สุดที่มนุษย์เคยผลิตมา โดยทีมทั้งหมดมุ่งเรื่องการให้ยาในหมู่บ้านต่างๆ หรือที่เรียกว่า Mass Drug Administration (MDA) แต่ปัญหาก็คือ เป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปในหมู่บ้านต่างๆและไปโน้มน้าวพวกเค้า เมื่อชาวบ้านจำนวนมากไม่ได้พบเจอคนแปลกหน้ามาเป็นเวลาหลายทศวรรษ เราจะบอกกับพวกเค้าอย่างไรให้ช่วยในการจัดการรับมือกับมาลาเรีย จะบอกอย่างไรให้ชาวบ้านมาช่วยรับยาไปกิน จะบอกอย่างไรว่าเราต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจดูเชื้อมาเลเรียในตัวของเขาและเธอ ในเมื่อหลายคนไม่มีอาการไข้เลย เป็นต้น
ทุกวันนี้ตนยังทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่ทำงานด้านสาธารณสุขกลุ่มนี้ในบริเวณแถวๆแม่สอด ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคมปีที่แล้ว ระหว่างที่ตนกำลังจะขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ หนึ่งในทีมงานดังกล่าวได้เดินทางกลับมาจากในรัฐกะเหรี่ยง ของพม่า และรายงานว่าได้เกิดการรบกันขึ้นอีกครั้ง ระหว่างกองกำลังบางกลุ่ม แล้วมีประชาชน (ที่ก่อนหน้านี้พวกกองกำลังได้ชักชวนให้กลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านแถวนั้น) ตกอยู่ในวงล้อมของการสู้รบดังกล่าว อีกทั้งกองกำลังส่วนหนึ่งก็ขอยาจาก Shoklo Malaria Research Unit (SMRU) องค์กรที่ตนทำงานอยู่ด้วย ตนเลยพูดกระแนะกระแหนไปว่า ตกลงเค้ามาขอยากับเรา และเมื่อหายแล้ว ก็จะกลับไปรบกันอีกหรือ
ตนเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ที่เกิดขึ้นในปี 2001 2010 2015 และ 2018 ในแง่หนึ่งแล้ว เพื่อที่จะพูดถึงสิ่งที่ตนเรียกว่า “สาง” และพูดถึง ประเด็นที่ Zygmunt Bauman กล่าวไว้ในหนังสือ Society under Siege ถึง ระบอบการเคลื่อนย้ายระดับโลกในช่วงปลายทศวรรษที่ 90
ประสบการณ์จากทั่วโลกทำให้ Bauman เขียนว่า “การเดินทางเผื่อผลกำไรได้รับการสนับสนุน การเดินทางเพื่อการอยู่รอดถูกประณาม” เช่น กรณีผู้ลี้ภัย โรฮิงจา หรือซีเรีย เป็นต้น
“สาง ที่หลอกหลอน” คืออะไร
มีการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า เราอยู่ในยุคของการเคลื่อนย้ายของผู้คน Michael Hardt และ Antonio Negri เคยเขียนในงานเขียนชื่อ Empire ว่า มีสางตนหนึ่งที่หลอกหลอนโลกทั้งใบ สางตนนั้นคือ การอพยพ ถ้าเรียกเป็นรูปธรรมคือผู้อพยพ
นั่นคือ เรากำลังอยู่ในโลกที่มี สาง ล่องลอยเต็มไปหมด
Thomas Nail เขียนในหนังสือชื่อ The Figure of the Migrant ว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของผู้อพยพ:
- ในช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษที่แล้วกับศตวรรษนี้ มีการอพยพมากกว่าที่เคยมีมาทั้งหมด (เท่าที่เคยมีบันทึกในประวัติศาสตร์)
- ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา มีผู้อพยพมากกว่า 1 พันล้านคน
- จนถึงตอนต้นของปี 2016 มีผู้คนเกือบ 60 ล้านคนที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นไม่ว่าจะด้วยสงครามหรือการประหัตประหาร และประมาณครึ่งหนึ่งของคนเหล่านั้นเป็นเด็ก
- สัดส่วนที่คิดเป็นเปอร์เซนต์ของผู้อพยพ ต่อประชากรโลกทั้งหมดในแต่ละทศวรรษต่อจากนี้ไปจะยังเพิ่มต่อไปเรื่อยๆ
- มีการคาดการณ์กันว่า ในอีก 25 ปีต่อจากนี้ไป สัดส่วนของผู้อพยพจะมากกว่าใน 25 ปีที่ผ่านมา
แน่นอนที่สุด ไม่ใช่ว่าผู้อพยพทุกคนจะเหมือนกัน สำหรับคนส่วนหนึ่งการอพยพหมายถึงโอกาส การพักผ่อน และผลกำไร ในจำนวนนี้บางคนอาจถูกผลักไสบ้างแต่ก็ชั่วคราว
แต่สำหรับคนจำนวนมากในโลกนี้ การอพยพหมายถึงการที่ต้องเผชิญกับอันตรายและข้อจำกัดมากมาย ในขณะเดียวกัน การถูกผลักไสทางสังคมที่พวกเค้าต้องเผชิญก็รุนแรงและยาวนานกว่าคนประเภทแรกมากนัก
คำถามคือ ทำไมผู้คนจึงเคลื่อนย้ายมากขึ้นทุกที?
คำตอบคือความเปราะบางของระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแปรปรวนของสภาพอากาศในโลกปัจจุบัน อาจทำให้การอพยพในระดับนานาชาติ มากขึ้นเป็นสองเท่าในสี่สิบปีข้างหน้านี้
สำหรับชายแดนไทย-พม่า หรือ ไทย-มาเลย์ แล้ว เรากำลังพูดถึงความขัดแย้งที่กลายเป็นความรุนแรง ความเกลียดชังระหว่างชาติพันธุ์และ/หรือศาสนา และลักษณะการต่างๆ ที่ทำให้วิกฤติหายนะที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมต่างๆเหล่านี้ คืองานที่ท้าทายอย่างสาหัสต่อการพยายามสร้างสังคมที่ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างศานติ ไม่ว่าจะเป็น งานสร้างความสมานฉันท์ ประเด็นเรื่องโรฮิงจา มาเลเรีย หรือ วัณโรค เป็นต้น
อีกทั้งเราต้องไม่ลืมว่า การล่มสลายของระบบนิเวศ และ การแปรปรวนของสภาพอากาศ อันเกี่ยวเนื่องกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หรือโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา นั้น มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับงานสร้างสังคมศานติในบริเวณชายแดนไทย-มาเลย์ด้วยเช่นกัน และดังนั้นเราไม่สามารถพูดถึง Merdekaได้ โดยไม่สนใจประเด็นในเชิงนิเวศวิทยา
ในขณะเดียวกัน โลกก็มีผู้คนที่ “ไร้สถานภาพ” หรือ “ไม่มีบัตร” จำนวนมากขึ้นทุกที ความเปราะบางของชีวิตดำเนินต่อไป ณ ชายแดนทั้งสองนี้ การทำงานเพื่อสภาพชีวิตที่ดีของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาแรงงาน การศึกษา และ สาธารณสุข เป็นต้น ต้องเผชิญกับความท้าทายมากยิ่งขึ้นไปอีก
ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคนี้ เราทุกคนกลายเป็นผู้อพยพมากยิ่งขึ้นทุกที กล่าวคือ เราเดินทางไกลมากขึ้น บ่อยมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
แม้ว่าผู้คนจำนวนมากอาจจะไม่ได้เคลื่อนย้ายข้ามชายแดนในระดับภูมิภาคหรือนานาชาติ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนงานบ่อยขึ้น เดินทางไกลขึ้นและนานขึ้นเพื่อไปทำงาน หรือเปลี่ยนที่อยู่บ่อยขึ้น หรือท่องเที่ยวในระดับนานาชาติถี่ขึ้น
ดังนั้นเมื่อพูดถึงการอพยพ เราจะเห็นว่าผู้คนอพยพด้วยเหตุผลที่อยู่ระหว่าง 2 ขั้วคือ ความไม่สะดวก (Inconvenience) กับ การสูญเสียความสามารถ (Incapacitation)
เช่นนี้เอง คนที่เราเรียกว่า ผู้อพยพ คือลักษณะของ ตำแหน่งทางสังคมที่เคลื่อนย้าย (mobile social positions) ไม่ใช่อัตลักษณ์ที่ตายตัว Thomas Nail เคยเขียนว่า “บุคคลไม่ได้เกิดมาเป็นผู้อพยพ แต่ได้กลายเป็นผู้อพยพ”
ด้วยความเข้าใจต่อตำแหน่งทางสังคมเช่นนี้เอง ประเด็นที่เราพึงพิจารณาก่อนที่จะเน้นมิติบางมิติในมโนทัศน์ ทักษะวัฒนธรรม คือองค์อธิปัตย์ ความเป็นจริง และ ภาษา
องค์อธิปัตย์ คือใคร?
Carl Schmitt อดีตนักปรัชญาและนักกฎหมายชาวเยอรมัน เคยเขียนไว้ว่า “องค์อธิปัตย์คือผู้ประกาศสภาวะยกเว้น” ดังนั้นถ้าเราอยากรู้ว่าที่ไหนมีใครเป็นองค์อธิปัตย์ ให้ดูว่าใครที่สามารถประกาศสภาวะยกเว้นได้ Giorgio Agamben นักปรัชญาชาวอิตาเลี่ยน เดินทางต่อจาก Schmitt โดยเขียนว่า “ข้าองค์อธิปัตย์ผู้อยู่เหนือกฎหมาย ประกาศว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย”
ในชีวิตของคนเรานั้น เราต่างหนีองค์อธิปัตย์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งไม่พ้น
ในขณะที่ตนเดินทางอยู่ในสมรภูมิรบเมื่อ 17 ปีก่อนนั้น ตนคิดถึงรถประจำทาง น้ำสะอาด หรือโรงเรียน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่องค์อธิปัตย์เช่น รัฐ มอบให้แก่เรา ไม่ว่าเราจะเกลียดองค์อธิปัตย์เพียงใดก็ตาม สำหรับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว แม้เราจะรู้ดีว่ารัฐไทยกระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำหลายอย่าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่หรอกหรือว่า ถ้าชีวิตต้องการการปกป้อง ใครคือคนที่ปกป้องเรา หากไม่ใช่องค์อธิปัตย์ องค์อธิปัตย์มีสองหน้า หน้าหนึ่งกอดเราไว้ อีกหน้าหนึ่งกดเราไว้
ตำแหน่งแห่งที่ของภาษา และ ความเป็นจริง
ในช่วง 2 วันมานี้ มีคนบางคนบอกกับตนว่า เวลาที่มาภาคใต้ ให้ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ให้ใช้ภาษาตรงๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน แต่ตนเองไม่ได้ถูกฝึกมาแบบนั้น และไม่เชื่อว่ามีภาษาที่ “ตรง” และใช้ได้กับทุกคน เพื่อจะได้เข้าใจตรงกัน
ตัวอย่างเช่น หลังเหตุการณ์การปล้นปืน หนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยใช้คำว่า “ผู้ก่อการร้ายภาคใต้” นักวิชาการกลุ่มหนึ่งค้านว่าไม่ให้เรียกเช่นนี้ หรือเราอาจจะบอกว่า เราจะไม่เรียกคนกลุ่มหนึ่งว่า Suicide Bombers แต่จะเรียกว่า Freedom Fighters หรือ ตัวอย่างของ ต้นลั่นทม ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็น ต้นลีลาวดี และเราก็สามารถปลูกในบ้านได้
ดังนั้น เมื่อเรากำหนดนามต่อสิ่งหนึ่งแบบหนึ่ง เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นแบบหนึ่ง
ขงจื้อเคยถูกลูกศิษย์ถามว่า สิ่งแรกที่จะทำถ้ากษัตริย์มอบเมืองให้ท่านปกครองคืออะไร ขงจื้อตอบว่า เจิ้งหมิง หรือ การทำนามให้เที่ยง ให้เหมาะสมกับตำแหน่งทางสังคมของนามนั้นๆ ไม่ใช่ว่านามนั้นจะมีความหมายที่เป็นสากล แต่นามนั้นต้องถูกเข้าใจในบริบทหนึ่งๆเสมอ
ถัดมาคือประเด็นเรื่องความเป็นจริง (Reality) บางท่านพูดราวกับว่าความเป็นจริงมีความเป็นจริงเดียว แต่ปัญหาก็คือ โลกที่เราเห็นหรือรับรู้นั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
เช่น หากผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้าไปในตรอกมืดๆ ในเวลากลางคืน ผู้ชายคนนั้นไม่อาจรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยเท่ากับที่ผู้หญิงรู้สึก โลกเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเรายืนอยู่ตรงไหน และขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นใคร ซึ่งก็ไม่ได้คงที่เช่นกัน โลกไม่ได้มีมิติเดียว ที่เราทุกคนจะพูดถึงได้เหมือนกัน
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องคุยเรื่อง องค์อธิปัตย์ ภาษา และความเป็นจริง ให้ชัด เพื่อให้เราสามารถคุยเรื่องทักษะวัฒนธรรมได้ง่ายขึ้น
ตอนต่อไปอาจารย์เดชาจะพาไปทำความเข้าใจกับทักษะวัฒนธรรมและพหุวัฒนธรรม โปรดติดตามต่อในตอนที่ 2
[1] การใช้เครื่องหมายอัญประกาศในข้อเขียนนี้เกือบทั้งหมด ไม่ได้ใช้ตามขนบการเขียนภาษาไทยคือเพื่อเน้นย้ำ แต่เป็นการใช้ตามขนบการเขียนภาษาอังกฤษ คือเพื่อชี้ให้เห็นว่าคำที่ล้อมด้วยเครื่องหมายนี้มีความหมายมากกว่าหนึ่งความหมาย ยกเว้นเมื่อเครื่องหมายนี้ถูกใช้กับ ก) ชื่อหัวข้อของการพูด ข) หัวข้อย่อยแต่ละตอนของการพูด และ ค) เพื่อเป็นเครื่องหมายคำพูด หรือแสดงการอ้างอิงจากงานเขียนเล่มใดเล่มหนึ่ง