ตรวจบัญชีสันติภาพปาตานีภาคประชาชน (Peace Audit)
ตรวจบัญชีสันติภาพปาตานีภาคประชาชน (Peace Audit)
เอกรินทร์ ต่วนศิริ
การปรึกษาหารือของกลุ่มคนทำงานด้านสันติภาพชายแดนใต้ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดและข้อมูล ทั้งคนทำงานด้านเด็กกำพร้าที่เกิดจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่ไม่ได้รับการเยียวยา นักสิทธิมนุษยชน คณะทำงานประเด็นผู้หญิง กลุ่มคนรุ่นใหม่ เยาวชน นักสื่อสารมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ ในวันที่ 2 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ก่อนจะมีมติออกแถลงการณ์ร่วมกัน ในนาม “เครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” เพื่อจะสื่อสารไปยังทั้งคู่ขัดแย้งหลักคือรัฐไทยและกลุ่มขบวนการติดอาวุธชายแดนใต้
ในภาวะสถานการณ์ที่เจอแรงกดกันจากการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อมิให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือที่เรียกว่า SLAPPs (Strategic Lawsuit against Public Participations) พูดให้สั้นคือการปิดปากภาคประชาชน ไม่ให้พวกเขาได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ แม้แต่การพูด/เล่าประสบการณ์จริงของผู้ที่โดนถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานก็มิอาจจะทำได้ แทนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะพิจารณารับฟังเพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต กลับกลายเป็นการฟ้องหมิ่นประมาทแก่อดีตเหยื่อที่พูดความจริง
สำหรับการพิจารณาความรุนแรงชายแดนใต้ในช่วงทศวรรษกว่าที่ผ่านมา มีการพิจารณา วิเคราะห์ สาเหตุของความรุนแรง แตกต่างกันไป ตามแต่ละคนจะสมาทานความคิดและบ้างก็ได้มาจากประสบการณ์โดยตรงหรือจากการทำงานเกี่ยวกับผู้คนในพื้นที่
สำหรับกลุ่มคนทำงานภาคประชาชนที่มาจากพื้นฐานการทำงานที่หลากหลายประเด็น เมื่อได้เผชิญกับสภาพอำนาจรัฐเต็มรูป ต้องเผชิญกับ “สภาพชะงักงันทางยุทธศาสตร์” ของการทำงานในพื้นที่ พิจารณาอีกด้านก็นับว่าเป็นเงื่อนไขที่ดี ที่จะทำให้คนทำงานภาคประชาชนได้ทบทวนและวางแผนการทำงานร่วมกันไปในอนาคต
เมื่อเรากล่าวถึงสันติภาพในความหมายของคนหลากหลายและแตกต่างกัน ก็อาจจะพบว่ามีการให้ความหมายและนิยามแตกต่างกันไป แต่ในความเป็นจริงทางสังคมที่เกิดขึ้น ปัญหาหลายประการที่ได้มีการศึกษาและนำมาอภิปรายซ้ำไปซ้ำมาผ่านการยืนยันจากประชาชนแล้วว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคในเส้นทางสันติภาพชายแดนใต้ เช่น กฎหมายพิเศษ พรก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก การละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่ได้รับความเป็นธรรม ล่าสุดการรุกเข้าไปในโรงเรียนตาดีกา(โรงเรียนสอนศาสนาสำหรับเด็กเล็ก) ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ฯลฯ ก็ไม่ได้รับการแก้ไขและรับฟังจากหน่วยงานของรัฐ ผลของมันคือทำให้ “กระบวนการสันติภาพชะงักงัน” แน่นอนยังคงมีหลายปัจจัยที่ทำให้กระบวนการสันติภาพไปต่อไม่ได้
คำถามที่ซ้ำไปซ้ำสำหรับคนจำนวนมากที่มีต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้คือ ทำไมข้อตกลงบ้างข้อถึงล้มเหลว? ทำไมภาคีข้อตกลงบางฝ่ายหมดศรัทธา ไม่ไว้วางใจในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ? ทำไมข้อตกลงระหว่างรัฐบ้างข้อที่น่าจะทำได้ไม่ยากกลับทำไม่สำเร็จหรือไม่กระทำตามข้อตกลงแม้แต่เจตนารมณ์ของการให้ความเห็นสาธารณะเพื่อสื่อสารกับสังคม อะไรคือต้นทุนที่ต้องสังคมต้องจ่ายให้กับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าของการพูดคุยแต่ละครั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผลกระทบของความล้มเหลวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างไร ลึกไปกว่านั้นคือความไว้วางใจของผู้คนในสังคมต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
โจทย์หลักของแนวคิดตรวจบัญชี (Peace Audit) จะนำมาใช้ระหว่างการพูดคุยสันติภาพควรจะเป็นหน้าตาอย่างไร อะไรคือเครื่องมือ ตัวชี้วัด ของการตรวจนับบัญชีสันติภาพ และควรจะมีลักษณะแบบใด ? เพื่อให้สอดคล้องต่อการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
การตรวจบัญชีสันติภาพปาตานี ผูัตรวจสอบบัญชี ต้องตรวจสอบพฤติกรรมของทั้งสองฝ่าย ทั้งรัฐและขบวนการฯ เพื่อจะชี้ให้เห็นจาก “political will to Political action” อย่างน้อยก็จะได้เห็นธาตุแท้ของภาคปฏิบัติทั้งสองฝ่าย รัฐไทยและกลุ่มขวนการต่อสู้ ว่าเป็นเช่นไร ?
เราอาจจะเริ่มที่สองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งหลัก ระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการ โดยคิดค้นเครื่องมือเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของทั้งสองฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเสนอให้ลดความรุนแรงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายและพลเรือนที่ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งครั้งนี้ โดยทั้งสองฝ่ายอาจจะต้องพิสูจน์ให้เห็นพร้อมๆกัน
ในการฝึกหัดตรวจบัญชีสันติภาพ การตั้งคำถามว่า สันติภาพเพื่อใคร? สันติภาพตามมาตรฐานใด? และสันติภาพที่ปลอดพ้นจากอะไร? ช่วยให้นักวิจัยกับนักกิจกรรมสันติภาพสามารถนำเสนอบรรทัดฐานและวิธีการที่วัดได้เพื่อใช้ดำเนินนโยบายผดุงสันติภาพที่ยั่งยืน ผลการตรวจบัญชีสันติภาพครั้งต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าภัยคุกคามต่อสันติภาพไม่ได้มาจากรัฐเท่านั้น หากยังมาจากการขาดประชาธิปไตยในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเรียกร้องต้องการผู้เข้าร่วมกระบวนการหลายกลุ่มหลายฝ่ายและการพิจารณาปัญหาหลายระดับ (อะไรคือการตรวจบัญชีสันติภาพ? รณพีร์ ซามัดดาร์) จนนำไปสู่การทำงานร่วมกันตามข้อตกลงและความเข้าใจของโจทย์คำถามข้างต้น
การตรวจบัญชีสันติภาพอาจจะร่วมทำงานกันหลายๆฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่ทำงานภาคประชาสังคมในความหมายที่มุ่งตรวจสอบกระบวนการสันติภาพและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตั้งแต่นโยบายจากภาครัฐที่นำมาใช้ในพื้นที่ เช่นนโยบายด้านการศึกษา นโยบายความมั่นคง จนถึงนโยบายทางด้าน(พหุ)วัฒนธรรม ฯลฯ และตรวจสอบ เรียกร้องแก่กลุ่มขบวนการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงมุ่งทำลายพื้นที่สาธารณะของผู้คนในพื้นที่ การทำลายพื้นที่สาธารณะคือการลดทอนปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนพุทธและมุสลิมในพื้นที่
ท้ายที่สุดคือ ข้อเสนอให้ภาคประชาชนพิจารณา ใคร่ครวญว่าการตรวจบัญชีสันติภาพเป็นปฏิบัติการแปรสันติภาพให้เป็นแบบประชาธิปไตยโดยทำให้การประนีประนอมรอมชอมกันมีลักษณะเป็น "จุดร่วม" ตรวจสอบพลวัตของการประนีประนอม; อาศัยการฝึกหัดตรวจบัญชีไปทำงานการเมืองข้ามกลุ่ม พ้นจากกลุ่มตนเองในแบบที่รับรู้กันว่า “การเมืองคือศิลปะแห่งความเป็นไปได้” กระบวนการสันติภาพก็เช่นกันจำเป็นต้องอาศัยการออกแบบเครื่องมือ วิธีการที่รัดกุม เปิดโอกาสให้ผู้คนที่ปรารถนาให้เกิดสันติภาพ ที่มีชีวิตเปป็นเดิมพันท่ามกลางความรุนแรงที่คาดเดาไม่ได้เช่นนี้ และหนุนเสริมการเมืองสันติวิธีให้เติบโตเป็นฉันทามติร่วมกันของคนทำงานที่เรียกตัวเองว่าภาคประชาชนชายแดนใต้ ความชัดเจนและคุณค่าแบบนี้จะก่อให้เกิดมิตรและผู้คนทีหลากหลายให้ช่วยหนุนเสริมกิจกรรมและภาระกิจเพื่อสันติภาพต่อไป