บันทึกว่าด้วยผู้ลี้ภัยในสวีเดน

บันทึกว่าด้วยผู้ลี้ภัยในสวีเดน

หวังจากคลื่นผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้ามาในยุโรปในช่วงปลายปี 2015 ประเทศสวีเดนและเยอรมนีก็กลายเป็นประเทศเป้าหมายของผู้อพยพเหล่านั้น แต่หลังจากการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลทำให้เกิดกระแสต่อต้านและทำให้ความนิยมของฝ่ายรัฐบาลสวีเดนลดลงจนต้องเรียกร้องให้นานาชาติในสมาชิกสหภาพยุโรปออกมาช่วยแบ่งเบาภาระ แต่สุดท้ายก็ไร้เสียงตอบรับจากสมาชิกภาพ

จนท้ายที่สุดรัฐบาลสวีเดนเองก็ออกมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเอกสารเข้าเมืองระหว่างพรมแดนของสวีเดนและเดนมาร์ก และนั้นก็กลายเป็นเหมือนการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนทำให้ผู้อพยพเริ่มเปลี่ยนจุดหมายปลายทาง

ในช่วงปี 2015-2017(ต้นปี) สวีเดนประสบปัญหาเรื่องที่พักอาศัยสำหรับกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ไม่เพียงพอกับความต้องการจำนวนอย่างมาก (แม้ว่ามาตราฐานของที่พักอาศัยเหล่านั้นจะต่ำกว่ามาตราฐานก็ตามแต่ก็ถือได้ว่าไม่เลวร้ายนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ) ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องที่พักอาศัยสำหรับคนสวีเดนเองก็ไม่เพียงพอกับความต้องการเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอมาเจอคลื่นมหาชนที่หลั่งไหลเข้ามานับแสนคนนี่ยิ่งไปกันใหญ่ แต่พอรับมาแล้วก็ต้องช่วยกันดูแล แต่มันก็ไม่ง่ายนักเพราะแต่ละชุมชน(คอมมูน)เองก็ต่างผลักไสความรับผิดชอบกัน

ชุมชน(คอมมูน)ใหญ่ ๆ ที่มีปัญหาเรื่องที่พักอาศัยอยู่แล้วก็บ่ายเบี่ยง ไป ๆ มา ๆ ก็ดูเหมือนว่าไม่มีใครอยากจะรับผิดชอบตรงนี้ จนสุดท้ายรัฐบาลก็ออกกฎในปี 2016 ว่าแต่ละเทศบาลต้องออกมารับผิดชอบจัดหาที่พักให้กับคนเหล่านี้ ตามสัดส่วนและตามขนาดของประชากร ซึ่งนี่ก็เป็นเหมือนการบีบให้เทศบาลจำใจรับ แต่ใช่ว่าจะรัฐจะโยนภาระให้เฉย ๆ  รัฐให้งบประมาณการสร้างที่พักอาศัย และรวมไปถึงเงินจัดสรรดูแลแก่กลุ่มผู้ลี้ภัย

ฟังดูจะเหมือนดูดี ว่าสวีเดนเป็นประเทศตัวอย่างของการเกื้อกูลกัน รัฐสวัสดิการที่คนต่างร่วมกันรับผิดชอบและนึกถึงส่วนรวมมาเป็นอันดับแรก เมื่องบประมาณประเทศถูกจัดสรรมาลงให้กับผู้ลี้ภัย คนต่างด้าว ผู้ที่ไม่ได้เสียภาษีแต่มาใช้ทรัพยากรประเทศ เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ออกมาให้ได้ยินเรื่อย ๆ  คนจำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกันการที่สวีเดนต้องออกหน้ารับปัญหานี้อย่างโดดเดี่ยว(รวมทั้งเยอรมันนี) แต่ก็มีเสียงจำนวนไม่น้อยสนับสนุนหลักมนุษยธรรมนี้

ปัญหามันไม่ได้จบลงตรงนั้น เมื่อที่พักอาศัยสำหรับคนต่างด้าวถูกสร้างขึ้น ก็เกิดการประท้วง ต่อต้าน แทบจะทุก ๆ พื้นที่ เช่น  "ไม่เอา อย่ามาตั้งตรงหลังสวนบ้านฉัน" "เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพวกนี้ไม่ใช่พวกไอเอส(ในความหมายนี้คือกลุ่มก่อการร้าย)แฝงตัวมา" "เมื่อก่อนเราไม่เคยล็อคประตูบ้าน ต่อไปนี้เราคงต้องล็อคเสียแล้ว" "ความปลอดภัยของเด็กๆคงไม่มีแล้วในชุมชนของเรา ต้องคอยเฝ้าระวัง คดีข่มขื่นอาจจะเพิ่มขึ้น"

เป็นเหตุผลที่คนในพื้นที่อ้าง จนบางชุมชน(คอมมูน)ก็ต้องตัดสินใจไปสร้างที่พักให้กลุ่มผู้ลี้ภัยนอกเมืองบ้าง หรือแปรสภาพอาคารที่ไม่ได้ใช้งานแล้วบางแห่งให้เป็นที่พักอาศัย ในขณะที่กระแสหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยมากเท่าใดกระแสต่อต้านและการเติบโตของพรรคการเมืองฝ่ายขวาก็มีฐานเสียงมากขึ้นตามลำดับ

ช่วงหลังมานี้ คือตั้งแต่กลางปีที่แล้วปัญหาเรื่องความต้องการที่พักอาศัยสำหรับคนต่างด้าวนั้นอาจจะไม่มากอย่างสองสามปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือได้ว่า มีความต้องการอยู่ เพราะแรกเริ่มเลยผู้ลี้ภัยเหล่านั้นย้ายเข้ามาสวีเดนใหม่ ๆ ต้องไปอยู่ค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งช่วงนั้นพวกเขาจะอยู่ในช่วงระหว่างขอใบอนุญาต ซึ่งช่วงนั้นพวกเขาจะไม่มีสิทธิเรียนภาษา ไม่มีสิทธิเหมือนคนสวีเดนทั่วไป ที่สำคัญไม่มีรหัสประจำตัวประชาชน (ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตในประเทศสวีเดน) แต่เมื่อพวกเขาได้ใบอนุญาตในการพำนักแล้ว พวกเขาจะได้สิทธิเหมือนคนสวีเดน และได้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพหากว่าพวกเขาต้องถูกบังคับให้ย้ายออกจากค่ายผู้ลี้ภัย และช่วงนี้เองที่คนเหล่านั้นไม่มีทางไป จะหาที่อยู่อาศัยเช่าที่ไหนได้ในช่วงที่อยู่อาศัยขาดแคลนอย่างหนัก จะว่าไปแล้วขาดแคลนอย่างหนักจริง ๆ

อาลี--มูฮำหมัด ยูซาฟซาย อายุ 18 ปี มาจากอัฟกานิสถาน ได้อาศัยอยู่ในสวีเดนมาเป้นเวลาสองปีแล้ว พ่อแม่ของเขาเสียชีวิต มีเพียงพี่สาวสองคนที่ยังอยู่ในอัฟกานิสถาน เขาเองก็ไม่ได้ติดต่อพี่สาวมาสองปีแล้วโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าพี่สาวจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร

ทุกวันนี้เขาอยู่ในค่ายพร้อมกับผู้ลี้ภัยคนอื่น ๆ เขาเขียนเล่าในจดหมายว่า เขากำลังจะเริ่มเรียนหนังสืออีกครั้งและเขาต้องการสมาธิอย่างมากกับการเรียน แต่สภาพการณ์ในค่ายมีคนอาศัยอย่างแออัดและบางคนก็ส่งเสียงดังรบกวนการเรียนของเขา เขาเลยอยากย้ายออกมาและหวังว่าจะมีคนแบ่งห้องสักห้องหนึ่งให้กับเขาสำหรับพักพิง เขาจะตอบแทนด้วยการทำงานบ้าน ตัดหญ้าและงานอื่น ๆ ที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระได้ อาลี-มูฮำหมัดหวังว่า จะเป็นการดีมาก ๆ เลยถ้าคุณสามารถช่วยเหลือเรื่องการบ้านและเรื่องภาษาของเขาด้วย เขาเองก็เข้าใจว่าการจะรับคนแปลกหน้ามาอาศัยอยู่ด้วยนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่เขาบอกว่าขอให้คุณให้โอกาสเขาสักครั้ง เขาเขียนว่า ผมเป็นคนดี มีมนุษยสัมพันธ์ และยินดีช่วยเหลือทุก ๆ เรื่องแบบไม่เกี่ยง นี่เป็นข้อความจากจดหมายที่เขาหย่อนลงในตู้จดหมาย และคาดว่าเขาน่าจะหย่อนใส่ตู้จดหมายอีกหลาย ๆ บ้านในหมู่บ้านของเรา

จะว่าไปแล้วเราก็เคยรับผู้ลี้ภัยมาอยู่ที่บ้านสามเดือนในช่วงที่เกิดวิกฤติเมื่อปลายปี 2015 แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จอย่างที่เราได้หวังเอาไว้ แต่คิดว่าเราได้พยายามแล้ว และคิดว่าเราก็อยากจะลองอีกถ้ามีโอกาสในอนาคตข้างหน้า ตอนนี้อาจจะต้องพักไว้ก่อนเพราะมีลูกเล็กสามคน บ้านที่ยังไม่เรียบร้อยต้องปรับปรุง เลยทำให้จากเดิมที่เคยมีห้องว่างหนึ่งห้องกลายเป็นห้องของไอนา(ลูก)แทน ไอนาอ่านจดหมายจบก็บอกว่าเราติดต่อเขาเลยนะ ให้เขามาอยู่ หนูย้ายกลับไปนอนกับละไมก็ได้ แล้วยกห้องนี้ให้กับมูฮัมหมัด (เด็กหนุ่มที่เธอเองก็ไม่รู้จักหรือว่าเห็นหน้ามาก่อน)

แต่สุดท้ายเราก็มาชั่งใจดูว่าเราอาจจะรับภาระตรงนี้ไม่ได้จริงๆอย่างที่เราตั้งใจ ในขณะเดียวกันเราก็มองดูเพื่อนบ้านรอบๆ บ้านขนาดใหญ่หลายร้อยตารางเมตรแต่อยู่กันสองคน เป็นไปได้แน่นอนว่าจะรับเด็กหนุ่มที่ฝันจะสร้างอนาคตตัวเอง แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ท้ายที่สุดเราเลยต้องหาทางช่วยทางอื่นแทน

การหลั่งไหลของผู้อพยพในครั้งนี้เป็นเหมือนบททดสอบความเป็นยี่ห้อของคนสวีเดน ที่เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในด้านการรับภาระ แบ่งความรับผิดชอบร่วมกันและมาตราฐานด้านมนุษยธรรม

สวีเดนจะเป็นอย่างไรในอนาคต ขณะที่ทุกวันนี้การบริโภคนิยมเริ่มแทรกซึมเข้าไปในความคิดของคน บ้านทุกหลังมีแทมโบลีน บ้านทุกหลังมีโรบอตตัดหญ้า ปริมาณข้าวของเครื่องใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ และพื้นที่พักอาศัยใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนเลือกที่จะซื้อมากกว่าที่จะยืม และทุกคนเริ่มคิคจะครอบครองมากกว่าจะแบ่งปัน แต่สังคมสวีเดนก็ยังไม่สิ้นหวังมากนักตรงที่ความนิยมเรื่องการแบ่งปันเริ่มตีกลับมาบ้าง แต่ว่าการต่อสู้ระหว่างโซเชียลลิสต์กับระบบทุนนิยมนั้นก็ยังถือว่าสูสีอยู่ตลอดเวลา แล้วเด็กรุ่นใหม่ล่ะ เขาจะเป็นอย่างไรในอนาคตทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็ถูกเลี้ยงดูในสังคมสิ่งแวดล้อมที่อะไร ๆ ก็ของฉัน ของฉัน ทั้ง ๆ ที่ผู้ใหญ่เองก็รู้ดีว่าทรัพยากรนั้นไม่ได้เป็นของใครเลย