เหตุใด “มากอศิด” จึงสำคัญสำหรับโลกสมัยใหม่ของมุสลิม ตอนที่ 1
คำว่า “มากอศิด” (มา-กอ-ศิด) เป็นคำพหูพจน์ของคำว่า “มักศิด” ในภาษาอาหรับ ซึ่งมีความหมายว่าเจตนารมณ์ เป้าหมาย เจตจำนง วัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายปลายทาง ในความหมายเฉพาะด้าน “มากอศิดฯ” เป็นคำย่อของคำว่า มากอศิด-อัชชารีอะฮ์ ซึ่งมีความหมายว่า “หลักเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลาม” ในความหมายดังกล่าว มากอศิดฯ จึงมีสถานะเป็นศาสตร์ ๆ หนึ่งที่อยู่ในแขนงวิชาที่ว่าด้วยกฎหมายอิสลาม หรือหลักวิชาชารีอะฮ์ สำหรับผู้ที่เรียนวิชานิติศาสตร์อิสลาม อย่างเช่น วิชาฟิกฮ์และอูศูลลุลฟิกฮ์ คงหนีไม่พ้นการศึกษาหลักวิชา “มากอศิดฯ” ในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่า หลักวิชามากอศิดฯ ไม่ได้เป็นองค์ความรู้ใหม่ในอิสลามหากแต่มีตัวตนอยู่ในองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลามมาตั่งแต่ยุคก่อนสมัยใหม่แล้ว คำถามที่บทความนี้พยายามจะหาคำตอบแบบพอสังเขปคือ เหตุใด “มากอศิด” จึงถูกพูดถึงกันมากในโลกยุคปัจจุบันโดยเฉพาะในโลกตะวันตกและการศึกษาอิสลามในโลกภาษาอังกฤษ สิบกว่าปีมานี้งานเขียนและงานบรรยายเกี่ยวกับ “มากอศิด” ในภาษาอังกฤษมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในวงวิชาการมุสลิมศึกษา “มากอศิด” กลายเป็นคำที่แทบจะทุกคนต้องกล่าวถึงไม่มากก็น้อย ในงานประชุมวิชาการนานาชาติเมื่อต้นปี 2556 ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี องค์ปาฐกแต่ละท่านล้วนไม่ลืมที่จะเอ่ยถึง “มากอศิด” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากท่านผู้อ่านลองสำรวจใน Google
และ Youtube โดยค้นหาคำว่า “maqasid” ผู้อ่านจะพบข้อมูลมากมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาษาอังกฤษ และหากท่านผู้อ่านเป็นผู้ติดตามงานเขียนด้านนี้ ผู้อ่านจะพบว่าองค์กรปัญญาชนมุสลิมต่าง ๆ โดยเฉพาะในโลกตะวันตกต่างพากันจัดทำหนังสือหรือข้อเขียนที่เกี่ยวกับ “มากอศิด” กันอย่างล้นหลาม ยกตัวอย่าง องค์กร International Institute of Islamic Thought หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ทริปเปิลไอที (IIIT) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐ Virginia ของสหรัฐอเมริกา และ Centre for Islamic Legislation and Ethics หรือที่รู้จักกันในนามว่า ไซล์ (CILE) ซึ่งมีสำนักงานบริหารอยู่ที่เมืองโดฮาประเทศกาตาร์ต่างก็ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่และประยุกต์หลักวิชา “มากอศิด” ในงานสัมมนานานาชาติว่าด้วยอุมมะฮ์มุสลิม (Muslim Umma) ที่เมืองอิสตัลบูล ประเทศตุรกีเมื่อปลายปี 2557 ผู้นำเสนอหลายท่านก็ยก “มากอศิด” ในฐานะเครื่องมือหนึ่งในการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในโลกสมัยใหม่ นอกจากนั้น งานเขียนและการบรรยายของนักวิชาการอิสลามและมุสลิมศึกษาที่มีชื่อเสียง อย่างเช่น Sheik Yusuf al-Qaradawi, Tariq Ramadan, Jasser Auda, Yasir Qadhi, Nouman Ali Khan, Robert Crane, Mohammad Hashim Kamali, and Anwar Ibrahim ต่างก็ต้องเข้าไปหยิบใช้หลักวิชาดังกล่าวในการทำความเข้าใจสังคมที่พวกเขาทำการอธิบาย ที่สำคัญกว่านั้นหลักวิชา “มากอศิด” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสาขาวิชากฎหมายอิสลามเท่านั้น ทุกวันนี้ผู้ที่ศึกษาด้านการเงินและการธนาคารอิสลาม นโยบายสาธารณะในอิสลาม การเมืองอิสลาม และอิสลามในโลกสมัยใหม่ เป็นต้น ล้วนจำเป็นต้องเข้าใจหลักวิชา “มากอศิด” ทั้งสิ้น ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สำหรับสังคมมุสลิมในโลกสมัยใหม่แล้ว คำว่า “มากอศิด” ได้กลายมาเป็นคำที่เหล่าปัญญาชนหัวก้าวหน้าเรียกกันติดปากอย่างแพร่หลายไปแล้ว
หากท่านผู้อ่านเคยติดตามงานเขียนของนักคิดมุสลิมร่วมสมัยนามว่า AbuHamid AbuSulayman ท่านจะพบหนังสือเล่มหนึ่งของเขาที่ชื่อว่า Crisis in the Muslim Mind (วิกฤติในความคิดของมุสลิม) ในหนังสือเล่มดังกล่าว AbuSulayman ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุหนึ่งของความตกต่ำและล้มเหลวของสังคมมุสลิมคือ
“การปิดประตูอิจตีฮาด” ซึ่งหมายถึงการไม่อนุญาตให้มีการตีความใหม่และมีแนวคิดหรือสำนักคิดใหม่ ๆ ในศาสนาอิสลามและสังคมมุสลิม นอกจากนั้น ในสภาพที่สังคมมุสลิมอยู่ในความตกต่ำและวุ่นวายตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา การเชิดชูการปิดกั้นวิธีการที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เรายังไม่รู้แน่ชัด (sad al zara i’) ในขนบความคิดของมุสลิมก็เห็นจะมีความสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในสภาพดังกล่าวชนชาติมุสลิมไม่เพียงแต่ขาดความมั่นใจและภาวะความเป็นผู้นำเท่านั้น แต่ยังกลัวความเปลี่ยนแปลงที่พัดมากับสายลมแห่งความเป็นสมัยใหม่ของความเป็นยุโรป การปิดประตูในการสร้างนวัตกรรมใหม่ทางความคิดเห็นคงจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมที่สุดในยุคที่มุสลิมกำลังอ่อนแอลงเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ดี ในวันนี้มุสลิมควรจะมีทัศนคติแบบตั้งรับเหมือนกับคนในยุคก่อนหรือไม่ ? ผู้เขียนคิดว่าปัญญาชนมุสลิมหลายคนคงจะเห็นด้วยโดยเฉพาะในกรอบด้านความเชื่อและความศรัทธาในพระเจ้าที่ไม่ควรปล่อยให้มีนวัตกรรมทางความคิดจากศาสนาและสังคมอื่นๆ ไหลเข้ามา แต่ก็คงจะมีปัญญาชนอีกกลุ่มหนึ่งอีกเช่นกันที่มองว่าโลกในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว แม้ว่ามุสลิมยังไม่ได้เป็นจ้าวโลก (hegemon) เหมือนอย่างในอดีตก็ตาม แต่มุสลิมไม่จำเป็นต้องหวาดระแวงแนวความคิดหรือนวัตกรรมใหม่ที่มาจากโลกตะวันตก เพราะโลกตะวันตกไม่ใช่ดินแดนแห่งสงคราม (dar al harb) สำหรับมุสลิมอีกต่อไปแล้ว ในทางตรงกันข้ามปัญญาชนกลุ่มนี้กลับมองว่ายุคนี้เป็นยุคที่ปัญญาชนมุสลิมควรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาการกระแสหลักในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ดังนั้นหากปัญญาชนมุสลิมในยุคปัจจุบันจะเข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจการสร้างอารยธรรมโลกขึ้นมาใหม่ หลักวิชาแบบไหนที่มาจากภูมิปัญญาอิสลามที่จะแผ่วทางให้เขาเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากไม่ใช่หลักวิชาแห่ง “มากอศิดฯ”
ผู้เขียนมิได้ต้องการจะกล่าวอ้างอย่างเกินความพอดีว่า “มากอศิด” เท่านั้นที่จะเป็นแสงสว่างนำทางให้ปัญญาชนในยุคสมัยปัจจุบันสามารถเผชิญกับปัญญาร่วมสมัยอย่างเช่น Islamophobia, ภัยก่อการร้าย, ความยากจนและปัญญาสังคมแบบอื่น ๆ ได้ องค์ความรู้อิสลามอาจจะมีแนวทางและเคล็ดวิชาอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถทำหน้าที่เป็นแสงนำทางได้ แต่ผู้เขียนคิดว่าเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิด “ปรากฎการณ์มากอศิดเบ่งบาน” ขึ้นในโลกตะวันตกและสังคมมุสลิมทั่วโลกนั้น ก็เพราะว่า “มากอศิด” นำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ที่เปิดกว้าง และเน้นเรื่องวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) ประโยชน์สุขของผู้คน (มัสลาฮะฮ์) และค่านิยมที่ดีงามอันเป็นสากล ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ทางความคิดของมุสลิม ประตูอิจตีฮาดเคยถูกปิดมาแล้วจริง ๆ ละก็ “มากอศิด” จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไปเปิดประตูนั้นอีกครั้งหนึ่ง
ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนยังมิได้นำเสนอเนื้อหาของ “มากอศิดฯ” แต่ก็คิดว่ามี 3 ประเด็นหลักที่ควรค่าแก่การเอ่ยถึงในตอนท้ายนี้เพื่อตอบคำถามว่า “มากอศิด” จะให้เคล็ดวิชาอะไรกับเราได้บ้าง ประเด็นแรกที่สำคัญคือ มากอศิดจะชี้ชวนให้เราหันมาทบทวนการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องศาสนา ชีวิต สติปัญญา ครอบครัว และทรัพย์สิน เช่น เราควรจัดลำดับความสำคัญระหว่างศาสนาและความปลอดภัยของร่างกายอย่างไรในสังคมที่เต็มไปด้วยกระแสหวาดกลัวอิสลาม หลังจากที่มีการบุกเข้าไปสังหารครอบครัวมุสลิมะฮ์ครอบครัวหนึ่งในรัฐ North Carolina[1] คำถามที่สำคัญประการหนึ่งที่มาจากผู้หญิงที่คลุมฮีญาบ คือ อะไรสำคัญกว่าเมื่อต้องเลือกระหว่างการรักษาชีวิตกับการคลุมฮีญาบ? ประเด็นที่สอง “มากอศิด” จะให้เคล็ดวิชาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในอิสลาม และประเด็นสุดท้าย “มากอศิด” จะชวนเราให้ขบคิดเชิงปรัชญาในเรื่องระหว่าง “วิธีการ” และ “เป้าหมาย” ผู้เขียนคิดว่าคงไม่เป็นการยากหากท่านผู้อ่านสนใจจะค้นคว้าเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวในภาษาไทย อย่างน้อยที่สุดหนังสือแปลเรื่อง “หลักเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลาม” ของ Professor Jasser Auda น่าจะทำหน้าที่เป็นบันใดก้าวแรกในการศึกษาเรื่องนี้ได้เป็นการเบื้องต้น