ปริทัศน์หนังสือเพื่อหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2560
ปริทัศน์หนังสือเพื่อหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2560
อิมรอน ซาเหาะ
หลังจากที่ได้เขียนเรื่อง 14 เวทีความรู้สาธารณะโดดเด่นด้านการหนุนเสริมสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ในปี พ.ศ. 2560 ผู้เขียนจึงได้ลองประมวลอีกหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับเวทีความรู้ นั่นก็คือ “หนังสือ” เพราะหนังสือถือเป็นหนึ่งในงานความรู้ที่สำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจและหนุนเสริมให้เกิดสันติภาพในอนาคตต่อไปได้ หลังจากทำการสำรวจก็พบว่าในปีที่ผ่านมานั้น มีหนังสือใหม่ๆ หลายเล่มที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยังคงดำเนินเข้าสู่ปีที่ 14 แล้ว แม้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะประสบปัญหาในปัจจุบันจนหลายเจ้าต้องปิดตัวลง เพราะคนอ่านหันมาอ่านสื่อออนไลน์กันมากขึ้น ถึงกระนั้นก็ตาม สื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือก็ยังคงมีเสน่ห์หลายอย่างในแบบที่สื่อออนไลน์ไม่มี
จากการสำรวจพบว่า ในปีที่ผ่านมายังคงมีหนังสือและวารสารหลายเล่มที่ออกมาใหม่และมีความน่าสนใจ ทั้งประเด็นเนื้อหาสาระในหนังสือ ที่มาของหนังสือ รวมไปถึงผู้ที่จัดพิมพ์หนังสือ โดยจะทำการประมวลหนังสือที่ออกใหม่ในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 14 เล่ม ที่โดดเด่นและน่าสนใจ ดังนี้
1. หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยาและสังคมวิทยากับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทความที่ได้ถูกนำเสนอในงานสัมมนาประจำปีของศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง "หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา กับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้" เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557 ซึ่งได้รับฟังความเห็นก่อนที่จะถูกปรับปรุงและส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาและพัฒนาสู่บทความฉบับสมบูรณ์ในเล่มนี้
เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยบทความ 4 ชิ้นหลัก ที่เป็นงานศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้รอบทศวรรษ ว่ามีงานที่ศึกษาในมิติต่างๆ อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจเชิงวิพากษ์ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ บททบทวนภูมิทัศน์การศึกษาทางชาติพันธุ์และความหลากหลายในสามจังหวัดภาคใต้ โดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ภูมิทัศน์งานวิจัยการเมืองชายแดนใต้ โดย เอกรินทร์ ต่วนศิริ และ บทสำรวจการศึกษาความขัดแย้งและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ซากีย์ พิทักษ์คุมพล โดยมี ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ เป็นบรรณาธิการ
2. นัยนามแห่งอิสลาม: บทสำรวจคำสอนอิสลามว่าด้วยสันติภาพ ความรุนแรง ครอบครัว และสตรี
“นัยนามแห่งอิสลาม: บทสำรวจคำสอนอิสลามว่าด้วยสันติภาพ ความรุนแรง ครอบครัว และสตรี” โดย ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ออกมาในปีที่ผ่านมา ซึ่งจัดพิมพ์โดย ปาตานีฟอรั่ม โดยหนังสือเล่มนี้เป็นการปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่จากหนังสือ เรื่อง “จินตนาการอิสลามเชิงสังคมวิทยา” โดยการพิมพ์ใหม่ในครั้งนี้ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ได้เขียนคำนิยมให้อีกด้วย
หนังสือเล่มนี้ เสนอให้เห็นถึงความหลากหลายและพลวัตในสังคมมุสลิม ต่อประเด็นร่วมสมัยที่สังคมมุสลิมและสังคมทั่วไปให้ความสนใจ โดยผ่านมุมมองนักวิชาการมุสลิมด้านสังคมศาสตร์ ที่เชื่อมโยงความรู้ทั้งในมิติของอิสลามและมิติองค์ความรู้ร่วมสมัยเอาไว้ด้วยกัน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นอีกเล่มที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาและเห็นภาพของสังคมมุสลิมในมุมมองที่กว้างขึ้น และการทำความเข้าใจอิสลามในมิติเช่นนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการทำความเข้าใจวิถีแห่งสันติภาพและความรุนแรงในอิสลาม ซึ่งมักจะถูกตั้งคำถามและตีความไปในหลายรูปแบบ นัยนามแห่งอิสลาม จึงเป็นหนังสือที่ผู้อ่านไม่ควรพลาดอีกหนึ่งเล่ม
3. ความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่: ความเปลี่ยนแปลงและย้อนแย้งของไทย
หนังสือเรื่อง "ความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่ : ความเปลี่ยนแปลงและย้อนแย้งของไทย" เป็นผลงานจากทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งมี ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เป็นหัวหน้าโครงการ และมีคณะผู้วิจัยรวม 7 ท่าน ประเด็นปัญหาเรื่องความเป็นสมัยใหม่ เป็นเรื่องที่ครอบคลุมเนื้อหาและพัฒนาการของสังคมไทยที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง มีเนื้อเรื่องกว้างขวางและมีความต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่การเกิดปรากฏการณ์ของความเป็นสมัยใหม่ในอดีต มาถึงปัจจุบัน และสืบเนื่องต่อไปยังอนาคตกาลด้วย ในที่นี้ความหมายของความเป็นสมัยใหม่จึงไม่ได้เคร่งครัดไปในทางใดทางหนึ่งอย่างเด็ดขาด หากเน้นไปที่ให้ผู้วิจัยค้นหาความหมายในประเด็นที่สนใจและมีความถนัดว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการอย่างไรในสังคมไทย
โดยมีหลายบทความที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ เช่น เรื่อง “สถาบันความรู้ด้านไทยศึกษาและมานุษยวิทยาแบบอเมริกันในประเทศไทย” เขียนโดย ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ หรือ เรื่อง “ปาตานีศึกษา : ข้อมูลใหม่เรื่องวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ การเหยียบดวงจันทร์ และอพอลโล่ 11 ความ (ไม่) เป็นสมัยใหม่อันเกิดจากการคำนวน การบันทึก และการถกเถียง” เขียนโดย อ.โชคชัย วงษ์ตานี เป็นต้น
4. อิสลามกับสันติภาพ
อิสลามกับสันติภาพ เป็นหนังสือแปลซึ่งแปลจากหนังสือภาษาอังกฤษ เรื่อง Islam and Peace ซึ่งเขียนโดย ดร.โนอาห์ อิบราเฮม ซาลาเมะห์ อัลคมัวร์ และ Sheikh Mohammad Khalil Saleh Khanneh นักวิชาการจากประเทศปาเลสไตน์ แปลและเรียบเรียงโดย อ.โชคชัย วงษ์ตานี และ มุลยานา ดะอุแม ซึ่งจัดพิมพ์โดย สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นถึงมุมมองที่สำคัญของสันติภาพในมิติของอิสลามหลากหลายประเด็น ทั้งเรื่องรางของความหมายของสันติภาพในอิสลาม รวมถึงการมองถึงสันติวิธี สงครามและการต่อสู้ในแบบอิสลาม โดยถึงที่สุดแล้วผู้เขียนได้ถ่ายทอดว่าสำหรับอิสลามแล้ว การเริ่มต้นจากสันติภาพภายในตนเองที่มีความยำเกรงต่อพระเจ้าจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การทำความดีและเกิดสันติภาพในสังคมได้
5.โพลสันติภาพ: การศึกษาเปรียบเทียบในไอร์แลนด์เหนือและจังหวัดชายแดนใต้ของไทย
หนังสือเล่มนี้ ได้รับการสนับสนุนการตีพิมพ์ โดย ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (PRC) ซึ่งเขียนโดย รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระ/นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัย Australian National University โดยได้กล่าวในบทนำว่า “กรณีไอร์แลนด์เหนือมักถูกยกเป็นตัวอย่างของกระบวนการสันติภาพที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งนวัตกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ใช้ในการนำเสียงประชาชนเข้ามาในกระบวนการพูดคุยระหว่างคู่ขัดแย้งต่างๆในไอร์แลนด์เหนือก็คือโพลสันติภาพ (Peace Poll) และแม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มต้นการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการมาตั้งแต้ปี พ.ศ. 2556 แต่ยังไม่ได้มีความก้าวหน้ามากนัก การสร้างกลไกเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงน่าจะมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันกระบวนการสันติภาพ”
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาโพลสันติภาพซึ่งจัดทำในช่วงเวลาเดียวกับที่กระบวนการสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือกำลังดำเนินอยู่ และได้วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้และข้อท้าทายในการนำเอารูปแบบการทำโพลในลักษณะนี้มาใช้ในภาคใต้ โดยเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะกล่าวถึงภูมิหลังความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือ การทำโพลสันติภาพ 10 ครั้งเพื่อหนุนเสริมกระบวนการเจรจาและการอธิบายถึงกระบวนการในการทำโพลดังกล่าว ส่วนที่สองจะพูดถึงกรณีภาคใต้ของไทย ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการให้ภาพรวมเกี่ยวกับพัฒนาการความขัดแย้งในภาคใต้ โดยเฉพาะการพูดคุยสันติภาพในช่วงสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทบทวนการทำโพลที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยสันติภาพในช่วงนั้น และในช่วงท้าย ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นท้าทายและโอกาสสำหรับการทำโพลสันติภาพในภาคใต้
6. การพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้
หนังสือเล่มนี้จัดทำขึ้นโดย คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่อธิบายถึงเรื่องราวของการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ในมุมมองของคณะพูดคุยฝ่ายไทย ซึ่งประกอบไปด้วย ความสำคัญของการพูดคุย ความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุย ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงผลการดำเนินการของคณะพูดคุยในปีงบประมาณที่ผ่านมาหนังสือเล่มนี้ยังได้กล่าวถึงการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นประเด็นหารือในการพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่าย หนังสือยังอภิปรายถึงปัญหาและอุปสรรคของการพูดคุยในครั้งนี้ โดยมีข้อสรุปว่าการพูดคุยจะดำเนินการเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไป
7. หลัง รอย ยิ้ม: เรื่องเล่าพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้
หนังสือเล่มนี้จัดทำโดย เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคี ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า สนับสนุนโดยกองทุนประชาธิปไตยแห่งสหประชาชาติ (United Nations Democracy Fund: UNDEF) ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเป็นเล่มต่อจากหนังสือ “เสียงของความหวัง” จุดประสงค์ก็เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้
โดยเนื้อหาเป็นเรื่องเล่าของผู้ที่ได้รับผลกระทบ 22 คน ได้ถูกถ่ายทอดเป็นเรื่องราว 20 เรื่องในหนังสือเล่มนี้ เพื่อต้องการสื่อสารต่อสาธารณะถึงเรื่องราวที่พวกเธอต้องเผชิญ แม้จะก้าวผ่านประสบการณ์ที่เป็นรอยช้ำกระทั่งสามารถยืนอยู่ด้วยความหวังและรอยยิ้มบนใบหน้าพอได้บ้างแล้วทว่าเบื้องหลังของรอยยิ้มก็ยังคงมีเรื่องราวที่พวกเธอต้องเผชิญจากผลของความรุนแรงอยู่
8. การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย
หนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน ประกอบไปด้วย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, รอมฎอน ปันจอร์, อิมรอน ซาเหาะ, อาทิตย ทองอินทร์, ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ, อาฎิล ศิริพัธนะ, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ยาสมิน ซัตตาร์, อัยมี่ อัลอิดรุส, รอฮีมะห์ เหะหมัด และ ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล
เนื้อหาจะพูดถึงประสบการณ์การเดินทางของแต่ละคนในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวพื้นที่ เช่น ความเกลียดชังที่รวันดา เรื่องราวในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เรื่องราวในประเทศอินเดีย ตุรกี ฝรั่งเศส มินดาเนาในประเทศฟิลิปปินส์ หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ เช่น ความขัดแย้ง สันติภาพ ความหลากหลาย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังอาจเป็นประเด็นการพูดคุยกับผู้คนที่ได้พบเจอ เช่น การพูดคุยกับผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยที่อยู่ในค่ายกักกัน การพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐที่อยู่นอกประเทศ และอีกหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจในหนังสือเล็กๆ เล่มนี้
9. วารสารปาตานีฟอรั่ม
วารสารของปาตานีฟอรั่มยังคงออกมาอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ฉบับที่ 20 ในประเด็นเปิดศักราช 2560 สนามความรู้ ที่ปาตานี ฉบับที่ 21 ในประเด็น เหตุใดไม่มีประชาธิปไตยในโลกมุสลิม? ฉบับที่ 22 ในประเด็นพหุวัฒนธรรม และฉบับที่ 23 ในประเด็น 60 ปี ศรีสมภพ Footnote ชายแดนใต้
หนึ่งในฉบับสำคัญ คือ ฉบับที่ 22 ซึ่งถ่ายทอดเน้นที่เรื่องราวของประเด็นทางพหุวัฒนธรรม โดยได้ถ่ายทอดบทสะท้อนแนวคิดพหุวัฒนธรรมกับยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงได้สอดแทรกเรื่องราวของบทสนทนาระหว่างโลกมุสลิมและปาตานีที่ถูกหยิบยกโดยนักวิชาการมุสลิม ขณะเดียวกันก็มีเรื่องราวที่เป็นข้อสังเกตกรณีทหารยิงปืนใส่นักศึกษา ประเด็นกับดัก(อ)ประชาธิปไตยในโลกมุสลิม และบทสะท้อนจากค่าย Young Leader Forum
นอกจากนั้น ในปีที่ผ่านมาปาตานีฟอรั่มยังได้จัดทำวารสารฉบับที่ 23 ซึ่งเป็นฉบับพิเศษในโอกาสครบรอบอายุ 60 ปีของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ที่ถูกขนานนามว่าเป็น Footnote แห่งชายแดนใต้ ผู้ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนางานวิชาการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพและความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยวารสารเล่มนี้ประกอบไปด้วยบทสัมภาษณ์ของคนจากหลากหลายบทบาท ที่มีต่อ อ.ศรีสมภพ และวารสารชิ้นนี้ก็ยังมีบทความเสริมในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอิสลามโมโฟเบียให้ผู้อ่านได้เสริมความรู้อีกด้วย
10.แสง น้ำ และรวงข้าว: ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ผศ.ดร.เดชา ตั้งสีฟ้า เพื่อทำความเข้าใจและถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นทักษะทางวัฒนธรรม ที่แน่นอนว่าต้องเรียนรู้ ฝึกฝน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อกัน ทักษะเช่นนี้จะช่วยให้การอยู่ภายใต้สังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถมีทางเลือกในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในระดับสังคมด้วยสันติวิธีได้
หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยงานเขียนสี่ตอน นับตั้งแต่การทำความเข้าใจความหมายของทักษะวัฒนธรรม ตามด้วยลักษณะพื้นฐานของทักษะวัฒนธรรม ตลอดจนเรื่องความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างการฟังกับความเป็นอื่น และปิดท้ายด้วยประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างทักษะวัฒนธรรมและความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไว้ในบทนำว่า “หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอยุทธวิธีทางปรัชญาและทฤษฎี เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจการพบปะทางวัฒนธรรมเป็นการพบปะระหว่าง “ตัวเรา” กับ “คนอื่น” กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว งานเขียนนี้ดำรงอยู่เพื่อ “คนอื่น” โดย หนังสือเล่มนี้มีกำหนดการจะเปิดตัวในพื้นที่ชายแดนใต้ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ที่จะถึงนี้
11. พื้นที่การเมือง : การสร้างสันติภาพในพื้นที่กลางที่เปิดกว้าง
หนังสือเล่มนี้ ความจริงแล้วเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2017 ซึ่งเป็นเอกสารประกอบงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2017 ที่จัดโดย โดย สภาประชาสังคมชายแดนใต้ และองค์กรพันธมิตร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา แต่ด้วยเนื้อหาสาระที่สรุปและเขียนโดยนักวิชาการหลายๆ ท่านในพื้นที่ที่แหลมคมและเข้าใจง่าย ประกอบกับการจัดรูปเล่มที่สวยงามไม่ต่างจากหนังสือเล่มหนึ่ง จึงถูกเลือกให้มาอยู่ในบทความนี้ด้วย
โดยเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นผลลัพธ์ของความพยายามอย่างต่อเนื่องของผู้คนอันหลากหลายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้หรือภูมิภาคปาตานีแห่งนี้ ในการที่จะสะท้อนเสียงและผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ผ่านกระบวนการระดมความคิดเห็นที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 จนถึงมีนาคม 2560 สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือเป็นผลมาจากการแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองต่อประเด็นปัญหาที่เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่แห่งนี้กำลังเผชิญหน้าและรับมืออยู่อย่างแข็งขัน ในฐานะที่เป็นกลไกการทำงานนอกภาครัฐที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสันติภาพจากผู้คนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพยายามหาทางออกโดยสันติวิธีระหว่างคู่ขัดแย้งหลัก
12. สันติภาพยากบรรลุถึง : ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
หนังสือ เรื่อง สันติภาพยากบรรลุถึง : ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นรายงายพิเศษของปาตานีฟอรั่ม ประจำปี ค.ศ. 2017 เขียนโดย ดอน ปาทาน และ เอกรินทร์ ต่วนศิริ โดยพิมพ์ 2 ภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ โดยเนื้อหาแบ่งออกเป็น 3 ตอนหลักๆ ได้แก่ การขยายโรงละครแห่งความรุนแรง กลับสู่โต๊ะเจรจา และนโยบายวิพากษ์ โดยในแต่ละตอนจะแบ่งออกเป็นหัวข้อย่อยอีกหลายหัวข้อ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ลงลึกแทบจะหาอ่านจากที่อื่นไม่ได้ และการันตีได้เลยว่าเมื่อได้ไปครอบครองและได้อ่านแล้ว จะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ ทางปาตานีฟอรั่มเปิดรับบริจาคเพื่อขอรับหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ โดยเงินบริจาคทั้งหมดทางปาตานีฟอรั่มจะนำไปจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง Islamophobia เป็นเล่มถัดไป ซึ่งขอรับบริจาคขั้นต่ำเล่มละ 200 บาท ตามต้นทุนที่ออกมาจากโรงพิมพ์ โดยสามารถโอนเงินมาที่บัญชีเลขที่ 763-0-48456-9 ชื่อบัญชี นายเอกรินทร์ ต่วนศิริ ธนาคารกรุงไทย สาขาบิ๊กซีปัตตานี (สมุดบัญชีอยู่ที่ ชนาธิป ทองจันทร) และหากท่านใดโอนเงินแล้ว สามารถส่งข้อความไปที่ Facebook แฟนเพจ PATANIFORUM.COM หรือ Facebook ของ Imron Sahoh Binmustofa และทางปาตานีฟอรั่มจะจัดส่งไปให้ฟรี
13. The Melayu Review
วารสาร THE MELAYU REVIEW เป็นหนังสือหรือวารสารที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ณ ร้านกาแฟ The R.I.P จะบังติกอ จ.ปัตตานี โดยมี ซะการีย์ยา อมตยา เป็นบรรณาธิการ เป็นผลผลิตท้ายสุดของโครงการ “การสำรวจ มลายูปริทัศน์ สื่อสะท้อนศิลปะ วัฒนธรรม” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก “โครงการเสริมศักยภาพภาคประชาสังคม เพื่อการพัฒนาชุมชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย มูลนิธิศักยภาพชุมชน ร่วมกับ Minority Rights Group (MRG) โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป (European Union -EU)
ส่วนหนึ่งในบทบรรณาธิการ ซะการีย์ยา อมตยา เขียนว่า “เมื่อวารสารเล่มนี้พิมพ์ออกมา จึงมิได้เป็นเพียงวารสารสำหรับนักอ่านหรือนักเขียนเท่านั้น แต่หมายถึงหมุดหมายแรกของขบวนการในการอ่าน ในการเขียน เพื่อขยายวงกระเพื่อมทางความคิดนี้ ส่งทอดออกไปให้กว้างไกลที่สุดเท่าที่สามารถส่งผ่านไปได้ต่อไป วารสารเล่มนี้จึงเป็นเพียงความพยายามอย่างประมาณตน มิใช่การรวบรวมงานเขียนชิ้นสำคัญเอกอุ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ งานเขียนก็มีความจำเป็นสำหรับสังคม เพราะมันได้ให้เสียงให้กับสิ่งที่ไม่เคยมีเสียง ให้ชื่อกับสิ่งที่ไม่เคยมีชื่อมาก่อน”
ความน่าสนใจของวารสาร THE MELAYU REVIEW คือการรวบรวมงานเขียนจากนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ทั้งเรื่องสั้น เรื่องเล่า บทกวี บทความปริทัศน์ โดยมีงานเขียนจากนักเขียนรุ่นใหญ่แทรกมาด้วยเช่นกัน ความน่าสนใจอีกประการ ก็คือ วารสารเล่มดังกล่าวนี้ใช้ชื่อว่ามลายูปริทัศน์ ทว่าบทความทั้งหมดถูกเขียนขึ้นมาเป็นภาษาไทย จึงน่าสนใจว่าวารสารเล่มนี้ต้องการที่จะบอกอะไรบางอย่างกับผู้อ่านหรือไม่ หรือมีเป้าหมายเพื่อต้องการที่จะสื่อสารบางแง่มุมของสังคมมลายูไปสู่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทย จึงเป็นวารสารที่ผู้อ่านไม่ควรพลาดที่จะต้องหามาอ่าน
14. Peace Begins at Home : จุดเริ่มต้นของสันติภาพอยู่ที่ “บ้าน”
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเฉพาะกิจซึ่งถูกจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อแจกเป็นของที่ระลึกในโอกาสวันแต่งงานของ อิมรอน ซาเหาะ และ ยาสมิน ซัตตาร์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2560 แม้ไม่ได้เป็นลักษณะของงานวิชาการที่เข้มข้น แต่มีความน่าสนใจและอ่านเข้าใจง่าย เพราะเป็นการรวบรวมความคิดเห็นของผู้คนและนักวิชาการ รวมไปถึงนักปฏิบัติการที่มาจากหลายแนวคิด หลากจุดยืน และมากประสบการณ์ทั้งในสังคมไทย และสังคมชายแดนใต้/ปาตานี รวมไปถึงนักวิชาการจากต่างประเทศ ซึ่งพูดถึงประเด็นที่ใกล้ตัว นั่นก็คือ “ครอบครัว” ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการ “สร้างสันติภาพ” ในสังคมต่อไป น่าสนใจว่าแม้จะเป็นประเด็นเล็กๆ แต่รายละเอียดกลับถูกถ่ายทอดด้วยลักษณะเฉพาะของแต่ละคนและเติมเต็มข้อมูลได้อย่างน่าสนใจ ขณะเดียวกัน ก็ได้คัดเลือกบางข้อความที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและสันติภาพซึ่งได้ถูกถ่ายทอดผ่านนักวิชาการระดับโลกและหนังสือที่น่าสนใจบางส่วนประกอบท้ายหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน
โดยข้อเขียนมีทั้งภาษาไทย มลายู และอังกฤษ ส่วนนักวิชาการและนักปฏิบัติการที่ร่วมเขียนและแสดงความเห็นผ่านการให้สัมภาษณ์ในหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ เช่น บาบออับดุลการีม นาคนาวา, บาบอหะยีสะมะแอ ฮารี, ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์, ดร.วิสุทธิ์ บิลลาเตะ, ผศ.ดร.อิสมาแอลลุตฟี จะปะกียา, ผศ.ดร.มะกือตา หะยีแวสอเหาะ, ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ, ผศ.ดร.สุรัยยา สุไลมาน, รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน, รศ.ดร.โคทม อารียา, ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ศ.ดร.กามารุลซามาน อัสกันดาร, ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม, ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ์, ศ.ดร.รัตติยา สาและ, ศ.สุริชัย หวันแก้ว, เชคริฎอ อะหฺมัด สมะดี, อ.บรรจง บินกาซัน, อามีรรอหมาน เจ๊ะมะ, หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ, นพ.อาบูฮาฟิซ อัลฮากิม, พล.ท.ชินวัฒน์ แม้นเดช, เด่น โต๊ะมีนา, อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์, เจ๊นูรีฮัน มาเลเซีย และท่านอื่นๆ อีกมากว่าหนึ่งร้อยท่าน
ส่วนนักวิชาการเจ้าของข้อความที่ถูกหยิบมาใส่ในส่วนท้ายของหนังสือก็มีหลายท่านเช่นเดียวกัน เช่น บาบออิสมาแอล สปัญญัง อัลฟาฏอนี, ซัยยิด กุฏุบ, ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัลเกาะเราฎอวีย์, ศ.ดร.ฏอริค รอมฎอน และ ศ.ดร.โยฮัน กัลตุง เป็นต้น หนังสือเล่มนี้จะทำให้เราได้เห็นว่า ต่อให้คนเรามีความแตกต่างมากมายเพียงใดก็ตาม ทว่ายังคงมีประเด็นที่เราจะสามารถคุยเรื่องเดียวกันได้เสมอ แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันก็ตาม
กล่าวให้ถึงที่สุดแล้วหนังสือก็ยังคงคุณค่าในตัวมันเองเสมอ เพราะต้องผ่านกระบวนการคิด ไตร่ตรอง เขียน พิจารณา ตรวจสอบ และจัดรูปแบบ กระทั่งออกมาเป็นหนังสือ และการสร้างสรรค์หนังสือสักเล่มก็จะเป็นคุณูปการสำคัญสำหรับองค์ความรู้ที่จะยังคงถูกสานต่อไปอีกหลายรุ่น ดังนั้นแล้ว ผู้เขียนหวังว่าในปีต่อๆ ไปจะมีเรื่องราวดีๆ หนังสือน่าอ่าน มาให้ผู้อ่านได้ติดตาม และเป็นหนังสือที่ช่วยหนุนเสริมต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ในหลากหลายมิติต่อไป