กลิ่นอายแคชเมียร์

อับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม [1]

เช้า ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ เสียงเคาะประตูห้องเช่าริมรั้วมัสยิดดังเล็ดลอดผ่านหน้าต่างห้องมา ลูกชายของตาแก่ซาลีมเข้ามาหาและบอกว่า “เช้านี้อย่าออกไปไหน” ทุกคนในห้องงุนงงกับคำพูดนี้

บรรยากาศเช้านี้ช่างไม่เหมือนวันก่อนหน้า นึกถึงช่วงวันที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มของ “นายช่างทำกุญแจ” ที่ทอดกายใต้ต้นไม้ใหญ่ นั่งอย่างมีความสุข ห้อมล้อมไปด้วยแมกไม้เมเบิล อากาศหอมหวานและช่างสุขเมื่อผมได้ผ่านมาเห็น ผมไม่แปลกใจเลยที่ชาวตะวันตกชอบมาเที่ยวที่นี่ เพื่อดู “วิถีมุมกลับ”

ภาพข้างถนนหนทางคือ “ภาพหัวกลับ” มุมสะท้อนวิถีชาวตะวันตกที่มัก “หมักดอง” ตัวเองและคละคลุ้งกับการเร่งรีบ ความวุ่นวาย  ทุกอย่างในชีวิตต้องวางอย่างเป็นระบบผ่านกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ

จึงไม่แปลกที่ชาวตะวันอาจสุขเหมือนผม ที่ได้มาเห็นคนยืนพูดคุยกันข้างทาง ด้านหนึ่งของถนน ชายนั่งซ่อมรองเท้า ขยับไปไม่ไกลเจอร้านชาริมท้องถนน ยังไม่รวมชายแก่เพิ่งปั่นรถเร็กชอ (Rickshaw) เสร็จ แล้วพักกินมื้อเที่ยงผ่านอาหารเรียบง่ายแบบโรตีและแกงดาล

ทุกอย่างเริ่มเต็มไปด้วยความสุขแห่งชีวิตที่ได้ใช้ไปในแต่ละวันแบบเอล้นด้วย “รอยยิ้ม” ผ่านการอยู่แบบเรียบง่าย เบา ๆ เดินไปเรื่อย ๆ แบบไม่หยุดนิ่ง แบบไม่ต้องเร่งและรีบ หรือแข่งกับระบบต่าง ๆ มากมาย สุขในแบบที่เป็น อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่ง คนในแถบนี้โตมากับการอ่าน และการใช้ชีวิตมายาวนาน ประเทศแบบนี้สร้างปราชญ์มามากมาย คนอ่านหนังสือล้นเมือง เพราะทุกอย่างไม่แฝงไว้ใต้ระบบทุนที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

สื่อสิ่งพิมพ์มีอิทธิพลให้ผู้คนได้เสพกันอย่างหนาตา ส่วนหนึ่งคือ สื่อเหล่านั้นไม่แพง ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หนังสือพิมพ์รายวันของทุกฉบับราคาประมาณ ๒-๔ รูปี (๑-๒.๕๐ บาท) เมื่อบวกกับ “วัฒนธรรมการอ่าน” ซึ่งกลายเป็นเสาเข็มแห่งชีวิตที่ฝังลึกมายาวนาน

การสร้างวัฒนธรรมการอ่านไม่ได้สร้างผ่าน “นโยบายของรัฐหรือระบบการเมือง” แต่การสร้างวัฒนธรรมการอ่านออกมาจากจิตวิญญาณและรากเหง้าของผู้รักการศึกษาล้วน ๆ มันคือ “ผลแห่งการสำเนียกและสำนึก” เพื่อให้ได้มาซึ่งวิถีที่ชัดเจนในรูปแบบเรียบง่ายและการอยู่แบบปราชญ์ผ่านวิถีแห่งความพอเพียง ความออมชอม ไม่รีบเร่ง มิตรสหาย จึงไม่แปลกชีวิตของผู้คนคือ “ภาพหัวกลับสังคมระบบทุน” ที่สะท้อนออกมาผ่านมิติแห่งรากเหง้าและกลิ่นอายแห่งจิตวิญญาณเป็นอย่างดี

ร้านหนังสือเล็กกว้างประมาณ ๒ เมตร ยาว ๓ เมตร ในซอกมุมของตึกเก่า ใครเล่าจะรู้ว่า มันเหยียดแน่นไปด้วยงานวรรณกรรมระดับโลก  หนังสือขายดีติดอันดับโลกทั้งงานจิตวิญญาณ(Soul) การต่อสู้(Movement) ศาสนา(Religion) งานการเมือง (Politic) ประวัติศาสตร์ (History)หรืองานปรัชญา (Philosophy)

ร้านเล็ก ๆ เท่ารูหนูแต่ ไม่มีที่ว่างให้เห็น ทุกกระเบียดนิ้ววางด้วยหนังสือหลายสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ไม่ว่าอ๊อกฟอร์ท(Oxford Press) เพนกวิน (Penguin Press) แคมบริดจ์ (Cambridge Press) หรือ สำนักพิมพ์หนังสือมุสลิม ของอินเดีย นับเป็น “ความต่างของภาพหัวกลับ” ที่ใช้ชีวิตอย่างลงตัวในเมืองเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องสร้าง “สารัตถะแห่งการเร่งรีบ” และแข่งกับเวลาผ่านระบบทุน

ความจริงอากาศวันนี้ก็ช่างสบาย ผมคิดอยากจะทอดกายเดินเล่นกลางลมหนาวในย่านเมืองแคชเมียร์(Kashmir) ตั้งอยู่ใต้ชื่อเมืองหลวงของรัฐคือศรีนากัร (Srinagar) จำวันที่ผมเดินออกหาห้องพักแถวนั้น ย่านดาล เลก (Dal lake)เป็นทะเลสาบเล็ก ๆ ที่เชื่อมร้อยแผ่นดินที่นี่ให้มีสีสันกว่าเดิมเป็นหลายเท่าตัว  ผมจำได้ ผมสะพายและลากร่างของตัวเองเข้าห้องพักที่เราเรียกกันติดปากว่า Saleem Guise House

เช้านี้ยังนึกถึงวันก่อนหน้านี้ ที่ผมเดินทางไป โซนา มาร์ค (Sonar Marg) เพื่อไปชมหิมะแห่งฤดูกาลที่กำลังละลาย เทือกเขาหิมะขาวโพลน รถวิ่งผ่านถนนในซอกซอยของเมืองเล็ก ๆ อากาศบริสุทธิ์เยือกเย็น

รถวิ่งผ่าน “ต้นเมเบิล ต้นไม้ยักษ์” วางอยู่กลางถนน รถวิ่งอ้อมต้นไม้ทั้งสองข้างทาง ให้ไม้ใหญ่ได้หยั่งรากลงบนถนน ไม่มีใครตัดและทำร้ายไม้ยืนต้นนี้เลย “ภาพต้นไม้กลางถนนสวยมาก สวยจนพอที่จะรับรู้ได้ว่า คนเมืองนี้คิดอะไรอยู่” รถราวิ่งสวนกันนอย่างเชื่องช้าพร้อมชมความงดงามของต้นไม้ นับเป็นความประทับใจอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็รู้ว่า “ไม่มีใครตัดปอดของโลกและลมหายใจของตัวเองทิ้ง”

กลิ่นอายของการเดินทางผ่านเทือกเขาและหุบเหวยังไม่หาย ห้าวันก่อนหน้านี้ ผมนั่งรถมาจากจามมู(Jammu) ถนนหนทางโหดร้าย ผู้โดยสารหลายคนปล่อยอาหารมื้อหลักออกจากท้องตลอดทาง แต่อากาศยามนี้ของแคชเมียร์ทำให้ผมลืมความลำบากไปชั่วขณะ

ในย่านนี้เหยียดแน่นไปด้วยซอกซอยและย่านรกร้างแถวชุมชน ไม่ต่างกับพื้นที่อื่น วันนั้นผมหาที่พักได้ไม่ไกลกับมัสยิดเก่าแก่ของชุมชนมุสลิมริมดาลเลกที่พยายามสร้างด้วยไม้และฉาบทาด้วยปูน

ตาแก่ซาลีม เจ้าของเกสเฮาท์ (Saleem Guise House)เล็ก ๆ ในย่านนี้ บอกว่า

“มัสยิดเก่ากำลังจะพัง แต่ชุมชนรักษาของเก่าไว้ ชุมชนไม่ทำลาย แต่ปรับด้วยการก่อเสา หล่อเบ้าใหม่เพื่อให้มัสยิดเก่ายังอยู่ด้วยการก่อสร้างทับซ้อนของเดิม” มัสยิดอาจจะอยู่ในซอกซอยเข้าไปข้างใน

แต่ภาพหนึ่งที่บ่งชัดและปรากฏให้เห็นมันคือ “ความเป็นไปของเมืองที่ชุมชนพยายามไม่รื้อรากเหง้า อัตลักษณ์ ความทรงจำวัยเยาว์ เสาเข็มชีวิต ทว่าชุมชนกลับก่อฉาบและแต้มทาด้วยพลังแห่งความศรัทธาบนวิถีแบบเมืองในย่านท่องเที่ยวและแนวคิดแบบเจริญแล้ว ด้วยการไม่เลือกทำลายอย่างใด”

เจ้าของห้องเช่าได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ผมฟังขณะที่เรากำลังเดินย่ำบนชุมชนเหนือน้ำในดาลเลก ซึ่งเป็นที่อาศัยของชุมชนท้องถิ่นมายาวนาน ในอาณาเขตย่านท่องเที่ยวจนชุมชนปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้ด้วยการหันมาบริการห้องพักให้กับนักท่องเที่ยวอย่างที่ตาแก่ซาลีมได้ทำ

ทะเลสาบที่เนืองแน่นด้วยเรือและบ้านพักในน้ำ โรงแรมมากมายนับเป็นจุดขายอย่างดี อีกไม่กี่เดือน พื้นที่แห่งนี้ปกคลุมด้วยหิมะ ประมาณปลายพฤศจิกายน-มีนาคมของทุกปี พื้นที่ทะเลสาบจะกลายเป็นน้ำแข็งเยือกเย็นและหิมะปกคลุมพื้นที่แถบนี้ ในเมืองไร้ผู้คน ไม่มีเสียงปืนรัวหรือลูกเล็กเด็กแดงออกมาเพ่นพ่านให้เห็น

อีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบเหยียดแน่นด้วยผู้คน ซอกตึกหลังย่านท่องเที่ยว ผู้คนเดินขะมักเขม้นไม่ต่างจากค่ายอพยพ  ร้านรวงล้นทางเท้าออกมา รถราวิ่งตัดผ่านอย่างรวดเร็ว สุนัขสองสามตัวเดินส่งเสียงร้องเพ่นพ่าน ร้านขายเนื้อย่างและกาบาบกำลังปกคลุมด้วยผู้คน  ไฟในเตาลุกโชน เขม่าคลุ้ง เสียงสำลักดังออกมาไม่ไกล

ซอกหลืบเหล่านี้โดนใช้เป็นสถานที่ชำแหละเศษเนื้อผ่านร่องฟันของผู้คน เนื้อแพะและพังผืดไขมันเยิ้มเสียบด้วยเหล็กย่างผ่านไฟร้อน เด็กหนุ่มหลายคนเข้ามารอคิว ข้างหน้ามีแกงดาลร้อน ๆ (คล้ายซุปถั่วเหลืองใส่ไข่ไก่) โรตีและหัวหอมเตรียมวางไว้ให้ลูกค้า

ย่านรกร้างหนุ่มตัวใหญ่ร่างยักษ์กำลังง้างหมัดต่อเด็กน้อย เหตุผลเรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับอาหารการกิน เด็กน้อยร้องไห้ ได้แต่ร้องขอชีวิต เด็กยักษ์ไม่ยั้งมือ สะบั้นเอาต้นคอเด็กน้อย บีบท้องและขู่ตะคอกว่า อย่าเสียงดัง สุนัขอาจดังกว่าเลยกลบเสียงร้องเด็กน้อยจนหมดสิ้น สถานการณ์จึงคล้ายปกติ

เหล้าถูกวางขายเกลื่อนในย่านลับตาคน ร้านชาวซิกห์ขายเหล่าเพื่อให้หนุ่มและคนผิดหลักการได้ดื่มเพื่อแก้อาการขวยเขินการย่ำโลก อีกด้านหนึ่ง ชายร่างใหญ่กำลังเรียกร้องเพื่อนพ้องให้เตรียมตัวเพื่อปิดร้านในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นเช้า ๑๑ มิถุนายน บางคนยังไม่หายจากการเตรียมอาวุธเพื่อจะต่อสู้กับอำนาจรัฐอีกที ภายใต้นิยาม “การแบ่งแยกดินแดนเพื่อเป็นรัฐอิสลามของชาวมุสลิมในแคชเมียร์”

“ความโกลาหลร้อยแปดพันเก้าลามเลียวิถีและสังคมมุสลิม” ภาพชายมีหนวดเคราเดินในย่านเปลี่ยวเพื่อหลีกหนีความเป็นเมือง เด็กหนุ่มสาวกำลังนั่งประชิดกันใกล้ริมทะเลสาบอย่างโจ่งแจ้ง ชายหนุ่มหลายคนกำลังนั่งจับกลุ่มนินทาเจ้าหน้าที่บนท้องถนนย่านเมือง ขวดเหล้ากระทบแก้วกันในซอกอับเฉาผู้คนเดินผ่านไปมา

กองทัพและรถหุ้มเกราะติดอาวุธกำลังขับผ่านพื้นที่แถบนี้ เจ้าของร้านนั่งวิตกถึงเช้าวันรุ่งขึ้นในกิจการการค้า ชุมชนกลัวการปะทะกันของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มมุสลิมชนบทเพื่อแบ่งแยกดินแดนและอิสรภาพจากรัฐบาลกลางในเช้าวันรุ่งขึ้น

เมืองเริ่มเงียบ บ้านและห้องหับเริ่มปิดตาย ท้องถนนวายรถและผู้คน มีแค่ผมที่นั่งจิบชาอยู่ข้างทาง ภาพรอยยิ้มและความสวยงามยังส่งกลิ่นอายมาให้เห็น ผมได้แต่ยิ้ม และคิดต่อไปอีกว่า “ภาพแห่งความสุขแบบนี้ คือ สารัตถะแห่งชีวิตโดยแท้”

กลิ่นชามอดไหม้ลงเตาไฟ เริ่มส่งกลิ่นเหม็นผ่านลมโชยบาง ๆ ผ่านมา กลิ่นอายเบาบางจนคนรอบข้างไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ผมเริ่มตั้งหลักและบอกตัวเองว่า ต้องรีบหาที่ซุกหัวและหาหนังสือเล่มใหม่มานั่งอ่านพร้อมถกกับตาแก่ซาลีมอีกรอบ 

ผมเดินไปร้านหนังสือพิมพ์เมื่อช่วงเย็นของวันที่ ๑๐ มิถุนายน หนังสือพิมพ์ที่วางขายในร้านมีหลายฉบับ มาลิก (Malik) เจ้าของร้านหนังสือพิมพ์ บอกว่า “ส่วนใหญ่เป็นหนังสือพิมพ์เฉพาะรัฐนี้ พลเมืองของรัฐรวมตัวกันเพื่อผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และต่อรองกับความเป็นรัฐ”

จึงไม่แปลกที่ผมเห็นในซอกซอยเล็ก ๆ แถบชุมชนแถบนั้น วางเรียงรายด้วยหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ไม่ว่าจะเป็น Kashmir Times (หนังสือพิมพ์รายวัน ราคา ๓ รูปี), Rising Kashmir (หนังสือพิมพ์รายวัน ราคา ๓ รูปี), Kashmir Thought (หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ราคา ๑๕ รูปี)

Creator Jammu (หนังสือพิมพ์รายวัน ราคา ๒ รูปี),Kashmir Reader (หนังสือพิมพ์รายวัน ๓ รูปี), Kashmir Observer (หนังสือพิมพ์รายวัน ราคา ๒ รูปี),Kashmir Images (หนังสือพิมพ์รายวัน ราคา ๒ รูปี),Kashmir Life (หนังสือพิมพ์รายวัน ราคา ๕ รูปี)

เช้าวันที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน  ผมพยายามออกจากห้องแต่เช้าเพื่อไปเยี่ยมชมเมืองและซื้อของกลับบ้าน เพราะ ๑๒ มิถุนายน ตอนเช้า ผมกำลังไปเตรียมข้าวของเพื่อเดินทางต่อไปเมืองเละ ลัดดาก

วันนี้บ้านเมืองเงียบ รถราบนถนนบางตา ร้านรวงย่านนี้และทั่วไปมองไปจนสุดลูกหูลูกตา ปิดทำการเป็นแถบ ๆ เจ้าของรานขายชาเล็ก ๆ ยังเปิดให้ผู้คนเดินผ่านไปมาได้มานั่งพูดคุย  แต่ก็ยังรกร้างไปด้วยผู้คน

ผมเดินผ่าน มาลิก เจ้าของร้านหนังสือพิมพ์เร่งฝีเท้าออกมาบอกว่า “ให้ระวังตัวหน่อย วันนี้ร้านขายหนังสือพิมพ์และร้านค้าอื่น ๆ ในเมืองนี้ปิด” แกก็มองไปโดยรอบแล้วบอกต่ออีกว่า “ครบรอบวันแห่งปีในการรำลึกนักสู้หนุ่มของเมือง”

หนังสือพิมพ์หลายเล่มไม่ได้วางอยู่ในร้าน มาลิก เจ้าของร้านเอาแต่เงียบแล้วบอกว่า

“เมืองนี้มากไปด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ตลกและไม่น่าเชื่อ พลังของมวลชนถูกปลูกส่วนหนึ่งมาจากสิ่งเหล่านี้ ผ่านมันสมองของประเทศบนพื้นที่ย่านความรุนแรง งานมวลชนของอุดมการณ์หาทางออกเพื่อต่อรองอำนาจกับผู้มีอำนาจ”

มาลิกพูดต่ออีกว่า “ผมไม่ได้ขายหนังสือพิมพ์ แต่ผมกำลังขายอาวุธให้กับมวลชนทั้งเมือง แม้มวลชนจะพร้อมรบหรือไม่ก็ตาม หน้าที่ผมติดอาวุธทางปัญญา”

“จึงไม่แปลก ที่งานมวลชนมีความชัดเจนขนาดนี้ เพราะสื่อ คือ ส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางปัญญาและข้อมูลเท่านั้นที่พอจะมีอาวุธและสร้างอาวุธมีชีวิตเหล่านั้นให้กระดิกและเคลื่อนไหว”

 มาลิก คนขายหนังสือพิมพ์เล่าให้ฟัง  หลังจากนั้น ผมเดินไป ร้านขายชาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากร้านขายหนังสือพิมพ์ แต่ก็ห่างจากถนนสายหลักเข้าไปในซอกซอยลึกพอสมควร

มะฟูซ (MahFooz) คนขายชาเริ่มต้มชาด้วยหญ้าซัฟฟร่อน (Saffron) นับเป็นหญ้าที่ราคาแพงและพืชเศรษฐกิจทำเงินอย่างมหาศาลในเมืองแคชเมียร์ กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ รูปี ชาเริ่มเขี้ยวได้ที่ บรรจุด้วยสมุนไพรและมะพร้าวแก่ ๆ เป็นเส้นขาว กลิ่นชาเริ่มหอมโชย ผมเอ๋ยถามว่า “ผู้คนในเมืองหายไปไหนหมดในเช้าวันนี้ ทั้งที่เมื่อวาน เมืองวุ่นวายและรกลูกหูลูกตาไปด้วยผู้คน”

มะฟูซ (MahFooz) บอกต่อว่า “วันนี้มีการนัดหยุดงานของประชาชนเพราะรำลึกเหตุการณ์ 11 มิถุนายน เมื่อสองปีที่แล้ว ที่เกิดการปะทะกันระหว่างเด็กหนุ่มในเมืองศรีนากัร กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชนเริ่มออกมาต่อต้านเจ้าหน้าที่หลังจากที่มีการสังหารเด็กหนุ่มอายุ ๑๗ ปีชื่อ ตูเฟล อะหมัด มัตตู (Tufail Ahmad Mattoo)  ที่บริเวณ Gani stadium Rajouri Kadal ในวันที่ ๑๑ มิถุนายน  โดยแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่”

มะฟูซเล่าพลางส่งชากลิ่นหอมโชยผ่านหน้า

“หลังจากนั้นไม่นานในรุ่งเช้าวันต่อมา  มูฮัมหมัด ราฟิก บังรู (Muhammad Rafiq Bangru) อายุ ๒๔ ปี บริเวณ  Dana Mazar Safa Kadal  หลังจากนั้น วันที่ ๒๐ จาเวด อะหมัด มัลลา (Javed Ahmed Malla) อายุ ๑๙ปี ก็ถูกสังหารไปอีกคน ที่  Waniyar Srinagar.”

ผมได้แต่นั่งฟังเงียบ “เด็กน้อยเหล่านั้นเสียชีวิต แต่ไม่นาน ประชาชนก็เริ่มออกมาประท้วงและเกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างคนของรัฐกับประชาชนครั้งใหญ่ทั่วเมืองแคชเมียร์ สุดท้ายเหตุการณ์ครั้งนี้จบลงด้วยการเสียชีวิตของประชาชนในเมืองแห่งนี้ประมาณ ๑๑๕ คน จนกระทั่ง” มะฟูซบอก

“วันนี้ไม่มีใครกล้าออกมาขายของ เปิดร้านและเพ่นพ่าน เพราะทุกคนให้ความร่วมมือกับกระบวนการภาคประชาชนและกลัวเหตุการณ์ซ้ำรอย การระวังของมวลชนในย่านนี้จึงสำคัญที่สุด” มะฟูสเล่าต่ออย่างเงียบ ๆ ผมได้แต่นั่งฟังอย่างใจจดใจจ่อ

ร้านปิด ผู้คนเงียบหายเข้าไปซอกตึก  ถนนโล่งเตียน ร้านรวงและข้าวของ หลายคนซื้อตุนไว้ก่อนหน้า

มะฟูซ (MahFooz) คนขายชาบอกว่า “นี่คือสิ่งที่ประชาชนอย่างเราทำได้ ผ่านการไม่เห็นด้วยกับรัฐในสิ่งที่รับกระทำผ่านความรุนแรงและกองกำลังที่เกลื่อนเมือง”

จำได้ว่า ผมกับลูกชายของตาแก่ซาลีมเดินผ่านร้านกาบาบวางขายอยู่หน้าโรงพยาบาลไม่ไกลจากดาลเลก เส้นทางแถบนั้นแน่นถนัดตาไปด้วยรถถังและนายทหารหลายสิบคน ประมาณ ๑ กิโลเมตร นานทหารมากไปกว่า ร้อยนายกำลังหมกมุ่นอยู่กับอาวุธปืนและรถหุ้มเกราะ ส่วนมากของนายทหารมักตรึงกำลังในเมืองแคชเมียร์ เพราะเป็นพื้นที่รอยต่อกับประเทศปากีสถาน

เรื่องราวกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและการใช้ความรุนแรงไม่ได้พ้นรอยเปื้อนมลทินไปจากกองทัพเหล่านี้

มะฟูซ บอกต่อ “นายทหารมากกว่า ๗๐๐,๐๐๐ คน ถูกวางกำลังไว้ที่นี่ ตั้งแต่ปี ๑๘๙๗ เป็นต้นมา เฉพาะในเมืองศรีนากัรอย่างเดียวนายทหารมากกว่า ๓๐,๐๐๐ คนที่ตรึงกองกำลัง”

ซัยนุลอาบีดีน ชายเดินผ่านมาบอกกับผมอีกว่า “สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ระหว่างทางในย่านต่าง ๆ มีนายทหารและกองร้อยวางเรียงราย กองทัพบนยอดผาและถูกรดราดด้วยหิมะ นับเป็นการพยายามของอำนาจรัฐเพื่อความอยู่รอดของอธิปไตย”

มะฟูซ เจ้าของร้านชา เสริมต่อว่า “พลังของมวลชนในพื้นที่ความรุนแรงเมื่อกันเข้า ยิ่งน่ากลัวกว่ากองทัพติดอาวุธหรือรถหุ้มเกราะเป็นไหน ๆ เพราะ พลังเหล่านั้นปลุกอาวุธมีชีวิตลุกกขึ้นมากระดิกเพื่อเรียกร้องสิ่งที่อำนาจรัฐไม่เคยเหลียวแล”

“ถึงตอนนั้น ทางรอดทางเดียว คือ การเจรจาต่อรอง หากขาดทักษะและกระบวนการของความเป็นรัฐเหล่านี้ไปแล้ว การนองเลือดแบบ ๑๑ มิถุนายนก็จะโห่ร้องออกมาอีกคำรบหนึ่ง”

มะฟูซกล่าว ย้ำพลางเตือนข้าพเจ้าให้ตระหนักว่า

“เถ้าถ่านที่กำลังจะมอดดับอาจถูกคลื่นลมแห่งมวลชนพัดกระหน่ำจนลุกโชนขึ้นมาอีกรอบ ถึงตอนนั้นเปลวไฟก็เผาเมืองและผู้คนอย่างไร้ความปราณี”

ผมจิบชาพลางมองออกไปข้างนอก ไม่พบ ชายซ่อมรองเท้า หรือนายช่างทำกุญแจ เมืองเงียบจนผมเริ่มเหงา กลิ่นชาหายไปตั้งแต่ ไม่มีสหายสหายนั่งอยู่ข้าง ๆ

“และแล้วเราก็ยังจะเดือดพล่านกันอีกหลายตลบ” ผมคิดพลางมองไอร้อนของชาปลิวโชยไปในตัวเมืองศรีนากัรอีกรอบในวันนี้ ผ่านภาพกลิ่นอายคาวเลือดเริ่มคละคลุ้งไม่ต่างจาก ๒ ปีก่อนหน้า

 



[1] M.A. Political science (Islamic political philosophy), Aligarh Muslim University,India,2008-2010 เขียนเมื่อ ; 15-7-2012