เวทีความรู้สาธารณะโดดเด่นด้านการหนุนเสริมสันติภาพปาตานี ในปี 2560 (2)
เวทีสาธารณะอื่นๆ ในปีที่ผ่านมา
ผู้เขียนได้นำเสนอ 14 เวทีความรู้สาธารณะโดดเด่นด้านการหนุนเสริมสันติภาพปาตานี ในปี 2560 ให้ได้ทราบกันเมื่อคราวที่แล้ว กับการเดินทางของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เข้าสู่ปีที่ 14 ทั้งนี้นอกจากเวทีสาธารณะข้างต้นแล้วยังมีงานบรรยายและวงเสวนาสาธารณะอีกมากมาย หากนับกันจริงๆ อาจเป็นหลักร้อยเวทีในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี บางเวทีแม้จะเป็นเวทีที่ไม่ใหญ่แต่มีวิทยากรที่น่าสนใจอย่างมาก อาทิ งานบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านของรัฐธรรมนูญ" โดย ศ.ดร. ไชยันต์ ไชยพร หรือ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศ.ดร.โรเบิรต อัลบริตตัน กับการวิจัยด้านการเมืองไทยและปาตานี” โดย ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก หรือ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "วิจัยอิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษา: พลังขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ" โดย รศ.พิเชฏฐ์ กาลามเกษตร์ หรือวงเสวนา เรื่อง “ รัฐ-ลัก-ลักษณ์ ” พหุวัฒนธรรมในบริบทความรุนแรง วิทยากรโดย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล และ ซะการีย์ยา อมตยา เป็นต้น
ยังมีเวทีสาธารณะในประเด็นศาสนาอิสลาม
ที่มีการจัดงานกันอย่างต่อเนื่อง เช่น งานบรรยายศาสนา โดย ฮาบีบ อาบูบักร อัลมัชฮูร และ ฮาบีบ มูฮำหมัด อัลยูไนด์ อูลามาอฺ(ผู้รู้)จากประเทศเยเมน และ เช็คมุซอับ อัลบรีฏอนียฺ จากประเทศอังกฤษ เป็นต้น รวมไปถึงเวทีที่จัดโดยกลุ่มองค์กรเล็กๆ ในพื้นที่ที่นำเสนอในหลากหลายประเด็น
บางเวทีเสวนาเกิดขึ้นจากการเปิดตัวหนังสือใหม่
การเปิดตัวหนังสือนบีไม่กินหมาก พิธีกรรมความเชื่อมลายูในกระแสการตื่นตัวในศาสนาอิสลาม โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ปาตานี ฟอรั่ม หรืองานเปิดตัวหนังสือ หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยาและสังคมวิทยากับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เขียนประกอบไปด้วย ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ และมี ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ เป็นบรรณาธิการ หรือล่าสุดมีวงเสวนาของคนรุ่นใหม่ในงานเปิดตัว วารสาร The Melayu Review ที่มี ซะการีย์ยา อมตยา เป็นบรรณาธิการ เป็นต้น
เวทีเสวนาสาธารณะในชุมชนเองก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น
ดังเช่น ในพื้นที่สายบุรีก็มีหลายกลุ่มที่มักจะจัดวงเสวนาสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสายบุรีลุ๊กเกอร์ที่มักจะจัดวงเสวนาในประเด็นการอยู่ร่วมกันอย่างพหุวัฒนธรรมหรือกลุ่มอัลฮาชีรที่มักจะจัดงานบรรยายหรือเสวนาในประเด็นด้านศาสนาอิสลาม หรือวงเสวนาสาธารณะโลกวันนี้สัญจรของสถานีวิทยุมีเดียสลาตันก็ลงพื้นที่ไปพูดคุยประเด็นสันติภาพในหลายๆ ชุมชน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ในช่วงครึ่งปีหลัง จะเห็นว่ามีการขับเคลื่อนของเวทีสาธารณะในชุมชนต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนอุดหนุนของรัฐกระจายเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าในแง่หนึ่งแล้วก็ช่วยเปิดพื้นที่การทำงานของกลุ่มองค์กรต่างๆ ให้ขับเคลื่อนไปได้ แต่ขณะเดียวกันการขับเคลื่อนผ่านงบประมาณของรัฐก็ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นกลางขององค์กรภาคประชาสังคมที่มีหน้าที่เป็นตัวกลางและตัวเชื่อมประสานว่าจะยังคงสามารถทำหน้าที่นี้ได้ต่อไปอีกหรือไม่ ภายใต้ข้อจำกัดของการใช้งบประมาณจากโครงการของรัฐ
เวทีสาธารณะความรู้สันติภาพกับข้อท้าทายที่น่าสนใจ
จากบทความเรื่อง 12 ประเด็นเด่นปี 2558 และ 13 เวทีสาธารณะและเวทีวิชาการประเด็นสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีโดดเด่น ในปี 2559 ที่ผู้เขียนได้เขียนในช่วงสองปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายไว้ว่า เวทีสาธารณะเด่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพยังคงกระจุกตัวอยู่แต่ในตัวเมืองเท่านั้นมักจะจัดขึ้นในพื้นที่ของ Track 2 น้อยมากที่จะไปจัดกันในชุมชน หรือพื้นที่ของ Track 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ในปีนี้ก็ยังคงเป็นลักษณะเช่นเดิม ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติของเวทีวิชาการก็อาจเป็นได้ อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือในปีที่ผ่านมาจะมีการใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์โดยการถ่ายทอดสดเวทีเหล่านี้ผ่าน Facebook เพิ่มมากขึ้น นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่น่าสนใจไม่น้อย อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์ผ่านเทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะยังคงเข้าถึงกลุ่มคนเฉพาะที่มีความสนใจ และยังคงเป็นข้อจำกัดในการนำเรื่องราวเกี่ยวกับสันติภาพสู่ชุมชน ที่ชาวบ้านทั่วไปอาจมองว่าเป็นเรื่องราวที่ยากจะเข้าใจ ซึ่งจำเป็นต้องหาแนวทางปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ในรูปแบบที่ง่ายและเข้าถึงชาวบ้านได้มากยิ่งขึ้น
ในรอบปีที่ผ่านมาถือว่าบรรยากาศในพื้นที่สาธารณะยังคงคึกคักพอสมควร แม้บรรยากาศทางการเมืองที่ยังคงอยู่ในความคลุมเครือ แต่พื้นที่สาธารณะในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีส่วนใหญ่ยังคงถูกเปิดเป็นพื้นที่ของการนำเอาความหลากหลายทางความคิดและประเด็นขึ้นมาถกเถียงแลกเปลี่ยน ถือเป็นอีกพัฒนาการสำคัญของการสร้างบรรยากาศสันติภาพในพื้นที่ที่สามารถหยิบยกประเด็นที่ไม่สามารถถกเถียงกันได้มาก่อนขึ้นมาถกเถียงกันได้มากขึ้น แน่นอนว่าการเปิดพื้นที่ลักษณะเช่นนี้จะส่งผลเชิงบวกให้แก่การหนุนเสริมและผลักดันกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ให้เดินหน้าต่อไป
หากประเมินแล้ว แน่นอนว่าในปีถัดไปหลากหลายเวทีสาธารณะก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งจะเป็นอีกกลไกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยผลักดันชายแดนใต้หรือปาตานีสู่การสร้างสันติภาพที่อยู่บนฐานของความรู้ต่อไป แต่ก็ยังคงเป็นที่น่าคิดต่อไปว่าประเด็นเรื่องราวที่จะสื่อสารในพื้นที่สาธารณะจะเป็นเรื่องราวอะไร การสื่อสารจะมีเรื่องราวใหม่ๆ หรือไม่ หรือเป็นเพียงประเด็นเดิมที่ถูกถ่ายทอดซ้ำๆ และสิ่งที่ท้าทายมากที่สุด ก็คือ การกระจายประเด็นและเรื่องราวไปสู่กลุ่มใหม่ๆ อย่างไร และการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมีความตื่นตัวด้านสันติภาพมากขึ้นในปีที่ผ่านมาได้มีพื้นที่ในการขับเคลื่อนกิจกรรมมากยิ่งขึ้นต่อๆ ไป ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญด้วยเช่นเดียวกัน